นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อดีตในอนาคต (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังจากที่จากไปเป็นเวลา 5 ปี ผมกลับถึงเมืองไทยในปลาย พ.ศ.2518 คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บอกผมว่า หนังสือประวัติศาสตร์กำลังขายดี ไม่ว่าจะเป็นงานเก่าหรืองานใหม่ เพราะผู้คนพากันสนใจประวัติศาสตร์อย่างมาก ผมคิดว่าสถานการณ์เช่นนี้ยังดำรงอยู่สืบมาตลอดทศวรรษ 2520 และคงเริ่มซาลงในทศวรรษ 2530

ทำไม? คำตอบที่ผมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคุณสุจิตต์ก็คือ 14 ตุลา นำมาซึ่งความใส่ใจต่ออดีต และเหตุที่ใส่ใจต่ออดีตก็เพราะคนไทยกำลังคิดวางเส้นทางอนาคตของสังคมตนเอง ความทรงจำทำให้เรามีสมรรถภาพที่จะวางอนาคต แต่ในขณะเดียวกันความทรงจำก็ไม่ใช่สิ่งที่ลอยมาจากอดีตล้วนๆ แต่ถูกกำหนดขึ้นจากความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่เราต้องการด้วย (ก๊อบความคิดนี้จาก Rosalind Shaw, “Provocation : Futurizing Memory,” Cultural Anthropology Website, September 05, 2013.)

เหตุผลนี้อธิบายได้ด้วยว่า ทำไมถึงซาลงในทศวรรษ 2530 เพราะถึงช่วงนั้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจเฟื่องฟูในสมัยรัฐบาล ชาติชาย ชุณหะวัณ คนไทยให้ความใส่ใจต่ออนาคตน้อยลง แต่กำลังตื่นเต้นและวางแผนกับปัจจุบันมากกว่า จึงไม่ต้องการความทรงจำเกี่ยวกับอดีตอีก และงานประวัติศาสตร์เริ่มขายไม่ดีในตลาดดังที่ผ่านมา

มองจากหลักการอันนี้คือ เมื่อไรที่เราเห็นโอกาสจะวางอนาคตใหม่ เมื่อนั้นเราจะหันกลับไปทบทวนความจำเกี่ยวกับอดีต ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงแน่ใจว่าสังคมไทยคงไม่ได้คิดวาดอนาคตใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อหลัง 14 ตุลาแน่ มีจังหวะเวลาบางช่วงที่คนในสังคมล้านนา, นครศรีธรรมราช, ลพบุรี, หริภุญไชย, อยุธยาและรัตนโกสินทร์ อาจคิดว่าเป็นโอกาสที่จะวางอนาคตใหม่ของตนเอง ของครอบครัว หรือของชุมชนที่เขามีชีวิตอยู่ และของสังคมโดยรวม

 

อันที่จริง เมื่อไรที่เราวางแผนอนาคตของตนเอง ก็สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากจินตนาการของเราว่าอนาคตของสังคมโดยรวมจะเป็นอย่างไร สองอย่างนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ใครหรือเหตุการณ์อะไรก็ตาม ที่ทำให้คนในสังคมมีจินตนาการถึงอนาคตของสังคมโดยรวมไปในทางเดียวกันได้ ก็เท่ากับทำให้ทุกคนวางอนาคตของตนเองไปในทางเดียวกัน หรือในทางที่สอดคล้องกันด้วย

จึงนับเป็นพลังที่ใหญ่มาก

กลับมาสู่ประสบการณ์ของสังคมไทยที่เคยวาดหวังอนาคตใหม่ในอดีต ผมเข้าใจว่าการปฏิรูปในสมัย ร.5 ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่คนไทยคงวาดหวังอนาคตใหม่กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเมื่อทรงประสบความสำเร็จในการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ไปทั่วสังคม โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องบนสุด ขุนนางยอมรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่นี้โดยทั่วกัน เพราะคนที่ไม่ยอมรับก็ถูกลิดรอนอำนาจหรือปลดออกไป แม้ขุนนางข้าราชการตั้งแต่ระดับเล็กขึ้นไปยังอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ แต่เป็นระบบอุปถัมภ์ในแนวดิ่งที่พุ่งขึ้นไปสู่พระมหากษัตริย์ โดยไม่มีใครสร้างกลุ่มอุปถัมภ์ขึ้นในแนวขวางที่จะท้าทายพระราชอำนาจ

