ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | วิช่วลคัลเจอร์ |
เผยแพร่ |
บ้านผมเคยอยู่แถวศาลาเฉลิมไทย มันเป็นโรงหนังที่อยู่ใกล้จนเดินไปได้ ในสมัยนั้น โรงหนังโรงนี้ไม่ใช่แค่ฉายหนังดี แต่มีความทันสมัยและหรูหราเหมือนพระราชวังด้วย มันเป็น a place to be seen จะไปทีไร ทุกคนในครอบครัวของเราจะแต่งตัวดีที่สุด แถมยังต้องเผื่อเวลาไปเดินโฉบฉายหน้าโรงอีกต่างหาก นอกจากนั้น ยังมีร้านขายข้าวโพดคั่ว ไอศกรีมป๊อปตราเป็ด (ซึ่งเอาโดนัลด์ดั๊กมาเป็นเครื่องหมายการค้า) และขนมต่างๆ ซึ่งเป็นไฮไลต์สำหรับเด็ก
เริ่มในช่วง พ.ศ.2490 เดิมเป็นโรงละคร ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์ นอกจากหนังฟอร์มยักษ์หลายเรื่องที่เราดู ขนาดของโรงก็เป็นสิ่งสำคัญ กำแพงด้านข้างของโรงหนังเป็นคัตเอาต์ภาพยนตร์ที่ใหญ่มาก ซึ่งนอกจากจะเป็นที่แสดงฝีมือของนักวาดโปสเตอร์หนังชั้นนำของประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่กระตุ้นความอยากดูให้มากขึ้น และเพิ่มความรู้สึกว่าสิ่งที่ดูนั้นใหญ่กว่าหนังจริงๆ หลายเท่า
เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นความภูมิใจแก่คนแถวนั้น แม้เมื่อย้ายออกมาแล้วก็ยังแวะกลับไปบ่อยๆ บ้านใหม่ของเราอยู่ชานเมืองซึ่งไกลจากเดิมมาก แต่การเดินทางกลับไปดูหนังที่นี่ไม่ใช่ปัญหา
ครอบครัวเราถือว่าย่านราชดำเนินและบำรุงเมืองเป็นถิ่นของเรา
ราว พ.ศ.2532 มีการทุบโรงหนังนี้ด้วยข้ออ้างที่ว่าไปบดบังโลหะปราสาทวัดราชนัดดาฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจและเสียดายยิ่งกว่าการทุบศาลฎีกาที่สนามหลวงเมื่อปีที่แล้ว
โลหะปราสาทวัดราชนัดดาฯ นั้นงดงาม
แต่การจะรักษาสิ่งหนึ่งไม่เห็นจะเป็นเหตุให้ต้องทุบตึกขนาดใหญ่ทั้งหลังเลย
และนั่นเป็นยุคที่ผมโตพอจะรู้แล้วว่าศาลาเฉลิมไทยเป็นเหมือน “หัวแหวน” ของอาคารชุดราชดำเนินอันยาวเหยียดซึ่งตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง และถือกันว่าเป็น “วัฒธรรมใหม่” ตามแนวทางของคณะราษฎรและเป็นผลงานของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
สิบปีก่อนหน้านั้นอาจจะเป็นจุดเริ่มของการวิพากษ์เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยให้ความเห็นไว้ว่าศาลาเฉลิมไทยเป็น
“…โรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาฯ เป็นอย่างยิ่ง…คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญและจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาฯ ได้ถึงเพียงนี้…”
และในทางตรงข้าม มีผู้คิดว่าการทุบโรงหนังหรือหัวแหวนอันนี้เป็นการ “แก้เคล็ด” หรือเอาชนะต่อการเปลี่ยนแปลง 2475 ในเชิงสัญลักษณ์นั่นเอง
ตอนนั้นโครงการปรับปรุงเกาะรัตนโกสินทร์ยังไม่ปรากฏเป็นรูปร่างใหญ่โตและผู้คนทั่วไปยังไม่ได้มีสำนึกมาก แต่หลักการที่ว่า “วัดและวัง” เท่านั้นที่เป็นพื้นที่สำคัญของเมือง ที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
เฉลิมไทยเป็นตัวอย่างของการทุบบ้านเรือนเพื่อเปิดทัศนียภาพ ซึ่งเป็นทัศนะของนักวางผังเมืองในยุคก่อน
ทุกวันนี้แม้คำว่าวัดวังจะถูกแทนที่ด้วยการท่องเที่ยว โบราณสถาน และสาธารณประโยชน์ แต่ยุทธศาสตร์การพัฒนาโบราณสถานด้วยการขับไล่ผู้คนออกไปซึ่งวางไว้กว่าเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ก็ยังดำเนินมาถึงวันนี้
ในปัจจุบัน ศาลาเฉลิมไทยกลายเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หรือสวนสาธารณะที่ไม่มีคนเดิน โดยมีฉากหลังเป็นวัดราชนัดดาฯ
ในทัศนะของนักวางผังเมือง เมืองสร้างขึ้นโดยผู้นำซึ่งเป็นคนส่วนน้อย องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ชาวบ้านหรือไพร่ล้วนไม่มีความหมาย
วัดและวังยังเป็นสิ่งเดียวที่จะบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ ทั้งๆ ที่โลกได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยและการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับชุมชนแล้ว
ศาลาเฉลิมไทยอยู่ในบริเวณเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ ผมเคยอยู่ในชุมชนชาวจีนบนถนนบริพัตร ซึ่งเป็นตึกแถวที่หันหน้าเข้าวัดสระเกศ หรืออยู่อีกฝั่งของคลองโอ่งอ่างซึ่งเป็นคลองเดียวกับที่ผ่านป้อมมหากาฬแต่หันหลังให้ เพราะนั่นเป็นยุคที่บ้านเรือนหันหน้าไปหาถนนแล้ว
อยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่อยากย้ายออกไปที่อื่น ตลอดแปดสิบปีที่ผ่านมา ญาติคนหนึ่งซึ่งเคยอยู่บ้านเดียวกันกับเราก็ยังอยู่แถวนั้น ซึ่งแปลว่าเช่าเขาอยู่ ท่านย้ายบ้านมาแล้วสามครั้ง แต่ที่สำคัญคือบ้านทั้งสามหลังนั้น ล้วนอยู่บนฝั่งคลองสายเดียวกันทั้งสิ้น
ชุมชนป้อมมหากาฬจะมีรากเหง้ามาแต่ต้นรัตนโกสินทร์หรือไม่ ผมไม่รู้ เพราะในยุคพัฒนา ใครๆ ก็เรียกบริเวณนี้ว่า “สลัม” ซึ่งความหมายเป็นเพียงกลุ่มบ้านไม้และที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อย (กว่าเรา)
รู้แต่ว่าเขาอยู่กันมานาน สำหรับผู้ใหญ่ ป้อมนี้เป็นแหล่งเลี้ยงไก่ชน
แต่สำหรับเด็ก พอถึงงานวัดภูเขาทอง ซึ่งตอนนั้นอาจจะเป็นงานประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ เรารู้แต่เพียงว่าจะหาพลุและดอกไม้ไฟได้จากที่นี่ได้เสมอ
ตอนนี้เกิดประเด็นไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ และกรุงเทพมหานครตั้งใจจะรื้อถอนให้ได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยอ้างว่าเพื่อเวนคืนพื้นที่นำไปจัดสร้างสวนสาธารณะและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งคนในชุมชนต่อต้านอย่างเต็มที่
คนในชุมชนร่วมมือกับนักวิชาการและสถาปนิกรุ่นใหม่ ปรับพื้นที่ลานกลางแจ้งและตรอกเก่าเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ หากมีการจัดการที่ดี โดยจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น สถาปัตยกรรมบ้านไม้อายุนับร้อยปี และให้คนในชุมชนเป็นมัคคุเทศก์บอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนรอบพระนคร
นอกจากนั้น หลายปีที่ผ่านมา ก็มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปรับชุมชนให้เป็นสถานที่เพื่อการศึกษาและรำลึกอดีต ทั้งนี้ เพื่อบอกว่าตนเองมีรากเหง้าความเป็นไทย และที่สำคัญกว่านั้นคือเพื่อพิสูจน์ว่า คนกับโบราณสถานนั้นอยู่ด้วยกันได้
ถ้ายอมรับว่าคนจีนและไทยไม่ได้แยกกัน และคำว่าสลัมก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงลบอีกต่อไป คำถามคือ ชุมชนและวิถีชีวิตแบบนี้เหมาะแก่การอยู่ร่วมกับโบราณสถานหรือป้อมเก่าได้หรือไม่? พูดให้ตรงไปตรงมาก็คือ
เขาเป็นคนไทย และมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยอยู่ในที่ เขาเกิดและเติบโตมาหรือไม่?