มาธวาจารย์ : พายุแห่งปัญญา (จบ)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

จากดินแดนกรรณาฏกะสู่พัทรินาถในเทือกเขาหิมาลัยอันไกลโพ้น มาธวาจารย์และศิษย์จำนวนหนึ่งมิได้ย่อท้อต่อความยากลำบากแต่อย่างใด ในยุคสมัยที่มีเพียงการเดินเท้า “ปาทยาตรา” ท่องไปตามวิสัยนักบวชเท่านั้น

ครั้นถึงพัทริกาศรมที่ตั้งแห่งเทวาลัยพัทรินาถนารายณ์อันศักดิ์สิทธิ์ มาธวาจารย์เข้าบำเพ็ญพรตภาวนาอย่างอุกฤษฎ์ ลงสนานตัวในสายธารหิมะละลายอันเย็นเฉียบ

กระทั่งวันหนึ่งท่านได้ยินเสียงเรียกจากเบื้องบน “มาธวะ จงตามเรามา” ท่านจึงเดินขึ้นไปยังยอดเขาโดยลำพัง

จากยอดเขาแห่งพัทริ มาธวะเข้าไปสู่มิติอันลึกลับ สู่ดินแดนที่คนธรรมดาไม่อาจเข้าถึงได้ นั่นคืออาศรมแห่งมหาฤษีเวทวยาส ผู้รจนาพระเวทและคัมภีร์อื่นๆ มากมาย ท่านมีอายุมิอาจนับประมาณได้ เป็นมหากวีและบูรพาจารย์แต่ปางบรรพ์

พระมหาฤษีกับทั้งศิษย์มากมายต้อนรับมาธวาจารย์ด้วยดี เพราะรู้ถึงความสามารถและสติปัญญาอันเลิศล้ำ จากนั้น มาธวาจารย์จึงได้ศึกษาความรู้แห่งอรรถความหมายชั้นลึกของคัมภีร์พระเวท พรหมสูตร มหาภารตะ และปัญจราตระ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่การพรรณาความรุ่งเรืองแห่งองค์พระนารายณ์

ไม่ว่าการพบกับมหาฤษีวยาสจะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม หรืออาจเป็นได้ว่า ตำนานการพบกันอย่างลึกลับนี้เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมแก่งานนิพนธ์ของมาธวาจารย์ว่าได้รับการรับรองจากผู้รจนาในตำนาน

กระนั้น ผลงานมากมายของมาธวาจารย์เองก็เป็นดั่งการสานต่องานที่มหาฤษีวยาสได้ทำไว้แล้ว เช่น การให้อรรถาธิบายมหากาพย์มหาภารตะซึ่งนักปรัชญามักมองข้าม แต่มาธวาจารย์เห็นว่า ทั้งมหาภารตะและภควัทคีตา ล้วนแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสูงสุด นั่นคือ พระหริโควินทะหรือพระนารายณ์ในรูปแห่งพระกฤษณะอย่างชัดแจ้ง

เมื่อออกจากพัทริกาศรมแล้ว ท่านและศิษย์เดินทางกลับไปยังอุฑุปิในภาคใต้ เหตุการณ์สำคัญคือมาธวาจารย์ได้ค้นพบรูปของพระกฤษณะ ว่ากันว่ารูปเคารพศิลานี้ถูกห่อหุ้มด้วยดินสอพองสำหรับการเจิม (โคปีจันทน์) ขนาดมหึมา ท่านจึงสร้างเทวสถานแห่งพระกฤษณะเพื่อประดิษฐานรูปเคารพดังกล่าว

เทวสถานพระกฤษณะแห่งอุฑุปิได้กลายมาเป็นหนึ่งในเทวาลัยสำคัญในอินเดียใต้ โดยเฉพาะชาวไวษณพนิกาย และเป็นศูนย์กลางสำนักของมาธวาจารย์ซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เราจึงอาจกล่าวได้ว่า นอกจากคำสอนและหลักปรัชญา เทวสถานแห่งนี้แหละคือมรดกชิ้นสำคัญที่สุดของมาธวาจารย์ ซึ่งจับต้องได้แก่ผู้คนทั่วไป เป็นประจักษ์พยานคำสอนแก่ชาวบ้านผู้มีศรัทธาอย่างง่ายๆ มิใช่เพียงปราชญ์ราชบัณฑิตผู้ส้องเสพกับตำราเท่านั้น

ในวันสถาปนาเทวสถาน มาธวาจารย์ได้ประพันธ์บทสรรเสริญพระเป็นเจ้าขึ้นในชื่อ “ทวาทศะสโตตรัม” หรือคำสรรเสริญสิบสองบทถวายแด่พระนารายณ์-กฤษณะ อันนิยมขับร้องและเป็นที่รู้จักมากกว่างานทางปรัชญาชิ้นอื่นๆ ขึ้นต้นดังนี้

“ข้าน้อมไหว้วันทนาแด่พระวาสุเทวะ (พระกฤษณะ) ผู้เปี่ยมอานันทสุขทุกเวลา เป็นบดีของนางอินทิราลักษมี เป็นผู้ประทานพรอันมากมี แก่เทวาธิเทพมีพรหมาเป็นอาทิ”

“ข้านมัสการพระบาทองค์ศรีบดี ซึ่งมีราชอาสน์ตั่งทองมารองรับ อันทวยเทพนับอนันต์แห่ห้อม พร้อมแสงเรืองรองดุจสุรีย์โรจน์ ขับไล่ความมืดมนโฉดเขลาแห่งจิต”

นอกจากงานในทางตำรา มาธวาจารย์ยังปฏิรูปพิธีกรรมขนานใหญ่ ท่านสั่งให้ยกเลิกการบูชายัญด้วยชีวิตสัตว์ แต่เพื่อรักษาขนบโบราณจึงระบุให้ใช้พืชผักในการประกอบพิธีแทนสัตว์เป็นๆ ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจแก่พวกพราหมณ์หัวเก่าเป็นอย่างมาก

กระนั้น ท่านก็ผ่านแรงต้านมาด้วยความใจเย็นและอดทน จนกลายเป็นระเบียบพิธีที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในที่สุด

 

ครั้นพำนักที่อุฑุปิได้ระยะหนึ่ง มาธวาจารย์ก็ออกเดินทางไปยังพัทริกาศรมในหิมวันต์อีกครั้ง ท่านยังคงได้พบกับพระมหามุนีวยาสและรับคำสอนเพิ่มเติม ทว่าในครานี้ การเดินทางกลับมิได้สะดวกดังเดิม

คณะเดินทางต้องข้ามแม่น้ำคงคา แต่ในเมืองนั้นกำลังมีสงครามรบพุ่งกัน ฝ่ายชาวเติร์กมุสลิมรู้สึกไม่ไว้วางใจกลุ่มนักบวชฮินดูที่ผ่านเข้ามา ด้วยเกรงว่าอาจเป็นจารบุรุษมาสอดแนม จึงจับตัวมาธวาจารย์และศิษย์เอาไว้

มาธวาจารย์สามารถเจรจากับหัวหน้าฝ่ายนั้นโดยใช้ภาษาเติร์กได้ ไม่มีใครรู้ว่าท่านเรียนมาจากไหนหรือรู้ภาษานี้ได้อย่างไร แต่นั่นได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ปกครองเป็นอย่างมาก จนต้องการจะยกแผ่นดินบางส่วนให้ ทว่า มาธวะปฏิเสธ คณะของท่านจึงสามารถเดินทางต่อไปได้

เมื่อถึงบ้านเกิด มาธวาจารย์ปักหลักอยู่ที่อุฑุปิ ชื่อเสียงขจรไกลดุจกลิ่นหอมของดอกมณฑารพนำผู้คนจากทุกสารทิศมาสู่ ท่านให้คำสอนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พัฒนาอารามให้มั่นคงเข้มแข็ง

 

ไม่มีใครทราบรายละเอียดการสิ้นชีพของมาธวาจารย์ นี่มักจะเป็นเรื่องลึกลับคลุมเครือในตำนานชีวิตของครูบาอาจารย์และเหล่านักบุญ ทางหนึ่งก็คงเพื่อต้องการปกปิดความจริงที่น่าเศร้า เช่น การโดนอุ้มหายหรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง

กระนั้นในอีกทางหนึ่ง ผู้รจนาตำนานนักบุญคงคิดว่า ความตายของผู้ยิ่งใหญ่ควรได้รับการจดจำด้วยภาพอันสวยงามและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อมิให้ผู้คนโศกเศร้าและสูญศรัทธาในพระเจ้ากระมัง

ว่ากันว่ามาธวาจารย์จากโลกแห่งวัตถุนี้ไปอย่างอัศจรรย์ หลังจากให้คำสอนสุดท้ายแล้ว ท่านนั่งสมาธิจดจ่อต่อพระเจ้าอยู่บนแท่น ขณะที่ศิษย์ทั้งหลายขับร้องเพลงสรรเสริญพระกฤษณะอยู่ เหล่าเทวดาและคนธรรพ์ก็โปรยดอกไม้จากฟากฟ้ามายังมาธวาจารย์ จนดอกไม้เหล่านั้นกองท่วมตัวท่าน และร่างกายของท่านก็ได้สลายหายไปในกองบุปผชาตินั่นเอง

มาธวาจารย์ใช้ชีวิตในมนุษยโลกรวมทั้งสิ้นเจ็ดสิบเก้าปี

 

สํานักปรัชญาของมาธวาจารย์เรียกว่า “ทไวตะเวทานตะ” (Dvaitavedanta) แปลว่า สำนักเวทานตะที่เน้นภาวะคู่ (ทไวตะ) หรือทวินิยม (Dualism)

ต่างกับศังกราจารย์ คำสอนในสำนักนี้ไม่เชื่อ “มายาวาทะ” หรือแนวคิดเรื่องมายา ที่ว่าโลกนี้เป็นเพียงความลวง สรรพชีวิตมิได้แยกออกจากความจริงสูงสุดหรือพรหมัน ความจริงแท้มีเพียงหนึ่งเดียวโดยพ้นไปจากการคิดคำนึงและภาษา

มาธวาจารย์มีความเห็นเช่นเดียวกับรามานุชาจารย์ว่า เมื่อพูดถึงความจริงสูงสุดหรือพรหมัน ย่อมต้องมิใช่ความจริงแท้แบบนามธรรมแต่เป็นพระเป็นเจ้าแบบบุคคล (personal God) คือองค์พระนารายณ์และพระรูปอื่นๆ เท่านั้น พระองค์ทรงประกอบด้วยพระคุณอันดีงามสุดจะพรรณาได้ พระองค์เป็นผู้สร้างและดูแลสกลจักรวาลอันมีอยู่จริงนี้

“จริงๆ แล้ว ถ้าพระหริไม่ทรงเป็นสิ่งสูงสุด สกลจักรวาลนี้จะถูกควบคุมโดยพระองค์ได้อย่างไร หากสกลจักรวาลนี้ไม่ถูกควบคุมโดยพระองค์ ความสุขที่แท้จะมาจากไหน”

ที่สำคัญสำนักมาธวาจารย์ยืนยันว่า มีความแตกต่างหรือความแยกออกจากกันได้ระหว่าง พระเจ้ากับโลกหรือสสารและดวงชีวิตแต่ละดวง (ชีวาตมัน) ซึ่งเรียกว่า “ปัญจเภทะ” หรือความแตกต่างห้าคู่อันได้แก่ ความแตกต่างระหว่างพรหมัน (พระเจ้า) กับสสาร, ความแตกต่างระหว่างพรหมันกับชีวาตมัน, ความแตกต่างระหว่างชีวาตมันกับสสาร, ความแตกต่างระหว่างชีวาตมันแต่ละดวง และความแตกต่างระหว่างสสารแต่ละปรมาณู

นี่คือทวิภาวะที่สำนักนี้สอน อันหมายถึงความแตกต่างเป็นคู่ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง มิใช่ภาวะคู่แบบ ดี-ชั่ว, ถูก-ผิด ดังที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป รูปเคารพของมาธวาจารย์จึงมักให้ท่านชูสองนิ้วในมือขวาเพื่อสื่อถึงคำสอนทไวตะ

ดังนั้น โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และเมื่อชีวาตมันบรรลุหลุดพ้นหรือเข้าถึงโมกษะ จึงไม่ได้กลับไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าหรือปรมาตมัน ดังที่เราเคยถูกสอนกันมา เพราะทั้งสองสิ่งเป็นภาวะคู่ที่แยกออกจากกันโดยเนื้อแท้

ความหลุดพ้นจึงหมายถึงชีวาตมันไปเสพเสวยความสุขตลอดนิรันดร์ในไวกุณฑโลกของพระเจ้า

 

มาธวาจารย์ได้เตือนสานุศิษย์ในทวาทศสโตตระว่า เราควรมีความภักดีต่อพระเจ้าอย่างสูงสุด ทำสมาธิเพ่งอยู่ในพระองค์ และควรศึกษาเล่าเรียนจนเกิดปัญญาตัดผ่านอวิชาทั้งปวง

“ด้วยดาบในรูปแห่งจิต อันลับคมดีแล้วด้วยหินฝนในรูปของคัมภีร์ทั้งปวง จงชำระจิตให้บริสุทธิ์ แล้วสังหารศัตรูภายใน (อวิชชาและกิเลส) อันเข้มแข็งของเธอโดยไว จงทำสมาธิถึงพระหริผู้ไม่มีที่สิ้นสุด

พระองค์เป็นผู้ขจัดความเขลาแห่งชีวะทั้งหลาย” •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มาธวาจารย์ | พายุแห่งปัญญา (1)