THE WONDER ‘นกในกรง’ | นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

The Wonder สร้างจากนิยายที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในโลกของความเชื่อและความเลื่อมใสศรัทธาที่ห้อมล้อมและกักขังบุคคลไว้เหมือนนกในกรง

นี่เป็นหนังย้อนยุคกลับไปราว 150 ปีนะคะ

ในยุคที่ประชาชนชาวไอริชเพิ่งจะผ่านความอดอยากยากแค้นแสนสาหัสจากเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์เรียกว่า “ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่หลวงในไอร์แลนด์ในช่วงทศวรรษ 1840”

ความทุกข์ยากอดอยากหิวโหยอาจมีผลให้ผู้คนหันมาหาที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจมากเป็นพิเศษก็ได้

ใน ค.ศ.1862 ลิบ ไรต์ (ฟลอเรนซ์ พิว) นางพยาบาลชาวอังกฤษจากลอนดอนได้รับการว่าจ้างให้เดินทางมาที่หมู่บ้านเล็กๆ ในไอร์แลนด์ ให้เฝ้าดูอาการของเด็กหญิงวัยสิบเอ็ดคนหนึ่งซึ่งโจษขานกันว่าเป็น “สิ่งอัศจรรย์” เพราะอดอาหารมานานสี่เดือนแล้ว โดยที่ยังดูเหมือนสุขภาพดีเป็นปกติ

ผู้คนจากที่ต่างๆ เดินทางมาพบเด็กคนนี้ เพื่อเป็นสักขีพยานในความอัศจรรย์ของหนูน้อยที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเมื่อตายไป เด็กคนนี้น่าจะได้รับการเชิดชูเป็น “นักบุญ” ในศาสนาเลยทีเดียว

เมืองนี้จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น ซึ่งประกอบด้วยทั้งบรรพชิตและฆราวาส มีบาทหลวงและหมอ เป็นต้น โดยที่คณะกรรมการจัดหาพยาบาลอาชีพและแม่ชีในคริสต์ศาสนามาเป็นประจักษ์พยาน

ลิบ ไรต์ พยาบาลผู้ผ่านงานอาชีพมาอย่างโชกโชนในสงครามไครเมีย ได้รับคำสั่งโดยเฉพาะเจาะจงจากคณะกรรมการ แบบเสียงดังฟังชัดเพื่อกันความเข้าใจผิดใดๆ โดยบอกให้เธอ “เฝ้าดูอาการ” เพียงอย่างเดียว ห้ามยื่นมือเข้าไปกระทำการใดๆ สำหรับคนไข้รายนี้

บ้านหลังเล็กอันโดดเดี่ยวของครอบครัวโอดอนเนล ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ พี่สาวและหนูน้อยแอนนา (คีลา ลอร์ด แคสสิดี) ตั้งอยู่นอกหมู่บ้าน ไกลออกไปในระยะเดินพอสมควร ซึ่งทุกวันลิบต้องเดินผ่านท้องทุ่งภายใต้ฟ้ากว้างไปเพื่อเฝ้าอาการคนไข้ของเธอ ผลัดเปลี่ยนกับแม่ชีอีกคน ตามคำขอร้องของครอบครัวที่มีศรัทธาเหนียวแน่นมั่นคง

ระหว่างนั้น ลิบได้รู้จักกับนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นชื่อ วิลล์ (ทอม เบิร์ก) ซึ่งหาทางเข้าพบแอนนาเพื่อหาข้อมูลนำไปเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์

ไม่ผิดอะไรกับคนทุกคนบนโลกใบนี้ ทั้งลิบและวิลล์ต่างแบกสัมภาระของอดีตอันเจ็บปวดรวดร้าวติดตัวมาด้วย ซึ่งกลายเป็นสะพานของความเข้าใจที่เชื่อมโยงคนทั้งสองไว้ด้วยกัน

ลิบได้พบว่าคณะกรรมการที่ว่าจ้างให้เธอมาเฝ้าสังเกตอาการนั้น ปลงใจเชื่อ-หรืออยากจะเชื่อ-ในความอัศจรรย์ครั้งนี้อยู่แล้ว และแทบไม่สนใจไม่อยากฟังข้อสรุปที่เป็นความเห็นเชิงอาชีพของเธอเลย

ฝ่ายบาทหลวงก็อยากเห็นเรื่องราวความอัศจรรย์ของเด็กที่อาจจะกลายเป็นนักบุญได้ในอนาคตต่อไป

