คณะทหารหนุ่ม (16) | ทำไมต้องประหาร พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

สุรชาติ บำรุงสุข บันทึกต่อไปว่า…

“แล้วความผิดปกติก็เกิดขึ้น สักพักใหญ่หลังจากลุงหลาดออกไป พวกเราถูกนำตัวขึ้นขังเร็วกว่าปกติ ซึ่งพวกเราก็พอรับรู้ได้บ้างว่าคงจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ไม่กล้าคาดเดา”

“สำหรับผมแล้ว ไม่คาดคิดเลยว่าการเดินออกไปของลุงหลาดครั้งนั้นจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีก ไม่มีใครคาดคิดว่าการออกไปครั้งนี้ไม่ใช่การไปพบญาติ แต่เป็นไปเพื่อรับฟังคำสั่งตัดสินตามมาตรา 21 ของรัฐบาล โดยคำสั่งแรกเป็นประกาศให้ถอดยศพลเอก และคำสั่งที่ 2 เป็นคำตัดสินประหารชีวิตในบ่ายวันนั้นเลย”

“คิดถึงเรื่องนี้ครั้งใดก็อดคิดถึงชีวิตของลุงหลาดไม่ได้ นึกแล้วก็ใจหาย ผมกลายเป็นคนสุดท้ายที่อยู่กับ พล.อ.ฉลาด ก่อนถูกนำตัวออกไปจากแดน”

 

ประหารชีวิต

การประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด ได้กลายเป็นปัญหาในทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เขียนถึงการตัดสินใจในเรื่องนี้ตามที่ปรากฏในบันทึกของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ว่า

‘คณะรัฐมนตรีของผมกับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินร่วมประชุมปรึกษากันอย่างเต็มคณะ ผมให้ความเห็นต่อที่ประชุมร่วมว่า แม้จะเป็นเวลาไม่ปกติและคณะรัฐมนตรีร่วมกับคณะปฏิรูปมีอำนาจพิจารณาคดีนี้เองได้ แต่ก็ควรจะนำเรื่องขึ้นศาลเพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ จึงไม่ควรใช้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 21 อย่างพร่ำเพรื่อ มาตรานี้ควรสงวนไว้ใช้ในกรณีที่ไม่อาจใช้มาตรการปกติเท่านั้น’

ผมเชื่อว่าคำบอกเล่าของนายกฯ ธานินทร์ในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีคนรับรู้มากเท่าใดนัก และยังได้เล่าต่ออีกว่า ‘มีบางท่านในคณะปฏิรูปบอกว่าไม่ได้ ต้องใช้มาตรา 21’ จนนำไปสู่การตัดสินใจใช้มาตรานี้ในการประหารชีวิตในที่สุด

 

บันทึก สุธรรม แสงประทุม

สุธรรม แสงประทุม ก็บันทึกเรื่องราวของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ไว้ใน “เกิดเดือนตุลา”

“สถานที่คุมขัง พล.อ.ฉลาด คือบางขวางที่เดียวและตึกเดียวกันกับผม แต่ท่านอยู่ชั้นบน ผมอยู่ชั้นล่าง แม้จะไม่เคยพบหน้าค่าตากันมาก่อน ครั้นมาอยู่ด้วยกันก็มักคุ้นกันโดยปริยาย พล.อ.ฉลาด หรือ ‘ลุงหลาด’ ของผม รู้ว่าผมเล่าเรียนมาทางกฎหมาย จึงขอให้ผมเข้ามามีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือเตรียมการสู้คดีให้ท่านถ้าท่านมีโอกาสได้สู้คดี”

“ผมจำได้ว่าเช้าวันแรกที่ท่านเพิ่งเข้ามาอยู่ในแดนพิเศษ ท่านนั่งกุมขมับอยู่บนเก้าอี้ในโรงอาหารท่าทางอิดโรยเหมือนไม่ได้นอนมาทั้งคืน ตอนนั้นผมได้รับมอบหมายจากเพื่อนๆ ให้ทำหน้าที่ปัดกวาดโรงอาหารเป็นประจำทุกเช้า จึงเข้าไปทักทายทำความรู้จักโดยชงโอวัลตินมิตรภาพให้แก้วหนึ่ง ท่านรับไปพร้อมส่งยิ้มให้อย่างลำบากยากเย็นเพราะคงครุ่นคิดกังวลในเรื่องราวที่เพิ่งผ่านมา เราคุยกันได้ไม่กี่คำเจ้าหน้าที่เรือนจำก็มาเตือนว่า ถึงจะอยู่แดนเดียวกันก็ไม่ควรพูดคุยติดต่อกันอย่างเด็ดขาด แต่บารมีของนายพลเอกแห่งกองทัพบกไทยย่อมทำให้ผู้คุมเกรงอกเกรงใจบ้างเป็นธรรมดา”

“หลังจากนั้นผมกับ พล.อ.ฉลาด ก็เลยหันมาสร้างสัมพันธ์สนิทแน่นแฟ้นในเวลาอันรวดเร็ว”

“ท่านให้ผมเรียกท่านว่า ‘ลุงหลาด’ และท่านก็เรียกผมว่า ‘ลูก’ แต่ไม่นานนักท่านก็เป็น ‘ลุงหลาด’ ของพวกเราทุกคนในแดนพิเศษ”

“ความจริงหลากหลายอย่างพรั่งพรูจากปากลุงหลาดเหมือนกระแสน้ำ สุดท้ายเป็นความจริงที่นายพลเอกซึ่งรั้งตำแหน่งเลขาธิการคณะปฏิวัติ แต่เมื่อปฏิวัติไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ นายพลเอกแห่งกองทัพบกคนนี้ก็กลายเป็นหัวหน้าคณะกบฏในทันทีเช่นกัน”

‘ลุงยิง พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ด้วยมือของลุงเอง’

‘ทำไมต้องยิงกันด้วยล่ะครับ’

‘ก็ถกเถียงกันเรื่องการเลือกตัวคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างเถียงกันจนหาข้อยุติไม่ได้เพราะความต้องการไม่ตรงกัน เขาก็โดดเข้าแย่งปืนจากนายทหารคนหนึ่ง ลุงก็เลยจัดการเขาเสียก่อนเพื่อปกป้องชีวิตเพื่อนร่วมงานคนอื่น’ ลุงหลาดเว้นวรรคอีกครั้ง หันมาจ้องสบตาผมพร้อมคำถาม ‘การต่อสู้ของลุง เป็นการป้องกันตัวที่สมควรแก่เหตุผลหรือเปล่า พ่อนักกฎหมาย’

‘ก็พอสมควรแก่เหตุครับ’ ผมตอบยิ้มๆ อย่างเข้าใจในความรู้สึกของลุงหลาดในวินาทีนั้น และผมก็บอกตัวเองในตอนนั้นว่า คงจะต้องหาเวลาทำความเข้าใจในความเป็นทหารตำรวจให้มากกว่านี้

‘ที่เถียงกันตกลงกันไม่ได้เรื่องตัวนายกฯ นั้นหมายถึงใครมั่งครับ’

‘ก็อีกฝ่ายต้องการนายประภาศน์ อวยชัย แต่อีกฝ่ายต้องการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’

“ยิ่งนานวันผมกับลุงหลาดก็มีเรื่องคุยกันมากขึ้น หลายเรื่องหลายปัญหาที่เกี่ยวกับการเมืองการทหารถูกหยิบมาเป็นข้อสนทนาซักถาม ลุงหลาดตอบพวกเราอย่างชนิดที่เรียกว่า ‘เปิดอก'”

“แปลก-ในการพูดคุยเกือบทุกครั้ง ลุงหลาดมักจะหลุดคำพูดออกมาเสมอว่าตัวเอง ‘ถูกหักหลัง’ ลุงหลาดไม่ได้บอกผมตรงๆ ว่าใครหักหลังท่าน ผมก็เลยทำเป็นไม่รู้ เพราะไม่อยากจะบอกให้ใครรู้”

 

ทำไมต้องประหาร?

สุธรรม แสงประทุม บันทึกข้อสังเกตการใช้มาตรา 21 ประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ไว้ว่า

“ข้อมูลจากคำบอกเล่าของท่านนายกฯ ธานินทร์น่าสนใจอย่างมากถึงเหตุผลของนายทหารระดับสูงในคณะปฏิรูปว่าต้องใช้มาตรานี้ เพราะ ‘ประการแรก ผู้ต้องหาฝ่ายกบฏกำลังจะแหกที่คุมขัง เขามีอิทธิพลมาก และอีกประการหนึ่ง ฝ่ายกบฏจะจับตัวบุคคลสำคัญไปเป็นตัวประกันเพื่อให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหา'”

“ถ้าจะถามความเห็นแล้วก็คงตอบได้ชัดว่า กลุ่มทหารในขณะนั้นกำลังสร้าง ‘ภาพลวงตา’ ให้กับนายกฯ และแม้ปีกรัฐบาลจะเห็นค้านแต่ก็ไม่มีทางชนะ ดังที่นายกฯ ธานินทร์กล่าวว่า ‘รัฐมนตรีของฝ่ายผมมีเพียง 16 นาย’ ในขณะที่นายทหารในคณะปฏิรูปมีจำนวน 24 นาย และมีอีก 2 นายที่เป็นรัฐมนตรีด้วย ถ้านับเรียงคือ 16 ต่อ 26 อันทำให้คดีนี้ไม่ถูกส่งไปให้ศาลพิจารณา ในขณะที่อธิบดีศาลอาญาในขณะนั้นเชื่อว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 เดือน แต่กลุ่มทหารกลับตอบว่า ‘ช้าไป’ เพราะเป้าหมายหลักคือจะต้องกำจัด พล.อ.ฉลาดออกไปจากเวทีการเมืองให้ได้”

“ดูจากเหตุผลที่ผู้นำทหารต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรา 21 ตัดสินประหารชีวิตนั้นเป็นเพราะต้องการ ‘ปิดปาก’ พล.อ.ฉลาด ใช่หรือไม่ เพราะเป็นที่รับรู้กันภายในวงของทหารว่ามีผู้นำทหารหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”

“อย่างน้อยคำสัญญาที่ไม่เป็นจริงของผู้นำทหารที่กรุงเทพฯ ที่จะเคลื่อนกำลังออกมาสนับสนุนก็คือคำบอกเล่าโดยตรงที่ระบุถึงการเข้าร่วมของผู้นำทหารกรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่ง แต่ดูเหมือน พล.อ.ฉลาดจะเชื่อมั่นว่าถึงจะยอมแพ้แล้ว แต่ในฐานะผู้นำทหารด้วยกันแล้วก็คงจะไม่หันกลับมาเล่นงานด้วยการฆ่ากันเอง เพราะอย่างน้อยก็รู้จักและเติบโตขึ้นมาด้วยกันในกองทัพบก ซึ่งลุงหลาดเองในช่วงที่อยู่ในแดนพิเศษก็เคยพูดถึงชื่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนให้ฟัง”

“แต่ผมขณะนั้นก็ยังเด็กจึงได้แต่ฟังและรู้สึกว่าเป็นเรื่องภายในของผู้นำกองทัพ แต่ก็มีความรู้สึกว่าเขาคงจะไม่เล่นกันถึงตาย คงคิดเองเล่นๆ ว่าลุงหลาดคงได้อยู่กับพวกเราชาว 6 ตุลาคมไปอีกพอสมควร”