แผน ‘แคนาดา’ แก้โลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

รัฐบาลแคนาดาเปิดแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นครั้งแรก กำหนดเป้าหมายใหม่มุ่งเน้นป้องกันภูมิอากาศที่ร้อนสุดขั้ว น้ำท่วม ไฟป่า และคุ้มครองพืชพันธุ์สัตว์ป่าไม่ให้สูญพันธุ์

แผนนี้ ใช้เวลาเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและวางแผนปฏิบัติร่วม 2 ปี นำผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมาศึกษาและหยิบจุดอ่อน จุดด้อยการรับมือกับภัยพิบัติในอดีตมาสังเคราะห์พร้อมกับตั้งงบประมาณ 5 ปี ใช้เงินต่อเนื่องทั้งหมด 1,600 ล้านเหรียญ หรือราว 45,000 ล้านบาท

ในแผนได้กำหนดมาตรฐานใหม่ด้านการก่อสร้าง การใช้วัสดุในพื้นที่เสี่ยงกับการเกิดไฟป่า น้ำท่วมหรือพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด นอกจากนี้ ยังกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อคุ้มครองพืชพันธุ์สัตว์ป่าให้อยู่รอดจากภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงปกป้องชุมชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อคนเหล่านี้ได้สานต่อประเพณีอันเก่าแก่

นายบิล แบลร์ รัฐมนตรีกระทรวงการเตรียมการด้านภัยพิบัติ บอกว่า การลงทุนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อลดความสูญเสียทรัพย์สินและชีวิตของชาวแคนาเดียนที่เกิดจากไฟป่า น้ำท่วม และสภาพอากาศที่ร้อนสุดขั้ว

ทําไมรัฐบาลแคนาดาจึงต้องหยิบยกเรื่องโลกร้อนมาเป็นประเด็นสำคัญและอัดฉีดงบฯ เพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ก็ด้วยเหตุในห้วงหลายปีที่ผ่านมา แคนาดาเผชิญกับวิกฤตที่มาจากน้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อนสุดขีดและไฟป่า

ปรากฏการณ์ที่บ่งชัดว่า แผนป้องกันภัยเดิมๆ ของรัฐบาลแคนาดาเอาไม่อยู่นั่นคือปรากฏการณ์ “ฮีตโดม” (Heat Dome) ไฟไหม้เมืองลิตตัน และน้ำท่วมหลายพื้นที่

โดมความร้อน เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ในแคว้นบริติชโคลัมเบีย (British Columbia) หรือบีซี ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของประเทศแคนาดา ลักษณะฮีตโดมเปรียบเหมือนกับมีเตาอบความร้อนครอบพื้นที่บีซีเอาไว้ คลื่นความร้อนแผ่ซ่านไปทั่ว โดยเฉพาะที่เมืองลิตตัน (Lytton) มีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส กลายเป็นสถานที่ที่ร้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ลิตตันเป็นเมืองเล็กๆ อยู่กลางหุบเขา เจอภัยโลกร้อนที่มีสาเหตุโดยตรงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจัง

ก๊าซเรือนกระจกทำให้อุณหภูมิผิวโลกร้อนขึ้น ชั้นบรรยากาศโลกที่เรียกว่า โทรโพสเฟียร์ (troposhere) อยู่ชั้นล่างสุดสูงจากพื้นดินราว 0-10 กิโลเมตร ก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย

โทรโพสเฟียร์เป็นชั้นบรรยากาศที่มีไอน้ำมากที่สุด ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเมฆ หมอกและพายุ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ชั้นบรรยากาศเกิดความแปรปรวนมากขึ้น

จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ที่อยู่ในหุบเขาสูงเหนือจากระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงเร็วกว่าพื้นที่ราบ จึงมีโอกาสเกิดคลื่นความร้อนมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์

อากาศเมืองลิตตันซึ่งอยู่ในหุบเขาจึงร้อนจัด ผลจากร้อนสุดขั้วยังนำไปสู่ปรากฏการณ์ไฟป่าที่รุนแรง ไฟลุกไหม้เผาทั้งป่า เผาทั้งเมืองลิตตันจนราบเป็นหน้ากลอง

แค่นั้นยังไม่พอ สภาพอากาศร้อนจัดทำให้หิมะเหนือหุบเขาสูงละลาย จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน พายุฝนถล่มแคว้นบริติช โคลัมเบีย หรือบีซี ฝนตกไม่หยุดเป็นเวลา 3 วัน วัดปริมาณน้ำได้มากถึง 300 มิลลิเมตร เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาจมมิดอยู่ใต้น้ำ ถนน สะพาน ทางรถไฟเจอทั้งกระแสน้ำและดินโคลนพัดกระชากพังยับเยิน

สาเหตุฝนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน นักวิทยาศาสตร์แคนาดาชี้ว่าปฏิกิริยาของไอน้ำและอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศแปรปรวน ทำให้เกิดแม่น้ำขนาดมหึมาบนท้องฟ้า

(อ่านเพิ่มเติมย้อนหลังเรื่อง “วันสิ้นโลกที่บีซี” ได้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน-24 ธันวาคม 2564)

เพียงแค่ไม่กี่เดือนของปี 2564 ชาวแคนาเดียนฝั่งตะวันตก เจอภัยพิบัติที่มาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหนักหน่วง เฉพาะที่เมืองลิตตันมีผู้เสียชีวิตเพราะฮีตโดมมากถึง 595 คน มีความเสียหายจากไฟป่าเผาเมือง เผาพื้นที่ป่า และความเสียหายจากน้ำท่วมในอีกหลายพื้นที่

ถัดมาเดือนกันยายนปีนี้ ชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของแคนาดา เจอกับพายุเฮอร์ริเคน “ฟิโอน่า” พัดถล่มใส่

ฟิโอน่าพัดด้วยกระแสลมแรงสูงถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หอบเอามวลน้ำฝนมหาศาลเทใส่เกาะพรินซ์ เอ็ดเวิร์ด นิวฟาวด์แลนด์ เมืองโนวา สโกเทีย และนิว บรุนส์วิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นควิเบกเกิดน้ำท่วมฉับพลัน คลื่นลมในทะเลแรงจัด กวาดกระชากต้นไม้ อาคารบ้านเรือนกว่า 20 หลังกลืนลงทะเล

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สร้างความตื่นตระหนกตกใจกับชาวเมืองฝั่งตะวันออกมาก ถึงขนาดนายกเทศมนตรีเมืองเคป เบรตัน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ร้ายแรงมาก่อน

เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ยอมรับเช่นกันว่า เฮอร์ริเคนฟิโอน่ามีพลังแรงและร้ายกาจมาก

สถาบันบรรยากาศแห่งแคนาดา ประเมินว่า ถ้าอุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่ อีก 3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจแคนาดาจะพังพินาศเพราะมหันตภัยจากภาวะโลกร้อนสูญเงินไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านเหรียญ

นอกจากปรากฏการณ์อากาศร้อนสุดขั้ว น้ำท่วมและไฟป่าแล้ว แคนาดายังเผชิญกับน้ำทะเลเพิ่มสูงและธารน้ำแข็งละลาย รัฐบาล “ทรูโด” ชี้ว่า นี่เป็นภัยคุกคามชีวิตและความปลอดภัยของชาวแคนาดา

ในแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศฉบับแรกของแคนาดา จึงกำหนดทิศทางชัดเจนว่า ชาวแคนาเดียนทุกคนจะต้องได้รับการดูแลปกป้องเป็นอย่างดี รัฐจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับกับภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างแข็งแรงทนทานยืดหยุ่น มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่ดี

งบประมาณ 16,000 ล้านเหรียญ รัฐบาลแคนาดาจัดให้นั้นถือเป็นเงินก้อนแรกที่นำมาใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นอาคารของรัฐ ถนน สะพาน ให้มีความแข็งแรงรับมือกับเหตุน้ำท่วม

เมื่อเกิดไฟป่า อาคาร หรือโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สามารถรองรับผู้ประสบภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อกำหนดเป้าหมายใหญ่รับมือกับภาวะโลกร้อนเสร็จแล้ว รัฐบาลแคนาดาจัดวางแผนปฏิบัติการอีกเกือบ 70 แผน

เป็นแผนปฏิบัติในด้านต่างๆ ด้านบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

แผนปฏิบัติการใช้เครื่องมือและข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้ชาวแคนาเดียนได้เข้าถึงการเรียนรู้ เป็นแหล่งสนับสนุนการวิจัยประเมินผลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิผล

ทีมผู้เชี่ยวชาญในการเขียนแผนทั้งหมดประเมินว่า ทุกๆ 1 เหรียญที่นำมาใช้ในการรับมือและป้องกันภัยพิบัติครั้งใหม่นี้จะช่วยรัฐ ภาคเอกชนและชาวแคนาเดียนประหยัดเงินได้มากกว่า 15 เหรียญ

แคนาดาเก็บประสบการณ์ “ภาวะโลกร้อน” มาแปรเป็นแผนเป็นนโยบาย เพื่อปลุกพลังประชาชนให้ร่วมกันรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า

จึงมีคำถามย้อนกลับมาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เคยคิดแผนรับมือโลกร้อนอย่างที่รัฐบาลแคนาดาคิดทำเพื่อชาวแคนาเดียนหรือเปล่า?

หรือคิดเพียงแค่ว่าทำอย่างไรจึงยึดกุมอำนาจไว้ในมือให้นานที่สุดโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเป็นทุกข์แค่ไหน? •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]