ฝ่ายผู้นำหมู่บ้านก็อยากให้หมู่บ้านของตนเป็นจุดหมายปลายทางของนักจาริกแสวงบุญหรือของนักท่องเที่ยวที่อยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกๆ

ฝ่ายแพทย์ผู้ดูแลอาการก็อยากค้นพบความลึกลับในธรรมชาติมนุษย์ที่อาจเป็นยาอายุวัฒนะอย่างที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน…หมอแม็กเบรที (โทบี โจนส์) ตั้งความวาดหวังไว้บนข้อสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า…

…ก็ถ้าเผื่อว่าร่างกายของมนุษย์สังเคราะห์แสงแดดให้กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงได้เหมือนพืชเล่า

ในที่สุด ลิบซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง จึงเดินมาถึงจุดของความขัดแย้งที่เธอต้องตัดสินใจเลือกหนทางที่จะเดินต่อไป

กล่าวคือ จะเฝ้าสังเกตการณ์สิ่งที่เธอเห็นว่าจะนำไปสู่ความตายของเด็กน้อยอยู่เฉยๆ วางตัวเป็น “คนนอก” โดยไม่แยแสต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่กำลังจะตายไปต่อหน้าต่อตา หรือจะยื่นมือเข้าไปขัดขวาง โดยแลกกับทุกอย่างที่มีในชีวิตของตัวเอง?

หนังมีคำตอบและทางออกที่สวยงามลงตัวสำหรับตัวละครทุกตัวเลยค่ะ

เป็นหนังที่ถ่ายทำโดยจัดองค์ประกอบภาพ สีสัน แสงเงา เครื่องแต่งกาย ฉากและเครื่องประกอบฉาก รวมทั้งดนตรีเดินเรื่องที่ลงตัวมาก

การจัดภาพวางองค์ประกอบได้อย่างสวยงามจับตา ชวนให้นึกถึงภาพเขียนสีน้ำมันของจิตรกรเลื่องชื่อหลายคน โดยเฉพาะบรมครูชาวดัตช์ อย่างเวอร์เมียร์ เป็นต้น

และที่สำคัญคือการแสดงของนักแสดงนำหญิงสองคน คือ ฟลอเรนซ์ พิว กับ คีลา ลอร์ด แคสสิดี ซึ่งมีแม่ในชีวิตจริงมารับบทแม่ในหนังผู้เป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่เบื้องหลังความอัศจรรย์นี้ด้วย

หนังเลือกใช้การนำเสนอแบบแหวกแนวในตอนเปิดและตอนปิดเรื่อง

โดยเปิดเรื่องด้วยภาพในโรงถ่ายหนังซึ่งระเกะระกะด้วยฉากสำหรับถ่ายทำ พร้อมกับเสียงบรรยายโปรยไว้ก่อนนำเข้าเรื่องว่า “เราจะไม่เป็นอะไรเลยถ้าไม่มีเรื่องให้เล่า ดังนั้น เราขอเชิญคุณให้เชื่อในเรื่องนี้”

ชวนให้คิดว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่เรานั้นผูกพันอยู่กับ “ความเชื่อ” ของเราทั้งสิ้น

และความเชื่อนั้นอาจมองว่าเป็น “กรง” ที่กักขังเราไว้ ซึ่งเราจะอยู่ “ใน” หรือ “นอก” กรง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองอย่างไร

หนังใช้สัญลักษณ์ที่สำคัญเป็นของเล่นสำหรับเด็กที่เป็นภาพนกและภาพกรง ซึ่งผูกกับเส้นด้ายแล้วปั่นให้หมุนเร็วๆ จนกลายเป็นภาพลวงตาของ “นกในกรง” หรือ “นกนอกกรง” ก็ได้แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร

ของเล่นชนิดนี้มีชื่อเรียกด้วยนะคะ ตามที่ตัวละครบอกว่า ของเล่นที่เป็นนี้เรียกว่า Thaumatrope

และในตอนจบ หนังนำเราออกจากเรื่องที่เล่าไปกลับไปสู่โรงถ่ายหนังอีกครั้ง พร้อมด้วยผู้เล่าเรื่อง พูดว่า “ใน…นอก…ใน…นอก…ใน…นอก”

หรืออาจสรุปได้ว่า เราจะใช้ความเชื่อเป็นสิ่งกักขังเราไว้ในกรงก็ได้ หรือจะเป็นอิสระอยู่นอกกรงก็ได้…

…เอวัง! •

THE WONDER

กำกับการแสดง

Sebastian Lelio

นำแสดง

Florence Pugh

Kila Lord Cassidy

Tom Burke

Toby Jones

Ciaran Hinds

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์