ปัญหาของการอ้างเหตุผล เรื่องพระสงฆ์ควรมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ในการแถลงเปิดตัวนโยบายไทยก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลนั้นมีนโยบายหนึ่งซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอยู่พอสมควร นั่นคือการเสนอให้พระสงฆ์มีสิทธิเลือกตั้งได้ โดยประกาศไว้ใน Facebook ของพรรคว่า

“พระสงฆ์คือประชาชนคนหนึ่งที่ควรมีสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับประชาชนทุกคน ปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมกำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหารในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง แต่กระทรวงมหาดไทยกลับปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของพระสงฆ์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่นเดียวกัน ประเทศไทยให้สิทธิเลือกตั้งกับนักบวชทุกศาสนา แต่ไม่ได้ให้กับพระสงฆ์หรือนักบวชศาสนาพุทธ พรรคก้าวไกลจึงต้องการคืนสิทธิเลือกตั้งให้กับพระและนักบวชในศาสนาพุทธ เพื่อยืนยันสิทธิของพระสงฆ์ในฐานะประชาชน และเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันของทุกศาสนา โดยรับประกันให้พระหรือนักบวชคนใดที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิได้ โดยไม่มีผลกระทบใดๆ ตามมา”

นโยบายไทยก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลนั้นมีหลายข้อที่ดีและหลายข้อที่รู้สึกว่าดีมาก

แต่โดยส่วนตัวแล้วผมสะดุดกับข้อนี้เป็นพิเศษและคิดว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ซึ่งหากอธิบายให้ละเอียดก็อาจต้องใช้พื้นที่มากกว่าบทความในนิตยสารแบบนี้

แต่เพื่อสนทนากันเบื้องต้นจึงขอหยิบยกเฉพาะในส่วนของการอ้างเหตุผลมาเพียงอย่างเดียวก่อน โดยจะชี้ชวนให้ใคร่ครวญทีละประเด็น

ส่วนปัญหาของนโยบายนี้เมื่อมองอย่างรอบด้านมีอะไรบ้าง และข้อเสนอว่าควรเป็นอย่างไรจะขอนำเสนอในโอกาสอื่น

 

ประเด็นแรก “พระสงฆ์คือประชาชนคนหนึ่งใช่หรือไม่”

คำตอบคือ “ใช่”

และเมื่อถามว่า “ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันใช่หรือไม่”

คำตอบก็คือ “ใช่” อีกเช่นกัน

ดังนั้น “พระสงฆ์ควรมีสิทธิทางกฎหมายเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นใช่หรือไม่” ก็ “ใช่” อีก

แต่หากถามว่า “พระสงฆ์ควรมีสิทธิทางกฎหมายเหมือนกับประชาชนคนอื่นหรือไม่”

คำตอบคือ “ไม่” เพราะประชาชนแต่ละคนไม่เหมือนกันจึงไม่จำเป็นต้องมีสิทธิทางกฎหมายเหมือนกัน โดยความแตกต่างนี้เป็นไปตามลักษณะเฉพาะบางประการทางสังคม ศาสนา ความเชื่อ ชาติพันธุ์ วุฒิภาวะ ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น ชายชาวพุทธคนหนึ่งเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามด้วยความสมัครใจและย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในชุมชนชาวมุสลิมที่เคร่งครัด ซึ่งในพื้นที่นี้มีการประกาศใช้กฎหมายอิสลาม เขาก็ต้องขึ้นต่อกฎในพื้นที่นั้น

การที่คนนอกพยายามเรียกร้องให้ออกกฎหมายบางอย่างที่ขัดกับความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการมีภริยาคนเดียว หรือคืนสิทธิในการบริโภคหมู จึงเป็นเรื่องไม่จำเป็นและไม่สมควรด้วย

 

ประเด็นที่สอง อย่าสับสนระหว่างคำว่าเท่าเทียมกันกับความเหมือนกัน

ในที่นี้พรรคก้าวไกลกำลังนำความหมายสองอย่างนี้มาใช้ปะปนกันจึงอาจทำให้คนไขว้เขวได้

ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นประชาชนทุกคนมีสิทธิทางกฎหมายที่เท่าเทียมกันนั้นหมายถึงเมื่อกฎหมายใดประกาศใช้โดยทั่วไปแล้ว ผู้ใดเป็นประชาชนในพื้นที่ของกฎหมายนั้นย่อมต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าวอย่างเท่าเทียมกัน คือไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิทางกฎหมายเหนือกว่าคนอื่น หากมีพฤติการณ์เหมือนกันย่อมได้รับการปฏิบัติไม่ต่างกัน

