ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (จบ) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา

: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (จบ)

 

หลังการปฏิสังขรณ์อยุธยาครั้งใหญ่โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปลายทศวรรษ 2490 การบูรณะและอนุรักษ์โบราณสถานต่างๆ ภายในเมืองเก่าอยุธยาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

การปฏิสังขรณ์ในแบบเสมือนสร้างใหม่ทับลงไปบนโบราณสถาน เช่นที่รัชกาลที่ 4 ทำกับวังจันทรเกษม, รัชกาลที่ 5 ทำกับพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทและกำแพเมืองเก่าอยุธยา (แม้เพียงชั่วคราว), จอมพล ป. ทำกับวิหารพระมงคลบพิตร ก็ได้กลายเป็นแนวทางที่แทบไม่ได้รับความนิยมอีกเลย

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการปฏิสังขรณ์ในแนวทางแบบตีความใหม่ ที่ส่งผลต่อการรื้อหรือสร้างใหม่โบราณสถาน เช่นกรณีรื้ออาคารเกือบทั้งหมดของวัดสามปลื้มโดยเหลือเพียงเจดีย์และเปลี่ยนความหมายใหม่ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กกลางถนนโรจนะในยุคคณะราษฎร หรือการสร้างพระที่นั่งเย็นด้วยรูปแบบสมัยใหม่ (สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์) ทับลงบนฐานโบราณสถานบริเวณบึงพระรามในสมัย จอมพล ป. ได้กลายเป็นแนวทางที่ไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป

พระราชดำรัสรัชกาลที่ 9 เมื่อ พ.ศ.2504 ที่ยกมาในตอนที่แล้วที่ทรงกล่าวว่า “…การก่อสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่าควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย…” คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการสิ้นสุดยุคสมัยของการปฏิสังขรณ์ในแบบตีความและสร้างใหม่

แนวทางที่ก้าวเข้ามาแทนที่และได้กลายเป็นแนวทางหลักในเวลาต่อมาคือ การเน้นไปที่การอนุรักษ์และรักษา “ความเดิมแท้” (Authenticity) จากอดีตทั้งในมิติทางรูปธรรมและนามธรรมเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อส่งทอดคุณค่าดังกล่าวสู่คนในรุ่นต่อไป

การนำโบราณสถานมาใช้ประโยชน์ทางสังคมในแง่ใดแง่หนึ่ง ทั้งในด้าน การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม จะต้องไม่ส่งผลกระทบหรือเข้าไปเปลี่ยนแปลงแผนผังหรือองค์ประกอบการตกแต่งดั้งเดิมทั้งหลาย ห้ามการสร้างใหม่ ห้ามรื้อถอนของเดิม และห้ามการปรับปรุงใดๆ ที่อาจรบกวนต่อความสัมพันธ์ของโบราณสถานโดยรวมทั้งหมด

แผนที่แนบท้ายประกาศกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2519
ที่มาภาพ : ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 102

การปฏิสังขรณ์ (Restoration) ในความหมายของบูรณะในลักษณะสร้างใหม่ แม้อาจจะไม่ถึงกับเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด แต่ก็ต้องทำเฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น เพื่อป้องกันการพังทลาย และต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็หมายความว่า การแนวทางการปฏิสังขรณ์จะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปเพื่อเป้าหมายในการสงวนรักษาคุณค่าเดิมแท้ ทั้งทางด้านความงามและด้านประวัติศาสตร์ของโบราณสถาน มากกว่าที่จะเป็นการปฏิสังขรณ์เพื่อสร้างความหมายใหม่

แนวทางสมัยใหม่ดังกล่าว อาจพูดอย่างกว้างๆ ว่ามีจุดเปลี่ยนสำคัญมาจาก “กฎบัตรเวนิส” (Venice Charter) ซึ่งเป็นหลักการว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถานและมรดกวัฒนธรรมของโลกที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2507 ในการประชุมวิชาชีพเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระดับนานาชาติที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

