ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Dalí Theatre-Museum (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Dalí Theatre-Museum

โรงละครแห่งความฝันสุดพิลึกพิลั่นของศิลปินเซอร์ตัวพ่อ (จบ)

 

ถ้าจะให้เล่าถึงงานทุกชิ้นใน Dalí Theatre-Museum หน้ากระดาษในคอลัมน์นี้คงไม่พอเขียน เอาเป็นว่าขอเล่าถึงผลงานบางชิ้นที่โดดเด่นโดนใจเราที่สุดก็แล้วกัน

เริ่มด้วยผลงานของดาลีที่เราเคยดูจากในหนังสือมานานแล้ว มาคราวนี้ถึงได้เห็นกับตาตัวเองจริงๆ อย่างภาพวาด Soft Self-Portrait with Fried Bacon (1941) และ Portrait of Pablo Picasso in the Twenty-first Century (1947) อันเป็นภาพพอร์ตเทรตของดาลีกับโคตะระศิลปินในดวงในของเขาอย่าง ปิกัสโซ

Soft Self-Portrait with Fried Bacon (1941)

ลักษณะเด่นของผลงานภาพวาดของดาลีคือการใช้เทคนิค วิธีจิตตาพาธ-วิพากษ์ (Paranoiac-critical method) หรือวิธีการนำเสนอภาพลวงตาและภาพหลอนของผู้ป่วยโรคจิตเภทออกมาอย่างน่าติดตาตรึงใจด้วยทักษะทางศิลปะอันเชี่ยวชาญ

พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เหมือนการให้จิตรกรฝีมือดีเข้าไปบันทึกภาพฝันร้ายฝันหลอนออกมาให้เห็นเป็นภาพอย่างสมจริงนั่นแหละ

ภาพนี้ดาลีวาดตัวเองให้ออกมาเหมือนเป็นชีสหลอมเหลววางตากอยู่เคียงข้างเบคอนทอด (บ่อยครั้งที่ดาลีได้แรงบันดาลใจจากอาหาร อย่างภาพวาดนาฬิกาเหลวอันลือลั่น The Persistence of Memory (1931) เขาก็ได้แรงบันดาลใจจากชีสกามองแบร์ละลายเหลว)

Portrait of Pablo Picasso in the Twenty-first Century (1947)

ส่วนภาพปิกัสโซ ดาลีวาดออกมาในเชิงบูชาปนเสียดสี ด้วยการวาดภาพให้ปิกัสโซเป็นเหมือนราชันย์แห่งโลกศิลปะ บนศีรษะสวมมงกุฎใบรอเรล สัญลักษณ์ของจักรพรรดิ ตามความเชื่อของกรีกโรมัน

ในขณะเดียวกันก็วาดภาพปิกัสโซให้เป็นเหมือนปีศาจผู้ทำลายศิลปะ (ด้วยความที่งานของปิกัสโซส่วนใหญ่เป็นการทำลายขนบเดิมๆ ของโลกศิลปะอย่างสิ้นเชิง)

ส่วนสมองของปิกัสโซในร่างอมนุษย์นั้นหรือ ก็ไหลย้อยทะลุท้ายทอยออกมาจากปากเป็นลิ้นรูปช้อนที่มี ลูต (Lute) เครื่องดนตรีโบราณของสเปนวางอยู่ในช้อน

ซึ่งเจ้าลูตที่ว่านี้นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความหมกมุ่นในความรักและกามารมณ์ อันเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของปิกัสโซนั่นเอง

ห้องรูปใบหน้าที่ตีความขึ้นจากภาพวาด Mae West’s Face (1934-35) ของดาลี

ต่อด้วยห้องแสดงงานห้องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือห้องที่จัดแสดงผลงานศิลปะจัดวางที่ตีความจากภาพวาด Mae West’s Face which May be Used as a Surrealist Apartment (1934-35) ที่ได้แรงบันดาลใจจากการอนุมานของซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ชื่อดัง (ที่ทฤษฎีของเขาส่งอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการของขบวนการเซอร์เรียลลิสม์) ที่ว่า “ภาพฝันถึงห้องนั้นเป็นตัวแทนของผู้หญิง”

ห้องรูปใบหน้าที่ตีความขึ้นจากภาพวาด Mae West’s Face (1934-35) ของดาลี

ดาลีจึงวาดภาพห้องอพาร์ตเมนต์สุดเซอร์เรียล ที่ประกอบขึ้นจากองคาพยพใบหน้าของ เมย์ เวสต์ เซ็กซ์ซิมโบลชื่อดังแห่งยุค 1920-1930 โดยใช้ดวงตาของเธอเป็นภาพวาดคู่ประดับผนัง จมูกเป็นปล่องไฟเตาผิง ริมฝีปากอันอวบอิ่มเป็นโซฟา คางกลมกลึงเป็นขั้นบันได และวิกผมบลอนด์สลวยของเธอเป็นผ้าม่านหน้าประตูห้อง อย่างสุดพิสดาร

ในปี 1974 ดาลี และ ออสการ์ ตูสเกซ บลังกา (Oscar Tusquets Blanca) สถาปนิกชาวสเปน ทำการตีความภาพวาดนี้ใหม่ โดยจำลองออกมาเป็นพื้นที่ของห้องจริงๆ ขึ้นมา โดยทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนที่ประกอบขึ้นจากอวัยวะบนใบหน้าของเมย์ เวสต์ อย่างภาพวาดดวงตา จมูกปล่องไฟเตาผิง และโซฟารูปริมฝีปากสีแดงสด ขั้นบันไดรูปคาง และผ้าม่านจากวิกผมสีบลอนด์วาววับจับตาขนาดมหึมา มุมหนึ่งบนเพดานยังประดับด้วยอ่างอาบน้ำและโต๊ะเครื่องแป้งอย่างน่ารักปนน่าพิศวง

ห้องรูปใบหน้าที่ตีความขึ้นจากภาพวาด Mae West’s Face (1934-35) ของดาลี

เมื่อเข้าไปภายใน ด้วยความใหญ่ของห้อง ทำให้เรายากจะเห็นภาพรวมที่ประกอบกันเป็นใบหน้าของเซ็กซ์ซิมโบลผู้นี้

แต่ความเก๋ไก๋ก็คือ มุมด้านหนึ่งของห้องมีขั้นบันไดให้เราเดินขึ้นไปส่องผ่านเลนส์ให้เห็นใบหน้าของเธอได้อย่างเต็มตา หรือถ่ายรูปกันได้อย่างเพลินใจ

ภาพวาดฝ้าเพดาน Wind Palace Ceiling (1972-1973)

อีกห้องที่เป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือห้องที่มีผลงานภาพวาดบนฝ้าเพดาน Wind Palace Ceiling (1972-1973) ภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบติดผ้าเพดาน ที่ดาลีได้แรงบันดาลใจจากบทกวีชื่อ L’Empordà ของกวีชาวสเปน Joan Maragall ที่พูดถึงภูมิภาค Empordà ในสเปน และสายลมเหนือ ใจกลางภาพเป็นมุมมองจากเบื้องล่างเห็นเท้าของดาลีกับกาล่า ภรรยาและเทพธิดาบันดาลใจของเขายืนตระหง่านอยู่ด้านบนเหมือนกำลังเหยียบอยู่บนห้องนี้ยังไงยังงั้น

ภาพวาดนี้เป็นเหมือนอุปมานิทัศน์ (หรือการเล่าเรื่องในเชิงสัญลักษณ์เปรียบเทียบ) ของเส้นทางอันหลากหลายในชีวิตของดาลี โดยถูกนำเสนอในบรรยากาศเหมือนความฝันพิสดาร อันเป็นลักษณะเด่นในเทคนิควิธีจิตตาพาธ-วิพากษ์ของเขา

ภาพวาดฝ้าเพดาน Wind Palace Ceiling (1972-1973)

