ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ส่งผลสะเทือนต่อสภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์และการเมืองภาพรวมอย่างไรต้องติดตาม
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 50/2559
ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ กทม. ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เช่นเดียวกับ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
เนื่องจากอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
แม้ยังไม่สรุปความผิด แต่เป็นเรื่องอยู่ในความสนใจของประชาชน หัวหน้า คสช. เคยมีคำสั่งลักษณะเดียวกันนี้มาแล้วกับผู้บริหารท้องถิ่นคนอื่นๆ
เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์โปร่งใส ไม่เป็นที่ครหา เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและประชาชน ไม่ให้เสียหายต่อราชการแผ่นดิน
จึงมีคำสั่ง “พักงาน” ดังกล่าว
คำสั่งลงวันที่ 25 สิงหาคม ขณะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ปฏิบัติราชการที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ในงานฉลอง 10 ปีความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องกรุงเทพมหานคร-กรุงโซล
มีการประเมินว่าคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นการเยียวยาความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อย ที่เจ็บปวดกับการทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อย่างมากในระยะหลัง
นอกจากได้ใจคนกรุงเต็มๆ
คำสั่งยังมีผลลดแรงกดดันจากข้อครหา “สองมาตรฐาน” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญมานาน 4 เดือน
4 เดือนหลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีมติชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และพวกรวม 9 คนในโครงการ “อุโมงค์ไฟ” ลานคนเมือง วงเงินงบฯ 39.5 ล้านบาท
ว่าไม่เป็นไปตามระเบียบราชการ ส่อมีการทุจริตตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว
ความลังเลในการใช้ดาบมาตรา 44 ดำเนินการกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในตอนนั้น
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นแก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็น “หลังพิง” ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หรือไม่
ตรงนี้ต้องจับตาหลังมีคำสั่งพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ สถานการณ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับนายสุเทพ จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางใด หมางเมินหรือมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น
สำหรับนายสุเทพ เมื่อตอนเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คือหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้ได้เป็นตัวแทนพรรคลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่ 2 เอาชนะ นายกรณ์ จาติกวณิช คู่แคนดิเดตจากการสนับสนุนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 3 มีนาคม 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับเลือกด้วยคะแนนถึง 1,256,349 คะแนน และกำลังจะหมดวาระ 4 ปีในวันที่ 27 มีนาคม 2560
ตลอดระยะกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักทั้งด้านประสิทธิภาพการทำงานและความโปร่งใสในการดำเนินโครงการต่างๆ
ไม่เพียงโครงการอุโมงค์ไฟที่อยู่ในชั้น ป.ป.ช. ยังมีการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กคันละ 8 ล้านบาท การจัดซื้อเปียโน 70 หลังให้กับโรงเรียนของ กทม. เครื่องดนตรีสากล เครื่องสูบน้ำ เรือผิวน้ำ รวมถึงการปรับปรุงห้องทำงานผู้บริหาร กทม. 16.5 ล้านบาท ที่ สตง. เตรียมเข้ามาตรวจสอบ
ส่วนที่ว่าเรื่องเกิดขึ้นนานแล้วทำไมเพิ่งมีคำสั่งตอนนี้
อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ อาจพอจับสัญญาณ ป.ป.ช. ในการสอบสวนกรณีอุโมงค์ไฟได้คร่าวๆ แล้วว่าคำตอบจะออกมาแนวไหน
จึงต้องชิงออกคำสั่งเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ความเด็ดขาดในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นจุดขายของรัฐบาล คสช.
เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเสียงเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ดำเนินการกับผู้ว่าฯ กทม. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามบ่ายเบี่ยง จนถูกสังคมครหาว่าเพราะเกรงจะขัดใจผู้นำ กปปส.
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 50/2559 ไม่เพียงเป็นการปลดล็อกปัญหาผู้ว่าฯ กทม. แต่ยังออกมาในห้วงเวลาที่คะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ
นับตั้งแต่การลงประชามติ 7 สิงหาคม เป็นต้นมา
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์
ได้แถลงตัดขาดสัมพันธ์กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม และตอกย้ำอีกครั้งโดยนายอภิสิทธิ์หลังรับรู้ถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม
“พรรคเคยออกแถลงการณ์ไปก่อนหน้านี้ว่า เมื่อผู้บริหารของ กทม. ไม่พร้อมให้พรรคเข้าไปช่วยติดตามดูแลก็ถือว่าทำงานกันโดยเอกเทศ จากนี้ไปจึงเป็นเรื่องของ กทม. ต้องชี้แจงตามขั้นตอนกฎหมาย”
ชะตากรรมที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ประสบอยู่ สร้างความ “สะใจ” ให้สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนโดยเฉพาะอดีต ส.ส.กทม. ในสายของนายอภิสิทธิ์
ถึงขนาดมีกระแสข่าวพรรคได้ทาบทามบุคคลเตรียมลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ไว้แล้ว
แต่ที่น่าสนใจและมองข้ามไม่ได้คือสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ตั้งข้อสังเกตด้วยความไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเกิดขึ้นเมื่อใด
เนื่องจากในสถานการณ์พิเศษภายใต้คำสั่ง คสช. ยังไม่อนุญาตให้มีการเลือกตั้งทุกชนิด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ แม้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2560
ก็ใช่ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะมีขึ้นหลังจากนั้นทันที
ดังนั้น การเข้าใจว่าคำสั่งพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะเป็นผลดีต่อพรรคประชาธิปัตย์จึงอาจเป็นการด่วนสรุปเร็วไป
ถึงแผนจับมือจัดตั้งพรรคใหม่ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับนายสุเทพ เพื่อเป็นฐานสนับสนุนฝ่ายทหาร ซึ่งเคยเป็นข่าวเกรียวกราวช่วงปลายปี 2558 ต้องพับเก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน
ก็ไม่ได้หมายความว่าเยื่อใยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับนายสุเทพ ต้องพับเก็บตามไปด้วย
นายสุเทพเองพร้อมอยู่แล้วที่จะสละอวัยวะบางส่วนเพื่อรักษาชีวิตทางการเมืองของตนเองไว้ และต้องไม่ลืมว่ามือไม้นายสุเทพในศาลาว่าการ กทม. ไม่ได้มีแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์
ยังมีระดับรองผู้ว่าฯ อดีตนายตำรวจคนดัง
การสั่งพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ทำให้เรตติ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตรงนี้เองที่เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับพรรคประชาธิปัตย์