มาธวาจารย์ | พายุแห่งปัญญา (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“พระผู้ทำลายความมืดมนอนธการทั้งปวง อะโห! ผู้มอบสายธารบรมสุขอันเที่ยงแท้ พระผู้เปี่ยมกรุณา ผู้ประทานพร ขอทรงปกโปรดข้าพเจ้าด้วยพระกรณียกิจทั้งหลายด้วยเถิด

ข้าน้อมไหว้พระบาทแห่งบรมสุขของพระวิษณุ พระบาทที่แม้อินทร์พรหมก็อภิวันทนาการอย่างสูงสุด ซึ่งโดยแท้แล้วพระองค์อยู่ไกลยิ่งกว่าไกล (แก่ผู้ไร้ศรัทธา) และอยู่ใกล้ยิ่งกว่าใกล้ (แก่สาวก)”

 

ทวาทศสโตตรัมของมาธวาจารย์

ปีคริสต์ศักราช 1238 (บ้างว่า 1199) ณ หมู่บ้านปาชกะ ใกล้เมืองอุฑุปิในรัฐกรรณาฏกะ หนึ่งในสามนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียใต้ อันได้แก่ ศังกราจารย์, รามานุชาจารย์ และมาธวาจารย์ได้ถือกำเนิดขึ้น

เด็กน้อยผู้บุตรแห่งบัณฑิตมัธยเคหะ ภัฏฏะ ปราชญ์ในตระกูลพราหมณ์ตุลุได้รับนามว่า “วาสุเทวะ” ผู้จะเติบโตเป็นมาธวาจารย์ (Madhavacharya) ในอนาคต

เรื่องราวชีวิตของมาธวาจารย์ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์มาธวะวิชัย ประพันธ์โดยนารายณะบัณฑิตผู้เป็นศิษย์ ซึ่งมีทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์และอิทธิปาฏิหาริย์ตามขนบตำนานชีวิตนักบุญโดยทั่วไป

 

มาธวะวิชัยเล่าว่า บิดาและมารดาของท่านไม่มีบุตรแม้จะแต่งงานกันมานาน หลังขอพรจากพระอนันเตศวรแห่งเมืองอุฑุปิ (เชื่อกันว่าเทพเจ้าองค์นี้เป็นทั้งพระศิวะและพระนารายณ์) มารดาของท่านก็ตั้งครรภ์ขึ้น ด้วยเหตุนี้ทั้งคู่จึงนำบุตรของตนไปสักการะพระอนันเตศวรตั้งแต่แรกเกิดและหวังให้เทพทรงคุ้มครอง

ครั้นวาสุเทวะอายุได้หนึ่งขวบก็มีร่างกายแข็งแรงกว่าเด็กทั่วไปอย่างน่าประหลาด ท่านเคยดึงหางวัวและโดนวัวพาลากไปไกลโดยไม่เป็นอันตรายเลย

ต่อมาเมื่อโตจนพอรู้ความ วาสุเทวะเดินหายไปในป่าใกล้บ้าน เขาเดินจนไปถึงวิหารพระศิวะกลางป่ากฑุวูร์ที่ห่างไกล และเดินต่อไปเรื่อยจนถึงเทวาลัยอนันเตศวรที่อุฑุปิ ระยะทางรวมกันหลายกิโลเมตร

เมื่อบิดามารดาพบว่าลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตนหายไป จึงไปขอแรงชาวบ้านให้ช่วยกันออกตามหา มืดค่ำแล้ว เด็กน้อยจะเป็นอย่างไรเพราะรอบๆ ตัวมีแต่ป่ากว้าง ไหนจะหิวโหยเพราะหลงป่า แย่ที่สุดคือสัตว์ร้ายต่างๆ จะทำอันตรายถึงตาย สุดท้ายทั้งคู่ก็พบวาสุเทวะหลับอยู่อย่างปลอดภัยในร่มเงาเทวาลัยอนันเตศวร

เมื่อถามว่ามีใครคอยดูแลและนำทาง เด็กชายวาสุเทวะตอบสั้นๆ เพียงว่า “พระนารายณ์”

ครั้นอายุได้แปดปีอันถึงเวลาศึกษาเล่าเรียน บิดาจึงสอนอ่านเขียนตัวหนังสือ แต่ปรากฏว่าวาสุเทวะรู้จักตัวอักษรทุกตัวแล้ว เมื่อเข้าเรียนในคุรุกุลหรืออาศรมของครูตามขนบพราหมณ์ เขาก็เอาแต่เล่นทั้งวัน ไม่ว่าจะว่ายน้ำ ปีนป่ายต้นไม้หรือวิ่งไปมา ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ ท่องตำราและเพียรจดจำบทสวดพระเวทอย่างแข็งขัน

ครูผู้สอนรู้สึกไม่พอใจจึงเรียกว่าวาสุเทวะมาสอบถาม ไฉนเขาจึงเอาแต่เล่น ไม่ยอมเข้ามาเรียนร่วมกับคนอื่นๆ วาสุเทวะตอบครูไปว่า ก็เพราะสิ่งที่ครูสอน ไม่ว่าคัมภีร์ต่างๆ หรือการสวดพระเวทนั้น ตัวเขารู้ทั้งหมดแล้ว

ได้ยินคำตอบเช่นนั้น ครูก็หน้าแดงด้วยความโกรธและสั่งให้เขาสวดพระเวทเพื่อจะพิสูจน์ว่าเขาแค่โกหกคำโต ทว่า วาสุเทวะก็สามารถสวดมนต์ได้ทุกบทไม่มีผิดพลาดเลย นั่นทำให้ครูตื่นตะลึงและยอมให้เขาทำอะไรก็ได้

ดังนั้น เมื่อไม่มีอะไรที่ต้องเรียนอีกต่อไป บิดาถวายค่าเรียน (ทักษิณา) ตามประเพณีแล้วนำวาสุเทวะกลับบ้าน

ด้วยพละกำลังมหาศาลและแข็งแรงผิดมนุษย์ ปัญญาอันชาญฉลาดผิดธรรมดา กับทั้งคำสอนที่ให้ความสำคัญกับพระนารายณ์อย่างสูงสุด สาวกเชื่อกันว่ามาธวาจารย์เป็นอวตารแห่ง “มุขยปราณ” หรือลมหายใจแรกเริ่มแห่งสกลจักรวาลของพระเจ้า ซึ่งในเวลาต่อมาคือพระวายุเทพ เทพแห่งสายลม และนอกจากเทพแห่งสายลม ถือกันว่าท่านยังเป็นอวตารแห่งหนุมานอันเป็นวายุบุตร และภีมะนักรบอันทรงพลังแห่งมหากาพย์มหาภารตะในอดีตชาติอีกด้วย

ต่างกับบรรดาปราชญ์ทั่วไป มาธวะใช้ชีวิตวัยเด็กเล่นสนุกมากกว่าเล่าเรียน เขาฝึกฝนร่างกายอย่างเข้มข้น ออกกำลังกายราวนักมวยปล้ำหรือนักกล้าม กระนั้นก็มิได้สนใจความสุขทางโลกแต่กลับมีใจภักดีต่อพระวิษณุ-นารายณ์อย่างที่สุดโดยธรรมชาติ

ด้วยเหตุนั้น เมื่ออายุได้เพียงสิบหกปี วาสุเทวะเกิดความคิดที่จะออกบวชเป็นสันยาสีท่ามกลางการคัดค้านของมารดา เธอไม่ต้องการเสียลูกชายเพียงคนเดียวในชีวิตไป

แต่ไม่นานหลังจากมีบุตรอีกคนหนึ่ง ทั้งบิดาและมารดาจึงยินยอมให้เขาบวชได้แม้จะไม่ค่อยเต็มใจนัก

 

วาสุเทวะบวชกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงนามว่า อัจยุตเปรกษะ ท่านเป็นผู้ศรัทธาในคำสอน “อไทฺวตเวทานตะ” ของศังกราจารย์ที่กล่าวว่า สกลจักรวาลนี้เป็นเพียงมายา พรหมันอันปราศจากคุณสมบัติคือความจริงแท้ ชีวาตมันทั้งหลาย โดยเนื้อแท้มิได้แตกต่างจากพรหมัน ดังนั้น สัจธรรมจึงมีเพียงหนึ่งเดียวสมนาม “อไทฺวตะ” อันหมายถึง “อทวิ /ไม่เป็นสอง”

เมื่อบวชแล้ว วาสุเทวะได้รับสมณฉายาใหม่เป็น “ปูรณปรัชญา” หมายถึงปัญญาอันบริบูรณ์ แต่ผู้คนและอาจารย์กลับเรียกเขาด้วยนามแห่งพระวิษณุเช่นเดียวกับชื่อเดิมของเขาว่า “มาธวะ” พระ (กฤษณะ) ผู้อยู่ในวงศ์มธุ หรือหมายถึงสวามีของพระนางลักษมี

มาธวะหรือมาธวาจารย์ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางคำสอนของอาจารย์อัจยุตเปรกษะ จริงๆ แล้วต้องกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับคำสอนหลายร้อยปีก่อนของศังกราจารย์ที่อาจารย์ยึดถือมากกว่า ซึ่งทำให้เทพเจ้าต่างๆ เป็นเพียง “การปรากฏ” ของสัจธรรมที่เป็นนามธรรมเท่านั้น

ไฉนพระนารายณ์เป็นเจ้าจะเป็นเพียงการปรากฏขึ้น โดยมีสัจธรรมลึกลับอธิบายไม่ได้อยู่เบื้องหลังไม่ต่างกับปรากฏการณ์อื่นๆ ดังนั้น มาธวะจึงคัดค้านคำสอนของอาจารย์ต่อหน้าอย่างชัดเจน

แม้ทั้งคู่จะไม่ได้ขัดแย้งกันรุนแรงอย่างกรณียาฑวประกาศและรามานุชะ แต่อาจารย์ผู้เฒ่าถึงกับต้องถามหาคำอธิบายจากเขาต่อหน้าศิษย์คนอื่นๆ หลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นกลับทำให้อาจารย์ของเขาเองค่อยๆ ซึมซับความคิดเห็นจากมาธวาจารย์

จนในที่สุดได้เปลี่ยนไปสนใจแนวทางคำสอนของเขาแทน

 

อันที่จริง ครู-ศิษย์คู่นี้รักใคร่กันมาก่อนแม้จะยังไม่เคยเจอตัว อัจยุตเปรกษะเคยได้รับนิมิตจากพระอนันเตศวรว่า จะมีศิษย์ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมและมีปัญญาประเสริฐมาสู่ ท่านรอคอยด้วยความหวังและไม่นาน มาธวะก็ก้าวเข้าในอาศรม

แม้แต่ในช่วงต้นของชีวิตสันยาสี ปูรณะปรัชญาหรือมาธวะต้องการไปยังแม่น้ำคงคาเพื่อสรงสนานให้บริสุทธิ์จากมลทินโทษ อัจยุตเปรกษะจึงสวดขอให้พระแม่คงคาเสด็จมายังอาศรมของท่าน และพระแม่คงคาก็เสด็จมาสู่สระน้ำเล็กๆ ในอาศรมนั้นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ศิษย์ใหม่ได้ใช้เวลาร่ำเรียนอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเดินทางไปไหน!

วันหนึ่ง ศิษย์ทั้งสำนักกำลังศึกษาและท่องจำ “ภาควัตปุราณะ” คัมภีร์เทวตำนานของพระนารายณ์ซึ่งชาวไวษณพให้ความเคารพอย่างสูง มีเพียงมาธวะคนเดียวที่ไม่ได้ร่วมศึกษากับคนอื่นๆ

อัจยุตะเปรกษะได้รับคำตอบจากเขาว่า ตัวเขาสามารถท่องจำภาควัตปุราณะได้ทั้งหมด ท่านจึงให้ศิษย์อีกคนเปิดคัมภีร์เพื่อตรวจสอบและลองให้มาธวะสวดตามหัวข้อที่กำหนด ก็ปรากฏว่ามาธวะสามารถจดจำปุราณะได้ทั้งหมด โดยไม่มีจุดไหนผิด

ด้วยความประทับใจอย่างมากล้น อัจยุตเปรกษาจึงขอให้เขามาเป็นหัวหน้าสำนักนักบวช (มัฐ) แทนตนเอง และถวายสมณนามใหม่ว่า “อานันทะตีรถะ” – ฟากฝั่งแห่งบรมสุข

พลังสติปัญญาของมาธวาจารย์ เป็นดุจลมพายุที่พัดพาอหังการของผู้คนให้พังภินท์ ดังนั้น อาจารย์ผู้ถ่อมตนและมีหัวใจบริสุทธิ์ได้ยอมตนเป็นศิษย์ของศิษย์ตนเองนับตั้งแต่บัดนั้น อัจยุตเปรกษะเคารพมาธวาจารย์ด้วยความจริงใจ ส่วนมาธวาจารย์เองก็ยังคงเคารพอัจยุตเปรกษะอยู่เสมอเช่นกัน

ภารกิจในฐานะหัวหน้าสำนักช่างหนักหน่วง มาธวาจารย์ตัดสินใจที่จะเขียนอรรถาธิบายคัมภีร์ต่างๆ ตามแนวทางปรัชญาของตนเอง ไม่ว่าจะพรหมสูตรของพาทารายณะ ภควัทคีตา ฤคเวท มหาภารตะ ภาควัตปุราณะ ฯลฯ รวมทั้งยังแต่งบทสวดสรรเสริญต่างๆ โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ ทวาทศสโตตรัมหรือบทสรรเสริญพระนารายณ์สิบสองบท

นอกจากนี้ มาธวาจารย์ยังต้องคอยต้อนรับบรรดาปราชญ์จากสำนักต่างๆ ไม่ว่า พุทธศาสนา ศาสนาไชนะ เวทานตะสำนักอื่นๆ ฮินดูนิกายอื่นๆ ซึ่งมาโต้วาทีทำวิวาทะทางปัญญาอยู่เนืองๆ

ยามเมื่อมีเวลาว่างเว้นจากภารกิจ มาธวาจารย์ประสงค์จะออกเดินทางแสวงบุญ ทั้งเพื่อไปสักการะเทวาลัยต่างๆ และยังมีโอกาสศึกษารวมทั้งถกเถียงกับแนวคิดอื่นๆ จากสำนักปราชญ์ตามรายทาง

ท่านเริ่มแสวงบุญในอินเดียภาคใต้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นศฤงเคริอันเป็นที่ตั้งสำนักของศังกราจารย์ กันยากุมารี ราเมศวรัม ไปจนถึงศรีรังคัม ศาสนธานีแห่งชาวไวษณพนิกาย

มาธวาจารย์อาจเป็นสันยาสีผู้ชอบเดินทางไกลอย่างแท้จริง เพราะในการเดินทางครั้งต่อไป ท่านจะไปไกลสุดขอบหล้าฟ้าเขียว ไปยังเทือกเขาหิมาลัยอันไกลโพ้นจากดินแดนทักขิณาบทบ้านเกิด

ซึ่งทำให้มาธวาจารย์ได้พบกับบุคคลพิเศษมากๆ ท่านหนึ่ง

(โปรดติดตามต่อ) •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง