เจ้านครอินทร์ ‘พระร่วง’ ผู้เสด็จเมืองจีน และนำเอาการทำเครื่องสังคโลกกลับมายังสยาม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ข้อความใน “พระราชพงศาวดารเหนือ” ซึ่งชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่ต้นฉบับดั้งเดิมนั้นเก่าแก่ไปจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น มีใจความตอนหนึ่งเล่าว่า “พระร่วง” แห่งเมืองสวรรคโลก กับน้องชายคือ เจ้าฤทธิกุมาร ได้เสด็จไป “เมืองจีน” เพราะโกรธที่กรุงจีนไม่มาช่วงพระองค์ทำพิธีลบศักราช ดังนั้น จึงตั้งใจไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้ารับใช้ตนเอง

ทั้งคู่เสด็จไปทางเรือ เมื่อเดินทางถึงก็เกิดปาฏิหาริย์ มีหมอกลงหนาทึบจนทั่วทั้งกรุงจีนไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน พระยากรุงจีนคิดหาทางแก้ไข ทางหนึ่งจึงส่งคนไปดูที่มหาสมุทรแล้วพบว่า พระร่วงสองคนพี่น้องนั่งเรือเดินทางมา พระยากรุงจีนทราบเข้าก็นึกถึงคำพุทธทำนายของเมืองตนเองที่ว่า จะมีคนไทยสองพี่น้องเดินทางมาแสวงหาเมีย คนหนึ่งจะได้เป็นเจ้าแห่งชมพูทวีป และจะลบศักราชพระพุทธเจ้า

เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว พระยากรุงจีนจึงเชิญพระร่วงสองพี่น้องเข้ามาในวัง ให้พระร่วงนั่งบนบัลลังก์ แล้วตนเองถวายบังคมต่อพระร่วง จากนั้นยกพระราชธิดาให้ แถมยังเอาตรามังกร (หมายถึงตราหยก) ผ่าออกเป็นสองซีก ซีกหางให้พระราชธิดานำกลับเมืองสวรรคโลก (นัยว่า พระธิดาองค์นี้เป็นคนสำคัญมาก) พร้อมกับพระร่วง แล้วแต่งสำเภาลำหนึ่ง มีเครื่องราชบรรณาการเต็มลำไปส่งพระร่วงกลับเมืองอีกด้วย

ตำนานข้างต้นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเขียนบอกเอาไว้ในพระนิพนธ์ที่ชื่อ “ตำนานหนังสือพงศาวดาร” (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2457) ว่า

“ข้อที่ว่าได้เสด็จออกไปถึงเมืองจีน เห็นน้อยคนจะเชื่อ ข้าพเจ้าคนหนึ่งไม่เคยเชื่อ”

อันที่จริง ไม่ต้องให้บุคคลที่ถูกยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์ไทย” อย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นคนบอกว่าตำนานเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อถือ หลายคนอ่านแล้วก็คงไม่ค่อยจะเชื่อเหมือนกันนะครับ แต่สมเด็จฯ ท่านยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า

“จนกระทั่งมาแลเห็นจดหมายเหตุจีนว่า เมื่อ พ.ศ.1837 พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จออกไปถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนดังนี้ จำต้องเชื่อด้วยอัศจรรย์ใจว่าจริงอย่างเนื้อเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารเหนือ

และเป็นความจริงที่พระเจ้าขุนรามคำแหงเสด็จออกไปเมืองจีน จึงไปเอาช่างจีนเข้ามาทำถ้วยชามสังคโลกเมื่อราว พ.ศ.1838”

สรุปง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่เพียงแค่ “จำต้องเชื่อด้วยอัศจรรย์ใจ” แต่ยังพ่วงเอาข้อสันนิษฐานของพระองค์เอง เพิ่มเข้าไปใหม่ว่า “พระร่วง” คือ “พ่อขุนรามคำแหง” และ “ไปเอาช่างจีนเข้ามาทำถ้วยชามสังคโลก” ในครั้งนั้น

 

อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีในปัจจุบันนี้กลับล้วนแต่ชี้ให้เห็นว่า ถึงเครื่องสังคโลกเหล่านี้จะผลิตขึ้นที่สุโขทัย และกลุ่มเมืองในปริมณฑล แต่ถ้วยโถโอชามเหล่านี้กลับผลิตขึ้นภายใต้อำนาจรัฐของกรุงศรีอยุธยา แถมยังไม่ได้เก่าแก่ไปจนถึงอายุสมัยที่พ่อขุนรามคำแหงยังมีพระชนม์อยู่

และอันที่จริงแล้ว ตัวเลข พ.ศ.1837 อันเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สมเด็จฯ “จำต้องเชื่อด้วยอัศจรรย์ใจ” นั้น ก็น่าจะเกิดจากการแปลที่คลาดเคลื่อนในยุคสมัยของพระองค์ด้วยอีกต่างหาก

ดังนั้น ถ้าหากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ในทุกวันนี้ พระองค์ก็อาจไม่ต้องจำต้องเชื่อด้วยอัศจรรย์ใจอีกแล้ว

