เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (4) แกะรอยปริศนาเกศโมลี เมืองเชียงแสน (จบ)

เมื่อข่าวเรื่อง “พระเกศโมลี” (กรมศิลปากรเรียกว่า “พระรัศมีพระเจ้าล้านตื้อ”) อันเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุด ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน กระพือโหมสู่วงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ความเชื่อเรื่องที่ว่าจะต้องมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่จมอยู่ในลำน้ำโขงใกล้เกาะดอนแท่น ก็ได้รับการตอกย้ำว่าเป็นเรื่องจริงมากยิ่งขึ้น

ดังเช่น ครอบครัวของเพียสมบูรณ์ (เพีย = พญา ภาษาลาว) ชาวลาวจากหลวงพระบาง ซึ่งอพยพมาอยู่เชียงแสน ได้สร้างพระพุทธรูปขนาดมหึมาขึ้นมา 1 องค์ ทำพิธีอัญเชิญหัวใจพระเจ้าในแม่น้ำโขงมาบรรจุไว้ในพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ ประดิษฐานไว้ที่บริเวณบ่อน้ำทิพย์ วัดพระธาตุจอมกิตติ เรียกว่า หลวงพ่อพระพุทธโยนก มิ่งมงคลเชียงแสน เพื่อรำลึกถึงองค์พระพุทธรูปที่จมลงในแม่น้ำโขงนั้น

ตามมาด้วยการจัดสร้าง พระพุทธนวล้านตื้อ หรือพระเชียงแสนสี่แผ่นดินมีขนาดหน้าตักกว้าง 9.99 เมตร สูง 15เมตร ประดิษฐาน ณ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ.2547 โดยกระทรวงมหาดไทย คณะสงฆ์ และจังหวัดเชียงราย

ทั้งๆ ที่คำว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” ไม่เคยปรากฏในเอกสารใดๆ ทั้งจารึกพับสาและใบลาน ด้วยเป็นการคิดค้นขึ้นใหม่โดยอิงเรื่องเล่าตามจินตนาการว่าองค์พระต้องใหญ่มากเหลือจะนับได้

 

ที่มาเรื่องเกศโมลีไม่ตรงกัน

ในขณะที่ประวัติความเป็นมาของพระเกศโมลีนี้ ก็มีผู้กล่าวไว้หลายแนวทาง อาทิ พบที่พงป่ารกใกล้วัดเจดีย์หลวง (ในเชียงแสน) พระพุทธิสารเวที (แฮด เทววํโส) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดมุงเมือง จังหวัดเชียงรายสืบมา

บ้างก็ว่า พบในลำน้ำโขงเมื่อราว 100 ปีที่แล้ว จึงนำไปไว้ที่วัดร้างบริเวณหลังตลาด ท้ายที่สุดนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดปงสนุกในอำเภอเชียงแสน และวัดมุงเมืองในอำเภอเมือง ตามลำดับ

และยังมีเรื่องที่ว่า ทหารประจำการอยู่ที่อำเภอเชียงแสนได้พบในลำน้ำโขงช่วยกันหามขึ้นมากลางเกาะ เอาเรือหลายลำมาทำเป็นแพ แล้วจึงยกข้ามท่าเรือมา

อภิชิต ศิริชัย จึงเห็นว่าการแกะรอย “พระเกศโมลี” นั้น เราไม่อาจใช้ชุดความรู้เดิมๆ ที่เล่ากันมาหลายเวอร์ชั่นนี้ได้เลยเพราะไม่ต้องตรงกันแม้แต่น้อย คือต่างขัดแย้งกันเอง

จึงเสนอว่าควรใช้หลักฐานด้านภาพถ่ายเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาอธิบายเรื่องนี้ประกอบกัน น่าจะได้คำตอบที่แน่นอนกว่า

 

