ความเชื่อเรื่อง “ท้าวจตุโลกบาล” เทพองค์ใด ดูแลทิศอะไร?

ญาดา อารัมภีร

ตั้งแต่โควิดระบาด ผู้เขียนสวดบท “อาฏานาฏิยปริตร” ทุกคืนก่อนนอน เป็นบทที่ท้าวกุเวรถวายให้พระพุทธองค์ทรงรับไปมอบแก่พุทธบริษัทเพื่อสวดคุ้มครองตนเอง ท่อนหนึ่งมีข้อความ (เขียนตามคำอ่าน) ดังนี้

“ปุรัตถิเมนะ ธะตะรัฏโฐ ทักขิเณนะ วิรูฬหะโก
ปัจฉิเมนะ วิรูปักโข กุเวโร อุตตะรัง ทิสัง

ท้าวธตรฐเป็นผู้รักษาโลกทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกรักษาโลกทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์รักษาโลกทิศตะวันตก ท้าวกุเวรรักษาโลกทิศเหนือ

จัตตาโร เต มะหาราชา โลกะปาลา ยะสัสสิโน
เตปิ อัมเหนุรักขันตุ อะโรเคนะ สุเขนะ จะ

ขอมหาราชผู้รักษาโลกทั้งสี่พระองค์ผู้มีบริวารมากดังกล่าว จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข”

 

บทสวดข้างต้นกล่าวถึง ‘จตุโลกบาล’ หรือ เทวดาผู้ดูแลรักษาโลกทั้ง 4 ทิศ (เหนือ – ใต้ – ออก – ตก) ที่มีเขาพระสุเมรุ (สิเนรุราช สุเนรุราช) เป็นหลัก ทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ มีท้าวกุเวร, เวสสุวัณ, เวสสุวรรณ หรือ ท้าวไพศรพณ์) เป็นใหญ่ ทิศใต้มีท้าววิรุฬหก ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐ ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักข์ (วิรูปักษ์)

ท้าวจตุโลกบาลแต่ละองค์มีบริวารต่างกัน วรรณคดีสมัยสุโขทัย เรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” ให้รายละเอียดไว้ว่า

“เทวดาผู้เป็นพระญาแก่เทวดาทั้งหลาย ฝ่ายตะวันออกนั้นชื่อว่า ท้าวธตรฐราช เป็นพระญาแก่เทพยดาทั้งหลายรอดทั่วทั้งกำแพงจักรวาลฝ่ายตะวันออก แลเทพยดาผู้เป็นพระญาแก่เทวดาแลฝูงครุฑราช แลฝูงนาคเถิงกำแพงจักรวาฬเบื้องตะวันตก แลเทพยดาผู้เป็นพระญาฝ่ายทักษิณชื่อ ท้าววิรุฬหกราช เป็นพระญาแก่ฝูงยักษ์อันชื่อกุมภัณฑ์แลเทพยดาทั้งหลายรอดไปเถิงกำแพงจักรวาฬฝ่ายทักษิณ แลเทพยดาผู้เป็นพระญาฝ่ายอุดรชื่อ ท้าวไพรศรพณ์มหาราช เป็นพระญาแก่หมู่ยักษ์ทั้งหลายแลเทพยดาฝ่ายอุดรทิศเขาพระสุเนรุราชรอดไปเถิงกำแพงจักรวาฬฝ่ายอุดรทิศนั้นแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่า

บริวารของท้าวธตรฐ (ทิศตะวันออก) คือ เทวดา

บริวารของท้าววิรูปักษ์ (ทิศตะวันตก) คือ เทวดา ครุฑ และนาค (ในไตรภูมิฯ มิได้เอ่ยถึงชื่อผู้เป็นใหญ่ทิศนี้)

บริวารของท้าววิรุฬหก (ทิศใต้) คือ ฝูงยักษ์ ชื่อกุมภัณฑ์ และเทวดา (เสฐียรโกเศศ อธิบายคำว่า ‘กุมภัณฑ์’ ไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องในไตรภูมิ” ว่า ‘กุมภัณฑ์เป็นยักษ์ชนิดหนึ่ง มีท้องใหญ่และมีอัณฑะเหมือนหม้อ ทางไทยถือเท่ากับพวกยักษ์ไม่ผิดแปลกอะไรกัน)

บริวารของท้าวกุเวร หรือไพศรพณ์ หรือเวสสุวัณ หรือเวสสุวรรณ คือ ยักษ์

 

ความเชื่อเรื่อง ท้าวจตุโลกบาลและบริวารตั้งแต่สมัยสุโขทัยยังคงสืบทอดต่อๆ มา “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” วรรณคดีสมัยธนบุรี มีข้อความว่า

“ธตรฐเนาในบูรพทิศ ไพจิตรไปด้วยทิพรังสรรค์

บริวารล้วนเทพคนธรรพ์ งามมไหศวรรยาและธานี

เวสสุวัณอันทรงมเหศวร สถิตที่อุดรราศี

แสนเกษมสมบัติสวัสดี เป็นจรรโลงโมลีอสุรา

นั่นองค์วิรุฬปักษ์เทเวศร์ อยู่ประเทศปราจิมทิศา

เป็นปิ่นมงกุฎแห่งนาคา ทรงศักดาฤทธิราญรอน

วิรุฬหกเป็นใหญ่ในกุมภัณฑ์ พิมาศเมศเจ็ดชั้นประภัสสร

ประจำทิศทักษิณยุคุนธร ดำรงทิพนครละกลกัน”

วรรณคดีเรื่องนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบริวารเพิ่มเติมว่า ท้าวธตรฐ ‘บริวารล้วนเทพคนธรรพ์’ คือมีทั้งเทวดาและคนธรรพ์ (อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งเทวดา ชื่นชอบและเชี่ยวชาญด้านดนตรีและสตรี) ส่วนบริวารของท้าวเวสสุวัณ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหกยังเหมือนในไตรภูมิพระร่วง ทั้งยังไม่ต่างจากวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ บทละครเรื่อง “ศกุนตลา” ตอนท้าวทุษยันต์นำกองทัพเทพไปปราบอสูรกาลเนมีที่ ‘อาจองทะนงศักดิ์ กวนเทวาสุรารักษ์ให้ร้อนรำคาญ’ ตามคำขอร้องของพระอินทร์ รัชกาลที่ 6 ทรงเล่าถึงกองทัพท้าวจตุโลกบาลว่า

“ทัพหน้าคนธรรพ์ชาญชัย ธตรฐยศไกร

พระขรรค์ทะนงคงกร

ปีกขวาวิรุฬหกเริงรอน คุมหมู่อมร

ผู้ฤทธิรุทธยุทธนา

ปีกซ้ายกุเวรราชา คุมยักขเสนา

กำแหงด้วยแรงเริงรณ

วิรูปักษ์ทัพหลังยังพล นาคนาคานนต์

กระเหิมประยุทธ์ราวี”

ทัพหน้า คือท้าวธตรฐ (ทิศตะวันออก) คุมพลคนธรรพ์ ทัพหลัง คือท้าววิรูปักษ์ (ทิศตะวันตก) พร้อมนาคบริวาร ปีกขวา คือท้าววิรุฬหก (ทิศใต้) พร้อมเทวดาบริวาร ปีกซ้าย คือท้าวกุเวร (ทิศเหนือ) พร้อมยักษ์บริวาร

ฉบับนี้แค่เกริ่น ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร