ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (6) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (6)

ภาครัฐวิสาหกิจ-ภาคส่งออกเอกชน-ภาคอสังหาริมทรัพย์

สัมพันธ์กันเช่นใดในเศรษฐกิจจีน?

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติ เศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

โฮเฟิง หง : รัฐวิสาหกิจจีนสำคัญในความหมายที่ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากรวมทั้งอุตสาหกรรมหนักอย่างโรงถลุงเหล็กกล้าเอย โรงไฟฟ้าถ่านหินเอย สนามบินเอย ทางรถไฟความเร็วสูงเอย รวมทั้งเครือข่ายโทรคมนาคมด้วยล้วนก่อสร้างและบำรุงรักษาโดยรัฐวิสาหกิจครับ

ข้อเปรียบเทียบที่ลือลั่นระหว่างอินเดียกับจีนก็คือ อินเดียมีศักยภาพในการเติบโตเยอะมาก แต่โครงสร้างพื้นฐานของอินเดียได้รับการพัฒนาด้อยกว่าของจีนนะครับ

นี่เป็นเพราะจีนมีระบบรวมศูนย์และระบบรัฐวิสาหกิจที่พวกเขาได้พึ่งพาอาศัยมาแล้วหลายทศวรรษ ตั้งแต่ยุคเหมามาจนกระทั่งยุคหลังเหมา บรรดาหน่วยงานทั้งหลายของรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลส่วนกลาง อย่างกระทรวงทางรถไฟต่างช่วยกันก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งขึ้นมา ให้มีโรงไฟฟ้ามากพอที่จะให้กำเนิดไฟฟ้าอย่างพอเพียง ให้มีโรงถลุงเหล็กกล้ามากพอที่จะเติมเต็มระบบเศรษฐกิจ

รัฐวิสาหกิจจึงสำคัญยิ่งในความหมายที่มันสนองโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนให้กับอุตสาหกรรมหนักเหล่านี้ล่ะครับ

แน่นอนว่าในอีกแง่หนึ่งมันก็นำไปสู่การแบ่งแยกกันในหมู่ชนชั้นนำของพรรคด้วยครับ จะเป็นในคณะกรรมการกลางหรือกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ดี คุณสามารถระบุได้เลยว่าสมาชิกชนชั้นนำระดับสุดยอดรายไหนยึดครองกิจการภาคส่วนใดเป็นเขตอิทธิพลของตัว

พวกเขาจะบรรจุแต่งตั้งญาติโกโหติกาบริษัท บริวารเข้าไปเต็มเขตศักดินาใต้การดูแลของตนไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงาน ภาคกิจการน้ำมัน ภาคเหมืองแร่ หรือภาคการไฟฟ้า เป็นต้น

การแบ่งสันปันส่วนกิจการภาครัฐต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนำที่ว่านี้มันได้กลายมาเป็นโครงสร้างคณาธิปไตยที่ทุจริตฉ้อฉลครับ เพราะรัฐวิสาหกิจพวกนี้ไม่ได้รับเงินทุนโดยตรงจากทรัพยากรการคลังของรัฐ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันอาศัยเงินทุนจากการกู้ยืมธนาคารของรัฐทั้งหลายเอา อันที่จริงเศรษฐกิจของจีนหลายภาคส่วนมีสายสัมพันธ์กับตลาดนะครับ ทว่า พคจ.กันท่าหวงห้ามภาคการเงินเอาไว้อย่างแข็งขันเพื่อให้ธนาคารของรัฐคงฐานะครอบงำในระบบเศรษฐกิจไว้ต่อไป

นี่ก็เพราะ พคจ.ถือว่ากระแสสินเชื่อจากธนาคารภาครัฐที่ว่านี้เป็นหางเสือคัดท้ายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด รวมทั้งช่วยธำรงรักษาการควบคุมของ พคจ.เหนือการพัฒนาเศรษฐกิจและเหนือพวกชนชั้นนำเอาไว้ด้วย

The China Boom, 2015, งานของโฮเฟิง หง ฉบับแปลเป็นภาษาจีนและเกาหลี

ภาคส่งออกก็เชื่อมโยงเข้ากับภาครัฐวิสาหกิจที่ว่านี้นั่นแหละครับ ซึ่งเพ่งเล็งรวมศูนย์ไปที่การสร้างอุตสาหกรรมหนักและโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมา จีนมีนโยบายบัญชีทุนแบบปิด (a closed capital account policy) และเงินตราสกุลจีนไม่อาจแลกเปลี่ยนได้อย่างเสรี

ดังนั้น ถ้าคุณเป็นวิสาหกิจส่งออกที่เอกชนหรือต่างชาติถือหุ้นใหญ่และคุณหาเงินตราต่างประเทศมาได้ละก็ คุณจะเก็บเงินดอลลาร์สหรัฐเอาไว้เองหรือฝากไว้ในบัญชีต่างประเทศไม่ได้นะครับ คุณต้องยอมมอบมันให้กับธนาคารกลางของจีน ซึ่งจะแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐของคุณกลับมาให้เป็นเงินตราสกุลหยวนหรือเหรินหมินปี้ท้องถิ่นในปริมาณเท่าๆ กัน จากนั้น คุณค่อยใช้เงินหยวนนั้นจ่ายค่าแรงลูกจ้างและเอาไปลงทุนต่ออีกทีครับ

จะว่าไปแล้วนี่ก็คือนโยบายสร้างเงินสกุลเหรินหมินปี้หรือหยวนขึ้นมาอันมีกระแสเงินตราต่างประเทศไหลเข้าซึ่งส่วนมากแล้วเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐคอยหนุนหลังรองรับโดยผ่านภาคส่งออกนั่นเองครับ สภาพคล่องที่สร้างขึ้นมานี้กลับกลายเป็นเงินปล่อยกู้จากธนาคารเสียมาก ทั้งนี้ก็เพราะถ้าหากคุณเป็นวิสาหกิจส่งออก คุณยอมมอบรายได้ที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐของคุณให้ธนาคารกลางและแลกได้เงินสกุลหยวนคืนมา แล้วคุณก็ฝากเก็บไว้ในบัญชีธนาคารของคุณ ถึงตอนนั้นธนาคารก็ย่อมใช้เงินก้อนนั้นสร้างเงินปล่อยกู้ให้วิสาหกิจอื่นๆ ต่อไปอีกทีหนึ่ง

เนื่องจากบรรดาธนาคารของรัฐนั้นถูก พคจ.ครอบงำอยู่ มันเลยยากยิ่งที่พวกวิสาหกิจเอกชนจะได้เงินทุนจากธนาคารรัฐน่ะครับ เพราะธนาคารรัฐจะมีนโยบายเลือกปฏิบัติผ่อนปรนมากกว่าในการปล่อยกู้ให้กับพวกรัฐวิสาหกิจเอย รัฐบาลท้องถิ่นเอย หรือหน่วยงานรัฐบาลเอย เหตุผลหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะวิสาหกิจเหล่านี้มีรัฐบาลคอยค้ำจุนหนุนหลังอยู่

ธนาคารรัฐทั้งหลายจึงคิดว่าไม่มีทางที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวจะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนละก็อาจจะผิดนัดชำระหนี้ได้ พวกเขาก็เลยคิดว่าปล่อยกู้ให้กับหน่วยงานรัฐบาลย่อมปลอดภัยกว่าครับ

ฉะนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นก็คือการขยายตัวของเงินตราต่างประเทศสำรองขนาดมหึมานี้ในจีนได้สร้างการขยายสภาพคล่องในรูปเงินตราสกุลท้องถิ่นขนาดใหญ่โตพอๆ กันขึ้นมา แล้วการขยายสภาพคล่องที่ว่านี้ก็กลายเป็นเงินปล่อยกู้ในรูปเงินตราสกุลท้องถิ่นอีกที และปรากฏว่าเงินปล่อยกู้เหล่านี้ออกมาในรูปการปล่อยกู้ของธนาคารรัฐให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจนั่นเอง

หลังจากได้เงินปล่อยกู้แล้ว พวกเขาก็ใช้มันไปในการก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ กล่าวคือ ขยายสนามบินบ้างล่ะ เพิ่มเส้นทางระบบรถไฟใต้ดินสายต่างๆ ขึ้นมาบ้างล่ะ สร้างทางรถไฟสายใหม่ๆ ในระบบรางรถไฟบ้างล่ะ และสร้างโรงถลุงเหล็กกล้าและโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นบ้างล่ะ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมหนักจนล้นเกินครับ

 

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลจีนก็เริ่มพูดถึงประเด็นปัญหาสมรรถภาพล้นเกิน (excess capacity) ที่ว่านี้แล้วครับ ในภาคส่งออกเอกชนน่ะ พวกเขาไม่พูดเรื่องสมรรถภาพล้นเกินนะครับ เพราะมีอุปสงค์มหาศาลอยู่ในเศรษฐกิจโลกคอยดูดซับสินค้าบริโภคที่ภาคส่งออกจีนสร้างขึ้นมา

แต่ในบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหลายอันได้แก่ อุตสาหกรรมหนักและโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นครอบงำอยู่น่ะ มีสมรรถภาพล้นเกินก่ายกอง ซึ่งย่อมหมายความว่าคุณกำลังก่อสร้างสิ่งต่างๆ ที่จะไม่ทำกำไรนะครับ

ตัวอย่างเช่น หลังจากคุณมีสนามบินแห่งหนึ่งแล้ว คุณก็ยังสร้างสนามบินแห่งที่สองขนาดพอๆ กันขึ้นมาในเมืองใกล้เคียง แล้วคุณก็ขยายสนามบินนั้นต่อไปอีก ผู้คนมากหลายพากันยกย่องสรรเสริญระบบรางรถไฟ ความเร็วสูงของจีน และก็มีอะไรน่าทึ่งอยู่เยอะเกี่ยวกับมัน

แต่แม้กระทั่งในระบบที่ว่านั้น เอาเข้าจริงพวกเขาก็กู้ยืมเงินมาสร้างมันมากเกินไป พวกเขาเอาแต่สร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งบางสาย ก็ทำกำไรอยู่นะครับ

แต่หลายต่อหลายสายน่ะเชื่อมโยงเมืองต่างๆ ซึ่งผู้คนขึ้นรถไฟไปมาไม่มากนัก แล้วขืนคุณเก็บค่าโดยสารตามราคาตลาดละก็ ไม่มีใครยอมจ่ายหรอกครับ สมรรถภาพล้นเกินที่ว่านี้ได้สร้างปัญหาแบบฉบับของการสะสมทุนมากเกินไป (overaccumulation issues) ขึ้นมาซึ่งเป็นเรื่องที่ศึกษาค้นคว้ากันในประดานิพนธ์แนวมาร์กเซียนทั้งหลาย

มันกลายเป็นปัญหาก็เพราะบรรดารัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐบาลกู้ยืมเงินเพื่อสร้างมันขึ้นมา แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ทำกำไร ดังนั้น พวกเขาก็เลยลำบากเดือดร้อนเรื่องหาทางชำระเงินกู้คืน

 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตกเป็นเป้าสนใจมากขึ้นในระยะหลังนี้ด้วย ภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของเอกชนครับ แต่มันก็เชื่อมโยงกับภาครัฐ เพราะบรรดาบริษัทอสังหาฯ ทั้งหลายย่อมหาที่ดินไม่ได้ถ้าหากรัฐบาลท้องถิ่นไม่ร่วมงานด้วยอย่างแข็งขัน พวกรัฐบาลท้องถิ่นหารายได้ด้วยการขายที่ดินให้วิสาหกิจอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้นั่นแหละครับ และในสภาพที่อพาร์ตเมนต์ซึ่งสร้างขึ้นมีแต่ถูกประเมินค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ พวกรัฐบาลท้องถิ่นย่อมสามารถเพิ่มรายได้ของตนโดยขายที่ดินราคาแพงให้ธุรกิจอสังหาฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

เพราะว่าเอาเข้าจริงกลไกอสังหาริมทรัพย์ที่ว่านี้เชื่อมต่อเข้ากับกลไกหารายได้ของรัฐบาลท้องถิ่น ฉะนั้น พลวัตทำนองเดียวกันจึงปรากฏขึ้นมาเช่นกัน กล่าวคือ ธนาคารรัฐผ่อนปรนโอนอ่อนยิ่งเวลาปล่อยเงินกู้ให้กับหน่วยงานเหล่านี้ และนั่นส่งผลให้ก่อสร้างอพาร์ตเมนต์ขึ้นมามากเกินไปจนขายไม่ออก แต่กระนั้น พวกเขาก็ยังต้องชำระเงินกู้คืนอยู่ดี

ณ จุดใดจุดหนึ่ง มันก็คงถึงคราวต้องชำระสะสางบัญชีติดค้างกันในลักษณะที่ว่าพวกเขาจะต้องผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่ก็หาทางอื่นเพื่อให้ได้เงินสดมาจ่ายนั่นแหละครับ ฉะนั้น ตอนนี้จีนจึงเหมือนกอดระเบิดเวลาที่เดินหน้าติ๊กๆๆ อยู่ เนื่องจากวิกฤตหนี้ภายในที่ว่านี้

 

แดเนียล เดนเวอร์ : ข้อถกเถียงประการหนึ่งที่คุณว่าไว้ในหนังสือของคุณคือไม่ได้มีแค่การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิสมัยเหมาเท่านั้นที่ช่วยปูพื้นรองรับให้ทุนนิยมจีนบูมต่อมา มันยังมีทุนจากญี่ปุ่นและประเทศสี่เสืออันได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ด้วย รัฐเพื่อการพัฒนาเหล่านี้ประสบความสำเร็จก็เพราะมันดำเนินการอยู่ภายใต้ร่มความมั่นคงยุคสงครามเย็นของสหรัฐนั่นเอง และมันยังเดินหน้าไปแสดงบทบาทใหญ่โตในการสนองเงินทุนให้จีนพุ่งทะยานขึ้นต่อมาด้วย

คุณเขียนว่า : “ทุนนิยมบูมของจีนนั้นเทียบเท่ากับระเบิดที่ถูกจุดปะทุขึ้นโดยผสมมรดกของเหมาเข้ากับทุนนิยมเอเชียตะวันออก โดยต่างฝ่ายต่างก็พัฒนาขึ้นแยกต่างหากจากกันคนละฟากฝั่งตรงข้ามของสงครามเย็นในเอเชีย” และในทางกลับกัน ทุนเอเชียตะวันออกที่ว่านี้ก็กระทั่งมีรากหยั่งลึกดิ่งลงไปในบรรดาตระกูล ผู้ประกอบการแถบชายฝั่งที่เดินทางออกจากแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์ชิงเพื่อไปสร้างเนื้อสร้างตัวจนอู้ฟู่ล่ำซำในเมืองอาณานิคมด่านหน้าของยุโรปทั้งหลายด้วย

ผมก็เลยอยากถามอาจารย์ว่าทุนพวกนี้ไปยังไงมายังไงถึงได้ออกจากชายฝั่งแผ่นดินจีนยุคราชวงศ์ชิงไปยังบรรดาประเทศพันธมิตรของอเมริกายุคสงครามเย็นในเอเชีย แล้วมาลงเอยที่เศรษฐกิจส่งออกบูมของจีนในที่สุดได้ครับ?

(อ่านคำตอบสัปดาห์หน้า)