ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 ธันวาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
สถานการณ์การเมืองไทย นับถอยหลังใกล้เข้าสู่การเลือกตั้ง
เกิดปรากฏการณ์เสมือนส่งสัญญาณใกล้สิ้นสุดรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อ 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สื่อท่าทีแบบทางใครทางมัน การเมืองในอนาคตอันใกล้จึงน่าสนใจว่าจะเป็นอย่างไร
รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นระหว่างร่วม special talk “2566 การเมืองไทย ไปทิศทางไหน” ในงานสมานมิตรฯ RETURN เปิดโกดัง หนังสือดี ที่มติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ว่า การแยกวงของ “ประยุทธ์-ประวิตร” นั้นน่าสังเกตว่า เราไม่เคยเห็นพรรคทหารแยกกันเป็น 2 กลุ่มเช่นนี้มาก่อน
คือพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเป็นเทคนิคแยกกันเดิน ร่วมกันตีหรือไม่ ยังไม่อาจสรุปได้
ทั้งนี้ ภาพรวมของพลังประชารัฐ ล้วนเป็นศิษย์เก่าเพื่อไทย ที่อาจเห็นการต่อรองและสลายขั้วการเมืองเข้าไปรวมกัน
ซึ่งฝั่งหนุนประยุทธ์ไม่ชอบสิ่งนี้ และรับไม่ได้หากเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาล พรรครวมไทยสร้างชาติจึงเกิดมาเพื่อขัดตาทัพ ไม่ให้พลังประชารัฐกลับไปรวมกับเพื่อไทย
ทั้งนี้ ถ้าเกิดคุณเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีสัมพันธ์ที่ดีกับประยุทธ์ในพรรคพลังประชารัฐ อาจดีด้วยซ้ำที่ไม่มีประยุทธ์เพราะพลังประชารัฐสามารถไปรวมกับพรรคอื่นได้ เป็นพรรคขนาดกลางที่ยืดหยุ่น และรวมเป็นพรรครัฐบาลกันได้ เรียกว่า ส.ส.ดี๊ด๊า และเป็นการสลายขั้วการเมือง
แต่ต้องไม่ลืมว่า กระแสข่าวยุบพรรคพลังประชารัฐก็มาหนัก และกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า จะยังไง มันเกิดขึ้นพร้อมกับพลังประชารัฐหุ้นขึ้นไม่กี่วันกลับมาสั่นคลอน ถ้าเกิดถูกยุบพรรคจะเป็นปัญหา ไม่รู้ใครเป็นคนคุมอำนาจระหว่างประวิตรกับประยุทธ์ ดังนั้น อาจเป็นการบีบให้พลังประชารัฐต้องกลับมารวมกับรวมไทยสร้างชาติในอนาคต
ด้วยฝั่งอนุรักษนิยมยอมไม่ได้หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลโดยมีพลังประชารัฐไปร่วม
อาจารย์สิริพรรณประเมินถึงกระแสการยุบสภา ถ้าให้เดาใจ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็เดาใจยาก แต่คิดว่า โดยนิสัยของ พล.อ.ประยุทธ์และในมุมมองของเขา การยุบสภาคือกลเกมการเมืองที่นักการเมืองใช้ ขณะที่เขาลอยตัวเหนือการเมือง จึงเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์อยากอยู่ให้ครบ หรืออาจวัดรอยเท้าเทียบเท่ากับทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ครบวาระ
แต่ กกต.บอกว่าถ้าไม่ยุบสภา อยู่จนครบวาระ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค 90 วัน ตรงนี้จะยากสำหรับพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พลวัตนี้จึงอาจทำให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เราจะเห็นหลาย ส.ส.อพยพลี้ภัย ซึ่งอาจเป็นตัวบีบให้ประยุทธ์ยุบสภาก็ได้