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ทุกวันนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังเชื่อกันว่า เทคโนโลยีการผลิตเครื่องสังคโลกนั้น เป็นกษัตริย์เพราะกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ซึ่งเคยเดินทางไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิจีน ที่เมืองหนานจิง (ไทยเรียก นานกิง) เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้ก้าวขึ้นครองบัลลังก์ราชย์ที่อยุธยา และได้นำเอาเทคโนโลยี (ช่าง?) กลับมายังดินแดนแห่งนี้

ใครคนนั้นก็คือ “เจ้านครอินทร์” กษัตริย์เจ้าเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งต่อมาจะย้ายมาครองราชย์เป็น “สมเด็จพระนครินทราชา” ที่กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

 

อันที่จริงแล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เองก็ทรงทราบนะครับว่า เจ้านครอินทร์เคยไปเฝ้าเมืองจักรพรรดิจีน เพราะสมเด็จฯ ได้เคยเขียนถึงไว้ในหนังสือในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า

“สมเด็จพระอินทราชาธิราชพระองค์นี้ ตามความที่ปรากฏมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์เดียวที่ได้เคยเสด็จไปเมืองจีน ได้เคยเสด็จไปถึงราชสำนักของพระเจ้ากรุงจีนในราชวงศ์เหม็ง (จีนกลางเรียก ราชวงศ์หมิง, ผู้เขียน) ณ เมืองน่ำกิง (คือหนานจิง หรือนานกิง) แต่ยังเป็นพระนครอินทร์ เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 739 พ.ศ.1920

เมื่อได้ครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแล้วก็เป็นไมตรีสนิทกับพระเจ้ากรุงจีนมาก ได้แต่ราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีถึงเมืองจีนหลายครั้ง พระเจ้ากรุงจีนก็แต่งพระราชทูตมาหลายครั้ง จดหมายเหตุจีนเรียกพระนามเมื่อก่อนครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาว่า เจียวลกควานอิน (เจ้านครอินทร์) เมื่อได้ราชสมบัติแล้วจดหมายเหตุจีนเรียกว่าเจียวลกควานอินตอล่อที่ล่า (เจ้านครอินทราธิราช)”

ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สมเด็จฯ น่าจะค้นคว้าเรื่องของเจ้านครอินทร์จากเอกสารจีนมากพอสมควร (สำหรับคนในยุคนั้น ที่มีข้อมูลค่อนข้างจำกัด) เพียงแต่เห็นว่าเจ้านครอินทร์เสด็จไปจีน เมื่อครั้งก่อนครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา และคงไม่ทรงคิดว่า “เจ้านครอินทร์” จะเกี่ยวข้องมีเชื้อสายของราชวงศ์สุโขทัยอยู่ จึงถูกเรียกในตำนานที่ถูกรวบรวมไว้ในพระราชพงศาวดารเหนือว่า “พระร่วง”

 

แต่ผลการค้นคว้าล่าสุดในข้อเขียนขนาดยาวเรื่อง “เจ้านครอินทร์ (พระนครินทราธิราช) ผู้สร้างอยุธยาเป็นอาณาจักร” ของ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถูกรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือ “เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม” ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อไม่นานมานี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงเบาะแสจากเอกสารจีน, จารึกในวัฒนธรรมสุโขทัย และเอกสารตำนานต่างๆ ของล้านนา ที่นำมาปะติดปะต่อแล้วขมวดรวมกันจนได้ความว่า เมืองสุพรรณบุรีนั้น ควรจะเคยมีการทำสงครามกับกลุ่มเมืองเหนือ (หมายถึง สุโขทัย และกลุ่มเมืองทางภาคกลางตอนบนในปัจจุบัน) ในช่วงก่อน พ.ศ.1915

อ.รุ่งโรจน์เสนอว่า เจ้านครอินทร์ ครองราชย์เป็นกษัตริย์เมืองสุพรรณบุรีคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าว และผลของสงครามในครั้งนั้นแผ่อาณาบารมีปกคลุมวงศ์พระร่วง (ก่อนที่พระองค์จะแผ่อาณาบารมีไปยังดินแดนส่วนอื่นๆ เช่น คาบสมุทรมลายู, ดินแดนในอิทธิพลของราชวงศ์อู่ทอง ของรัฐละโว้ และพื้นที่ส่วนต้นแม่น้ำมูน)

ถ้าเห็นด้วยกับที่ อ.รุ่งโรจน์เสนอแล้ว ก็ไม่แปลกอะไรหรอกนะครับที่ใน พระราชพงศาวดารเหนือ จะเรียก “เจ้านครอินทร์” ว่า “พระร่วง” ในเมื่อพระองค์นั้นได้กำราบเอาราชวงศ์พระร่วงมาอยู่ใต้อาณาบารมีของพระองค์เอง เสียจนอยู่หมัด

เจ้านครอินทร์จึงเป็น “พระร่วง” ผู้เสด็จเมืองจีน และนำเอาการทำเครื่องเคลือบจากจีน กลับมาทำเป็นเครื่องสังคโลก ภายใต้อำนาจรัฐของกรุงศรีอยุธยานั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