โรงอบสมุนไพรแม่พุงหลวง ภูมิปัญญาสุขภาพกะเหรี่ยง

โรงอบสมุนไพรแม่พุงหลวง ภูมิปัญญาสุขภาพกะเหรี่ยง

 

ฟังระดับชาติและนานาชาติคุยเฟื่องเรื่อง BCG Model ในเวที APEC 2022 หรือทางการเรียกว่า วาระการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ขอมาคุยทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อสักเล็กน้อย

ท่านที่ยังไม่ทราบกับอักษรย่อ BCG ก็ขอบอกว่าประเทศไทยได้หยิบยกหรือชูโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือภาษาอังกฤษว่า Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG เป็นไฮไลต์สำคัญ

เสมือนเป็นความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมๆ กับรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคตนั่นเอง

 

รัฐบาลไทยเตรียมแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2570 โดยเตรียมงบประมาณไว้กว่าสี่หมื่นล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม การสร้างคุณค่าจากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม รวมทั้งการสร้างความสามารถในการพึ่งตนเอง

และมี 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทิศทางที่เตรียมการไว้เยี่ยมยอดมาก แต่ก็พบว่าในช่วงงาน APEC 2022 มีเสียงจากฝ่ายห่วงใยดังคู่ขนานหลายเสียง

เช่น ข้อสงสัยที่มีนายทุนใหญ่ได้ประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตที่มีการใช้พื้นที่ป่า แล้วก็มาสร้างโรงงานเพื่อปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อผลิตเป็นสินค้ามาขายแบบเดิมหรือไม่

มีผู้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ผู้มีส่วนร่วมในการผลักดันแนวคิด BCG นี้เป็นภาคธุรกิจเอกชนรายใหญ่ๆ ไม่ค่อยเห็นภาคประชาสังคมหรือตัวแทนจากพื้นที่ซึ่งเป็นต้นทางของแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพตัวจริงเท่าใดนัก

จึงสงสัยว่าจะก่อประโยชน์กับพื้นที่จริงหรือเพียงภาพ Green แต่เป็นการดูดทรัพยากรเข้าสู่อุตสาหกรรมเช่นเดิม

 

มูลนิธิสุขภาพไทยเห็นด้วยกับแนวคิด BCG และกำลังทำงานในระดับพื้นที่ หวังว่านโยบายนี้ไม่ได้แฝงเร้นทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของไทย

ตัวอย่างที่มาเล่านี้คือ โรงอบสมุนไพรบ้านแม่พุงหลวง ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญาสุขภาพกะเหรี่ยง

หมู่บ้านนี้มีชาวบ้านพื้นเพชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีป่าสมุนไพร มีภูมิปัญญา มีแกนนำเป็นผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายรณเกียรติ คำน้อย และมีหมอพื้นบ้านหรือหมอชาวกะเหรี่ยงท่านหนึ่งชื่อ หมอแหว หล้าวัน เป็นที่พึ่งในการดูแลสุขภาพมานาน

แม้การแพทย์ปัจจุบันเจริญก้าวหน้า แต่ความรู้ดั้งเดิมก็ไม่ได้เสื่อมหาย เพียงแต่ไม่มีโอกาสกลับมามีที่ยืนในสังคม

เมื่อ 10 ปีก่อนมูลนิธิสุขภาพไทยไปช่วยพัฒนาเป็นโรงอบเล็กๆ ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลมาช่วยก่อสร้างให้ดีขึ้น ล่าสุด ได้ปรับปรุงด้วยกำลังแรงของคนในชุมชน เพราะการอบสมุนไพรเป็นความรู้และวิถีชีวิตอย่างหนึ่งของชาวบ้าน

การอบช่วยให้สุขภาพดี นอนหลับสบาย คลายปวดเมื่อย บรรเทาอาการหวัด และการอบยังใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร

คนในชุมชนชอบกันมาก ซึ่งสูตรตำรับยามีหลายสูตรจะแปรเปลี่ยนไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้

โรงอบแห่งนี้เคยเปิดบริการในชุมชนมาแล้วแต่ต้องปิดไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 และขาดการสนับสนุนเบื้องต้น

มูลนิธิสุขภาพไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลับมารื้อฟื้นภูมิปัญญาด้านสุขภาพอีกครั้ง ตรงตามความต้องการของชุมชน

หมอแหวถึงกับมอบสูตรยาอบตำรับชาวกะเหรี่ยงให้ไว้บริการ

สูตรยานี้ใช้อบสำหรับส่งเสริมสุขภาพ ให้ร่างกายสดชื่น แก้อ่อนล้า คลายปวดเมื่อย ขับเหงื่อขับของเสียในร่างกาย ปรับสมดุล และยังช่วยให้นอนหลับสบาย

ตำรับยาประกอบด้วย หมากผู้ หมากเมีย เปล้าน้อย เปล้าหลวง ส้มป่อย ใบมะขาม (เปรี้ยว) กิ่งหรือใบต้นล้านผีป้าย กิ่งหรือใบต้นพิลังกาสา ว่านสาวหลง (ใบ ต้น หรือเหง้า) ไพล และรากต้นปังกี

ตำรับยาพื้นบ้านนี้แตกต่างจากสูตรของแพทย์แผนไทยทั่วไปที่เราคุ้นเคย อาจมีตัวยาที่ใช้คล้ายกัน เช่น ใบมะขาม ส้มป่อย และไพล แต่ตัวยาอื่นๆ เป็นแบบฉบับของท้องถิ่น ซึ่งเป็นความรู้ของชาติพันธุ์และสัมพันธ์กับแหล่งทรัพยากรทางชีวภาพในพื้นที่ ดังนั้น พืชสมุนไพรจึงมาจากป่าสมุนไพรในพื้นที่

หมอแหวยังเพาะพันธุ์สมุนไพรมอบให้พระเพื่อปลูกในวัด หรือจำหน่ายให้ผู้สนใจ เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม

เข้าหลัก BCG ของแท้

 

โรงอบเล็กๆ นี้ได้รับการยอมรับระดับจังหวัด เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2565 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมายให้ คุณเสรี ทรงศักดิ์ รองนายก อบจ.แพร่ เป็นประธานเปิดโรงอบเล็กๆ ที่มีความหมายต่อชุมชน

พระครูวิจิตรธรรมสาธก เจ้าคณะอำเภอวังชิ้น ท่านเจ้าคุณฝ่ายสงฆ์ก็มาให้กำลังใจ

ด้านบทบาทสตรีก็มี คุณอัมราพร มุ้งทอง นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ และหน่วยงานหลักในแพร่ เช่น สำนักงานวัฒนธรรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากก็มาร่วมงานโรงอบบริการสุขภาพของภาคประชาชน

พิธีเปิดยังยึดโยงวัฒนธรรมดั้งเดิม หมอแหวเตรียม “ตาแหลว” แขวนไว้หน้าโรงอบ เพื่อแสดงอาณาเขตที่มีเจ้าของ เขตหวงห้าม และเพื่อปกป้องพื้นที่นั้นให้คลาดแคล้วจากภัยพิบัติทั้งปวงด้วย

มีบางคนเปรียบเปรยว่า วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คนไทยชอบไปเปลือยกายแช่น้ำร้อนออนเซ็นนั้น การอบสมุนไพรไทยก็ดีไม่แพ้กัน

โรงอบสมุนไพรน่าจะเป็นจุดบริการที่เชื่อมโยงสุขภาพ พืชสมุนไพร และน่าจะเป็นฐานเศรษฐกิจของชุมชนได้ เป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพได้ทุกเพศทุกวัย

ยิ่งอากาศเย็นๆ ในฤดูหนาว การได้อบสมุนไพรสัก 10-15 นาที ก็ช่วยให้ร่างกายสุขสบายตัว

แต่สำหรับผู้มีโรคประจำตัวก็ควรระมัดระวัง ที่โรงอบมีป้ายคำเตือนไว้ ถือเป็นมาตรฐานโรงอบที่คนในชุมชนใส่ใจเช่นกัน •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org