แต่ประยุทธ์ไม่อยากอยู่ในสภาพที่ถูกแรงกดดัน ด้านหนึ่งไม่จำเป็นต้องรีบยุบ ประยุทธ์อาจใช้วิธีลอยตัว รอไปถึงต้นปีหน้า
แต่เชื่อว่าต้องยุบสภา ไม่งั้น ส.ส.หายหมด โดยคาดการณ์อาจจะประมาณมกราคม 2566
อาจารย์สิริพรรณกล่าวว่า หน้าตารัฐบาลชุดหน้านั้น ยากนะ ที่จะประเมิน แต่ขอให้ภาพว่า ตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 น่าสังเกตคือ พรรคสายเพื่อไทยชนะตลอด การที่ไม่เปิดให้ฝั่งตรงข้ามมีโอกาสร่วมรัฐบาลเช่นนั้น ถูกมองว่าเป็นปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย กลุ่มอนุรักษนิยมในไทยไม่ยอมรับการผูกขาดทางการเมืองเช่นนั้น เขาไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
บรรทัดฐานที่กลุ่มอนุรักษนิยมอยากเห็นคือการมีพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เกิดภาวะผู้ชนะเอาหมด (Winner take all) ดังนั้น จึงมีการพยายามสร้างบรรทัดฐานที่จะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล เราอาจได้เห็นพรรคขนาดกลาง รวมถึงพรรคหน้าใหม่
ถ้าถามต่อไปว่า แล้วพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ใครได้มาก-น้อย? อาจารย์สิริพรรณกล่าวว่า ถ้าประเมินพร้อมคะแนนพรรค เพื่อไทยอาจไม่ได้มากเทียบกับยุครุ่งเรืองในอดีต บัญชีรายชื่ออาจได้ 30-40 ส่วน ส.ส.เขตอาจได้จากบ้านใหญ่ แต่ตัวแปรสำคัญคือ แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นใคร นอกจากแพทองธาร ชินวัตร-เศรษฐา ทวีสิน แม้คุณเศรษฐาเก่งเรื่องธุรกิจ แต่ยังพรรษาน้อยในเรื่องการเมือง อาวุธจริงๆ ของเพื่อไทยคือนโยบาย แต่ 8 ปีที่ผ่านมา กลับไม่ได้มีโอกาสส่งมอบนโยบาย จึงอาจมีแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3
ส่วนพรรคภูมิใจไทย โอกาสได้คะแนนสูง กระแสกัญชาเรียกว่าแรง แต่ไม่รู้เป็นบวกหรือลบ ในสายตาชนชั้นกลางไม่มาแน่ อาจเป็นพรรคภูมิภาคอีสานใต้ บุรีรัมย์แม้ ส.ส.เขตได้แต่ไม่ได้บัญชีรายชื่อ ถ้าใครพูดว่าภูมิใจไทยมาแรง แต่อาจได้แค่ 70 เสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่น่าถึง 10 ส่วนพลังประชารัฐอาจได้พอๆ กับภูมิใจไทย แถมถูกฉีกไปอยู่รวมไทยสร้างชาติกับภูมิใจไทยอีก พรรคพลังประชารัฐจึงน่าจะเล็กลง ส่วนประชาธิปัตย์ก็เลือดไหลออก ส.ส.น่าจะลดลง
ด้านพรรคก้าวไกล แม้คะแนนนิยมไม่ได้ลดลงจากปี 2562 แต่ครั้งนี้ก้าวไกลมีแนวโน้มจะได้ ส.ส.เขตลดลง เชื่อว่า ส.ส.เขตได้เฉพาะ กทม.หรือเมืองที่มีมหาวิทยาลัย ส่วนระบบบัญชีรายชื่อพอเป็นระบบเลือกตั้งหาร 100 เสียง ส.ส.ที่ได้ก็อาจลดลง
ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าพรรคนี้ไม่มีประยุทธ์ ก็จะเป็นเพียงพรรคสายลมแสงแดด หรือแม้ประยุทธ์มา แต่พรรคยังไม่มีบิ๊กเนมทางเศรษฐกิจ ทั้งที่โจทย์ใหญ่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นคือ เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงต้องมีมือเศรษฐกิจมาช่วย แต่ยังไม่เห็น
ฐานของรวมไทยสร้างชาติตอนนี้ จึงมาจากแฟนคลับประยุทธ์ ส่วนบ้านใหญ่มาแน่คือกลุ่มสุชาติ (ชมกลิ่น) แต่โจทย์ใหญ่คือการหาเสียง จะบอกยังไงที่ประยุทธ์อยู่ได้แค่ 2 ปี