แม้แนวทางการอนุรักษ์แบบสมัยใหม่จะมีรากฐานมายาวนานก่อนกฎบัตรเวนิส แต่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2507 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางไปทั่วโลกในเวลาต่อมา แม้จนปัจจุบัน

แน่นอน แนวทางเช่นนี้ได้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อทิศทางในการอนุรักษ์โบราณสถานของไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้แนวทางการปฏิสังขรณ์ในแบบเดิม หมดความนิยมลงไป

ยิ่งไปกว่านั้น การอนุรักษ์ตามแนวทางสมัยใหม่ยังขยายขอบเขตการอนุรักษ์ที่ครอบคลุมรวมไปถึงพื้นที่สภาพแวดล้อมโดยรอบโบราณสถาน มิได้ให้ความสำคัญเฉพาะเพียงตัวอาคารในแบบเดิมอีกต่อไป ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ก็ปรากฏให้เห็นในกฎบัตรเวนิสเช่นกัน

และก็แน่นอนอีกเช่นเคย แนวคิดนี้ได้เข้ามาส่งผลต่อทิศทางในการบริหารจัดการพื้นที่โบราณสถานในสังคมไทยด้วย ตั้งแต่ราว พ.ศ.2500 เป็นต้นมา

ป้ายประกาศการเป็นพื้นที่มรดกโลกของอยุธยา หน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ Thailand Tourism Directory

ในกรณีเมืองเก่าอยุธยา การให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ที่ขยายขอบเขตมาสู่พื้นที่โดยรอบโบราณสถานได้นำมาซึ่งการประกาศกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาโดยกรมศิลปากร กินอาณาบริเวณ 1,810 ไร่ เมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ.2519

หลังจากนั้นไม่กี่ปี กรมศิลปากรได้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาขึ้น เพื่อดูแลและบริหารจัดการโบราณสถานในพื้นที่ รวมถึงอาณาบริเวณโดยรอบที่เกี่ยวข้อง ในราวปี พ.ศ.2525

และนำมาสู่การริเริ่มโครงการทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและบริเวณใกล้เคียง เมื่อ พ.ศ.2530

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งต่อการอนุรักษ์เมืองเก่าอยุธยาคือ การถูกบรรจุเข้าไว้ในบัญชีมรดกโลก โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ.2534

และในปี พ.ศ.2540 กรมศิลปากรได้ทำการต่อยอดด้วยการประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยาเพิ่มเติมครอบคลุมพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาและพื้นที่รอบนอกเกาะเมืองทุกด้าน กินอาณาบริเวณกว้างขวางมากถึง 3,000 ไร่

จากทิศทางการอนุรักษ์ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งถูกพัฒนาแนวคิดและหลักการมาโดยลำดับ จึงทำให้การพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาไม่สามารถดำเนินการตามรูปแบบเช่นที่คณะราษฎรเคยทำได้อีกต่อไป (มุ่งเน้นรักษาเฉพาะตัวอาคารที่โบราณสถานสำคัญ ส่วนพื้นที่นอกจากนั้นสามารถนำมาพัฒนาตามความต้องการสมัยใหม่ได้)

เพราะนั่นคือการทำลายหลักฐานทางโบราณคดี และทำลายประวัติศาสตร์ ตลอดจนคุณค่าที่สำคัญยิ่งของความเป็นอยุธยา ซึ่งไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป

 

ทั้งหมดที่ผมได้อธิบายมายาวมากถึง 8 ตอนก่อนหน้านี้ คือ ความพยายามแสดงประวัติศาสตร์อย่างสังเขปว่าด้วยโครงการ “ปฏิสังขรณ์อดีต” ในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมราว 70 ปีหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา

คำว่าการปฏิสังขรณ์อดีตในบทความชุดนี้ ผมใช้ในความหมายอย่างแคบที่สื่อถึงการเดินทางย้อนกลับไปสำรวจเพื่อ “ค้นหา/สร้างใหม่” สิ่งที่เรียกว่า “อดีต” ของตนเอง (กรณีนี้คืออดีตของชนชั้นนำสยาม/ไทย) ผ่านการขุดค้นและบูรณะโบราณสถานภายในเมืองเก่าอยุธยา ซึ่งปฏิบัตินี้คือสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมัยใหม่

การปฏิสังขรณ์อดีตมิได้มีเพียงมิติของการย้อนกลับไปหาอดีตดั้งเดิมอันจริงแท้เพียงเท่านั้น แต่คำนี้ยังมีนัยยะของการตีความสิ่งใหม่และนำมันย้อนกลับไปสวมให้อดีต (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ไปพร้อมกัน

บทความชุดนี้พยายามเสนอว่า การปฏิสังขรณ์อดีตในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยามี 3 ระลอก

ระลอกแรก เน้นการค้นหา รื้อฟื้น และสถาปนาอดีตอันยิ่งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์ สร้างความเชื่องโยงระหว่างกษัตริย์อยุธยาในอดีตกับกษัตริย์รัตนโกสินทร์ในปัจจุบันผ่านโครงการบูรณปฏิสังขรณ์มากหมายทั้งแบบถาวรและชั่วคราว

ระลอกที่สอง จะเน้นการเข้าไปเปิดพื้นที่เมืองเก่าให้กลับไปสู่สภาพความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนอีกครั้ง การตัด ถนนโรจนะ ผ่านเข้าไปกลางเกาะเมืองอยุธยาและการสร้าง สะพานปรีดี-ธำรง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมทางรถยนต์เข้าสู่เกาะเมืองอยุธยาคือรูปธรรมที่สำคัญในระลอกที่สอง

หลังจากที่หมดยุคคณะราษฎร และเข้าสู่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลัง พ.ศ.2490 การปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยาก็เปลี่ยนแนวทางมาสู่ระลอกที่สาม

โดยในช่วงเวลานี้ จอมพล ป. มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เมืองเก่าอยุธยาครั้งใหญ่มากมายเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฉายภาพอดีตอันยิ่งใหญ่ของอยุธยาภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย

 

การปฏิสังขรณ์อดีต 3 ระลอกที่เต็มไปด้วยการตีความอดีตและการใช้โบราณสถานเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นเครื่องมือในการสร้างชาติรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มข้นได้สิ้นสุดลงในช่วงหลัง พ.ศ.2500 โดยเป็นผลพวงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาจากแนวคิดสมัยใหม่ในการอนุรักษ์โบราณสถานตามแนวทางแบบ UNESSCO

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการอนุรักษ์ที่ได้ชื่อว่าแบบสมัยใหม่ทั้งหลาย เราก็จะพบว่า ตัวมันเองมิได้ปลอดพ้นโดยสมบูรณ์จากการตีความใหม่และการฉวยใช้โบราณสถานมาเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองเป้าหมายมากมายที่นอกเหนือไปจากการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางการเมือง สังคม และ เศรษฐกิจ ฯลฯ

เพียงแต่ในยุคหลัง พ.ศ.2500 การฉวยใช้ดังกล่าวจะมีลักษณะที่แนบเนียนภายใต้เปลือกหุ้มของเทคนิคและวิธีการอนุรักษที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นสากล

ซึ่งความสลับซับซ้อนที่แฝงตัวอย่างแนบเนียนดังกล่าวเป็นอีกประเด็นใหญ่ของการอนุรักษ์ในโลกปัจจุบันที่ต้องแยกออกไปวิเคราะห์ในโอกาสอื่นแทน

ใต้ภาพ

1-แผนที่แนบท้ายประกาศกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานพระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2519

ที่มาภาพ : ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 93 ตอนที่ 102

2-ป้ายประกาศการเป็นพื้นที่มรดกโลกของอยุธยา หน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์

ที่มาภาพ : เว็บไซต์ Thailand Tourism Directory