แยกกันเดิน ไปกันคนละทาง | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

หลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน คาดว่าจะมีความชัดเจนอะไรหลายอย่างในทางการเมืองไทยให้เห็น อย่างเช่น การยุบสภาที่คาดกันว่าผู้นำรัฐบาลคงรอให้ผ่านการประชุมสำคัญนี้ ได้โชว์ตัวเองในเวทีผู้นำระดับโลกนี้ เป็นเกียรติประวัติให้กับตัวเอง แล้วจะได้ตัดสินใจเสียที

โดยเดิมทีถึงกับมีคำกล่าวทำนองว่า

เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนไทย คือ ได้เตรียมไปเลือกตั้งกันใหม่

อีกเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเอาไว้ว่า หลังประชุมเอเปค จะพูดถึงการตัดสินใจทางการเมืองของตนเอง โดยเฉพาะที่มีข่าวว่าอาจจะย้ายพรรคจากพลังประชารัฐ ไปอยู่พรรคพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค

คงจะได้สรุปให้ชัดเจนเสียที เพราะวันเวลาการเลือกตั้งใหม่ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว

ส.ส.จะย้ายพรรคกันหรือไม่ พรรคไหนมีแคนดิเดตนายกฯ เป็นใครบ้าง จะต้องมีข้อยุติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คราวนี้จะใส่ชื่อประยุทธ์ต่อ หรือไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว

หรือจะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติแน่นอนไหม

แต่ก็น่าสังเกตถึงคำกล่าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ตอบคำถามนักข่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะย้ายพรรคและอาจจะมี ส.ส.ตามไปด้วย

ไปเลย ไปไหนก็ไป ผมไม่ว่าเลย อยากไปไหนไป เพราะเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่ห้ามผมไม่ห้ามใครทั้งนั้น รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

เป็นคำกล่าวที่บ่งบอกอะไรชัดเจนพอสมควร

ทั้งหลายทั้งปวง หลังเอเปคเสร็จสิ้นลง คงจะได้เห็นอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างในทางการเมือง

จะยุบสภาเมื่อไหร่

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่พรรคไหน

ซึ่งจะหมายถึงอนาคตของกลุ่ม 3 ป. ถึงเวลาต้องแยกกันเดินหรือยัง!?!

 

มีความเคลื่อนไหวหลายอย่าง ที่เป็นสัญญาณว่า มีแนวโน้มสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจย้ายไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากภายในพรรคพลังประชารัฐเองเริ่มมีกระแสต้าน เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ใส่ชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ ตัวจริง อะไรเหล่านี้

ที่สำคัญ ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ รอดพ้นคดี 8 ปี แต่ก็เท่ากับจะเป็นนายกฯ ได้ถึงแค่ปี 2568 หรืออีกเพียง 2 ปี

ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะหาเสียงกันอย่างไร ให้เลือก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่ออีก 2 ปี เช่นนั้นหรือ

กระแสจากในพลังประชารัฐ จึงเริ่มต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์เป็นหัวหน้านั้น ชัดเจนว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ พล.อ.ประยุทธ์

เพื่อหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

พรรคนี้ส่วนใหญ่เป็นแกนนำ กปปส. เช่น นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ลูกเลี้ยงของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งก็เห็นเงาของนายสุเทพชัดเจน รวมทั้งนายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำนกหวีดคนสำคัญอีกราย

ส่วนนายพีระพันธุ์นั้น อกหักจากประชาธิปัตย์ จึงลาออกมา แล้วมานั่งเป็นที่ปรึกษานายกฯ ทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์มานาน

เหล่านี้ทำให้เห็นสายสัมพันธ์ชัดเจน ระหว่างนายสุเทพกับเหล่าแกนนำนกหวีด ม็อบที่ต่อสู้ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และไม่ยอมรับการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จนทำให้บ้านเมืองเข้าทางตัน เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามายึดอำนาจและเป็นนายกรัฐมนตรี

พูดง่ายๆ ว่า กปปส.คือม็อบที่เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจทางการเมือง เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

บัดนี้ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566 แกนนำม็อบ กปปส. ที่รวมกันเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เตรียมจะปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกรอบ

แต่คราวนี้จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นกับผลการเลือกตั้งโดยประชาชน

ความสำเร็จของปี 2566 จะเทียบกับความสำเร็จในปี 2557 ไม่ได้

เพราะคราวนั้นตัดสินด้วยอำนาจปืนอำนาจรถถัง

 

หาก พล.อ.ประยุทธ์ย้ายมาสังกัดพรรคใหม่ ส่วนหนึ่งก็จะทำให้พรรคนี้มีราคาขึ้นมาทันที เพราะลำพังนายพีระพันธุ์และแกนนำ กปปส. คงไม่มีบารมีเพียงพอที่จะทำให้พรรคนี้สำเร็จได้ในทางการเมือง ต้องอาศัยชื่อชั้นของอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์เป็นสำคัญ

หากพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ พล.อ.ประยุทธ์มามีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ น่าจะมีแรงดึงดูด ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ที่แนบแน่นกับ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ตามมาออกมาด้วยจำนวนหนึ่ง

รวมทั้งอาจจะดึง ส.ส.จากประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ออกมาได้อีกส่วนหนึ่ง

เนื่องจากแกนนำประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งก็ย้ายมาอยู่กับพรรคนี้ ดังเช่น นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี

แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็ยังน่าคิดว่า แล้วจะประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็น่าจะได้รับผลกระทบไปไม่น้อย แม้ว่าหัวใจของพรรคก็คือ พล.อ.ประวิตร คงจะได้ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ เองเต็มตัวเสียที แต่ก็น่าจะสูญเสีย ส.ส.ในกลุ่มที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ไป

จึงมีข้อวิเคราะห์ว่า การแยกกันเดินระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตรนั้น อาจจะไม่เป็นผลดีกับทั้งคู่

พรรคใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ย้ายไปอยู่ก็ไม่น่าจะลงตัวมากนัก ไม่น่าจะประสบความสำเร็จมากนัก ส่วนพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตรก็น่าจะสูญเสียกำลังไป

ขณะที่พรรคขั้วตรงข้ามคือเพื่อไทยนั้น มีแต่จะแข็งแกร่ง มีความพร้อมสูงในสนามเลือกตั้ง และกระแสของประชาชนเริ่มต้องการเพื่อไทยมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ไปจนถึงปัญหายาเสพติด

ในสถานการณ์ที่อีกขั้วสับสนอลหม่านเช่นนี้

เป้าหมายแลนด์สไลด์ของเพื่อไทยจะยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น

ไม่เท่านั้น การตัดสินใจแยกกันเดินของ 2 ป. น่าจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เสื่อมลงไปมากกว่า

คงไม่ใช่แผนแยบยล แยกกันเดินแล้วรวมกันตี

แต่น่าจะเป็นการแยกกันเดินแล้วก็ต่างคนต่างเดิน เดินไปคนละทาง!!