แต่ทั้งนี้ อย่าประมาทกลุ่มอนุรักษนิยม ถึงกลุ่มอนุรักษนิยมจะดูเหมือนจนตรอกเพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่านี้ เป็นความอับจนที่ต้องชูประยุทธ์ แต่ก็มีการใช้กลไก องคาพยพอำนาจรัฐช่วยเต็มที่ แม้ไม่เข้มข้นเหมือนอดีตก็ตาม
ส่วนโอกาสเกิดรัฐประหารนั้นสิริพรรณกล่าวว่า สิ่งที่ฝั่งอนุรักษนิยมต้องการคือ การเปิดโอกาสต่อรอง ไม่ใช่การผูกขาด ฝั่งก้าวหน้าอย่ามองการต่อรองว่าเป็นเรื่องไร้ศักดิ์ศรี ถ้าตึงมาก โอกาสรัฐใช้ความรุนแรงก็จะกลับมามีสูง แต่ชนชั้นนำจารีตเองก็ไม่อยากเห็นรัฐประหาร เพราะครั้งหน้าจะมีความอ่อนไหวมากกว่าครั้งไหนๆ จึงอาจมีการใช้เครื่องมืออื่นแทน เพื่อลดทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง หรือใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการ น่าจะออกมาแบบนั้น
เลือกตั้งครั้งหน้า
บ้านใหญ่หลายจังหวัด ‘อกแตก’
การเมืองท้องถิ่นไทยโดยเฉพาะระบบ “บ้านใหญ่” ของตระกูลทรงอิทธิพลในต่างจังหวัด ในสายตาของ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เห็นว่า ยังมีอยู่
ถ้าดูระบบอุปถัมภ์ คนไทยต้องพึ่งพาผ่านบ้านใหญ่ โครงสร้างนี้เน้นตัวบุคคล แม้เลือกพรรคก็ยังต้องสัมพันธ์กับตัวบุคคล การแก้ลดบัญชีรายชื่อ และเพิ่ม ส.ส.เขตทำให้เน้นตัวบุคคล นั้นทำให้เน้นบ้านใหญ่มากขึ้น ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายระบบพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งหน้า จะกลายเป็นบ้านใหญ่อกแตก
เราจะเห็นบ้านใหญ่หลายจังหวัดอกแตก สุชาติ ชมกลิ่น แยกตัวจากบ้านคุณปลื้มแน่ หรือบ้านสุชาติ ตันเจริญ ในฉะเชิงเทรา ก็น่าย้ายกลับเพื่อไทย
สิ่งที่ทำให้เกิดบ้านใหญ่อกแตกคือ ประการแรก พรรคทหารแตกเป็น 2
ประการที่ 2 คนไทยจำนวนหนึ่งเบื่อระบบบ้านใหญ่ และคนที่เบื่อมากที่สุดคือ คนรุ่นใหม่ ตรงนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญ และอาจเป็นผลดีต่อการเมืองไทย
ในโครงสร้างประชากรที่ล่าสุดปี 2564 แม้อัตราเกิดใหม่เหลือ 5.4 แสนคน และคนเสียชีวิตมากกว่าอัตราเกิดใหม่ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า จะมีผู้มีสิทธิ์ครั้งแรก 3.3 ล้านคน คนเหล่านี้อยู่ภายใต้ทุนนิยมสมัยใหม่ ไม่ได้พึ่งพาระบบบ้านใหญ่ ทำให้บทบาทบ้านใหญ่ลดลง พรรคเกิดใหม่มีโอกาสมากขึ้น
แต่ต้องดูหลายปัจจัยประกอบ พรรคก้าวไกลอาจมีบทบาท แต่ยากจะเป็นรัฐบาล
ตราบใดที่ระบบการเมืองยังเน้น ส.ส.เขต บ้านใหญ่ก็ยังมีบทบาท และยิ่งระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ นักการเมืองในพื้นที่ก็ยังมีความสำคัญ
แต่กระนั้น การใช้ระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ได้แย่เสมอไป ระบบการเมืองไทยที่เป็นแบบรวมศูนย์ ระบบราชการไทยไปไม่ถึงต่างจังหวัด ต้องเข้าหาบ้านใหญ่ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
ดังนั้น บทบาทบ้านใหญ่ยังมีอยู่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022