เช่น มีพฤติกรรมประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย สมมุติว่ามีโทษจำคุกสิบปี ชายยากจนชื่อนาย ก ขับรถขณะเมาสุราจนเกิดอุบัติเหตุชนนาย ข ตาย นาย ก ก็ต้องโทษจำคุกสิบปี ไม่ใช่ว่าพอนาย ค ซึ่งเป็นทายาทอภิมหาเศรษฐีของประเทศทำความผิดเช่นนี้บ้าง แต่กลับลอยนวลไปเฉยๆ อย่างนี้คือไม่เท่าเทียมกัน

แต่ลักษณะที่ว่ามาคือความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย

ส่วนความไม่เท่าเทียมกันในทางกฎหมายก็คือออกกฎหมายมาโดยแยกบางคนบางกลุ่มออกจากกันทั้งที่ไม่ควรจะแยกออกจากกัน แทนที่ครอบคลุมทุกคนแต่กลับไปแบ่งออก เช่น หากคนจนมีความผิด A จะต้องโทษจำคุกสิบปี แต่ถ้าเป็นคนรวยทำความผิด A กฎหมายกลับระบุว่าให้มีโทษจำคุกแค่ปีเดียว เป็นต้น

ในกรณีเรื่องการนับถือศาสนา สิ่งที่กฎหมายรับรองโดยให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันก็คือทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาใดก็ได้ ตามความคิดความเชื่อของตน หากความเชื่อทางศาสนานั้นไม่ทำร้ายหรือล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ดังนั้น ผู้มีวุฒิภาวะตามกฎหมายทุกคนหากประสงค์จะนับถือศาสนาใดจึงไม่มีใครไปห้ามได้

ครั้นพอเข้าสู่การเป็นสาวกของศาสนาต่างๆ แล้ว แต่ละศาสนามีความคิดความเชื่อ ตลอดจนแนวทางชีวิตในการยึดถือปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่

คำตอบคือไม่เหมือนกัน

รายละเอียดในการปฏิบัติตนทางศาสนาของแต่ละศาสนาที่ไม่เหมือนกันนี้เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มที่ทำให้แต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องมีสิทธิทางกฎหมายเหมือนกับคนกลุ่มอื่น หากสิทธิทางกฎหมายดังกล่าวไม่ทำร้ายหรือละเมิดคนกลุ่มอื่นนั่นเอง

 

ประเด็นที่สาม “ชายไทยทุกคนต้องไปเกณฑ์ทหารใช่หรือไม่”

คำตอบคือ “ใช่” ต้องไปเกณฑ์เมื่อไหร่ ก็คือเมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อถูกคัดเลือกแล้วจะต้องเป็นทหารเกณฑ์สูงสุดสองปี เว้นแต่มีคุณสมบัติที่ยกเว้นไว้

แล้ว “พระสงฆ์เป็นชายไทยใช่หรือไม่”

คำตอบคือ “ใช่”

ดังนั้น “พระสงฆ์จึงต้องไปเกณฑ์ทหารด้วยใช่หรือไม่” คำตอบคือ “ใช่” อีกนั่นล่ะ เพราะว่าการเป็นทหารนั้นกำหนดให้เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นตลอดชีวิต

และช่วงเวลาที่ต้องเป็นก็คือช่วงก่อนการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ คือชายที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์จะต้องจัดการเรื่องราวต่างๆ ทางโลกของตนให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะเข้าบวชได้ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานของผู้ปวารณาตนเข้าสู่การเป็นพระสงฆ์อยู่แล้ว

การจัดการเรื่องทางโลกของตนให้เรียบร้อยก่อนบวชยังครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น การได้รับอนุญาตจากบิดามารดาอย่างเต็มใจ การไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงบางโรค การเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสังกัดใด การมีอายุครบยี่สิบปีอายุน้อยกว่านี้เป็นพระไม่ได้ การไม่มีหนี้สินติดตัว เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าคนที่ปรารถนาบวชพระจะต้องจัดการตัวเองให้เรียบร้อยจนปลอดโปร่งเป็นอิสระเสียก่อน เพราะการบวชดั้งเดิมในพุทธศาสนานั้นไม่ใช่การเปลี่ยนสถานะชั่วคราว แต่เป็นความตั้งใจในการเปลี่ยนสถานะถาวร จากโลกฆราวาสสู่เพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต

นอกจากนี้ หากไม่กำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าดูช่วงอายุก็คือสามเณรไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ก็จะมีผู้คนหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารด้วยการใช้กลยุทธ์แบบหนีไปบวชได้

 

ประเด็นที่สี่ “ประเทศไทยให้สิทธิเลือกตั้งกับนักบวชทุกศาสนาใช่หรือไม่” คำตอบคือ “ไม่ใช่”

ความจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่นักบวชในศาสนาใดๆ เลย ซึ่งรวมทั้งนักบวชในศาสนาพุทธด้วย

แต่สถานะของนักบวชหรือผู้ถือบวชนี้มีความคลุมเครือ ในแต่ละศาสนามีความชัดเจนมากน้อยแค่ไหนแตกต่างกันไป

พอศาสนาอื่นมีสถานะที่ไม่ชัดเจนแต่พระสงฆ์ในศาสนาพุทธมีความชัดเจนกว่า จึงทำให้ดูเหมือนเลือกละเว้นสิทธิแต่เพียงนักบวชในศาสนาพุทธเท่านั้น

ลักษณะของสถานะนักบวชนี้มีการศึกษาไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ “พลัฏฐ์ ศุภาหาร” จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2561 เรื่อง “สิทธิเลือกตั้งของผู้ถือบวชในประเทศไทย”

โดยกล่าวว่า “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ผู้ถือบวชเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ในทางข้อเท็จจริงมีผลแต่เพียงผู้ถือบวชในศาสนาพุทธเท่านั้น เนื่องจากศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติกำหนดไว้ชัดเจนว่าบรรดาอิหม่าม บิหลั่น และคอเต็บ ไม่ถือเป็นนักพรตหรือนักบวช ส่วนกรณีของศาสนาคริสต์ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายที่กำหนดสถานะของบุคคลที่มีความยึดโยงกับศาสนามากกว่าศาสนิกคนอื่นให้เป็นนักพรตหรือนักบวช อันจะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งหรือใช้สิทธิทางการเมืองประเภทอื่น”

 

ประเด็นที่ห้า “ศาสนาทุกศาสนามีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่”

คำตอบคือ “ใช่” แต่ “ความเท่าเทียมทางศาสนาคือการปฏิบัติต่อทุกศาสนาเหมือนกันหรือไม่” คำตอบคือ “ไม่ใช่” เนื่องจากแต่ละศาสนามีลักษณะเฉพาะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น ความคิด ความเชื่อ พิธีกรรม แนวปฏิบัติ หลักเกณฑ์ วิถีชีวิต เป้าหมาย อุดมคติ ฯลฯ

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในประเด็นที่สอง ดังนั้น การปฏิบัติต่อทุกศาสนาจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกประการ

และการให้สิทธิเลือกตั้งกับพระสงฆ์จึงไม่ได้เป็นการยืนยันความเท่าเทียมกันทางศาสนาแต่อย่างใด

แต่การยืนยันความเท่าเทียมทางศาสนาคือการที่ประชาชนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดต่างก็มีสิทธิทางกฎหมายตลอดจนการถือปฏิบัติทางกฎหมายในเรื่องทั่วๆ ไป อันไม่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์เฉพาะของแต่ละศาสนานั่นเอง เช่น การก่ออาชญากรรมต่างๆ หรือไม่กีดกันคนบางศาสนาออกจากกิจกรรมพื้นฐานทั่วไป เช่น ห้ามเดินทาง ห้ามเรียนหนังสือ เป็นต้น

ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ แล้วเหตุใดเรื่องสิทธิมนุษยชนตลอดจนสิทธิในการเลือกตั้งอันเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปซึ่งครอบคลุมคนทุกคน จึงอาจไม่ได้ครอบคลุมไปถึงพระสงฆ์ด้วย

เรื่องนี้ต้องอธิปรายอีกยาวและยากที่จะทำความเข้าใจภายในไม่กี่ประโยคได้

ดังนั้น จึงขออนุญาตละประเด็นนี้ไปก่อน และจะหยิบยกขึ้นมาสนทนากันใหม่ในโอกาสอื่น