ถอดรหัส ‘นายกฯ’ โพล โจทย์ทุกพรรคสู้เลือกตั้ง ‘พิธา’ มาแรงใน กทม. ชัยชนะของผู้แพ้ในเกมสุราเสรี?

ผลสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคน กทม.” ระหว่างวันที่ 21-27 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทำเอาคอการเมืองของทุกพรรคต้องนำเอาผลการสำรวจกลับไปถอดรหัสเพื่อแก้เกม ขจัดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้ได้เร็วที่สุดในการเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อผลสำรวจระบุว่า คนกรุงเทพฯ จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 20.40 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะเป็นคนมีความมุ่งมั่น มีความรู้ความสามารถ เป็นคนรุ่นใหม่ และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล

อันดับ 2 ร้อยละ 15.20 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนมีความซื่อสัตย์ ชื่นชอบผลงาน ทำให้บ้านเมืองสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 3 ร้อยละ 14.10 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะเป็นคนมีความรู้ความสามารถ และต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

อันดับ 4 ร้อยละ 12.20 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 5 ร้อยละ 7.70 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะเป็นคนมีความน่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ทำงานทางการเมือง

ขณะที่พรรคการเมืองที่คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 28.50 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 26.45 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 9.50 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และยังไม่ตัดสินใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 4 ร้อยละ 9.45 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น พรรคชาติพัฒนากล้า

แน่นอนผลสำรวจที่คนกรุงเทพฯ เทคะแนนเลือก “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าเหมาะสมเป็นนายกฯ อันดับที่หนึ่งเหนือ พล.อ.ประยุทธ์นั้น แม้จะไม่เหนือความคาดหมายการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ ที่มักจะเลือกพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล แต่กลับไม่ใช่พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เป็นแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านและถือเป็นพรรคใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นพรรคก้าวไกล

เมื่อดูเหตุผลการสนับสนุน “พิธา” เป็นนายกฯ ของคน กทม. นอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ยังชื่นชอบถึงจุดแข็งในตัวนโยบายและอุดมการณ์ที่มั่นคงของพรรคก้าวไกล ที่มุ่งสลายรัฐราชการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไปสู่การกระจายอำนาจรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำของภาคประชาชนกับนายทุนผูกขาดที่เชื่อมโยงกับผู้กุมอำนาจรัฐ

Photo by Jack TAYLOR / AFP

ส่วน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีคะแนนนิยมนำในพื้นที่ภาคใต้ ตามผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนใต้” ระหว่างวันที่ 17-20 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยบุคคลที่คนใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 23.94 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ เพราะซื่อสัตย์สุจริต มีความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

อันดับ 2 ร้อยละ 13.24 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายพรรคเพื่อไทยสามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร

อันดับ 3 ร้อยละ 12.79 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 4 ร้อยละ 11.24 ระบุว่าเป็น นายพิธา เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ ชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล

Photo by Jack TAYLOR / AFP

สำหรับพรรคการเมืองที่คนใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 27.49 ระบุว่า เป็นพรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 2 ร้อยละ 14.94 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 12.09 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ และยังไม่ตัดสินใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

อันดับ 4 ร้อยละ 11.84 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล

อันดับ 5 ร้อยละ 7.45 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย

ซึ่งคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่ายังครองเรตติ้งอันดับหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่กระแสความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ช่วยให้พรรคพลังประชารัฐปักธง ส.ส. เอาชนะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เก่าได้ถึง 14 ที่นั่ง

ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับการเลือกในพื้นที่ กทม. เมื่อปี 2562 ที่ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ นำพรรคพลังประชารัฐยึด ส.ส.กทม.มาได้ 12 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ในพื้นที่เมืองหลวง

หากจะย้อนไปดูผล “นิด้าโพล” เมื่อวันที่ 3-6 ตุลาคมที่ผ่านมา สำรวจเรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนอีสาน” ตัวเลขผลสำรวจที่ออกมาก็เป็นไปตามคาด คือ บุคคลที่คนอีสานจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 คือ น.ส.แพทองธาร คิดเป็น 36.45% เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริงและชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร

อันดับ 2 คือ นายพิธา คิดเป็น 12.65% เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เป็นคนมีวิสัยทัศน์ และชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล

อันดับ 3 คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย คิดเป็น 10.20% เพราะมีประสบการณ์ด้านการบริหาร ชื่นชอบนโยบายของพรรค ซื่อสัตย์สุจริต และต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ

อันดับ 4 คือ พล.อ.ประยุทธ์ คิดเป็น 9.85% เพราะซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง

ส่วนพรรคการเมืองที่คนอีสานมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย คิดเป็น 54.35% อันดับ 2 พรรคก้าวไกล คิดเป็น 13.60% อันดับ 3 ไม่ตัดสินใจ คิดเป็น 8.50% อันดับ 4 คือ พรรคภูมิใจไทย คิดเป็น 5.60% อันดับ 5 พรรคพลังประชารัฐ คิดเป็น 5.30%

หากนำผลโพลมาวิเคราะห์ เจาะลึกกันในแต่ละพื้นที่ ทั้งคะแนนนิยม รวมทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ตลอดจนจุดขายของแคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรค เบื้องต้นอาจจะเป็นไปตามเหตุผลที่ประชาชนตอบแบบสอบถาม

ซึ่งทีมยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคย่อมจะต้องตีโจทย์และถอดรหัสเรตติ้ง ที่แคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรคได้รับให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ ยิ่งเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566 นอกจากนโยบายโดยเฉพาะเรื่องการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่แต่ละพรรคเตรียมจะนำเสนอ ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญชี้ขาดผลแพ้-ชนะได้

การเดินเกมทางการเมืองทั้งขั้วฝ่ายค้านและรัฐบาล ยังต้องเป็นไปด้วยความสุขุม รอบคอบ โดยเฉพาะจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมือง หากกลับไป เปลี่ยนมา

เรตติ้งของแต่ละพรรคที่เคยอยู่สถานะผู้นำในวันนี้ เมื่อถึงวันเลือกตั้งอาจพลิกร่วงมาเป็นผู้ตาม

ยิ่งมีอีกหนึ่งแนววิเคราะห์ออกมาด้วยว่า สาเหตุที่คะแนนนิยมของ “แพทองธาร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในพื้นที่กรุงเทพฯ กลับมาตามหลัง “พิธา” หัวหน้าพรรคก้าวไกล

อาจมาจากกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยเปิดท่าทีว่าจับมือพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งสมัยหน้า ย่อมส่งผลให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มนิวโหวตเตอร์

เริ่มระแวงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ในการจับขั้วกับพรรคที่อยู่ตรงข้ามฝ่ายประชาธิปไตย จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

เท็จจริงประการใด แต่ละพรรคต้องไปหาคำตอบด้วยตัวเอง

อนึ่ง สำหรับนายพิธา ที่ผลโพลระบุว่ามาแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น

แม้ล่าสุด นายพิธาและพรรคก้าวไกลดูเหมือนจะพ่ายแพ้ เกมสุราก้าวหน้า

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชิงตัดหน้าแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560 เปิดโอกาสให้การผลิตสุราดำเนินการได้ง่ายขึ้น รวมถึงปลดล็อกทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ

อันนำไปสู่เหตุผลที่ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ลงมติคว่ำร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ…. หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในวาระที่ 3 อย่างเฉียดฉิว 196 เสียงต่อ 194 เสียงนั้น

แต่นายพิธาประกาศว่าแม้วันนี้ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าถูกคว่ำในสภา แต่จะไม่หยุดสู้

ขณะที่ พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จะยังคงยึดมั่นในนโยบายทลายทุนผูกขาด ซึ่งไม่เพียงในอุตสาหกรรมสุราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการค้าปลีก โทรคมนาคม พลังงาน และธุรกิจอื่น ที่ปิดกั้นโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของประชาชน

ท่าทีเช่นนี้ ทำให้นายพิธา และพรรคก้าวไกลที่ดูเหมือนจะแพ้

แต่อีกด้าน การยืนหยัดต่อสู้ เรื่องนี้ ดูเหมือนจะได้ใจคนที่สนับสนุนสุราก้าวหน้ารวมถึงความพยายามทลายทุนผูกขาดไม่น้อย อันอาจจะนำไปสู่ ชัยชนะในระยะยาวได้

ซึ่งก็เริ่มมีสัญญาณในพื้นที่ กทม. ที่ผลโพลของนิด้าชี้ว่า นายพิธามาแรง ในฐานะว่าที่นายกฯ

จึงเป็นคำถามขึ้นมาเรื่อยๆ ว่า นี่คือชัยชนะของผู้แพ้หรือไม่!?!