การพัฒนาเมืองตามยถากรรม | ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส
สถานีมหาวิทยาลัยเกษครศาสตร์ มองจากป้ายรถเมล์หน้ามหาวิทยาลัย ถนนพหลโยธิน

พาไปมองการพัฒนาเมือง ตามแนวถนนพหลโยธินมาแล้วสองฉบับ แต่ยังมีเรื่องราวที่น่าจะมองอีก จึงขออนุญาตมองต่อ เพราะนอกจากการพัฒนาเมืองแบบริบบิ้น ที่เป็นเรื่องร้ายแรงในด้านวิชาการแล้ว ยังมีเรื่องการพัฒนาเมืองตามยถากรรมอีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อมีการวางผังนครหลวง 2533 โดยนักผังเมืองอเมริกัน บริษัท ลิชฟิลด์ LWBA. ในปี พ.ศ.2505 ตามมาด้วยการตั้งหน่วยงานผังเมืองระดับกรม และระดับท้องถิ่นมารับผิดชอบ มีการประกาศใช้ผังเมืองรวมหรือผังสี ที่มีคุณประโยชน์ต่อข้าราชการ ทำให้มีงานประจำทำ และได้รับงบประมาณว่าจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยวางผัง ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่องทางทำเงิน เมื่อรู้วิธีใช้ประโยชน์ที่ดินและปลูกสร้างอาคารตามที่ต้องการ แม้ไม่ตรงกับผังเมืองรวม

เมื่อพื้นที่ย่านพหลโยธิน ความเจริญนั้นมีมาก่อนการกำหนดผังเมือง จึงไม่เป็นไปตามสีที่กำหนด อีกทั้งยังพัฒนาต่อเนื่องแบบเดิม แม้จะมีประกาศผังเมืองแล้วก็ตาม

เริ่มจากหน่วยงานราชการ อย่างสนามบิน เรือนจำ และสถานีเกษตร ที่เป็นตัวชี้นำในการเปลี่ยนแปลง แต่ละหน่วยงานต่างขยายภารกิจ จากกองบิน เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ จากที่ทำการและโรงเก็บเครื่องบิน กลายเป็นกองบัญชาการกองทัพอากาศ และสนามกอล์ฟ จากสถานีเกษตรกลาง เป็นที่ทำการกรม กองต่างๆ กระทรวงเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากเรือนจำชั่วคราว กลายเป็นเรือนจำกลางถาวร

ยังไม่นับหน่วยงานราชการอื่นที่ตามมาอีกมากมายในพื้นที่ราชพัสดุ พร้อมกับหน่วยงานบริษัทเอกชน อย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และอาคารสำนักงานอีกมากมาย ที่ทยอยตามมา

 

สําหรับตึกแถว ที่เดิมทีอยู่ริมถนน ต่อมาขยายเข้าไปในซอยทั้งเล็กทั้งใหญ่ สำหรับกิจการร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ ขยายเป็นกลุ่มตึกแถว ล้อมตลาดยิ่งเจริญ ตลาดอมรพันธ์ ตลาดบางบัว กลายเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า บิ๊กซี โลตัส และอื่นๆ อีกมากมาย ยังไม่นับสถานีโทรทัศน์ โรงพยาบาล โรงเรียน และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่เป็นการใช้ที่ดินหลากหลายประเภท

จากเดิมริมถนนจะมีแค่กำแพงตึกแถวสามสี่ชั้น ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นกำแพงอาคารสูงสามสิบชั้น ส่วนพื้นที่ภายใน จากท้องนา ปัจจุบันกลายเป็นบ้านพัก หมู่บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ แฟลต และคอนโดมิเนียม

การใช้ที่ดินและอาคารสิ่งก่อสร้างที่หลากหลายนี้ ไม่ได้มาจากแผนงานใด หรืออยู่ในแผนผังใด หากเป็นไปตามความต้องการของหน่วยงาน ของบริษัท ของเจ้าของที่ดิน ที่เปลี่ยนการใช้ ก่อสร้างอาคาร ตามความปรารถนา ปราศจากการควบคุม

จึงนำมาสู่วันที่พื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ มีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด มลพิษต่างๆ น้ำรอระบาย ที่ดูเหมือนว่าไร้หนทางแก้ไข

อย่างปัญหาจราจรที่ติดขัดตลอดทั้งวัน มาจากทางเข้าออกเดิมของหน่วยงานและโครงการ เมื่อขยายภารกิจเพิ่มขึ้น ทางเข้าออกก็ยังอยู่ตำแหน่งเดิม ขนาดเดิม เช่นเดียวกับศูนย์การค้า ตึกแถว และทางเข้าโครงการที่ดินและบ้านจัดสรร อย่างเช่น ทางเข้าหมู่บ้านเสนานิคม แม้จะขยายพื้นที่โครงการออกไปแต่ยังคงใช้ทางเข้าออกเดิม แค่เรียกขานกันว่าถนนเสนานิคม

ในการแก้ปัญหา ที่เริ่มตั้งแต่ห้ามจอดรถริมถนน และห้ามสร้างตึกแถวริมถนน มาถึงขยายผิวจราจร สร้างสะพานลอยคนข้ามถนน วางผังให้มีวงเวียนและสี่แยกสัญญาณไฟ สร้างสะพานลอยข้ามทางแยก ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็นสร้างอุโมงค์ จนเป็นทางยกระดับ และสร้างรางรถไฟลอยฟ้าเหนือขึ้นไปเรื่อยๆ

การแก้ปัญหาแต่ละครั้งยังต้องมีการก่อสร้าง ที่สร้างปัญหาจราจรตลอดช่วงเวลาก่อสร้าง ยิ่งมีการแก้ปัญหาต่อเนื่องหรือดำเนินการกลับไปกลับมา เช่น ทำสะพานลอยแล้วเปลี่ยนเป็นอุโมงค์ ยิ่งทำการก่อสร้างยาวนานต่อเนื่อง จนการจราจรติดขัด กลายเป็นเรื่องปกติของย่านนี้

ความเจริญของบ้านเมืองที่เล่ามา จึงเป็นไปอย่างที่ ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ กล่าวไว้ว่า กรุงเทพฯ คือชนบทที่เติบโตเกินขนาด

เพราะจากชุมชนชนบทริมคลองลาดพร้าว เติบใหญ่เป็นชุมชนเมืองย่านบางเขนนั้น เป็นไปตามยถากรรม ปราศจากการวางแผน วางผังแต่อย่างใด และดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด •