คุยเรื่อง ‘บอลโลก’ แบบละเอียดๆ กับ ‘เศรษฐา ทวีสิน’

ปลายปี 2022 “การแข่งขันฟุตบอลโลก” เวียนกลับมาพบกับเหล่าแฟนบอลอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้มาในแบบที่พวกเราไม่คุ้นเคย ทั้งสถานที่และเวลา

เพราะเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลาง คือ “กาตาร์” แถมยังต้องย้ายเวลาเตะจากเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม มาเป็นพฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศของประเทศเจ้าภาพ

“เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) คือ คอบอลพันธุ์แท้ที่ติดตามดูและวิพากษ์วิจารณ์แง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับแวดวงลูกหนังอย่างลึกซึ้ง ถึงขนาดที่เขาเคยเป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์กีฬา และเคยออกหนังสือรวมเล่มในประเด็นเรื่องวงการกีฬามาแล้ว

FEED จึงไม่รอช้าที่จะขออนุญาตเข้าไปสนทนากับเศรษฐาในหัวข้อ “ฟุตบอลโลก 2022”

ไม่ใช่การตั้งคำถามเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมือง ที่เจ้าตัวต้องเผชิญหน้าเป็นประจำในระยะหลังๆ

: ในฟุตบอลโลกเชียร์ทีมอะไร?

แน่นอนผมเชียร์ทีมชาติอังกฤษ เพราะช่วงไฮสกูล (มัธยมศึกษา) ไปเรียนที่อังกฤษ ในอดีตก็ผิดหวังโดยตลอด แต่ครั้งนี้ก็ยังมีความหวัง ผมว่าอังกฤษเป็นหนึ่งในเต็ง 5 ก็คิดว่าน่าจะมีลุ้นได้บ้าง

: คิดว่าทีมชาติอังกฤษจะไปถึงรอบไหนในฟุตบอลโลกครั้งนี้?

ถ้าเกิดเชียร์ก็ต้องให้ไปถึงรอบชิง แต่ว่ามันก็ต้องอาศัยโชคชะตา และอะไรหลายๆ อย่างด้วย อย่างในอดีต ทีมชาติอังกฤษจะแพ้ตกรอบหรือแพ้ลูกโทษค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องของจิตวิทยา เรื่องของการฝึกซ้อม ผมเชื่อว่าเรื่องของการยิงจุดโทษต้องฝึกซ้อม ความเข้มแข็งมั่นคงของจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ

ครั้งนี้ก็ไม่หนีเรื่องนี้ อย่างไรก็ต้องถึงฎีกา (ยิงจุดโทษ) ต้องมีสักแมตช์หนึ่ง ส่วนความคาดหวัง คิดว่าก็ต้องรอบรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อย

: มีทีมไหนอีกบ้างที่น่าจับตา? นอกจากอังกฤษ

ผมว่าอย่างไรก็ไม่พ้นบราซิล บราซิลนี่เป็นขวัญใจคนไทยตลอดกาล ขุมกำลังค่อนข้างจะพร้อม เป็นทีมที่ไม่เคยหลุดนอกสายตา ถึงแม้ฟอร์มก่อนแข่งจะไม่ดีอะไรก็แล้วแต่ ส่วนเยอรมนี มาตรฐานคงเส้นคงวา ซื้อขนมกินได้แน่นอน

แล้วก็อีกทีมหนึ่ง ซึ่งระยะหลังเวลาเขาจัดอันดับมาเป็นเบอร์หนึ่งเยอะ คือ เบลเยียม ซึ่งตอนนี้ผมใช้คำว่าเป็น “ยุคทอง” ก็ได้ เพราะ “เควิน เดอ บรอยน์” เองก็ยังท็อปฟอร์มอยู่ เพราะฉะนั้น เบลเยียมเองก็เป็นหนึ่งในตัวเต็งเหมือนกัน

จริงๆ แล้วทั้งอังกฤษ เยอรมนี บราซิล แล้วก็เบลเยียม ได้ลุ้นหมด ขึ้นอยู่กับโชคชะตาในการเข้าที่หนึ่งหรือที่สองในสาย แล้วไปอยู่สายไหน สายบน สายล่าง อาจจะมาตัดกันเองก่อนรอบ 8 ทีมก็เป็นไปได้

: คิดอย่างไรกับคำวิจารณ์ที่ว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่กาตาร์ไร้เสน่ห์กว่าทุกครั้ง?

ผมว่าต้องย้อนไปตอนที่เขาคัดเลือกเมืองที่จะจัดฟุตบอลโลก เพราะว่าจริงๆ แล้วมันก็ยังมีเรื่องของการโต้เถียงเยอะพอสมควร ในอดีต เวลาที่เขาจะประกาศว่าเมืองไหนได้เป็นเจ้าภาพ เขาจะประกาศแค่หนึ่งครั้ง อันนี้เหมือนกับประกาศทิ้งทวนของคณะกรรมการฟีฟ่ารุ่นเก่าหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจเท่าไร แต่ประกาศพร้อมกันเลย (สองครั้ง) ก็คือรัสเซีย 2018 กับกาตาร์ 2022

อยู่ดีๆ กาตาร์มันหลุดออกมาตรงนี้ มันก็ส่อให้เกิดความน่าสงสัยเหมือนกัน ว่าความพร้อมของประเทศนั้นๆ มันเหมาะสมขนาดไหนอย่างไร ภูมิอากาศเอยอะไรเอย

