พรรคพี่ พรรคน้อง | ประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

สถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้ ทุกคนกำลังจับตาไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองนายพลที่ร่วมกอดคอทำรัฐประหารกันมาเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่ดูเหมือนวันนี้กำลังจะแยกทางกันเดิน สร้างพรรคการเมืองคนละพรรค เนื่องด้วยเหตุปัจจัยของการขบเหลี่ยมอำนาจและสมการการเมืองที่เปลี่ยนไป

ในบทความนี้ อยากชวนมองปรากฏการณ์พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ และความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากมุมมองทางประวัติศาสตร์และการเมืองเปรียบเทียบ

หากมีการแยกพรรคกันเกิดขึ้นจริงระหว่างนายพลคนพี่กับนายพลคนน้อง ก็จะเป็นครั้งแรกที่เกิด “พรรคทหาร” 2 พรรคลงสนามเลือกตั้งพร้อมกัน

จากที่ในอดีต พรรคฝ่ายที่สนับสนุนผู้นำคณะรัฐประหารนั้นมักจะรวมตัวกันเหนียวแน่นเป็นพรรคเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นในการระดมกลไกรัฐมาสนับสนุนให้พรรคทหารกำชัยในสมรภูมิการแข่งขันเลือกตั้ง ซึ่งทหารก็ไม่ค่อยถนัดนัก

ในสมัยกึ่งพุทธกาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา โดยมีลูกน้องคนสนิทคือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจผู้มากบารมีเป็นเลขาธิการพรรค

ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคก็ไม่ใช่ใครที่ไหน – สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และประภาส จารุเสถียร ผู้นำกองทัพ ณ ขณะนั้น

เหตุผลที่จอมพล ป.หันมาเล่นเกมพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ก็เพราะต้องการแสวงหาความชอบธรรมให้กับภาวะผู้นำของตนทั้งในเวทีโลกและในประเทศ

บวกกับต้องการสกัดกั้นบรรดาผู้นำรุ่นน้องในกองทัพด้วยกันที่พยายามแย่งชิงอำนาจผ่านเกมการทำรัฐประหาร ด้วยการบีบให้ต้องมาอยู่ในเกมการเลือกตั้ง

ทุกกลุ่มก๊วนที่ขัดแย้งกันถูกบีบให้เข้ามาอยู่ในพรรคเดียวกันภายใต้การนำของอดีตผู้นำเปี่ยมบารมีอย่างจอมพล ป.

แต่สุดท้าย แผนการสืบทอดอำนาจผ่านคูหาเลือกตั้งก็ล้มเหลว เพราะพรรคเสรีมนังคศิลาชนะเลือกตั้งมาแบบเฉียดฉิว คือ ได้ 83 ที่นั่งจาก 160 ที่นั่ง

ปัญหาคือ พรรคทหารได้ชัยชนะมาด้วยการโกงอย่างมโหฬารและขาดความแนบเนียน มีการโกงการนับคะแนน เวียนเทียนลงคะแนนซ้ำ ยัดบัตรผีลงกล่อง การส่งนักเลงหัวไม้ไปข่มขู่ประชาชนและผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม ใช้ข้าราชการในพื้นที่มาช่วยหาเสียงให้พรรค และอีกสารพัดวิธีการ จนกระทั่งถูกขนานนามว่าเป็น “การเลือกตั้งสกปรก”

จนนำไปสู่การประท้วงของนิสิตนักศึกษาและการฉวยโอกาสทำรัฐประหารของสฤษดิ์ โค่นล้มนายของตัวเองจนต้องหนีออกนอกประเทศไป

ในสมัยก่อนการปฏิวัติของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คณะรัฐประหารก็พยายามสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งเช่นกัน โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ตั้งพรรคทหารชื่อพรรคสหประชาไทย เพื่อลงเลือกตั้งในปี 2512

พรรคนี้คือโมเดลพรรคทหาร-ข้าราชการแบบคลาสสิค คือใช้กลไกกองทัพและหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงเป็นตัวขับเคลื่อน

บรรดาผู้นำพรรคและกรรมการบริหารก็คือบรรดานายพลในกองทัพเกือบทั้งหมด ซึ่งขาดความเชี่ยวชาญในการหาเสียง แต่ใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกง การข่มขู่คุกคาม และอำนาจรัฐ ทำให้ได้ที่นั่งมากกว่าพรรคอื่นๆ แต่ก็ชนะมาเพียง 74 ที่นั่งจาก 219 ที่นั่ง ทำให้ต้องตั้งรัฐบาลโดยอาศัยการควบรวมพรรคอื่น รวมถึงบรรดา ส.ส.อิสระ (ตอนนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง)

แต่สุดท้ายรัฐนาวาของถนอมก็ไปไม่รอด เพราะทหารไม่คุ้นเคยกับการต่อรองและตรวจสอบในสภา

ถนอมตัดสินใจทำรัฐประหารตัวเองล้มรัฐบาลตัวเอง (การยึดอำนาจตัวเองเป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยแบบไทยๆ) และกลับไปปกครองแบบคณะรัฐประหารอีกครั้ง

ซึ่งจุดนี้นี่เองที่กลายเป็นชนวนของความไม่พอใจของประชาชนจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

ตัดภาพมาที่ทศวรรษ 2530 เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ทำรัฐประหารและจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2534

นายพล รสช.ตระหนักดีว่าบริบททางการเมืองเปลี่ยนไปมากแล้วจากสมัยสฤษดิ์-ถนอม จึงไม่ทำพรรคเอง ปรับรูปแบบจากพรรคทหาร-ข้าราชการ มาเป็นโมเดลพรรคนอมินีของทหาร ในชื่อพรรคสามัคคีธรรม

กลุ่มนายพลไม่ออกหน้าเอง ไม่เป็นหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเอง แต่หันไปใช้บริการของนักเลือกตั้งอาชีพที่มีฐานเสียงแน่นหนาและเป็นหัวหน้ามุ้งการเมืองใหญ่ให้มารวมตัวกันเฉพาะกิจมาตั้งพรรคให้ทหารเพื่อกวาดที่นั่งมาให้ได้มากที่สุด

คณะรัฐประหารหนุนช่วยอยู่เบื้องหลังโดยระดมทรัพยากรสนับสนุน เมื่อชนะเลือกตั้งแล้ว ทหารค่อยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ

ปรากฏว่าพรรคสามัคคีธรรมสามารถชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่ทำผลงานได้ไม่น่าประทับใจทั้งที่มีทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน ได้เพียง 79 ที่นั่ง ทิ้งห่างพรรคอันดับ 2 (ชาติไทยได้ 74 ที่นั่ง) และอันดับ 3 (พรรคความหวังใหม่ได้ 72 ที่นั่ง) เพียงนิดเดียว

และสุดท้ายพรรคสามัคคีธรรมและรัฐบาลสุจินดา คราประยูร ก็อยู่ในอำนาจได้ไม่นาน ถูกประชาชนประท้วงต่อต้านในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จนต้องยุติบทบาทไป

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จึงเห็นว่าพรรคทหารในอดีตนั้นมักจะจบไม่สวยและอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน

ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงไม่เคยได้มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มผู้นำทหารมาแตกคอกันเอง (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความอยากได้ใคร่มีอำนาจสูงสุดเป็นของตนเอง การยุแหย่ของบริวารของแต่ละฝ่าย ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ความนิยมตกต่ำจนคิดว่าแยกทางกันเดินมีโอกาสดีกว่าในสนามเลือกตั้ง) แยกตั้งพรรคกันคนละพรรค และลงสนามเลือกตั้งพร้อมกัน

ปรากฏการณ์พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ จึงสะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่น่าสนใจของการเมืองไทย

วิเคราะห์กันตามข้อเท็จจริง กลุ่มนายทหาร คสช. เป็นผู้นำคณะรัฐประหารไทยกลุ่มแรกที่สืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งสำเร็จ

ต้องอธิบายว่าสำเร็จในที่นี้หมายถึงว่า แม้พลังประชารัฐไม่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ช่วงชิงจัดตั้งรัฐบาลจนได้และทำให้ผู้นำรัฐประหารอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ สมความตั้งใจ และรัฐบาลประยุทธ์ก็สามารถอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปีได้ แม้จะเผชิญกับปัญหาสารพัดและแรงต่อต้านมากมาย จนทำให้ประยุทธ์กลายเป็นผู้นำรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจได้ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา

มองจากมุมนี้กลุ่ม 3 ป.ทำสิ่งที่จอมพล ป., ถนอม-ประภาส และสุจินดากับ รสช.ทำล้มเหลว

มองในมุมเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้นำเผด็จการประเทศอื่นๆ ก็ต้องถือว่าสิ่งที่ผู้นำ คสช.ไม่ได้แปลกประหลาดพิสดารแต่อย่างใด เผด็จการในโลกปัจจุบันเก่งขึ้นและแนบเนียนขึ้นในการครองอำนาจผ่านสถาบันพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ไม่เหมือนในยุคสงครามเย็นที่กองทัพครองอำนาจผ่านการใช้กำลังอำนาจดิบและปกครองด้วยโมเดลเผด็จการทหาร ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ไม่ให้มีพรรคฝ่ายค้าน เพราะกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจผ่านพลังของบัตรเลือกตั้งในมือประชาชน

