รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ รวม ‘พลัง’ หรือรวมกัน ‘พัง’

ในวันที่สังคมจับตาท่าทีของ 2 ป. ว่าจะแยกกันเดินคนละทางจริงหรือไม่ และจะแยกกันอย่างไร แต่ละเส้นทางต่างกันยังไง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเฉลยภาพอนาคตทางการเมืองตัวเองอย่างไร หลังกระแสข่าวโหมไปในทิศทางเดียวกันชัดเจน ว่าจะไปสู้ต่อในนามพรรครวมไทยสร้างชาติแน่ๆ

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังนิ่งเฉยตามสไตล์ เหมือนจะลับลวงพรางแบบที่เคยเห็นกันมานานหลายปี จะชัด แต่ก็ไม่ยอมคอนเฟิร์ม จะเปิด แต่ก็ไม่ทำให้เป็นทางการ

มีเพียงคำตอบเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า “กำลังพิจารณาอยู่”

ตามมาด้วยข่าวลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ของนักการเมืองใหญ่-น้อยพลังประชารัฐ ข่าวการย้ายข้างสลับขั้ว โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ จนโดนข้อกล่าวหาตกปลาในบ่อเพื่อน

ถนนทุกสายมุ่งไปสู่รวมไทยสร้างชาติ

รวมไทยสร้างชาติ

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เหมือนยังเก้ๆ กังๆ แต่พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ชัดเจนกว่า

28 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ภายหลังการเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการเศรษฐกิจดิจิทัล “THAILAND 4.0 ประเทศไทยไปไกลกว่าที่คิด : THAILAND 4.0 THE FUTURE AND BEYOND”

พล.อ.ประวิตร ก็ลั่นวาจาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ตอบคำถามสื่อมวลชนอย่างอารมณ์ดี จริงจัง ชัดเจนเรื่องกระแส พล.อ.ประยุทธ์แยกตัวไปสู้ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (ไม่รีบเดินหนีขึ้นรถเช่นที่คุ้นตา)

ว่ากันว่า พล.อ.ประวิตรชิงตอบคำถามนักข่าวก่อนที่นักข่าวจะถามเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองด้วยซ้ำ

“ว่าไง…มีอะไร…ไม่มีหรอกนะ อย่ามาว่าผมเซ็ง เซิงอะไร ผมไม่เซ็งหรอก ผมตื่นเต้นอยู่ทุกวันจะไปเซ็งอะไร คุณ (สื่อ) เซ็งล่ะสิ มาว่าผมอะครับ ไม่มีเครียดหรอกครับ ผมไม่เครียดอะไรเลย”

นักข่าวถามเข้าเรื่องถึงกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐโดนดูดมายังพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประวิตรตอบคำถามว่า

“ไม่มี ก็ดูดไปดูดมากันนี่ล่ะครับ” พล.อ.ประวิตรพูดเอง หัวเราะเอง นักข่าวถามย้ำว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ดูดไปแล้ว พล.อ.ประวิตรจะดูดกลับหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ผมไม่ดูดหรอก ผมจะไปดูดใครมา”

นักข่าวถามว่า เห็นว่า ส.ส.พรรคพลังประชารัฐจะไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประวิตรสวนกลับมาทันที “อ๋อ…เขาก็ไป ก็พรรคเดียวกันนั่นแหละครับ ไม่มีอะไรหรอกครับ”

ถามย้ำว่า พูดได้ไหมว่าพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคพันธมิตรกัน

พล.อ.ประวิตรส่ายหน้าเล็กๆ พร้อมตอบคำถามว่า “พล.อ.ประยุทธ์กับผมก็เป็นพี่เป็นน้องกันนะ ไม่มีอะไร ท่านอยากไปอยู่นู่นก็ไป ผมไม่ว่าอะไร ผมไม่มีปัญหาอะไร ผมไม่มีความขัดแย้งกันเลย อยู่กันมา 40-50 ปีแล้ว จะมาขัดแย้งกัน คุณถามทุกวันเลยนะ ประชาชนรับทราบด้วยนะครับว่า ผมไม่ได้มีความขัดแย้ง นี่ผู้สื่อข่าวถามเองนะครับ ว่าให้ผมขัดแย้ง ผมไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่ขัดแย้งกับคุณด้วย ไม่ขัดแย้งอะไรกับใครทั้งนั้น”

พล.อ.ประวิตรเดินออกจากโพเดียมแถลงข่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะเห็นพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมกันตีใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่ใช่ร่วมกันตี ต่างคนต่างอยู่นะครับ” เมื่อถามว่า แต่เมื่อกี้บอกว่าเป็นพรรคเดียวกัน

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ก็รู้จักกัน เขาก็เรียกพรรคเดียวกันสิ”

นั่นคือ พล.อ.ประวิตร ที่ได้ช่วยไขข้อสงสัยของสังคมเปราะหนึ่งแล้วว่า 2 ป.จะแยกกันจริงไหม คำตอบคือแยกกันจริง แต่ก็คือพรรคพวกเดียวกัน รวมไทยสร้างชาติกับพลังประชารัฐ พรรคเดียวกัน

การแถลงข่าวของ พล.อ.ประวิตรครั้งนี้ทำให้รู้ว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้พูดเป็นแต่คำว่าไม่รู้ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งปกติพูดน้ำไหลไฟดับ กลับปฏิเสธไม่พูด หลีกเลี่ยงการพูดทิศทางการเมือง แต่ทั้งสองคนมีอากัปกิริยาคล้ายเหมือนจะเซ็ตคิวกันมาในช่วงวันนั้น คืออารมณ์ดี ยิ้มแย้มทั้งคู่ ไม่ได้มีท่าทีโกรธเกรี้ยวแต่ประการใด แค่คนพูดบ่อยไม่พูด คนพูดน้อยพูดเยอะ

อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่ายผู้สนับสนุนมีบทเรียนแล้ว การเป็นนายกรัฐมนตรีขาลอย ต้องพึ่งพิงกับเครือข่ายพรรคพลังประชารัฐตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา สร้างความยากลำบาก มีการต่อรองมากมาย ไม่ใช่สิ่งที่คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์จะชื่นชอบ การตั้งพรรคใหม่จึงเป็นทางออก เพราะรู้แล้วว่าต้องสร้างอาณาจักรตัวเอง

ขณะที่ข่าวความเคลื่อนไหวในระดับปฏิบัติการ การดูดตัว โทร.เช็กรายตัว ตัดเกรด ส.ส. เพื่อดึงเข้ามาในพรรค เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งฝั่งของพลังประชารัฐ เครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร และรวมไทยสร้างชาติ เครือข่ายกลุ่มก้อนทางการเมืองผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

เรียกได้ว่าต่างฝ่ายต่างซุ่มสะสมกองกำลังกันอย่างเคร่งเครียด เครือข่ายของรวมไทยสร้างชาติพยายามเจาะพื้นที่ภาคใต้ พื้นที่ กทม. โดยใช้ยุทธศาสตร์ดึงบ้านใหญ่มาร่วม ขณะที่เครือข่าย พล.อ.ประวิตรซึ่งรู้ว่าถูกดูด ส.ส. ก็เหมือนมีความพยายามจะดึงกลับ หาคนใหม่มาเพิ่ม และรั้งบ้านใหญ่ไว้ให้มากที่สุด

ดูข่าวรายวันเหมือนจะขัดแย้งกันมาก แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้แล้ว ต้องยอมรับว่าการแตกพรรคของ 2 ป.มีความจำเป็นเชิงโครงสร้างบางอย่างจำเป็นต้องเกิดขึ้นตามสถานการณ์ การอยู่แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มองไม่เห็นอนาคต

แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง ไม่รู้จะมีปาฏิหาริย์ทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นอีก ที่ห่วงกันคือการใช้กติกาเรื่องคุณสมบัติต่างๆ มาจัดการฝ่ายตรงข้าม ประมาทได้ที่ไหน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ อย่างยุบพรรค แม้แต่เรื่องเล็กน้อย (แต่ส่งผลมหาศาล) อย่างแบ่งเขตเลือกตั้งก็ต้องจับตา

การตั้งพรรคใหม่ เปิดโอกาสในเชิงโครงสร้างทางการเมืองในแง่ที่ว่าให้ทั้ง 2 ป.สามารถเดินเกมทางการเมืองของตัวเองได้ไปตามหลักการวิธีคิดของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างงัดแท็กติกทางการเมืองอะไรมาใช้ก็ตาม นี่คือเรื่องของการแยกกันเดิน

ส่วนจะกลายเป็นการรวมพลัง หรือรวมกันพังนั้น ถ้าประเมินจากผลสำรวจนิด้าโพลที่เพิ่งเปิดเผยผลสำรวจความนิยมทางการเมืองของบุคคลที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่นิยมในระดับภาค กรุงเทพฯ ภาคเหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก คะแนนฝ่ายค้านนำลิบ ยกเว้นภาคใต้ ต้องบอกว่า ทั้งพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ คงจะเหนื่อย