ภาพฟ้องว่าเชียงรายหาใช่เชียงแสน

ภาพดังกล่าว เราเห็นเกศโมลีจอมปริศนาวางอยู่ซ้ายมือสุดปะปนกับกลุ่มพระพุทธรูป มีคำบรรยายใต้ภาพว่า “พระพุทธรูปวัดงาม เชียงราย” หมายถึงวัดงามเมือง (ปัจจุบันเพี้ยนเป็นวัดงำเมือง) ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

โบราณวัตถุเหล่านี้ ถูกขนย้ายมาจากที่ใดบ้างมิอาจทราบ แต่กำลังจะถูกลำเลียงไปไว้ที่ระเบียงคตพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อตั้งแสดงให้ประชาชนได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของพุทธศิลปะในสยามประเทศ ที่ได้มาจากหัวเมืองต่างๆ

การรวบรวมพระพุทธรูปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้น ทรงโปรดให้พระครูมงคลวิจิตร (เปี่ยม) วัดจักรวรรดิราชาวาส ผู้เป็นช่างหล่อพระพุทธรูปฝีมือดี ไปเสาะหาพระพุทธรูปหลายองค์ที่เชียงแสน แล้วให้อัญเชิญโดยทางเรือตามลำน้ำโขง เข้าแม่น้ำกก ขึ้นบกที่เชียงราย หามข้ามเขาลงที่พะเยา ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 1 กรกฎาคม 2443

เกศโมลีที่พบในภาพถ่ายเก่านี้ ไม่ระบุปีศักราชที่ถ่าย แต่สันนิษฐานว่าอย่างน้อยที่สุด ต้องถ่ายก่อนจะมีการขนย้ายพระพุทธรูปองค์งามๆ ไปถึงสยามแล้ว แสดงว่าเกศโมลีเคยปรากฏที่วัดงามเมือง เชียงรายมาอย่างน้อยก่อนปี พ.ศ.2443

และเชื่อว่าเกศโมลีนี้คงอยู่ที่วัดงามเมืองตลอดมา (ไม่ได้ถูกนำไปกรุงเทพฯ ด้วย อาจเป็นเพราะชิ้นส่วนไม่สมบูรณ์) จนกระทั่งปี พ.ศ.2476 พระพุทธิสารเวที ได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดมุงเมือง เชียงราย

ต่อมามีชาวต่างชาติได้มาพบและเห็นว่าเป็นโบราณวัตถุขนาดใหญที่มีความสำคัญมาก ทำให้พระพุทธิสารเวทีเริ่มตระหนักตาม จึงนำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน ปี พ.ศ.2500

อภิชิต ศิริชัย จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เกศโมลีชิ้นนี้ (ไม่ทราบว่าเดิมเคยอยู่ที่ไหน) แต่อย่างน้อยที่สุด ระหว่างปี พ.ศ.2443-2500 เกศโมลีเคยอยู่ที่เมืองเชียงรายมาโดยตลอด

ซึ่งขัดแย้งกับเรื่องเล่าที่ชาวอำเภอเชียงแสนบอกว่าพบหรืองมได้ในลำน้ำโขงเมื่อปี พ.ศ.2479 หรือ 2482

 

เมื่อเกศโมลีสวมพระแสนแสว้

อย่างไรก็ดี แม้ประวัติความเป็นมาของเกศโมลีชิ้นนี้ยังคงมีความคลุมเครือ แต่อภิชิตได้ทดลองสร้างโมเดลจำลอง โดยการนำเกศโมลีมาปะติดปะต่อ (ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์) กับเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่องค์หนึ่ง เรียกว่า “พระเจ้าแสนแสว้” ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่