แต่เผด็จการในโลกปัจจุบันรู้ว่าจะครองอำนาจโดยปฏิเสธกระบวนการเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิงย่อมมีแรงเสียดทานสูงและปราศจากความชอบธรรม (ยกเว้นประเทศเผด็จการที่เป็นมหาอำนาจอย่างจีน หรือเผด็จการที่ไม่สนใจประชาคมโลกอย่างเกาหลีเหนือ) จึงต้องหันมาปรับยุทธศาสตร์การครองอำนาจ ด้วยการตั้งพรรคการเมือง ดึงคนกลุ่มต่างๆ ทั้งนักเลือกตั้งอาชีพ เทคโนแครต ศิลปิน ดารา นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชน มาอยู่ในเครือข่ายทางการเมือง และช่วยหาเสียงเลือกตั้ง

เผด็จการในโลกปัจจุบันส่วนใหญ่ปกครองแบบวลาดิมีร์ ปูติน และฮุน เซน มากกว่าแบบสี จิ้นผิง และคิม จอง อึน

เผด็จการไทยก็เช่นกัน

เมื่อเผด็จการปรับตัว หันมาครองอำนาจผ่านสถาบันพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ความขัดแย้งและความตึงเครียดในกลุ่มผู้นำเผด็จการย่อมปรากฏในพื้นที่ของพรรคการเมืองเป็นธรรมดา และยิ่งครองอำนาจนาน ความขัดแย้งภายในก็ย่อมเกิดมากขึ้น ในทุกประเทศก็เป็นเช่นนี้ หากความขัดแย้งไม่รุนแรง ก็เจรจาตกลงกันด้วยผลประโยชน์ ร่วมกันทำพรรคต่อไปด้วยการจัดสรรตำแหน่งของแต่ละกลุ่มก้อนให้ลงตัว หากถึงขั้นรุนแรงและตกลงกันไม่ได้ก็ต้องเขี่ยให้พ้นทางจากพรรค

ปัญหาที่จัดการยากที่สุดไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างนายใหญ่กับบรรดาลูกหาบ แต่คือความขัดแย้งระหว่างนายใหญ่ด้วยกัน เข้าทำนองเสือสองตัวอยู่ถ้าเดียวกันไม่ได้ ปรากฏการณ์แตกพรรคเพื่อรองรับเสือสองตัวจึงย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

บทเรียนจากประเทศอื่นๆ คือ ส่วนใหญ่ฝ่ายผู้กุมอำนาจมักจะไม่ค่อยแตกพรรค ส่วนใหญ่มีแต่พรรคฝ่ายค้านที่แตกกัน จนทำให้เอาชนะฝ่ายเผด็จการไม่ได้ ฝ่ายเผด็จการอำนาจนิยมนั้นมักจะเน้นความสามัคคีเป็นปึกแผ่น เพราะรู้ว่ายิ่งแยกกันเดิน ยิ่งทำให้อ่อนแอและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจ

นักสังเกตการณ์บางคนบอกว่าปรากฏการณ์พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ เป็นแค่การแยกกันเดินแล้วร่วมกันตี เป็นพรรคพี่น้องกัน เป็นยุทธการแตกแบงก์พัน

แต่ผู้เขียนอยากจะหมายเหตุไว้ว่า

หนึ่ง ยุทธศาสตร์แยกกันเดินร่วมกันตีจะสำเร็จต่อเมื่อระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตรใบเดียวเท่านั้น ถ้าระบบบัตรสองใบ ยิ่งแตกพรรคจะได้ที่นั่งน้อยลงและกลายเป็นพรรคขนาดเล็กทั้งคู่

สอง การแยกกันเดินจะสำเร็จเมื่อตกลงร่วมกันได้จริงในแนวทางการหาเสียง ต้องมีการหลบพื้นที่กัน ไม่ส่งผู้สมัครไปแข่งกันเองในเขตเลือกตั้ง และต้องสื่อสารอย่างชัดเจนให้ประชาชนรู้ว่าสองพรรคนี้คือแนวร่วมกัน ไม่ใช่คู่แข่งกัน

และ สาม เสือสองตัวต้องตกลงกันได้ในเรื่องการแชร์อำนาจ ซึ่งสูตรแบ่งปันอำนาจแบบ “คนละครึ่ง” นี้ ไม่มีในวัตกรรมของไทย เคยมีคนพยายามทำมาก่อนแล้วหลายประเทศ ล้วนล้มเหลวหมด

ที่ชัดเจนคือ ดีลระหว่างมหาธีร์ โมฮัมหมัด กับอันวาร์ อิบราฮิม ในมาเลเซีย แต่สุดท้ายก็หักหลังกันจนการเมืองมาเลเซียไร้เสถียรภาพมาจนถึงปัจจุบัน ขึ้นชื่อว่าอำนาจยากที่จะแบ่งปันกันได้ เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหว

ณ ตอนนี้กรณีของไทยน่าจะเข้าข่าย “พรรคของนายพลพี่” กับ “พรรคของนายพลน้อง” ที่แยกกันเดินและแยกกันสร้างฐานอำนาจเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของแต่ละฝ่ายในอนาคตที่เต็มไปด้วยความเปราะบางและไม่แน่นอน