ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อม
อธิบายอย่างละเอียดได้ว่าเป็นโรงเรือนที่สร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างอย่างน้อยมีเสาหลัก 4 ต้น มีที่ว่างอย่างน้อย 1 ห้อง จะมีผนังล้อมหรือเปิดโล่งก็ได้
ปกติจะสร้างขึ้นด้วยวัสดุท้องถิ่นที่หาได้ง่าย เช่น ไม้ไผ่ ไม้เนื้อแข็ง จะทำพื้นใช้สอยติดดินหรือยกพื้นลอยก็ได้ แต่ต้องมีหลังคา
ทรงหลังคาพื้นฐานอย่างน้อยต้องมีโครงสร้างจั่ว มีดั้ง กลอน ระแนง ที่ประกอบกันด้วยวิธีผูกมัดหรือเข้าเดือย
ปัจจุบันมีการใช้ตะปูหรือพุก รูปทรงพื้นฐานเด่นตรงหลังคาทรงจั่ว หรือจั่วผสมปั้นหยา โดยเติมด้านสกัดหน้าและหลังด้วยแง็บ (ชายคาปีกนก) อันเป็นทรงหลังคาพื้นฐานของการสร้างโรงและเรือนต่างๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ไต-กะได และชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานใกล้เคียง
ตูบที่ไม่มีหลังคาหรือมุงพาดคลุมด้วยระแนงราบเรียบหรือแบบหมาแหงนไม่มีฝาผนัง คือ “ตูบผาม” นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ผาม” หรือ “ห้าง” มากกว่า เช่น ผามฟ้อนผี ผามซอ และห้างส่องล่าสัตว์
ตูบที่มีแง็บด้านสกัดผืนใหญ่ลาดคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดิน เรียกว่า “ตูบก้นนกกวัก”
ตูบที่ใช้อาศัยชั่วคราวในฤดูทำนา เรียกว่า “ตูบเฝ้าโท่ง” หน้าตูบมีพื้นที่ทำอาหาร พื้นตูบยกสูง ใต้ถุนและหลังเรือนมักใช้เป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ วัว ควาย บางครอบครัวพาสมาชิกมาอยู่ที่ตูบเฝ้าโท่งกันทั้งหมดในฤดูทำนา
ตูบที่ดูเล็กกว่าและไม่สะดวกเท่าตูบเฝ้าโท่งแต่สร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่พักหลบแดดฝนยามมาทำนา เรียกว่า “ตูบห้างนา” หรือ “เถียงนา”
ตูบที่สร้างขึ้นวางสินค้าเพื่อขายหรือขายอาหารและมีที่นั่งกิน เรียกว่า “ตูบกาด” ซึ่งสามารถตั้งอยู่ตามแนวรั้วหน้าบ้าน ริมถนน หรือในลานตลาดของชุมชนหมู่บ้าน
ตูบที่สร้างไว้เก็บฟาง เรียกว่า “ตูบเฟือง” และใช้เรียกกระท่อมชั่วคราวให้พระสงฆ์ที่เข้าปริวาสกรรมว่า “ตูบเฟือง” เช่นกัน
หอผีประจำหมู่บ้านบางแห่งที่สร้างขึ้นไม่ถาวร เช่น มุงด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึงก็เรียกว่า “ตูบเจ้าบ้าน” หรือ “ตูบเสื้อบ้าน”
การต่อพื้นที่เรือนหรือยุ้งข้าวออกไปด้านข้างบนพื้นดินชั่วคราวเพื่อเป็นที่อาศัยระหว่างรอสร้างบ้านใหม่ เป็นที่ทำงานหรือทำอาหารชั่วคราว โดยการปักเสา พาดคานหรือกลอน และเติมผืนหลังคามาแนบอยู่ด้วยเทคนิคอย่างง่าย เช่น มัดตอก หรือเสียบกับช่องตง เรียกว่า “ตูบหนุนโก๋น”
“ตูบอย่างฮ่างเฮือน” เป็นการผสมคำของชาวล้านนา พบใช้ในภาษาพูดและเขียนมาแต่โบราณ โดยมีความหมายรวมว่า สิ่งปลูกสร้างที่ตั้งใจสร้างเป็นกิจจะลักษณะ มีโครงสร้างและรูปร่างเป็นโรงเรือน มีหลังคาคลุม ใช้งานถาวรเพื่อการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง
ส่วนใหญ่สร้างเพื่อพักอาศัย บ้างเรียกสั้นลงว่า “ตูบอย่าง”
คนล้านนา ผู้สูงอายุ และชาวไตบางกลุ่มในพื้นที่ที่อิทธิพลสมัยใหม่เข้าไม่ถึง เรียก “ตูบ” ว่า “ถูป” หรือ “สถูป” ซึ่งพ้องกับภาษาบาลี ที่หมายถึงสิ่งปลูกสร้างที่บรรจุสิ่งสำคัญหรือเป็นที่เคารพ
เป็นไปได้ว่าเป็นคำยืมที่คนล้านนานำมาใช้ เหมือนเช่นคำว่า “วัด” คนล้านนาและคนไทยกลุ่มอื่นก็ยืมมาจากภาษาขอมโบราณ
ขณะเดียวกันคนล้านนาเรียกชายคาหรือโครงสร้างหลังคาที่ตั้งใจทำให้มีลักษณะเอียงคลุมโค้ง ซึ่งมักเป็นส่วนชายคาคลุมด้านสกัดหน้าตูบหรือเรือนว่า “สะทูป” หรือบางแห่งเรียกว่า “ตูบมน”
เดิมคนล้านนาสร้างตูบเป็นที่เก็บของ เป็นโรงครัว โรงเลี้ยงสัตว์ ห้างนา ศาลา ร้านค้า เป็นเรือนพักอาศัยชั่วคราว
ภายหลังพบเห็นน้อยลงเมื่อเปลี่ยนค่านิยมสร้างเรือนและอาคารต่างๆ ด้วยไม้เนื้อแข็ง ปูน และเหล็กตามอย่างคหบดีและชาวต่างชาติ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022