แล้วก็แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเกิดฟุตบอลโลกมาจัดในเมืองที่เคยจัด อย่างเช่น อังกฤษ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส บราซิล มันมีเสน่ห์เรื่องอื่นด้วย เป็นเมืองท่องเที่ยว จัดไปตามหัวเมืองต่างๆ เยอะแยะไปหมด กาตาร์เป็นประเทศที่เล็กมาก แต่ก็มีเสน่ห์ว่าสามารถดูแมตช์บ่ายสอง บ่ายห้า ทุ่มนึง สี่ทุ่ม ได้เลย 3-4 แมตช์ในวันเดียวกัน มันก็เป็นเสน่ห์อันหนึ่งเหมือนกัน

แต่ผมคิดว่าคราวนี้ในแง่ของเวลาที่มันจัด แล้วก็ประเทศที่เป็นเจ้าภาพเอง ถ้าให้ผมฟันธง ผมว่าเสน่ห์มันลดหายไปพอสมควร กระแสออกมา (จำนวนคน) ซื้อตั๋วฟุตบอลเป็นยังไง ตั๋วเหลือ ตั๋วขาด ตั๋วไม่พร้อม มันไม่ค่อยได้ยิน (อะไรแบบนี้ในฟุตบอลโลกครั้งก่อนๆ)

: มองในมุมนักธุรกิจ การที่ทีมชาติหนึ่งๆ ได้ไปฟุตบอลโลกหรือไปถึงแชมป์โลก ถอดรหัสออกมาเห็นอะไรบ้าง?

อย่างที่เคยพูดถึงเยอรมนี จริงๆ แล้วตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เยอรมนีเป็นตัวเต็งมาโดยตลอด โครงสร้างทางด้านฟุตบอลของเขาเอื้อให้เขาเป็นตัวเต็งตลอด ไม่ว่าจะเป็นลีกของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา เขาพร้อมมานาน

แต่ถ้าจะถามถึงบริบทของประเทศไทยมันแตกต่าง ไม่ใช่บอกอีก 4 ปีจะไปบอลโลก ไม่มีทาง ญี่ปุ่นผมได้ยินว่าเขาใช้เวลา 30 ปี จากปีที่ 1 ถึงปีที่ 30 ถึงจะได้ไปบอลโลก แล้วจากนั้น พอฐานเขาแน่น ฐานเขาแข็งแกร่ง ลีกเขาดี เขาก็ได้ไปเกือบตลอดทุกๆ หนที่ผ่านมา มันต้องวางแผนระยะยาวจริงๆ มันไม่ใช่ระยะสั้นขนาดนั้น

: ในมุมการบริหารระหว่างแข่งขัน ตรงเรื่อง “หน้างาน” เราเห็นเยอรมนีที่มีความละเอียด ทั้งการวางแผน เลือกที่พัก จนไปถึงแชมป์โลกได้

“หน้างาน” แต่เป็น “ปลายงาน” นะ (เป็น) “ปลายเหตุ” เพราะคุณต้องไปให้ได้ก่อน มันเป็นปลายเหตุ แต่ถ้าเกิดถามถึงปลายเหตุ จากที่ผมไปคุยกับหลายท่าน มันก็มีอะไรที่ชวนคิดเหมือนกัน อย่างเช่นนักกีฬาต้องเจาะเลือดด้วย ดูซิคุณขาดโปรตีนหรือเปล่า คุณกินเนื้อสัตว์น้อยไป-มากไป คุณขาดผัก คุณต้องกินผักเยอะๆ มีการชั่งน้ำหนักของอาหารแต่ละจาน

เมื่อกี๊คุยกับ “เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์” (กองกลางทีมชาติไทย) เจบอกเขา (สโมสรฟุตบอลอาชีพในเจลีกญี่ปุ่น) ดูตลอด อาหารของคุณ ไม่ใช่ “One Size Fits All” (นักฟุตบอลทุกคนไม่ได้กินอาหารเหมือนกัน-ด้วยปริมาณเดียวกันหมด)

เขาจะแยก คุณต้องกินอย่างนี้ คนนี้ต้องกินอย่างนี้ คือมันไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจจะกินอีกแบบหนึ่ง ผมอาจจะกินอีกแบบหนึ่ง (นี่) รายละเอียดหน้างานใช่ไหม

เรื่องการนอน เรื่องคุณภาพของเตียง ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปเช่าโรงแรม ก-ข-ค-ง เสร็จ แล้วนักกีฬาไปนอน มันก็ต้องมีคนไปทดสอบก่อนว่านอนเป็นยังไง รูดม่านเสร็จแล้วมีแสงเข้ามาหรือเปล่า การพักผ่อนอะไรพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด อุณหภูมิเป็นยังไง สนามซ้อม ระยะทางการเดินทางเป็นยังไง

ผมว่าอันนั้นมันเป็นรายละเอียดหน้างาน แต่เป็นปลายเหตุ คุณต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ก่อน ถ้าจะไปถึงตรงนั้น เป็นผมก็ไปจ้างผู้จัดการทีมมาดีๆ ที่เขามีประสบการณ์มาจากทั่วโลก มันก็หาได้ เราพร้อมหรือเปล่าที่เราจะลงรายละเอียดขนาดนั้น

ถ้าถึงจุดจุดนั้น ผมว่าทีมแชมป์กับรองแชมป์มันชนะกันด้วย พูดอย่างเว่อร์ๆ นะ ม่านที่โรงแรมคุณปิดมิดหรือไม่มิดใช่ไหม ที่นอนคุณนุ่มขนาดไหน นุ่มเกินไปหรือเปล่า นุ่มเกินไปสรีระเวลาไปนอนมันก็อาจจะไม่เอื้อเรื่องของการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เชฟก็ต้องมีเชฟประจำทีม

คือมันชนะในรายละเอียดแบบนิดเดียวเท่านั้น นิดเดียวจริงๆ นะครับ