ความป่วยไข้ของสังคม ที่คนไม่เท่ากับคน | คำ ผกา

คำ ผกา

ในฐานะของคนที่เขียนเรื่องกามารมณ์กับการเมือง เรื่องสตรีนิยมกับประวัติศาสตร์ และคิดว่าตนเองมีความเข้าใจในความซับซ้อนของเรื่องเหล่านี้ในระดับหนึ่ง ฉันยอมรับว่าช็อกเมื่อได้อ่านข่าวแก๊งเด็กหญิงอายุ 14 ปี ไปรุมทำร้าย ถ่ายคลิปเด็กหญิงอายุ 13 ปี ประจานด้วยความสงสัยว่า เด็กอายุ 13 แอบมีความสัมพันธ์กับ “ผู้ชาย” ที่เด็กหญิงเรียกว่า “ผัว” และมีลูกด้วยกัน 1 คน

หนักกว่านั้น หลายๆ สำนักข่าว พาดหัวไปในทำนองว่า “เด็กหญิงคลั่งรัก” พร้อมทั้งรายละเอียดจากแม่ของเด็กหญิงว่า ลูกสาวของตนคบหากับผู้ชายวัย 52 ปีนี้ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

ยอมรับว่า อ่านแล้วไม่รู้จะเริ่มต้นพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร รู้แต่ว่าสังคมของเรากำลังมีปัญหาอย่างรุนแรง ถ้าเป็นคนก็เป็นคนที่ป่วยหนัก

ทว่า ไม่มีใครสนใจจะวินิจฉัยความป่วยไข้นี้อย่างจริงจัง นอกจากจะประณามเด็ก ประณามแม่ของเด็ก

สุดท้ายก็จบลงแค่คำว่า “เป็นแม่เมื่อพร้อม” ที่ฉันไม่แน่ใจว่ามันเป็นการวินิฉัยไปถึงต้นตอของปัญหาหรือไม่

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ในระดับที่ผิวเผินที่สุด ข่าวนี้ทำให้เรารู้ว่าสังคมไทยยังไม่เข้าใจเรื่อง under age ซึ่งในภาษากฎหมายใช้คำว่า “พรากผู้เยาว์” นั่นคือหลักการที่ว่า ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าจะเพศไหนจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ หรือแม้กระทั่งเป็นฝ่ายขอเริ่มความสัมพันธ์ฉันชู้สาวก่อนกับผู้ที่เป็นคนบรรลุนิติภาวะแล้ว – นั่นเป็นภาระของผู้บรรลุนิติภาวะที่จะต้องทำทุกวิถีทางที่จะยุติการกระทำอันอาจนำไปสู่ความสัมพัน์ฉันชู้สาวนั้น และด้วยหลักการนี้ ผู้ที่บรรลุนิติภาวะจึงมีความผิดหากไปมีความสัมพันธ์กับผู้เยาว์

การพาดหัวข่าวว่า “เด็กหญิงคลั่งรัก” จึงชี้ให้เห็นว่าสื่อก็ไม่มีความอ่อนไหวต่อการใช้ถ้อยคำอันไม่สอดคล้องกับการปกป้องผู้เยาว์เลย แถมยังมีแนวโน้มที่จะสื่อว่า “ก็เด็กมันแรด”

และจากตรงนี้ที่เราจะไปผิดที่ผิดทางต่อ นั่นคือสังคมจะไปโฟกัสว่า เนี่ย สังคมเสื่อมทราม เด็กหญิงของเราไม่รักนวลสงวนตัว ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในการรักษาระดับศีลธรรมของเราให้แรงขึ้นอีก

และนั่นหมายความว่าเรามีแนวโน้มจะสนับสนุนให้สังคมมีความอำนาจนิยม และเป็นเผด็จการมากขึ้น ผ่านการสนับสนุนกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน

อย่าลืมว่า กฎหมายที่ห้ามผู้หญิงขับรถ บังคับผู้หญิงคลุมหน้าทั้งหมด กฎหมายที่ห้ามผู้หญิงไปไหนต่อไหนตามลำพัง หรือแม้กระทั่งกฎหมายที่หากผู้หญิงโดนข่มขืน เธอจะถูกครอบครัวฆ่าทิ้งเพราะคือนังแพศยาที่นำความอับอายมาสู่ครอบครัว ก็ล้วนแต่เริ่มต้นด้วยคำอธิบายว่า “ฉันห้ามเพราะฉันอยากปกป้องลูกสาวของเราไม่ให้เป็นเด็กสาวคลั่งรักอยากมีผัวตั้งแต่สิบขวบ” นี่แหละ

แล้วเราจะมองปัญหานี้อย่างไร?

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ปัญหาเด็กท้องในวัยสิบขวบต้นๆ ปัญหาเด็กสาววัยทีนกลายเป็นหญิงกร้านโลก ปัญหาเด็กเกเร ก้าวร้าว หลุดออกจากระบบการศึกษา ปัญหาครอบครัวที่อาจใช้คำว่า dysfunctional พ่อ-แม่ของเด็กเหล่านี้ก็มีลูกในขณะที่ไม่พร้อม เลิกรากันอย่างรวดเร็ว ทุกคนมีผัวใหม่ เมียใหม่

เด็กถูกเลี้ยงดูมาโดยย่า ยาย ลุง ป้า น้า อา พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง

และในหลายๆ ครั้ง ทั้งเด็กหญิงและชาย ถูกกระทำทางเพศจากผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยปราศจากการให้คำปรึกษา เด็กหาวิธีเอาตัวรอดด้วยตัวเองไปวันๆ

ผู้ใหญ่ในครอบครัวคนอื่น เหน็ดเหนื่อยกับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตจนไม่สามารถเข้ามากอบกู้อะไรได้

สุดท้าย ปล่อยทุกอย่างยถากรรม และวันหนึ่ง เรื่องราวเหล่านี้ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในสังคมในชุมชนนั้นๆ แล้วก็จบลงตรงที่ทุกคนพยายามที่จะมีชีวิตรอด

เด็กอายุ 13 หรือ 14 เหล่านั้น พบว่า เครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้รอดจากการถูกดูถูกเหยียดหยามตัดสินว่า เอาผัวแม่มาเป็นผัวตัวเอง ก็อาจทำได้ด้วยการสถาปนาตนเองเป็นหญิงกร้านโลก และเป็น abuser ชิงบูลลี่ทุกคนที่ขวางหน้าก่อนที่ตนเองจะถูกบูลลี่เสียเอง

ตัดภาพมาที่ครอบครัวของคนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีอันจะกิน พ่อแม่ได้รับการศึกษา อบรมมาอย่างดี มีความพร้อมในทุกด้าน เมื่อมีลูก ก็เลี้ยงลูกได้ตามที่ตำราของการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่การสร้างอีคิว การกินอาหารที่ถูกต้อง การส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางสมอง ทางอารมณ์ เมื่อมีฐานะดี มีเวลา มีความรู้ ก็มีเวลาที่จะให้ความรัก ความเอาใจใส่ต่อลูกได้ หากพบว่าลูกมีปัญหาก็เข้าถึงจิตแพทย์ และการบำบัด ฝึกฝนที่ถูกต้องได้ทันท่วงที

เงินอาจจะไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง แต่มันช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิตที่ถูกต้องมีความเป็นไปได้อย่างสูง

เมื่อถึงเวลาที่จะเข้าโรงเรียน เด็กเหล่านี้ก็จะได้เข้าสู่สถานศึกษาที่ “ถูกต้อง” อีกนั่นแหละ เป็นการศึกษาที่ฝึกให้คิด ให้อ่าน ให้ตั้งคำถาม ให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีเหตุผล

เด็กเหล่านี้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะมีความสามารถในการประคองชีวิตวัยรุ่นของตนเองได้ดี แต่น่าเสียดายที่เรามีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคมไม่มากนัก ถึงร้อยละสิบหรือเปล่าก็ไม่รู้

