พุทธบุรีมณฑลและนครหลวงสระบุรี 80 ปีต่อมา | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ใน พ.ศ.2485 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปที่สระบุรี ก่อนปรับเปลี่ยนให้เป็นพุทธบุรีมณฑลแทนในเวลาต่อมา

ความคิดเรื่องการย้ายเมืองหลวงนี้ก่อตัวอยู่ในความคิดของจอมพล ป.มาก่อนหน้านั้นหลายปีแล้ว

เห็นได้จากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณพระพุทธบาท จ.สระบุรี ในปี 2479 ภายใต้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยมีจอมพล ป.เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

และการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปี 2480 เพื่อหาวิธีรับมือกับภัยทางอากาศ อันเป็นผลจากสงครามที่กำลังลุกลามบานปลายระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และมีทีท่าว่าจะแผ่ขยายไปทั่วโลก จอมพล ป.ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมอยู่ในขณะนั้นจึงหยิบยกเรื่องการย้ายเมืองหลวงขึ้นมาอย่างจริงจัง

ต่อมาในปี 2481 เมื่อจอมพล ป.เป็นนายกรัฐมนตรี โครงการย้ายเมืองหลวงก็เงียบหายไปสักพัก กระทั่งปรากฏขึ้นอีกครั้งอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2485 จากการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาที่ตั้งเมืองหลวงใหม่

คณะกรรมการชุดนี้ซึ่งมี พล.ท.มังกร พรหมโยธี เป็นประธาน ได้ทำการสำรวจพื้นที่หลายแห่งเพื่อหาตัวเลือกที่ดีที่สุด ได้แก่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

รวมทั้งพื้นที่ตรงกลางระหว่าง อ.แก่งคอย กับ อ.เมือง จ.สระบุรี ด้วย

คุณสมบัติสำคัญของพื้นที่เมืองหลวงใหม่คือต้องไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากเกินไป ควรอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ และต้องไม่ไกลจากลพบุรีซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางการทหาร

ในส่วนของลพบุรีนั้นเชื่อว่าจอมพล ป.ก็ปรารถนาให้พิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้งเมืองหลวงอยู่เหมือนกัน แต่ติดปัญหาเรื่องน้ำ เพราะลพบุรีขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน

เงื่อนไขเรื่องน้ำเป็นจุดชี้ขาดสำคัญที่ทำให้จอมพล ป.จำเป็นต้องมองหาพื้นที่อื่น โดยเลือกระหว่างที่ดอนกับที่ลุ่ม ที่ดอนน้ำไม่ท่วมแต่แล้ง ที่ลุ่มไม่แล้งแต่น้ำจะท่วม

ในปี 2485 นี้เองได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ขึ้นในพระนคร นับเป็นเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

การที่เมืองหลวงเกิดสภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางของประเทศทุกด้าน

ด้วยเหตุนี้โครงการย้ายเมืองหลวงที่มีมาก่อนหน้าแล้วก็ยิ่งสมเหตุสมผลและมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก

คณะกรรมการของ พล.ท.มังกร พรหมโยธี ได้กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาสถานที่ต่างๆ ขึ้นมา 12 ข้อ คือ 1) น้ำ 2) ไข้มาลาเรีย 3) ระดับพื้นดิน 4) ความร้อน ความหนาว ความชื้นของอากาศ 5) ลักษณะของดิน 6) จำนวนฝนที่ตก 7) ความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวกับอาหารการบริโภค 8 ) เนื้อที่ที่สามารถขยายตัวเมืองได้ 9) การคมนาคม 10) อุปนิสัยใจคอของบุคคลในจังหวัดนั้น 11) หลักทางยุทธศาสตร์ และ 12) ภาพ (วิว) ทั่วไปของเมือง

จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ทั้ง 12 ข้อนั้นครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านกายภาพของพื้นที่และบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยใจคอของผู้คน ทั้งด้านพลเรือนและทางด้านการทหาร ทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทั้งการคมนาคมและชลประทาน

เรียกได้ว่าเป็นแผนปฏิบัติการที่ละเอียดลออและรวดเร็วฉับไวมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อรายงานการสำรวจเสร็จสิ้น จอมพล ป.กลับไม่ได้เลือกสถานที่ใดในรายงานเลย แต่กลับระบุโดยตรงลงไปที่พื้นที่สระบุรีแทน

โดยกล่าวว่า “เมืองหลวงควรเอาพระพุทธบาทสระบุรีเป็นหลักเมือง แล้วกำหนดเอาแม่น้ำป่าสักกับแม่น้ำลพบุรีเป็นเขต” ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจอมพล ป.เล็งพื้นที่นี้ไว้ในใจอยู่ก่อนแล้ว เมื่อไม่เห็นว่ามีตัวเลือกใดที่ดีไปกว่าพื้นที่นี้ จอมพล ป.จึงเลือกสระบุรีเป็นคำตอบสุดท้าย

และกลายมาเป็นโครงการ “นครหลวงสระบุรี” ในที่สุด

นครหลวงสระบุรีกินอาณาบริเวณประมาณ 400 ไร่ มีขนาด 20 x 20 กิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออกทอดยาวไปตามแนวถนนพหลโยธินหรือชื่อเดิมคือถนนประชาธิปัตย์ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือ อ.พระพุทธบาท และ อ.เฉลิมพระเกียรติ ส่วนด้านใต้ยึดตามแนวแม่น้ำป่าสักและทางรถไฟสายอีสาน ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.เมือง อ.เสาไห้ และ อ.หนองแซง ส่วนทิศตะวันตกคือแนวทางรถไฟสายเหนือและแม่น้ำป่าสัก อยู่ในเขต อ.บ้านหมอ อ.หนองโดน จ.สระบุรี และ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของนครหลวงสระบุรีก็คือผังเมืองที่ใหญ่โต งดงามอลังการ และออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้แนวคิด City Beautiful ของแดเนียล เบอร์แนม สถาปนิกชื่อดังในยุคนั้น

ผังเมืองของนครหลวงสระบุรีมีศูนย์กลางเป็นรูปทุ่นระเบิด คล้ายคลึงกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส

มีการวางตำแหน่งของสถานทูต โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการต่างๆ กระจายไปตามจุดต่างๆ ของเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในบริเวณทุ่นระเบิดที่มองเห็นการวางแนวอาคารเรียงรายไปตามถนนขนาดใหญ่และสวยงามเรียกว่า “บูเลอวาร์ด” (boulevard) แบบเดียวกับถนนราชดำเนิน

นอกจากนี้ ยังมี “แลนด์มาร์ก” สำคัญของเมืองตามจุดตัดของถนน (node) ทั้งที่คาดว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ และที่ปรับเปลี่ยนจากสถานที่เดิม เช่น วัดพระพุทธบาท ฯลฯ ทั้งนี้ ศูนย์กลางนครหลวงอันเป็นรูปทุ่นระเบิดนั้นจะอยู่ในบริเวณแถวๆ หนองคณฑี-พุกร่าง-สร่างโศก-บ้านหมอในปัจจุบันนั่นเอง

ส่วนวัดพระพุทธบาทจะเป็นหลักเมืองและเป็นปูชนียสถานหลักไม่ต่างไปจากวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ แต่จะมีสถานะแบบเดียวกันทุกประการหรือไม่ก็ไม่แน่ชัด

ประเด็นนี้ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ให้ความเห็นว่า จอมพล ป.น่าจะมีความประสงค์ที่จะสร้างเมืองใหม่ให้หลุดพ้นไปจากระบอบเดิมและขนบความคิดที่ฝังซ้อนกันอยู่หลายชั้นในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ยากต่อการสร้างพื้นที่ใหม่ สำนึกใหม่ วัฒนธรรมใหม่ ระเบียบแบบแผนใหม่ขึ้นมา การออกแบบและก่อร่างสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาจึงวางรากฐานใหม่ได้ง่ายกว่า แม้วัดพระพุทธบาทจะมีสถานะสำคัญในเมืองหลวงใหม่แต่ก็อาจไม่ได้ยกความคิด ระบอบ และระบบระเบียบทั้งหมดมาจากกรุงเทพฯ ทั้งกระบิ

ขณะที่สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ มองว่านครหลวงสระบุรีอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งของจอมพล ป.มาตั้งแต่ต้น โดยชั่งใจระหว่างลพบุรีกับสระบุรีอันเป็นพื้นที่ติดกัน การที่สระบุรีถูกเลือกอาจเป็นแผนสอง เมื่อแผนหนึ่งคือลพบุรีมีปัญหาเรื่องน้ำที่แก้ไม่ตก หรือไม่สระบุรีก็เป็นพื้นที่เป้าหมายเริ่มแรกเลยก็ได้เมื่อพิจารณาว่าแนวความคิดในการสร้างเมืองหลวงแบบเมโทรหรือ “Metropolitan Area” อันแพร่หลายในโลกยุคนั้น

ซึ่งเมืองแบบเมโทรนี้จะกินอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าเมืองใดเมืองหนึ่ง โดยขยายสาธารณูปโภคและความเจริญต่างๆ กินพื้นที่ไปสู่เมืองอื่นๆ โดยรอบด้วย เหมือนกับที่จังหวัดปริมณฑลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกรุงเทพฯ อย่างแยกไม่ออก

น่าเสียดายที่แม้วางแผนมาอย่างดิบดี พร้อมทั้งลงมือวางแนวพื้นที่ด้วยหลักเขตคอนกรีตเสริมเหล็กรูปใบเสมาขนาดใหญ่ สูงราว 2 เมตร ประทับตราธรรมจักรด้านหนึ่ง และตัวอักษรจารึกว่า “หลักเขตนครหลวง” อีกด้านหนึ่ง

แต่สถานการณ์สงครามโลกที่พลิกผัน ทำให้ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ จนปรากฏเค้าลางความพ่ายแพ้อย่างเด่นชัด

จอมพล ป.จึงพลิกแผนการใหม่โดยย้ายเมืองหลวงจากสระบุรีไปที่เพชรบูรณ์แทนเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าสระบุรีที่เปิดโล่งและสามารถถูกข้าศึกโจมตีได้จากทุกทิศทุกทาง และเรียกโครงการใหม่ที่เพชรบูรณ์ว่า “นครบาลเพชรบูรณ์”

ขณะที่นครหลวงสระบุรีเดิมก็ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น “พุทธบุรีมณฑล” นครศักดิ์สิทธิ์ที่จอมพล ป.มุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา และเป็นเขตปลอดทหารที่ขวางกั้นไม่ให้ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาถึงลพบุรีและเพชรบูรณ์ได้ ภายใต้แผนสู้กลับของจอมพล ป.ที่เก็บไว้เป็นความลับสุดยอดจนกระทั่งสงครามยุติ

ปัจจุบันหลักเขตนครหลวงเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ให้เห็นบ้าง แต่ทว่า อยู่ในสภาพอันน่าสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการถูกปล่อยให้กลืนหายไปในพงหญ้า ทุ่งนา ผืนป่า ทางเท้า ถนนหนทาง จนผู้สัญจรผ่านไปมาไม่มีทางรู้ได้เลยว่านี่คือโบราณวัตถุชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์

หลักเขตนครหลวงอันเกรียงไกรนอกจากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว ยังถูกทอดทิ้งไร้การเหลียวแลราวกับแท่งอิฐแท่งปูนไร้ค่า

โครงการทั้งหมดนี้ถึงกาลอวสานครั้งแรกเมื่อ 80 ปีก่อน จากการที่ร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์แพ้ในการออกเสียงลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2487 ไปด้วยคะแนน 48 ต่อ 36

ส่วนร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดพุทธบุรีมณฑลก็พ่ายแพ้เช่นกัน ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2487 ด้วยคะแนน 43 ต่อ 41

ทำให้จอมพล ป.ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่นั่นไม่ใช่ลมหายใจสุดท้ายของโครงการนี้

นครหลวงสระบุรีและพุทธบุรีมณฑลถึงกาลอวสานอย่างแท้จริงในปี 2565 หรือ 80 ปีต่อมา เมื่อชิ้นส่วนเหล่านี้กลายเป็นแท่งปูนขยะที่ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำ และเมื่อถึงวันที่ไม่เหลือข้อมูลความรู้ใดไว้ให้ศึกษาอีกต่อไป เมื่อนั้นลมหายใจสุดท้ายของโครงการนี้ก็จะหมดสิ้นลง

ปิดฉากอภิมหาโปรเจ็กต์ของ “แมวเก้าชีวิต” ผู้มีชีวิตโลดโผนดั่งนิยายไปตลอดกาล

หมายเหตุ : ผู้สนใจเรื่องนี้สามารถติดตามเนื้อหาและข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบันทึกการเสวนา “ดินแดนในจินตนาการ : นครหลวงสระบุรีและพุทธบุรีมณฑล พระพุทธบาท สระบุรี กับความพยายามเป็นศูนย์กลางประเทศแห่งใหม่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม” โดยชาตรี ประกิตนนทการ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ และกฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ รวมทั้งเนื้อหาอื่นๆ ได้ทาง www.facebook.com/saraburipeople2022 และ www.youtube.com/@saraburipeople2022