ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Dalí Theatre-Museum

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : Dalí Theatre-Museum

โรงละครแห่งความฝันสุดพิลึกพิลั่นของศิลปินเซอร์ตัวพ่อ (1)

 

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน ตอนนี้เลยขอต่อเนื่องด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของศิลปินในดวงใจอีกคน ที่เราตั้งหน้าตั้งตารอคอยมาชมผลงานของเขาด้วยใจจดจ่อตั้งแต่ก้าวเท้าเหยียบประเทศนี้

ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ที่เราตั้งฉายาให้เขาว่า “เซอร์ตัวพ่อ” ศิลปินชาวสเปนผู้ยิ่งใหญ่ แปลกประหลาด พิลึกพิลั่น

บางคนเรียกเขาว่าเป็นนักต้มตุ๋นแหกตา บางคนบอกว่าเขาวิปริต เป็นไอ้บ้า จอมเพี้ยน

แต่เขาก็เป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวเองชั้นยอดและเป็นศิลปินที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งบนโลกใบนี้

พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum

พิพิธภัณฑ์ที่เรากำลังจะไปเยี่ยมชมในตอนนี้มีชื่อว่า Dalí Theatre-Museum ก่อนอื่นก็ขอเกริ่นถึงประวัติเสียก่อนว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1974 บนซากของอาคารโรงละครเทศบาลเก่าในศตวรรษที่ 19 ของเมืองฟิเกรัส ในจังหวัดฌิโรนา แคว้นกาตาลุญญา ที่ถูกทำลายจนมอดไหม้วอดวายในช่วงปลายสงครามกลางเมืองสเปนในปี 1939

ดาลีกล่าวว่า เหตุผลที่เขาเลือกใช้โรงละครเก่าแห่งนี้มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของเขานั้นมีสามประการ

เหตุผลแรกคือ เพราะเขาเข้าพิธีศีลล้างบาปเป็นครั้งแรกที่โบสถ์แห่งนักบุญปีเตอร์ที่อยู่ใกล้กับโรงละครแห่งนี้

เหตุผลที่สองคือ เพราะพ่อของเขาจัดนิทรรศการแสดงศิลปะครั้งแรกให้เขาตอนอายุ 14 ในล็อบบี้ของโรงละครแห่งนี้

เหตุผลสุดท้ายคือ เพราะเขาเป็นศิลปินที่ทำงานในรูปแบบคล้ายกับมหรสพหรือการละคร แถมยังเป็นศิลปินที่สร้างตัวละครที่โด่งดังระดับโลกให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด

“ผมต้องการให้พิพิธภัณฑ์ของผมเป็นพื้นที่อันโดดเด่นเป็นเอก, ซับซ้อนราวกับเขาวงกต, เป็นวัตถุเหนือจริงที่ยิ่งใหญ่ มันจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งมหรสพโดยสิ้นเชิง เพื่อทำให้ผู้ที่เข้ามาชมสัมผัสกับความรู้สึกราวกับตกอยู่ในละครแห่งความฝัน”

พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum

จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากการที่ รามอน กวาดิโอลา (Ramón Guardiola) นายกเทศมนตรีของเมืองฟิเกรัสในช่วงเวลานั้น เอ่ยปากขอให้ดาลีบริจาคผลงานของเขาให้พิพิธภัณฑ์อีกแห่งในเมือง แต่ดาลีตอบกลับมาโดยทันใดว่า เขาจะไม่บริจาคผลงานของเขาให้ แต่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ของเขาขึ้นในเมืองแห่งนี้ให้เลย!

พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum เปรียบเสมือนศิลปวัตถุสุดเซอร์อันยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นสุดท้ายของดาลี

ทุกสิ่งอันของพิพิธภัณฑ์นี้ถูกออกแบบและคิดริเริ่มโดยตัวดาลีเอง

สิ่งละอันพันละน้อยภายในพิพิธภัณฑ์ถูกจัดแสดงอย่างอิสระเสรี โดยไม่มีการเรียงลำดับหรือการจัดระบบแต่อย่างใด

ภายในพิพิธภัณฑ์ หรืออันที่จริง โรงละครแห่งความฝันอันสุดพิลึกพิลั่นของศิลปินผู้นี้ ดาลีบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิต, ความคิด และผลงานของเขา ให้ผู้ชมอย่างเราได้สัมผัสอย่างเต็มอิ่ม

พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum

แค่เดินมาถึงด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ เราก็ตื่นตาตื่นใจกับตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ดูคล้ายกับปราสาทในนิทานแฟนตาซี ผนังด้านนอกของอาคารประดับด้วยปูนปั้นรูปขนมปัง ราวกับอยู่ในนิทานฮันเซลกับเกรเทล

บนยอดอาคารประดับด้วยประติมากรรมรูปไข่ขนาดยักษ์จำนวนมาก บนลานรอบๆ พิพิธภัณฑ์ ประดับด้วยประติมากรรมสไตล์เซอร์เรียลของดาลีอยู่รายรอบ

ส่วนห้องโถงกลางของพิพิธภัณฑ์

ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยพื้นที่สองส่วน

ส่วนแรกคือโถงกลางของพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นจากซากโรงละครเก่า ภายใต้การออกแบบของตัวดาลีเอง ด้านบนของห้องเป็นช่องแสงทรงโดมอันน่าตื่นตา ภายในจัดแสดงผลงานอันสุดพิลึกพิลั่นของดาลี ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดเหนือจริงขนาดมหึมาประดับด้วยม่านคล้ายกับฉากของโรงละคร

ส่วนห้องโถงกลางของพิพิธภัณฑ์

หรือภาพวาด Gala Nude Looking at the Sea Which at 18 Metres Appears the President Lincoln (1975) อันโด่งดัง ที่เป็นรูป กาลา (Gala) ภรรยาสุดที่รัก ผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดของดาลี กำลังเปลือยกายหันหลังมองทิวทัศน์ท้องทะเลจากหน้าต่างที่กำลังแตกเป็นพิกเซลราวกับภาพดิจิทัล

Gala Nude Looking at the Sea Which at 18 Metres Appears the President Lincoln (1975)

เมื่อมองภาพนี้ในระยะไกล (เขาว่าประมาณ 18 เมตร) เราจะเห็นเป็นภาพใบหน้าของอับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ได้ยังไงก็ไม่รู้!

รวมถึงงานประติมากรรมสุดพิสดารมากมาย หรือแม้แต่งานศิลปะในรูปของตุ๊กตากลไก ที่เมื่อหยอดเหรียญลงไปแล้วก็จะเคลื่อนไหวให้ชมเป็นขวัญตา ราวกับเป็นสวนสนุกของศิลปินสติเฟื่องยังไงยังงั้น!

Self-Portrait with “L’Humanit? (1923) ผลงานในยุคที่ได้แรงบันดาลใจจากศิลปะคิวบิสม์ของดาลี

ส่วนที่สองเป็นส่วนของห้องแสดงงานที่ต่อขยายจากตัวอาคารโรงละครเดิม ที่จัดแสดงผลงานที่เผยให้เห็นเส้นทางในการทำงานในแต่ละยุคสมัยแห่งการสร้างสรรค์ของดาลี

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของเขาในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism), ฟิวเจอริสม์ (Futurism), คิวบิสม์ (Cubism), นิวเคลียร์ มิสติซิสม์ (Nuclear Mysticism – สไตล์การทำงานศิลปะเฉพาะตัวของดาลีที่หลอมรวมทฤษฎีต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างฟิสิกส์ควอนตัมเข้ากับจิตสำนึกของเขา) และผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา ทั้งงานจิตรกรรม ภาดวาดลายเส้น ประติมากรรม ฉากละครต่างๆ กว่า 1,500 ชิ้น

Barcelona Mannequin (1926) ผลงานของดาลีที่ผสานศิลปะคิวบิสม์เข้ากับเซอร์เรียลลิสม์ได้อย่างแนบเนียน

ทั้งหมดถูกจัดแสดงอยู่ภายใต้บรรยากาศอันสุดแสนพิสดารที่กำหนดขึ้นตามรสนิยมของศิลปินสติเฟื่องอย่างดาลี

ภายในพื้นที่เหล่านี้ ผู้ชมจะได้เข้าไปสำรวจวิวัฒนาการทั้งชีวิต และเรื่องราวของเขาในประติศาสตร์ศิลปะ รวมถึงได้เป็นประจักษ์พยานผลงานศิลปะของศิลปินเซอร์ตัวพ่อผู้นี้ ที่สร้างผลงานอันเปี่ยมสีสันพิลึกพิลั่นโดดเด่นทั้งในศตวรรษที่ 20 ไปจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 21

