สิ่งแวดล้อม : ‘วันสิ้นโลก’ ที่ ‘บี.ซี.’ / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สภาพน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ของเมืองแอบบอตส์ฟอร์ด ในรัฐบริติช โคลัมเบีย ฝั่งตะวันตกของแคนาดา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน (ภาพ : เดอะ แคเนเดียน เพรสส์)

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

‘วันสิ้นโลก’ ที่ ‘บี.ซี.’

 

ปรากฏการณ์น้ำท่วม โคลนถล่ม คลื่นความร้อน ภัยแล้งและไฟป่าที่เกิดขึ้นในรัฐบริติช โคลัมเบีย ฝั่งตะวันตกประเทศแคนาดา ในห้วงเวลาห่างกันไม่กี่เดือน ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ชาวโลกรู้ว่าอย่านิ่งเฉยอย่างเด็ดขาด จงเตรียมพร้อมรับมือกับมหันตภัยอย่างเต็มที่

เหตุล่าสุดเกิดขึ้นในรัฐบริติช โคลัมเบีย หรือเรียกย่อๆ ว่า “บี.ซี.” เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ รัฐบาลแคนาเดียนประกาศภาวะฉุกเฉินเพราะฝนถล่มอย่างหนักหน่วงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาจมมิดอยู่ใต้น้ำ ถนน สะพาน ทางรถไฟเจอทั้งกระแสน้ำและดินโคลนพัดกระชากพังยับเยิน

สาเหตุฝนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเกิดจากปฏิกิริยาของไอน้ำและอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดแม่น้ำขนาดมหึมาบนท้องฟ้า (atmospheric river)

แม่น้ำในชั้นบรรยากาศหอบเอาความชุ่มชื้นเหนือชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันตกของแคนาดาเข้ามายังบี.ซี.ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง

ปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ช่วงเวลาเพียง 3 วันวัดปริมาณได้มากถึง 300 มิลลิเมตร หรือ 30 เซนติเมตร

พื้นที่บริติช โคลัมเบียส่วนใหญ่ห้อมล้อมด้วยภูเขาสูงและป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ก่อนฝนตกหนัก มีหิมะตกอยู่แล้วเพราะเป็นช่วงหน้าหนาว

หิมะโปรยปรายจนปกคลุมผืนดินแน่นอยู่แล้ว เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนัก น้ำฝนชะจากที่สูงสู่เบื้องล่างด้วยความเร็วแรง

ชาวเมืองแยร์โรว์ รัฐบริติช โคลัมเบียบอกว่า ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ได้ยินเสียงมวลน้ำไหลทะลักเหมือนภูผาถล่ม จากนั้นระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเอ่อล้นท่วมชุมชนบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว

ทุกๆ 30 นาทีน้ำขึ้น 2 เซนติเมตร พรึบเดียวก็ท่วมห้องครัวแล้ว ต้องหอบลูกเมียหนีขึ้นไปบนชั้นสอง ไฟฟ้าดับหมด ตลอดทั้งคืนแทบไม่ได้นอน อยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ กระแสลมแรงจัด ได้แต่นั่งมองดูท้องน้ำอันเวิ้งว้าง

เปรียบเหมือนวันสิ้นโลก

 

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลร้อนขึ้นเป็นตัวเร่งให้พายุไซโคลน พายุไต้ฝุ่นหรือพายุเฮอร์ริเคนมีพลังงานแรงจัดกว่าเดิม และยังดึงเอาความชุ่มชื้นขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณมากขึ้น ฝนก็ตกหนักขึ้น

คาดว่าถ้าชาวโลกยังปล่อยก๊าซพิษในปริมาณสูงเหมือนเวลานี้ ปรากฏการณ์สายน้ำในชั้นบรรยากาศจะเกิดถี่ขึ้นกว่าปัจจุบันราว 10 เปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่กว่าเดิมราว 25%

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 เดือนก่อน รัฐบริติช โคลัมเบีย เพิ่งเจอกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อน อุณหภูมิวัดในเมืองลิตตัน พุ่งสูงถึง 49.6 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติของแคนาดา

ชาวเมืองลิตตันบอกว่า ร้อนเกินกว่าจะบรรยาย

เวลานั้น ผู้คนส่วนใหญ่ต้องปรับตัวสู้กับอากาศร้อนด้วยการตื่นให้เช้าขึ้น บางคนตื่นตีสี่ก่อนฟ้าสางจะรีบทำอะไรให้เสร็จๆ เพราะถึงตอนกลางวันจะโผล่ออกมานอกบ้านไม่ได้เลย ร้านรวงเงียบสงัดเหมือนเมืองร้าง

อุณหภูมิร้อนจัดทำให้เกิดไฟป่าลุกลามเผาเมืองลิตตันราบเป็นหน้ากลอง

ไฟป่าในบี.ซี.สิ้นสุดลงเมื่อเดือนตุลาคม รวมเหตุไฟป่าทั้งหมด 140 ครั้ง ระหว่างเกิดไฟป่าเดือนมิถุนายน-สิงหาคม มีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 595 คน

ระหว่างเกิดคลื่นความร้อนและไฟป่านั้น พื้นที่ด้านใต้ของรัฐบริติช โคลัมเบียยังเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุด เนื่องจากมีฝนตกน้อยมาก วัดปริมาณได้แค่ 6 มิลลิเมตร ทำให้น้ำในแหล่งน้ำแห้งขอด

จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ต้องประกาศห้ามดึงน้ำไปใช้ทำเกษตรหรือรดต้นไม้ในสวน

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบี.ซี.ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม รัฐบาลแคนาดาต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย

แค่นั้นยังไม่พอ ผู้ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากไฟป่าเผาบ้านเรือนวอดวาย น้ำท่วมบ้านเรือนอย่างฉับพลัน ต้องเผชิญกับภาวะเครียดวิตกกังวล บางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตยอมรับว่า ใครที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น ก็ต้องเครียดหนัก ซึ่งก็เป็นหนึ่งปัญหาที่ต้องนำมาขบคิดกันว่าจะช่วยประคับประคองคนเหล่านี้ให้พ้นจากภาวะเป็นทุกข์ได้อย่างไร

กรณีของชาวลิตตันหลังเกิดไฟป่าเผาผลาญบ้านเรือนยับเยิน ผู้บริหารท้องถิ่นร่วมกันระดมสมองทำอย่างไรจึงจะฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้ง

ทั้งนี้ การปลุกพลังใจให้ชาวลิตตันลุกขึ้นมาร่วมฝ่าฟันเอาชนะอุปสรรคและก้าวเดินไปข้างหน้าเป็นเรื่องที่ท้าทาย

เช่นเดียวกับรัฐบาลแคนาดาจะปรับนโยบายใหม่รับมือกับมหันตภัยที่เชื่อว่าต้องเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร และการป้องกันไม่ให้ซ้ำรอย “บี.ซี.” เป็นโจทย์ข้อใหญ่สำคัญมาก

ส่วนชาวโลกนั้นแน่นอนว่าจะต้องร่วมกันถอดบทเรียนของบี.ซี.มาเป็นแผนปฏิบัติการต้าน “โลกร้อน” โดยเร็วที่สุด