“ซีเลีย นัททาลล์” นักโบราณคดีผู้เปลี่ยนทัศนคติของโลกต่อชาวแอซเท็ก

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

ก่อน ค.ศ.1897 ภาพลักษณ์ของชาวแอซเท็ก คือ “ป่าเถื่อน กระหายเลือด ไม่มีอะไรสอดคล้องกับมนุษยธรรมที่มีอารยะเลยแม้แต่น้อย”

นักโบราณคดีชื่อ ซีเลีย นัททาลล์ (Zelia Nuttall) ได้ท้าทายความเชื่อดังกล่าว โดยตีพิมพ์บทความชื่อ Ancient Mexican Superstitions (ความเชื่อเรื่องโชคลางของชนเม็กซิกันโบราณ) ใน The Journal of American Folklore (วารสารคติชาวบ้านอเมริกัน) ใน ค.ศ.1897 เธอระบุว่าเรื่องราวเกี่ยวกับการบูชายัญมนุษย์ของชาวแอซเท็กได้ทำให้ “เกิดภาพจินตนาการจนกระทั่งบดบังความรู้ด้านอื่นๆ เกี่ยวกับอารยธรรมโบราณของเม็กซิโกจนหมดสิ้น”

ซีเลียชี้นิ้วไปที่ชาวสเปนผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีกรรมเชิงจิตวิญญาณของชาวแอซเท็กว่า “กล่าวเกินจริงไปมาก และบางคนก็กล่าวเช่นนั้นอย่างจงใจเพื่อสร้างความชอบธรรมในสายตาของโลกอารยะว่า การกำจัดอารยธรรมพื้นถิ่นอย่างโหดเหี้ยมนั้นเป็นการสมควรแล้ว”

เธอหวังที่จะลบล้างความเชื่อเดิมเพื่อ “นำไปสู่การรับรู้พันธะผูกพันแห่งภราดรภาพอันสากลซึ่งจะผนึกรวมผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ในปัจจุบันของทวีปอันเก่าแก่และยิ่งใหญ่นี้กับบรรพบุรุษของพวกเขาซึ่งมิได้ไร้คุณค่า”

 

ซีเลีย นัททาลล์ เกิดที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 กันยายน ค.ศ.1857 คุณพ่อเป็นแพทย์เชื้อสายไอริช คุณแม่เป็นลูกครึ่งอเมริกัน-เม็กซิกัน และเป็นลูกสาวของนายธนาคารผู้มั่งคั่ง เธอและพี่น้องอีก 5 คนจึงเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี

เมื่อเธอยังเด็ก ครอบครัวย้ายไปอยู่ยุโรปโดยหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพของผู้เป็นพ่อ ซีเลียจึงรู้ภาษาสเปนและเยอรมัน ครอบครัวย้ายกลับมาซานฟรานซิสโกใน ค.ศ.1876

ค.ศ.1880 ซีเลียแต่งงานกับนักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ อัลฟองเซ ลูย ปินาร์ต (Alphonse Louis Pinart) ช่วงปีแรกๆ เธอติดตามสามีไปทำงานทั่วยุโรปและหมู่เกาะเวสต์อินดีส แต่ชีวิตสมรสไม่ราบรื่น และหย่าขาดจากกันใน ค.ศ.1888 โดยเธอได้สิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกสาว

แต่ระหว่างการเดินทางร่วมกับสามีนี่เองที่ซีเลียได้พบกับ “รักแท้” นั่นคือ วิชาโบราณคดี เมื่อแยกทางกับสามีแล้ว เธอเดินทางไปยังเม็กซิโกเป็นครั้งแรกใน ค.ศ.1884 โดยไปกับแม่ ลูกสาว และพี่น้องอีก 2 คน ช่วงฤดูหนาวปีนั้นเธอเริ่มศึกษาโบราณคดีอย่างจริงจัง

 

ในการไปเยือนโบราณสถานแห่งเตโอตีวากาน (Teotihuacan) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนืองของเม็กซิโก ซิตี้ เธอพบชิ้นส่วนศีรษะดินเผาขนาดเล็ก จริงๆ แล้วเคยมีผู้พบชิ้นส่วนแบบนี้มาก่อนแต่ยังไม่มีใครศึกษา

ซีเลียศึกษาชิ้นโบราณวัตถุของเธอเปรียบเทียบกับโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ และสรุปว่าศีรษะดินเผาเหล่านี้น่าจะเป็นผลงานของชาวแอซเท็กในช่วงเวลาใกล้เคียงกับช่วงที่สเปนเข้ายึดครอง

และเดิมทีชิ้นส่วนศีรษะนี้เคยติดกับส่วนร่างกายซึ่งทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ โดยศีรษะแต่ละชิ้นเป็นตัวแทนของคนที่ล่วงลับไปแล้ว

เธอตีพิมพ์การค้นพบและการตีความดังกล่าวในบทความชื่อ “The Terracotta Heads of Teotihuacan” (ศีรษะดินเผาแห่งเตโอตีวากาน) ใน The American Journal of Archaeology and the History of the Fine Arts (วารสารโบราณคดีและประวัติศาสตร์แห่งประณีตศิลป์อเมริกัน) ใน ค.ศ.1886

ผลงานชิ้นนี้เองที่ทำให้เธอได้รับการยอมรับในวงการโบราณคดี เนื่องจากสดใหม่ ครอบคลุมอย่างถ้วนถี่ และแสดงให้เห็นถึงความรู้ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก

 

เฟรเดริก พัทแนม (Frederik W. Putnam) นักมานุษยวิทยาชั้นนำชาวอเมริกัน ได้มอบตำแหน่งผู้ช่วยพิเศษเกียรติยศในสาขาโบราณคดีเม็กซิกันแห่งพิพิธภัณฑ์พีบอดี้ (Peabody Museum) ให้แก่เธอ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเขียนสดุดีเธอไว้ในรายงานประจำปีของพิพิธภัณฑ์ประจำปี ค.ศ.1886 ว่า “(เธอ) คุ้นเคยกับภาษานาวัตล์ (Nahuatl) มีเพื่อนสนิทและเพื่อนผู้ทรงอิทธิพลในหมู่คนเม็กซิกัน และมีความสามารถเยี่ยมยอดด้านภาษาศาสตร์และโบราณคดี”

โลกแห่งโบราณคดีในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยผู้ชาย ผู้หญิงที่ทำงานด้านนี้ถือกันว่าเป็น “มือสมัครเล่น” เพราะมักไม่ได้จบด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย แม้ว่าพวกเธอจะลงมือขุดค้นและมีผลงานตีพิมพ์ไม่แพ้ผู้ชายก็ตามที

การขุดค้นโดยคนต่างชาติ รวมทั้งการขนโบราณวัตถุกลับไปยังประเทศของผู้ขุดค้น ยังถือว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงความรุ่งโรจน์แห่งชาติของผู้ขุดค้นอีกด้วย

ส่วนนักการเมืองและปัญญาชนชาวเม็กซิกันก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะบอกว่าชนชาติเม็กซิโกในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง ‘อันดิบเถื่อน’ คือชาวแอซเท็กในอดีต เพราะการยอมรับเช่นนั้นย่อมทำให้ชาติเม็กซิโกดูล้าหลัง

ซีเลีย นัททาลล์ ที่มาของภาพ > https://en.wikipedia.org/wiki/Zelia_Nuttall

ค.ศ.1886 ซีเลียกับน้องชายย้ายไปอยู่ที่เมืองเดรสเดิน เยอรมนี และอาศัยอยู่ที่นั่นนาน 13 ปี ช่วงเวลานั้นเองเธอได้เดินทางไปยังห้องสมุดและสถานที่เก็บรักษาศิลปวัตถุต่างๆ ในยุโรป

หลังจาก 13 ปีแห่งการเดินทางศึกษาเรื่องราวต่างๆ เธอได้ตีพิมพ์ผลงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่ The Fundamental Principles of New and Old World Civilizations (หลักการพื้นฐานแห่งอารยธรรมโลกใหม่และโลกเก่า) ใน ค.ศ.1901 เมื่ออายุ 44 ปี

น่ารู้ด้วยว่า ซีเลียได้รับการสนับสนุนด้านการเงินแก่เธอทั้งในการเดินทางและการวิจัยจากฟีบี เฮียร์สต์ (Phoebe Hearst) ซึ่งเป็นสมาชิกของตระกูลที่มั่งคั่งและเป็นผู้อุปถัมภ์พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แถมการที่เธอเป็นเพียง “มือสมัครเล่น” ไม่ได้ผูกติดกับสถาบันใด ทำให้เธอมีอิสรภาพสูงยิ่งในการทำงานที่เธอเห็นว่าสำคัญ

ผลงานสำคัญอื่นๆ ของเธอ เช่น การนำเอกสารโบราณของเม็กซิกันกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ชาวยุโรปได้นำออกไปแล้วปล่อยทิ้งไว้จนแทบไม่มีใครรู้จัก เอกสารชิ้นหนึ่งเรียกว่า โคเด็กซ์นัททาลล์ (Codex Nuttall) เป็นสำเนาคัดลอกของเอกสารเม็กซิกันโบราณที่ตกอยู่ในความครอบครองของบารอนชาวสหราชอาณาจักรผู้หนึ่ง ซีเลียรู้จักเอกสารชิ้นนี้จากนักประวัติศาสตร์ในฟลอเรนซ์และติดตามหาจนพบ

จากนั้นก็ตีพิมพ์เอกสารโบราณนี้โดยเขียนคำนำอธิบายบริบททางประวัติศาสตร์ แถมยังแปลความหมายของภาษาโบราณอีกด้วย

 

เธอไม่เพียงแต่หลงใหลโบราณคดีของเม็กซิโกเท่านั้น เธอยังหลงรักประเทศเม็กซิโกอีกด้วย ปี ค.ศ.1905 เธอตัดสินใจพำนักที่ประเทศนี้เป็นการถาวร

ช่วงบั้นปลายชีวิต เธอยังคงเรียกร้องให้รื้อฟื้นประเพณีโบราณของเม็กซิโกที่สูญหายไปจากการที่สเปนเข้ายึดครอง โดยใน ค.ศ.1928 เธอเสนอให้รื้อฟื้นการเฉลิมฉลองปีใหม่ตามแบบคนพื้นเมืองโบราณ โดยปีหนึ่งจะฉลอง 2 ครั้ง ในวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นสู่จุดยอดฟ้า ทำให้สิ่งต่างๆ ที่ตั้งฉากกับพื้นโลกไม่มีเงา ประเพณีเช่นนี้เดิมทีมีการเฉลิมฉลองกันโดยผู้คนในดินแดนอเมริกากลางหลายวัฒนธรรม

และแล้วในปีนั้นเอง เม็กซิโก ซิตี้ก็ฉลองปีใหม่ของชาวแอซเท็กเป็นครั้งแรกนับแต่ที่ถูกสเปนทำลายจนสิ้น

ในจดหมายที่เธอเขียนถึงเพื่อนชื่อ มาเรียน สตอร์ม (Marian Storm) เธอแสดงความปีติยินดีเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองนั้นว่า

“เป็นเรื่องแปลกที่วิชาโบราณคดีให้กำเนิดลูกหลานที่มีชีวิตชีวาเช่นนั้น! เธอคงจินตนาการได้ว่าฉันสุขใจแค่ไหนที่ได้สกัดเชื้อต้นกำเนิดจากหลุมฝังของอดีต เป็นเชื้อที่มีพลังและชีวิตชีวามากเสียจนทำให้เด็กๆ เต้นรำ ร้องเพลง และเฝ้าสังเกตพระอาทิตย์ทุกๆ ปี”

เพราะสำหรับซีเลีย นัททาลล์ แล้ว โบราณคดีของเม็กซิโกมิใช่เป็นเพียงแค่การขุดค้น หรือการค้นพบเอกสารโบราณ หากแต่ยังเป็นพลังแห่งชีวิตและเป็นจิตวิญญาณของเธอนั่นเอง! •

 

Pioneering Minds | บัญชา ธนบุญสมบัติ

https://www.facebook.com/buncha2509