‘ศาสนาผี’ หลังความตาย ในโลกต่างมิติ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศาสนาผี | หลังความตาย ในโลกต่างมิติ

 

ศาสนาผีไม่มีตายแล้วเกิด-ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด-ไม่มีโลกหน้า (เหมือนพราหมณ์-พุทธ) ศาสนาผีมีแต่โลกผีและเมืองผี

ศาสนาผีเชื่อว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย แต่เคลื่อนไหวได้และมีวิถีปกติเหมือนยังไม่ตายโดยอยู่ต่างมิติ คือจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ถูกเรียกว่า “ผี”

ไทดำบางกลุ่มเชื่อว่าคนตายหมายถึงคนนั้นเปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากโลกมนุษย์ไปสู่โลกผีหรือเมืองผี โดยมีกิจวัตรประจำวันเหมือนเมื่อมีชีวิต แต่ต่างกันเพียงอยู่ต่างมิติ ซึ่งจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น

เหตุที่คนตายเพราะขวัญหายออกจากร่าง ถ้าเรียกขวัญคืนร่างคนก็ฟื้นคืนเป็นปกติ

ดังนั้น เมื่อมีคนตายต้องทำพิธีเรียกขวัญหรือสู่ขวัญคืนร่าง แต่มีพิธีแบบไหน? อย่างไร? แค่ไหน? ขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคม ซึ่งมี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับรากหญ้า กับระดับชนชั้นนำ

 

1. ระดับรากหญ้า

คนรากหญ้าเป็นคนทั่วไปในชุมชนอยู่ในอำนาจของชนชั้นนำ และอาศัยอยู่ในเรือนเครื่องผูกทำจากไม้ไผ่มุงใบไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ

เมื่อมีคนตายต้องเรียกขวัญตามมีตามเกิด จากนั้นเอาศพไปทิ้งให้แร้งกากินไม่เหลือซาก (หรือเหลือซากก็หาไม่พบ) ด้วยเชื่อว่าแร้งกามีปีกจะพาขวัญไปหาผีฟ้าอยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ มีวิถีดีกว่าเดิม

หลุมศพของชาวบ้านไม่พบหลักฐานการขุดค้นอย่างเป็นทางการ ส่วนรายงานของทางการเกี่ยวกับการขุดค้นหลุมศพในที่ต่างๆ เกือบทั่วประเทศล้วนพบหลักฐานโบราณคดีที่แสดงสถานภาพของชนชั้นนำมีพิธีกรรมหลังความตายสุดอลังการ

ดังนั้น เพื่อความเข้าใจพิธีกรรมหลังความตายของชนชั้นชาวบ้าน จำต้องพึ่งพาอาศัยนิยามและคำอธิบายทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรมซึ่งอยู่ในความทรงจำ แล้วทำสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

ซึ่งน่าเชื่อว่าชาวบ้านทั่วไปขุดหลุมฝังศพไว้ตื้นๆ หรือทำได้แค่โกยดินกลบร่างคนตายที่ไม่มีโลงศพ เพราะไม่มีเครือญาติบริวารบ่าวไพร่และแม้จะมีเพื่อนบ้านก็ไม่มากและพลังไม่พอที่จะขุดหลุมลึก เมื่อนานไปบรรดาสัตว์ทั้งหลายในดงป่าของชุมชนก็มาขุดคุ้ยลากศพไปแทะกัดกินเป็นอาหาร ได้แก่ หมู หมา เป็ด ไก่ เป็นต้น

การจัดการศพของชาวบ้านทั่วไปยังพบเบาะแสอยู่ในคำพูดติดปากว่า “ตายไปให้แร้งกากิน” หมายถึงตายไปให้แร้งกาหมูหมาเป็ดไก่กิน ก็คือเมื่อมีคนตายได้ทำพิธีเรียกขวัญ “งันเฮือนดี” ตามประเพณีชั่วเวลาหนึ่งจนศพเริ่มเน่าในเรือนก็เอาภาชนะธรรมชาติห่อหุ้มแล้วช่วยกันหามไปวางไว้กลางป่ากลางทุ่งเพื่อรอเป็นอาหารแร้งกาด้วยความเชื่อว่านกเหล่านั้นศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์นำผีขวัญขึ้นฟ้าเป็นบริวารผีฟ้าที่ปกป้องคุ้มครองคนยังไม่ตายในชุมชน

ตามที่ชาวบ้านเชื่อว่าตายไปให้แร้งกาหมูหมาเป็ดไก่กิน ผมมีประสบการณ์ตรงราว 70 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 เมื่อเรียนชั้นประถมในโรงเรียนวัด 2 วัด ต้องเดินผ่านป่าช้า 2 แห่ง เห็นการฝังศพตามยถากรรม แต่บางทีทิ้งศพในป่าช้าให้หมูหมาเป็ดไก่จากหมู่บ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ใต้ถุนตามมีตามเกิดพากันไปคุ้ยเขี่ยจิกกินซากศพเป็นอาหาร บางทีมีแร้งกามารุมด้วย

ศาลผีและศาลต่างๆ บริเวณวงหินกองซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธีกรรมหลังความตายของชาวบ้านที่ม่อนนะแฮ้ง บ้านสบสุก ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

ประเพณี “ตายไปให้แร้งกากิน” พบหลักฐานว่าชาวบ้านสมัยดั้งเดิมเอาศพที่กำลังเน่าไปวางบน “วงหินกอง” ให้แร้งกากินจนเหลือแต่ซากเป็นโครงกระดูก แล้วเอาโครงกระดูกนั้นไปทำพิธีฝัง

“วงหินกอง” ในที่นี้มีของจริงเป็นกองหินซึ่งขนจากแหล่งอื่นมาวางเรียงซ้อนเป็นรูปวงกลมสูงประมาณ 1 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางราว 2 เมตร ชาวบ้านเรียก “ม่อนนะแฮ้ง” (ม่อน แปลว่า เนิน, แฮ้ง คือ แร้ง) พบอยู่ที่ม่อนนะแฮ้ง บ้านสบสุก ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง (ข้อมูลจากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2560 หน้า 82-83)

“วงหินกอง” เป็นกองหินจัดอยู่ในวัฒนธรรมหิน หรือ Megalith ที่ปัจจุบันรู้จักทั่วไปเรียกหินตั้ง ราว 2,500 ปีมาแล้ว พบทั่วไปในอุษาคเนย์ทั้งหมู่เกาะและแผ่นดินใหญ่ “สุวรรณภูมิ” มีหลากหลายขนาดและรูปแบบ ส่วนขนาดใหญ่มากรู้จักทั่วไปคือไหหิน (ซึ่งเป็นพิธีกรรมหลังความตายของชนชั้นนำ) ที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว

หินเป็นก้อน กับ หินเป็นกอง ถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดว่าเฮี้ยนและขลัง โดยเฉพาะเมื่อหินถูกสมมุติเป็นมิ่งคือ “ร่างเสมือน” อันเป็นที่สิงสู่ขวัญของบุคคลสำคัญ เมื่อหลังรับศาสนาจากอินเดีย หินถูกยกย่องใช้งานศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่

(1.) ทำเป็นแท่งเสมาบอกเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และ

(2.) แกะสลักเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์เรียกเทวรูปหรือพระพุทธรูป

วงหินกองเคยเป็นแหล่งวางศพให้แร้งกากิน (ภาพจากหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 หน้า 83)

2. ระดับชนชั้นนำ หรือหัวหน้าเผ่าพันธุ์

ชุมชนหลายพันปีมาแล้วมีชนชั้นนำและมีเครือญาติโคตรตระกูลจำนวนหนึ่ง ซึ่งกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้มีอภิสิทธิ์เมื่อตายไปได้ฝังศพอยู่พื้นที่ลานกลางบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางพิธีกรรมของชุมชนหมู่บ้านหลายพันปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีที่นักโบราณคดีในไทย ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และของมีค่าหลากหลายอายุหลายพันปีมาแล้ว ทำด้วยดินเผา, หิน, โลหะสำริดและเหล็ก ฯลฯ ได้แก่ บ้านเก่า (กาญจนบุรี), บ้านเชียง (อุดรธานี) ล้วนเป็นที่ฝังศพของอภิสิทธิ์ชนคือตระกูลชนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ ได้แก่ หัวหน้าเผ่าพันธุ์, ลูกหลาน, เครือญาติ ฯลฯ

หลังความตายของชนชั้นนำ มีพิธีกรรมซับซ้อนขั้นตอนปลีกย่อยมาก ต้องอธิบายต่างหากออกไป •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