ในภาพแสดงตัวดาลีและกาล่าที่กำลังเฝ้ารอเรือแห่งโชคชะตา กำลังลอยลำออกไปสู่มหาสมุทรแห่งความฝันที่อยู่เบื้องบน ใจกลางภาพ ท่ามกลางสายฝนสีทองร่วงหล่นลงจากฟากฟ้าเป็นเหรียญทอง รวมถึงกงล้อแห่งโชคชะตา ช้างประหลาดที่มีขายาวยืดเหมือนแมลง รูปเงาเจ้าหญิงและเจ้าชายที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์และราชินีแห่งสเปนในช่วงเวลานั้น และรูปเงาของ เมลิโต กาซาลซ์ (Melitó Casals) หรือ “เมลี” ศิลปินภาพถ่ายชาวสเปน ผู้เป็นเพื่อนสนิทของดาลีที่ร่วมงานกับเขามาอย่างยาวนาน

Bust of Velésquez Metamorphosing into Three Conversant Figures (1974)
Bust of Velésquez Metamorphosing into Three Conversant Figures (1974)

นอกจากภาพวาดบนฝ้าเพดานแล้ว ในห้องยังมีผลงานศิลปะสุดพิสดารเหนือจริงหลากหลายชิ้น ที่โดดเด่นเตะตาจนอดพูดถึงไม่ได้ ก็คือผลงานประติมากรรม Bust of Velásquez Metamorphosing into Three Conversant Figures (1974) รูปหล่อบรอนซ์ของ ดิเอโก เบลาสเกซ ศิลปินคนสำคัญ ผู้เปรียบเสมือนพ่อศิลปินสเปนทุกสถาบัน (ดาลีเองก็หลงใหลบูชาในตัวศิลปินผู้นี้จนถึงกับไว้หนวดโง้งเรียวยาวชี้ชูชันเลียนแบบเบลาสเกซจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาไปตลอดชีวิต)

สิ่งที่พิเศษอย่างมากก็คือ บนใบหน้าของรูปหล่อบรอนซ์ที่ว่านี้ ดาลีวาดภาพที่หลอมรวมผลงานของเบลาสเกซประกอบกันเป็นองคาพยพบนใบหน้า รวมถึงผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง Las Meninas (1957) อีกด้วย

นิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dalí
นิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dalí

ไฮไลต์อีกอย่างของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะผู้รักงานวรรณกรรม ก็คือส่วนของนิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dal? ที่จัดแสดงผลงานภาพประกอบที่ดาลีวาดให้หนังสือ Divine Comedy (1825-1827) กวีนิพนธ์เรื่องยิ่งใหญ่ของ ดังเต อาลีกีเอรี (Dante Alighieri) ที่เล่าเรื่องราวของตัวเขาเอง เดินทางเยี่ยมเยือนดินแดนหลังความตามสามแห่งอย่าง “นรก” (Inferno) “แดนชำระ” (Purgatorio) และ “สวรรค์” (Paradiso)

นิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dalí
นิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dalí

มีศิลปินระดับตำนานหลายคนวาดภาพประกอบและตีความบทกวีชิ้นนี้เป็นงานศิลปะ

ดาลีเองก็เป็นศิลปินอีกคนที่ถูกจ้างโดยสถาบัน Polygraphic แห่งรัฐบาลอิตาลี ให้มาวาดภาพประกอบหนังสือเล่มนี้ในปี 1950

นิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dalí
นิทรรศการ The Divine Comedy by Dante Alighieri illustrated by Salvador Dalí

แต่น่าเสียดายที่เมื่อวาดเสร็จ สัญญาว่าจ้างกลับถูกยกเลิกโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้หนังสือไม่ถูกพิมพ์ออกมา แต่หลังจากในนั้น ในระหว่างปี 1959 และปี 1963 ภาพประกอบสีน้ำจำนวน 100 ชิ้นที่ Dalí วาดชุดนี้ ก็ถูกตีพิมพ์ออกมาในจำนวนจำกัดโดยสำนักพิมพ์ในฝรั่งเศส

ดาลีซึ่งคุ้นเคยกับ Divine Comedy ตั้งแต่เด็กๆ ลงมือวาดภาพประกอบหนังสือเล่มนี้ในระหว่างที่เขาลี้ภัยการเมืองไปอยู่สหรัฐอเมริกา เขาตีความภาพนี้ออกมาในสไตล์เซอร์เรียลลิสต์อันน่าพิศวง หลอนหลอก เหนือจริง ที่พูดได้เลยว่า พิสดาร พันลึก และโคตรเข้ากั๊นเข้ากันกับเรื่องราวการท่องนรกสวรรค์ของดังเตอย่างน่าทึ่ง (นิทรรศการนี้จบไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา)

จี้ห้อยคอทองคำ “Avida Dollars”

ไฮไลต์ส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือห้องจัดแสดงผลงานออกแบบเครื่องประดับสไตล์เซอร์เรียลลิสต์ของดาลี อันสวยงาม เลอค่า น่าพิศวง หากผลงานชิ้นหนึ่งที่แสบสันต์ที่สุดก็เห็นจะเป็นจี้ห้อยคอทองคำรูปตัวหนังสือคำว่า “Avida Dollars” (ไอ้คนเห็นแก่เงิน) อันเป็นฉายาที่ อองเดร เบรอตง (André Breton) เจ้าลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ตั้งให้ดาลี ก่อนที่จะขับไล่เขาออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งดาลีก็หาได้แยแสแคร์ไม่ แถมยังเอาฉายานี้มาทำเป็นจี้ทองคำห้อยคอเสียด้วยซ้ำไป!

หลุมฝังศพของ ซัลบาดอร์ ดาลี

ที่สำคัญที่สุด พื้นที่ใจกลางพิพิธภัณฑ์ ใกล้กับห้องแสดงเครื่องประดับแห่งนี้ ยังเป็นที่ตั้งของหลุมฝังศพของ ซัลบาดอร์ ดาลี อีกด้วย มิตรรักแฟนศิลปะผู้หลงใหลผลงานของศิลปินเซอร์โคตรพ่อผู้นี้ ก็ไม่ควรพลาดที่จะหาโอกาสเยี่ยมเยือนเพื่อเคารพศพของเขาที่นี่อย่างยิ่ง

พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum ตั้งอยู่ในเมืองฟิเกรัส จังหวัดฌิโรนา แคว้นกาตาลุญญา, เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10:30-18:00 น. ปิดทำการวันจันทร์ (ยกเว้นในเดือนกรกฎาคม, สิงหาคม และกันยายน) และปิดทำการในวันที่ 25 ธันวาคม และ 1 มกราคม, เปิดทำการรอบกลางคืนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-31 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 20:00-01:00 น. (จองล่วงหน้า), สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 19 ยูโร (เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี เข้าชมฟรี)

ดูรายละเอียดและจองตั๋วเข้าชมได้ที่ https://www.salvador-dali.org/

พิเศษ! MIC WALKING TRIP #08 เที่ยววัดชมศิลปะระดับโลก

เมื่อ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ชื่อดังในมติชนสุดสัปดาห์ ผู้เล่าเรื่องศิลปะได้น่าฟังที่สุดในปัจจุบัน

และ ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัดและโบราณสถาน จับมือพากันไปเที่ยวในวัดสำคัญย่านบางกอก พร้อมชมงานศิลปะระดับโลก

ทำความเข้าใจประวัติวัดและความสำคัญจากอดีตจนถึงปัจจุบันของ 2 วัดดังในย่านบางกอก-ธนบุรี และอาคารประวัติศาสตร์มิวเซียมสยาม

พร้อมฟังที่มาที่ไปของผลงานศิลปินระดับโลก ที่นำผลงานมาจัดแสดงใน BAB 2022

 

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 13.00 -17.00 น.

พบกันที่หน้าพระอุโบสถวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 

เพียงท่านละ 700 บาทเท่านั้น!*

*ราคาดังกล่าวรวมค่าบริการรถตู้ส่งระหว่างวัดประยุรฯถึงวัดโพธิ์

 

สนใจสำรองที่นั่งที่ LINE โดยคลิก line.me/ti/p/zM-t9v3Y9w

หรือค้นหาด้วย LINE ID : MatichonMIC

สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ : คุณหญิง โทร. 092-246-4140

 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Dalí Theatre-Museum