ชิ้นหนึ่งพบแต่พระรัศมี อีกชิ้นพบแต่พระเศียร ไม่มีเกศโมลี ไม่พบส่วนพระวรกายทั้งคู่ แต่ทั้งคู่ก็มีขนาดใหญ่โตมหึมาพอฟัดพอเหวี่ยงกันอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอดีตอาจมีงานเฉลิมฉลองอะไรครั้งยิ่งใหญ่ กษัตริย์ล้านนาจึงโปรดให้เมืองสำคัญต่างๆ หล่อชิ้นส่วนพระพุทธรูปกันคนละแห่ง เพื่อนำมาสวมประกอบเข้าด้วยกัน แต่ยังไม่ทันได้เฉลิมฉลองก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน ทำให้ชิ้นส่วนกระจัดกระจายตามเมืองต่างๆ

เช่น อาจมอบหมายให้เชียงใหม่หล่อส่วนพระเศียร เชียงราย (หรือเชียงแสน) หล่อส่วนพระรัศมี และพระวรกายอาจเป็นลำพูน หรือเมืองใดเมืองหนึ่ง นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเพื่อเพิ่มสีสันและเปิดโลกแห่งจินตนาการ

 

ความเหลื่อมซ้อนของเรื่องเล่า
กับการตามหาเกาะดอนแท่น

ฉัตรลดา สินธุสอน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ได้รับเชิญมาให้เป็นผู้วิพากษ์หัวข้อนี้ เนื่องจากเธอเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสนมาก่อน

ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาเจาะลึกเรื่อง “รัศมีพระเจ้าล้านตื้อ” มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จึงน่าจะมีองค์ความรู้เรื่องนี้ดีที่สุดคนหนึ่ง

ฉัตรลดา อธิบายว่า การที่กรมศิลปากรเคยจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “รัศมีพระเจ้าล้านตื้อ” เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนนั้น ก็เพราะทางสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงแสน มีความประสงค์จะรวบรวมเรื่องเล่ามุขปาฐะทั้งหมดของทุกคนทุกกลุ่ม ที่อยากมีส่วนร่วมบันทึกข้อมูลต่อพระเกศโมลีชิ้นนี้ในฐานะประชากรเชียงแสน

กรมศิลปากรจึงให้ความร่วมมือในการเรียบเรียงและจัดพิมพ์ แต่ก็มีข้อสังเกตมานานแล้วว่า เรื่องเล่าแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่มีความซ้อนเหลื่อมขัดแย้งกันในตัวเอง

อาจเป็นไปได้ว่า ประชากรชาวเชียงแสนกลุ่มเดิมได้ถูกอพยพโยกย้ายออกไปนอกพื้นที่ ต่อมาได้มีประชากรกลุ่มใหม่เข้ามาอยู่แทนที่ และประชากรกลุ่มใหม่นี้ มีความประสงค์ที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของตน สร้างความกลมกลืนระหว่างพี่น้องไทย-ลาว สองฝั่งโขง ทำให้เกิดเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย

การที่กรมศิลปากรให้ความสนใจต่อประเด็นพรานล่าปลาก็ดี นักประดาน้ำก็ดี รายแล้วรายเล่าที่พยายามงมไปดำหาชิ้นส่วนพระเศียรและพระวรกายเพื่อเชื่อมต่อกับพระรัศมีนั้น เพราะในส่วนของกรมศิลปากรเอง ก็มีข้อคาใจเกี่ยวกับปริศนาเรื่อง “เกาะดอนแท่น” เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว (ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ อภิชิต ศิริชัย ไม่ได้หยิบมาเป็นประเด็นวิเคราะห์ด้วยเลย)

สาระสำคัญของเกาะดอนแท่น กล่าวไว้ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ว่ากษัตริย์เชียงใหม่ได้สั่งให้ “คน 100 ขุน 10 อ้าย” ทำการเคลื่อนย้าย “พระเจ้าทองทิพย์” ที่มหาเถรฟ้าหลั่งนำมาจากลังกา มาไว้ยังเกาะดอนแท่น (เกาะบัลลังก์ตระการ) เมืองเชียงแสน

ความสนใจในเรื่องนี้ ทำให้กรมศิลปากรมิอาจมองข้ามกระแสข่าว เวลามีการค้นพบอะไรใหม่ๆ กลางลำน้ำโขง เพราะยังมีความเชื่อว่าเป็นไปได้สูงทีเดียวที่เจ้าของเกศโมลี ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำโขง อาจเป็นพระเจ้าทองทิพย์องค์ดังกล่าว

ท่ามกลางความสับสนของเรื่องเล่าที่ประเดประดังกันเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น ฉัตรลดามองว่า ในมุมกลับกันกลายเป็นผลดี เพราะทำให้ประชาชนสองฟากฝั่งโขงเกิดการตื่นตัวต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ไม่ว่าผลที่ได้จะถูกหรือผิด และไม่ว่าเรื่องราวเหล่านั้นจะซ้อนเหลื่อมกันกี่ชั้นเพียงไรก็ตามที

 

ยืนยันก่อนวัดงามเมือง
เกศโมลีเคยอยู่เจดีย์หลวง

ฉัตรลดายอมรับว่า ภาพถ่ายเก่าที่อภิชิตนำเสนอนั้น เป็นภาพที่เธอเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกเช่นกัน

แต่มีข้อสังเกตว่า ในเพาเวอร์พอยต์นี้ มีอีกภาพหนึ่งที่อภิชิตนำเสนอพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ที่ถูกมิจฉาชีพเจาะรูบริเวณอก ตั้งอยู่ร่วมกันกับกลุ่มพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์ละม้ายคล้ายคลึงกับภาพที่กำลังเตรียมจะถูกขนย้ายไปกรุงเทพฯ นั้น เป็นที่แน่ชัดว่าพระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้อยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงแสน

หากภาพถ่ายเกศโมลี ที่เขียนใต้รูปว่าวัดงาม (เมือง) เชียงราย เป็นภาพถ่ายชุดเดียวกันกับพระปูนที่ถูกเจาะรู ก็แสดงว่า พระพุทธรูปเหล่านี้ อาจถ่ายที่บริเวณวัดเจดีย์หลวง เชียงแสน ทั้งหมด แต่เขียนคำบรรยายคลาดเคลื่อน

คำบรรยายใต้ภาพที่เขียนว่า วัดงามเมือง อาจมิได้หมายความว่าโบราณวัตถุทั้งหมดจะต้องมีถิ่นกำเนิดที่เชียงรายตามไปด้วย

หรือไม่ก็เป็นภาพถ่ายคนละครั้งกัน ภาพที่มีพระปูนเจาะรู บรรยากาศทั้งหมดยังเป็นวัดเจดีย์หลวง เชียงแสน แต่ต่อมาพระพุทธรูปบางองค์จากวัดเจดีย์หลวงอาจถูกขนย้ายไปพร้อมเกศโมลี ไปไว้ที่วัดงามเมือง เชียงรายก็เป็นได้

เรื่องนี้ต้องค้นคว้าศึกษากันต่อไป

เกี่ยวกับประเด็นการทำจำลองรูปเกศโมลีเข้ากับเศียรพระเจ้าแสนแสว้ของเชียงใหม่นั้น หากทำเพื่อเปรียบเทียบขนาดสัดส่วนความสูง หาความสัมพันธ์กันระหว่างโบราณวัตถุสองชิ้นก็อาจกระทำได้

แต่ปัญหาคือ รูปแบบพุทธศิลปะ ดูแล้วน่าจะขัดแย้งกัน ระหว่างพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงใหม่กับเชียงแสน และอายุสมัยที่ต่างกัน ด้วยความที่ว่ารูปแบบของเกศโมลีชิ้นนี้ ทำขึ้นในยุคล้านนาตอนปลายๆ แล้ว ระหว่างรัชสมัยพระเมืองแก้วถึงพระไชยเชษฐาธิราช คือในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

ในขณะที่พระเจ้าแสนแสว้นั้นเป็นรูปแบบของศิลปะล้านนายุคต้นประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 19-ต้น 20