และต่างวาดหวังว่าอนาคตของตนจะก้าวหน้าไปในระบบราชการ จากความสนับสนุนของผู้อุปถัมภ์ของตน ฝันถึงเรือนทรงปั้นหยาเหมือนกัน ฝันถึงความนับหน้าถือตาในสังคมที่ได้มาจากตำแหน่งราชการ โดยไม่สัมพันธ์กับกำเนิดมากนักเหมือนกัน

ไพร่จำนวนมาก หลุดออกไปจากพันธะที่มีตามประเพณีกับมูลนายของตน พากันออกไปบุกเบิกก่นสร้างที่นาของตนเองในแหล่งที่ใกล้เส้นทางคมนาคม เพื่อผลิตข้าวส่งโรงสี พวกเขาคงไม่รู้หรอกว่า อิสรภาพจากพันธะตามประเพณีของระบบไพร่นี้ได้มาจากการถูกเลือกให้เป็นพันธมิตรของกษัตริย์ เพื่อลดอำนาจของขุนนางลง เพราะอำนาจของรัฐไทยในการควบคุมแรงงานประชากรผ่านระบบไพร่ ได้เรรวนและลดลงมาตามลำดับอยู่แล้ว แม้กระนั้นฐานะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ก็ทำให้เขาวาดหวังอนาคตของตนไว้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากไพร่ในอดีตอย่างมาก

 

ในช่วงนี้เองที่งานประวัติศาสตร์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตกลายเป็นเครื่องแสดงภูมิรู้ที่ขาดไม่ได้สำหรับชนชั้นนำ (แทนการถ่ายทอดนิยายจีนออกเป็นภาษาไทยซึ่งเคยเป็นเกียรติยศของชนชั้นนำมาก่อน) ไม่เว้นแม้แต่พระมหากษัตริย์อย่างน้อยในสองรัชกาลคือ ร.5 และ ร.6 เจ้านายอีกหลายพระองค์ไม่เฉพาะแต่ “บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” คือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เท่านั้น แม้แต่เจ้านายที่ไม่ได้มีชื่อทางประวัติศาสตร์ เช่น กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ก็ยังมีพระนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ข้าหลวงและเทศาภิบาลที่ถูกส่งไปปกครองหัวเมืองอีกหลายคนที่เขียนงานประวัติศาสตร์ ไม่เฉพาะแต่พระยาโบราณราชธานินทร์ ซึ่งเป็นข้าหลวงกรุงเก่าเท่านั้น

งานประเภทจดหมายเหตุที่ไม่เกี่ยวกับอดีตโดยตรง ก็มักใช้ประวัติศาสตร์หรือการทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับอดีตในเรื่องนั้นๆ เป็นเครื่องมืออธิบายสถานการณ์ปัจจุบัน (ของพระปฐมเจดีย์, ของประชากรกลุ่มต่างๆ ในอีสาน, ของหัวเมืองบางแห่ง, ฯลฯ) ความทรงจำเป็นพื้นฐานให้แก่การวางอนาคตของชนชั้นนำไทย ด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นความทรงจำที่ถูกกำหนดขึ้นจากความใฝ่ฝันถึงอนาคตที่คนเหล่านี้ต้องการด้วย และทั้งหมดเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นความทรงจำแห่งชาติหรือประวัติศาสตร์ที่ต้องร่ำเรียนกันในระบบการศึกษาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ผมอธิบายไม่ได้ว่า ความทรงจำสำนวนนี้ผ่านการปฏิวัติ 2475 มาได้อย่างไร ทำไมความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นจึงไม่ทำให้ผู้คนพากันคิดถึงอนาคตใหม่ มากพอที่จะทำให้เกิดการทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับอดีตกันใหม่

นอกจากการปฏิรูปของ ร.5 แล้ว ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ที่น่าจะทำให้ผู้คนพากันคิดวางอนาคตใหม่ และหันมาทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับอดีตกันขนานใหญ่ นั่นคือการรับเอาพระพุทธศาสนาสำนักลังกาเข้ามาเผยแพร่

อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่ของความเปลี่ยนแปลงนี้อาจมองเห็นได้ไม่ชัดนักในภาคกลางและภาคใต้ เพราะพุทธศาสนานิกายเถรวาทไม่ใช่คนแปลกหน้าในดินแดนแถบนี้มาก่อน การเปลี่ยนไปสู่สำนักใหม่ของลังกาจึงอาจไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบชีวิตผู้คนมากนัก แต่ในภาคเหนือ สถานการณ์อาจไม่เหมือนกันทีเดียวนัก เช่น นักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าเมื่อพระเจ้ามังรายแผ่พระราชอำนาจลงมาถึงลุ่มน้ำปิง หากทรงนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนาที่ตรงกับเถรวาทของหริภุญไชยนัก เป็นไปได้ว่าทรงนับถือผี และหากจะมีพุทธศาสนาเจือปนก็น่าจะเป็นนิกายวัชรยานที่แพร่เข้ามาจากเบงกอลในราชวงศ์ปาละ ผ่านพุกามซึ่งมีหลักฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายนี้อยู่มาก และมักเรียกในหลักฐานข้างพม่าว่าพวก Ari ซึ่งนักประวัติศาสตร์พม่าบางท่านกล่าวว่าเป็นวชิรญาณจากเบงกอล (Thant Myint-U, Where China Meets India)

และด้วยเหตุดังนั้น ลังกาวงศ์ในภาคเหนือจึงนำมาซึ่งวรรณกรรมทบทวนความทรงจำมากมาย ทั้งวรรณกรรมที่วาดอนาคตใหม่ อันเป็นสังคมพุทธเถรวาทที่รุ่งเรืองด้วยธรรมราชูปถัมภ์ และทั้งวรรณกรรมที่วาดอนาคตให้กลืนนิกายใหม่เข้ามาโดยยังรักษาสังคมเก่าไว้ได้ต่อไป มีผีใหญ่ผีน้อย และอำนาจกระจายไปตามหมอผีประเภทต่างๆ ในท้องถิ่น เราจึงมีทั้งงานประเภทชินกาลมาลีปกรณ์ และตำนานพ่อหลวงคำแดง ตลอดจนตำนานท้องถิ่นอื่นๆ อีกมาก

สรุปกลวิธีง่ายๆ (จนเกินไป) ของผมก็คือ เมื่อไรที่ได้เห็นความคึกคักทางด้านประวัติศาสตร์ในสังคมใด ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าคงมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ผู้คนในสังคมนั้นกำลังคิดวาดอนาคตใหม่ของสังคม จึงพากันทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เพื่อวางอนาคตใหม่ตามความใฝ่ฝันของตน

ในปัจจุบัน คสช. อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อสร้างอนาคตใหม่ให้แก่การเมืองไทย แต่อนาคตที่ คสช. พูดถึงนี้ ไม่ทำให้เกิดการทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับอดีต แม้แต่ในหมู่ผู้ที่เชื่อว่า คสช. จะนำอนาคตใหม่ทางการเมืองมาแก้สังคมก็ตาม

ข้อนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะอนาคตทางการเมืองที่ คสช. และบริวารพูดถึงนั้น ไม่มีอะไรใหม่ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เป็นสภาพทางการเมืองที่ได้ผ่านพ้นไปในอดีตกาลนานไกลแล้ว คืออดีตในช่วงที่ชนชั้นนำยังสามารถควบคุมการเมืองมวลชนได้เด็ดขาด แม้ว่าจะมีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ส่วนแบ่งของอำนาจอยู่ด้วย หรืออาจย้อนไปไกลถึงขั้นที่ไม่มีนักการเมืองจากการเลือกตั้งอยู่เลยก็ได้

จึงไม่มีอดีตอะไรให้ทบทวน นอกจากตอกย้ำการนำที่ดีเลิศของชนชั้นนำ ดังหนังสือประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาที่ออกมาเพื่อตอบสนองความประสงค์ของ คสช., ตำนานสมเด็จพระนเรศวร, หรือแม้แต่เทือกเขาอัลไต