และไม่ใช่แต่ประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่องนี้ แม้แต่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD ก็พบว่า ความเหลื่อมล้ำที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว) ส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่ยากจนลง ทั้งปัญหาการท้องวัยทีน ปัญหาครอบครัวแตกสลาย ปัญหาการใช้ยาเสพติด ปัญหาที่คนเติบโตไปแล้วล้มเหลวทุกด้านในชีวิต กลายเป็นคนไร้บ้าน มีปัญหาสุขภาพจิต และอื่นๆ ตามมาเป็นขบวน

หรือเราอาจจะเคยอ่านพบว่า ชาว Native American ที่แม้รัฐบาลบอกว่าได้พยายามให้ความช่วยเหลือ หยิบยื่นโอกาสต่างๆ ให้ แต่ลึกๆ แล้วพวกเขาไม่เคยได้มีสถานะเป็นพลเมืองเท่ากับ “คนอื่น” ในสังคมอย่างแท้จริง

ดังนั้น เราจะพบปัญหาเด็กท้อง เด็กไม่เรียนหนังสือ ผู้ใหญ่ที่ใช้การไม่ได้ เมามาย ติดยา ติดเหล้า ใช้กำลังกับคนในครอบครัว

วนไปไม่ต่างที่เราพบพล็อตเรื่องแบบนี้ในทุกกลุ่มคนจนของเกือบทุกสังคม

ในขณะที่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาและความรู้ ก็สืบทอดลักษณะครอบครัวและพลเมืองที่งดงาม ถูกต้อง ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เป็นภาพขัดแย้งสองภาพเหมือนโลกสองใบที่ไม่วันมาบรรจบกัน

และยิ่งตอกย้ำว่า คนที่ยากจนและเลวทรามนั้นก็ดูสมควรและสมน้ำสมเนื้อต่อกันดี จนไม่รู้จะอธิบายที่เลวเพราะจนหรือที่จนก็เพราะเลว

แล้วเราจะออกจากปัญหานี้อย่างไร?

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

ตอบเหมือนกำปั้นทุบดินว่า ก็ลดความเหลื่อมล้ำสิ

ความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้หมายถึงเงินในกระเป๋าเท่านั้น เพราะความยากจนไม่ได้มีความหมายแคบๆ แค่ “ไม่มีเงิน” แต่ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงที่สุดคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทุน โอกาส และทรัพยกรในการพัฒนาองค์ความรู้ที่ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้

แต่คือองค์ความรู้ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า interlect นั่นคือความสามารถในการใช้เหตุผล หรือเข้าถึงเข้าใจความรู้ที่ละเอียดเป็นนามธรรม

เครื่องมือที่จะลดความเหลื่อมล้ำเรื่องนี้ เช่น ผังเมืองและการออกแบบเมืองที่สวยงาม และยิ่งเขตที่อยู่ของคนที่ยิ่งยากจน เรายิ่งต้องเพิ่มการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เด็กอาจจะมาจากครอบครัวที่แย่มาก บ้านที่พังมาก แต่ถ้าเดินออกจากบ้านแล้วเจอถนนที่สวยงาม ปลอดภัย สวนที่สวย คลองที่ชวนให้ทั่งทอดอารมณ์ได้อย่างปลอดภัย ทางจักรยานที่ทำให้เขาหลุดจากสภาพแย่ๆ ที่บ้าน สนามกีฬา สโมสรของหมู่บ้านที่อำนวยอุปกรณ์สำหรับดูหนังฟังเพลง อ่านหนังสือ

ถามว่าเรามีตัวช่วยเหล่านี้สำหรับลูกหลานเราทั้งประเทศแค่ไหน?

หรือเราไม่เคยเห็นเขาอยู่ในสายตา?

 

เครื่องมือที่สำคัญมากๆ คือ โรงเรียน – ใครๆ ก็ชื่นชมว่าโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์คือโรงเรียนในฝัน โรงเรียนในอุดมคติ โรงเรียนนี้ดีเหลือเกิน

ฉันถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่มีโรงเรียนแบบสาธิตธรรมศาสตร์อีกห้าพันโรงเรียนทั่วประเทศ?

ในเมื่อมันพิสูจน์แล้วว่า ทำได้ เป็นไปได้ ไม่ต้องโรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนไทย โดยครูคนไทยนี่แหละ

แล้วอะไรที่หยุดให้สังคมไทยไม่ยอมให้มีโรงเรียนแบบนี้อีกสักห้าพันแห่ง?

ฉันอยากจะเขียนตัวใหญ่ๆ ว่า ทำไม?

และฉันเรียกสิ่งนี้ว่าความเหลื่อมล้ำ

เราเปลี่ยนพ่อแม่เด็กให้เป็นนางฟ้าไม่ได้ แต่โรงเรียนที่ดีที่ถูกต้อง (ไม่ใช่โรงเรียนที่เหมือนคำจำลองอย่างทุกวันนี้) จะช่วยชีวิตเด็กไม่ให้กลายเป็นปีศาจได้ จากที่จะเสียไปร้อยคน เราอาจกอบกู้มาได้ห้าสิบคนหกสิบคน และห้าหรือหกสิบคนนี้ก็จะเป็นเรี่ยวแรงให้สังคมเข็มแข็งขึ้น ถักทอ ต่อยอดให้ศักดิ์ศรีความดีงามของมนุษย์ให้กินพื้นที่กว้างขวางต่อไปได้อีก

ฉันก็ถามคำถามง่ายๆ อีกว่า ทำไมเราไม่ทำ?

 

ชนชั้นนำ ชนชั้นกลางไทย กลัวเกินไปว่าตนเองจะสูญเสียสถานะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในสังคม จึงหวงแหน ทุนทางปัญญา อารมณ์ให้เป็นทรัพยากรของตนเองแต่เพียงกลุ่มเดียวและเลี้ยงดูคนหมู่มากให้เป็นปีศาจเพื่อตนจะได้สัมผัสถึงความเหนือกว่าในฐานะเทวดา นางฟ้าของตนเอาไว้

และมีวัตถุเอาไว้ให้ทำทานทางการเงินบ้าง เป็นวัตถุแห่งการถอดบทเรียน สั่งสอนว่า ความจนและความเลวทราม เป็นของคู่กัน และปั้นตุ๊กตาตัวแบบของคนจนที่ได้ดีมาไว้สักสองสามเคส เพื่อเอาไปเทศนาต่อว่า คนจนที่รักดีเขายังเอาดีได้ด้วยมานะ อุตสาหะของตนเอง

สำหรับฉันมันเศร้ามากที่เรามองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำนี้ และเราก็ชอบเสพข่าวความชั่วช้าเลวทรามของคนชั้น “ล่าง” (ที่อาจจะไม่ได้แปลว่ายากจนทางการเงิน แต่ไม่ได้อยู่ในโลกใบเดียวกับคนชั้นกลางที่ครอบครองทุนทางปัญญา ทุนทางวัฒนธรรมได้) เพื่อจะได้สานต่อวาทกรรมว่าด้วย ชีวิตคนชั้นล่างอันเหลวแหลกเกินเยียวยา และไม่น่ารัก ไม่น่าสงสาร น่ารังเกียจ หยาบคาย เต็มไปด้วยความรุนแรง น่ากลัว และเป็นภัยสังคม

เราซึ่งรังเกียจสิ่งนี้ เราต้องถามตัวเราเองว่า แล้วเราพร้อมหรือยังที่จะผลักดันสังคมนี้ให้เป็นสังคมที่คนเท่ากัน

และเราพร้อมที่จะเห็นเพื่อนร่วมสังคมของเราเป็นมนุษย์ที่มีค่ามีศักดิ์มีศรีเหมือนเราอย่างไม่มีเงื่อนไข