ในงานเสวนาเปิดโกดังหนังสือที่มติชนอคาเดมี สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มองคล้ายกันว่า การแยกกันเดิน ไม่ใช่เรื่องแท็กติก (กลยุทธ์) อย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของวิธีการในการทำงานทางการเมืองด้วย

“การเกิดขึ้นของรวมไทยสร้างชาติ เหมือน ‘มือที่ 3’ ที่เข้ามา อย่างน้อยป้องกันไม่ให้เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ หมั้นหมาย แต่งงานกันได้ในที่สุด แลเพิ่มโอกาสที่พลังประชารัฐจะไปรวมกับรวมไทยสร้างชาติ” สิริพรรณกล่าวด้วยมุมมองเชิงวิชาการ

สิริพรรณชี้อีกว่า “รวมไทยสร้างชาติ ถ้าไม่มีประยุทธ์ ก็จะเหมือนพรรคสายลมแสงแดด แม้ประยุทธ์มาแน่ แต่พรรคก็ยังไม่มีบิ๊กเนมทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ทั่วโลกเศรษฐกิจถดถอยอีกระดับในปีหน้า ฐานของรวมไทยสร้างชาติมาจากแฟนคลับประยุทธ์ บ้านใหญ่มาแน่คือกลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น แต่โจทย์ใหญ่คือการหาเสียง จะบอกยังไงที่ประยุทธ์อยู่ได้แค่ 2 ปี”

สิริพรรณทิ้งท้ายว่า อาการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในการชู พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ สะท้อนความจนตรอกของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้น องคาพยพอำนาจรัฐจะไม่เข้มข้นเหมือนในอดีตแล้ว

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

นี่คือมุมวิเคราะห์นักวิชาการ แค่กางดูเนื้อผ้ากันตรงไปตรงมา พรรค 2 ป. รวมกันแค่ไหน ก็เป็นรองอีกฝ่ายชัดเจน ดูจะพึ่งพิงอยู่แต่ระบบการเมืองเก่า บ้านใหญ่ ทุน

แต่ถึงที่สุดแล้ว เราต้องไม่ลืมมิติเชิงอุดมการณ์ ที่มาที่ไปของกลุ่มก้อนอำนาจทั้งสองกลุ่มนี้ ว่ามีประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปทางความคิด ความเชื่อเรื่องอำนาจ การเมือง สังคม ที่คาบเกี่ยวยึดโยงกันอยู่ แม้ที่ผ่านมาจะเห็นต่าง พบปัญหารอยแตกร้าวไปบ้าง แต่ถ้าพิจารณาดูดีๆ มันเป็นความแตกร้าวในเชิงรายละเอียด แค่ลูกน้องแตกกัน ไม่ได้ทำให้หลักการใหญ่ จุดยืนความเชื่อที่ยึดโยงกันอยู่ มลายหายไปแต่อย่างใด (อาจจะงอนกันเล็กน้อย)

ทั้งนี้ ผลพวงหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องหาร 100 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็น่าสนใจ เพื่อไทยใจชื้นแน่ๆ ส่วนพรรคเล็กห่อเหี่ยว คงต้องมีการรวมพรรคกันยกใหญ่เร็วๆ นี้ ขณะที่เรื่องยุบสภาประเมินกันว่าไม่เกิดเร็วๆ นี้แน่ ลุงตู่น่าจะอยู่ให้ยืดยาวนานที่สุดเพื่อทำคะแนนนิยม เพราะเพิ่งตั้ง 3 รัฐมนตรีใหม่

ดังนั้น ยุทธศาสตร์พรรคเดียวกัน แต่แยกกันทำโดยที่ส่วนหัวยึดโยงรวมกัน ต่อสู้ฝ่ายตรงข้ามอย่างมีพลัง หรือรวมกันแล้วจะพัง ภายใต้ตัวแปรที่เปลี่ยนไป ตั้งแต่กติกา ความโกรธแค้นทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ที่แสนจะเปราะบาง ไปจนถึงเจเนอเรชั่นของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่นานเดี๋ยวรู้

แต่วันนี้เราได้เห็นโมเดลใหม่ของพรรคทหารแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ที่มาเดียวกัน พี่น้องสายเลือดทหารเดียวกัน แต่แยกเป็น 2 พรรค ดูดกันไปดูดกันมา