ระเบิด ‘อิสตันบูล’ ก่อการร้ายที่ไม่สิ้นสุดในตุรเคีย

ช่วงเย็นวันที่ 13 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่นในตุรเคีย มีรายงานเกิดเหตุระเบิดขึ้นบนถนนอิสติลาล หรือถนนอิสรภาพ ใกล้กับจัตุรัสทักซิม แหล่งช้อปปิ้งที่พลุกพล่านที่สุดในนครอิสตันบูล เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศตุรเคีย มีรายงานผู้เสียชีวิตเบื้องต้นอยู่ที่ 6 ราย และบาดเจ็บอีกเกือบร้อย ก่อนที่ยอดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรเคีย ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมประชุมจี 20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ถึงกับต้องขอเดินทางกลับประเทศในทันที พร้อมกับคณะ เพื่อดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยแอร์โดอานประกาศว่า จะต้องนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมารับโทษ และประณามการโจมตีอันชั่วร้าย และว่าได้กลิ่นอายของการก่อการร้ายอยู่ในอากาศ

ส่วนฟูอัต อ็อกทาย รองประธานาธิบดีตุรเคีย กล่าวว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ถือเป็นการก่อการร้าย!

(Photo by Yasin AKGUL / AFP)

หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป 1 วัน นายสุไลมาน ซอยลู รัฐมนตรีมหาดไทยของตุรเคีย ออกมาระบุว่า พรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน หรือพีเคเค และกลุ่มวายพีจี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อการร้ายครั้งนี้ และมีการจับกุมตัวผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้วางระเบิดได้แล้ว เป็นชาวซีเรีย ที่เชื่อว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มพีเคเค

โดยผู้หญิงคนนี้ถูกกล้องจับได้ว่า นั่งอยู่ที่เก้าอี้บนถนนบริเวณที่เกิดระเบิดอยู่นานกว่า 40 นาที และหลังจากเธอลุกขึ้นไม่กี่นาที ก็เกิดระเบิดขึ้น

กลุ่มพีเคเคเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของชาวเคิร์ด ที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของตุรเคีย และต้องการจะก่อตั้งรัฐของตัวเองขึ้นมา มีประวัติก่อเหตุรุนแรงในตุรเคียมายาวนาน

โดยรัฐบาลตุรเคียและชาติพันธมิตรตะวันตกของตุรเคีย จัดให้กลุ่มพีเคเคเป็นกลุ่มก่อการร้าย และก่อความไม่สงบในตุรเคียมานานหลายสิบปี

ในอดีตที่ผ่านมา ตุรเคียถูกโจมตีด้วยระเบิดรุนแรงหลายครั้ง ระหว่างปี 2558-2560 โดยกลุ่มชาวเคิร์ด กลุ่มกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) และพวกฝ่ายซ้าย ขณะที่กลุ่มแยกย่อยของพีเคเคได้ออกมากล่าวอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด 2 ครั้ง นอกสนามฟุตบอลอิสตันบูล เมื่อเดือนธันวาคม 2016 ที่ทำให้มีผู้เสยีชีวิต 38 ราย และบาดเจ็บ 155 คน

โดยรัฐบาลตุรเคียระบุว่า กลุ่ม “วายพีจี” ที่รัฐบาลสหรัฐคอยให้การสนับสนุนอยู่ในซีเรีย ก็คือกลุ่มแยกย่อยของกลุ่มพีเคเคนั่นเอง และรัฐบาลตุรเคียได้ปฏิบัติการบุกโจมตีตอนเหนือของซีเรีย เพื่อจัดการกับกลุ่มวายพีจี เมื่อช่วงปลายปี 2019 และยึดดินแดนกินพื้นที่หลายร้อยกิโลเมตรเอาไว้

และนายแอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรเคียเองก็บอกว่า ปีนี้ตุรเคียจะพุ่งเป้าจัดการกับกลุ่มวายพีจีให้ได้

ทั้งนี้ กลุ่มพีเคเคได้เคยก่อความไม่สงบในตุรเคียมาตั้งแต่ปี 1984 และมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากการก่อความไม่สงบนี้มากถึงกว่า 40,000 คน

โดยกลุ่มพีเคเค ถูกตุรเคีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ระบุว่าเป็น “องค์การก่อการร้าย”

Police members work near the bodies of unidentified people after an explosion on busy pedestrian Istiklal street in Istanbul, Turkey, November 13, 2022. REUTERS/Kemal Aslan

เรื่องของพีเคเค เป็นเหตุผลหลักที่ตุรเคียคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ของสวีเดน และฟินแลนด์ โดยตุรเคียอ้างว่า สองประเทศมีความสัมพันธ์กับกลุ่มพีเคเค และกลุ่มต่อต้านตุรเคียอื่นๆ

ตุรเคียยังได้กล่าวหาสวีเดนและฟินแลนด์ด้วยว่า ให้ที่พักพิงแก่สมาชิกขบวนการกูเล ที่รัฐบาลตุรเคียอ้างว่า อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพีเคเคได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด และว่า เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า กลุ่มพีเคเคจะไม่พุ่งเป้าโจมตีไปที่พลเรือนโดยตรงอย่างแน่นอน และจะไม่อนุมัติให้มีปฏิบัติการใดๆ กับพลเรือนอย่างแน่นอน

และตอนนี้ ก็ยังไม่มีใครออกมากล่าวอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีครั้งนี้แต่อย่างใด