Rhinocerotic Figure of Phidias’s Illisos (1954) ผลงานของดาลีในช่วงนิวเคลียร์ มิสติซิสม์ ที่ใช้นอแรดเป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศชาย

ดาลีตั้งใจสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม และกระตุ้นให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจและฉงนฉงายไปกับมหรสพแห่งความฝันอันแปลกประหลาด ราวกับดาลีกำลังเชิญชวนให้พวกเราก้าวเข้าไปในมันสมองหรือจักรวาลส่วนตัวของเขา ที่เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดพิสดารพันลึก

Galatea of the Spheres (1952) ผลงานของดาลีในช่วงนิวเคลียร์ มิสติซิสม์ รูปกาลา ภรรยาสุดที่รักของดาลี

ราวกับเรากำลังจมดิ่งเข้าไปในห้วงมหาสมุทรแห่งจิตไร้สำนึกของเขา และกระตุ้นให้ผู้ชมอย่างเราตีความปริศนาอันน่าฉงนที่เขาซุกซ่อนอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์

ลานเปิดโล่งทรงกลมกลางพิพิธภัณฑ์และซุ้มหน้าต่างประดับด้วยประติมากรรมรูปสตรีสีทอง

ที่ตื่นตาตื่นใจเราอีกอย่างคือลานเปิดโล่งทรงกลมกลางพิพิธภัณฑ์ ด้านบนเปิดให้เห็นท้องฟ้าใสกระจ่างตา รอบๆ ลานรายล้อมด้วยซุ้มหน้าต่างประดับด้วยประติมากรรมรูปสตรีสีทองหลายนาง

ลานเปิดโล่งทรงกลมกลางพิพิธภัณฑ์และซุ้มหน้าต่างประดับด้วยประติมากรรมรูปสตรีสีทอง
Rainy Taxi (1938)

ตรงกลางมีผลงานศิลปะจัดวาง Rainy Taxi (1938) หรือ Mannequin Rotting in a Taxi-Cab (หุ่นโชว์นั่งเน่าอยู่ในแท็กซี่) ที่ประกอบด้วยรถคาดิลแล็กรุ่นเก๋า (เขาว่าเป็นรุ่นเดียวกับรถของอัลคาโปน อดีตเจ้าพ่อมาเฟียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอเมริกา) กระจกหน้าต่างด้านขวาของคนขับแตกเป็นรูให้เราสอดส่องเข้าไปภายในเห็นหุ่นคนขับรถและผู้โดยสารสุดเซอร์ ร่างกายพันด้วยเถาไม้เลื้อย

ประติมากรรมรูปเสาสูงที่มีปลายยอดเป็นเรือคว่ำกลับหัว

เมื่อหยอดเหรียญตรงช่องด้านหน้างาน จะมีฝนตกภายในรถให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ด้านหน้ารถมีประติมากรรมรูปราชินีเอสเธอร์ ผลงานของประติมากรชาวออสเตรีย แอร์นส์ ฟุกส์ (Ernst Fuchs) ยืนเด่นเป็นสง่า ด้านหลังรถเป็นประติมากรรมรูปเสาสูงที่มีปลายยอดเป็นเรือคว่ำกลับหัว ภายในเรือมีถุงยางจำลองสีน้ำเงิน (นัยว่าเป็นสัญลักษณ์ของน้ำตา) ห้อยโทงเทงอยู่หลายพวง

ประติมากรรมเรือคว่ำกลับหัวที่มีถุงยางจำลองสีน้ำเงินห้อยโทงเทงอยู่

พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum ตั้งอยู่ในเมืองฟิเกรัส จังหวัดฌิโรนา แคว้นกาตาลุญญา, เปิดทำการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10:30-18:00 น. ปิดทำการวันจันทร์ (ยกเว้นในเดือนกรกฎาคม, สิงหาคม และกันยายน) และปิดทำการในวันที่ 25 ธันวาคม และ 1 มกราคม, เปิดทำการรอบกลางคืนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-31 สิงหาคม ตั้งแต่เวลา 20:00-01:00 น. (จองล่วงหน้า)

สนนราคาค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 19 ยูโร (เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี เข้าชมฟรี)

ดูรายละเอียดและจองตั๋วเข้าชมได้ที่ https://www.salvador-dali.org/ 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์