ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | โล่เงิน |
เผยแพร่ |
บทความโล่เงิน | กิตติ ไกรฤกษ์
นำทัพ ปรับโฉม สู้อาชญากรออนไลน์
‘บิ๊กเด่น’ จัดระบบใหม่ศูนย์ PCT
แจกการบ้าน ‘โรงพัก-ตำรวจไซเบอร์-สอบสวนกลาง’
“บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ประกาศรบ สู้กับอาชญากรออนไลน์ ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ขีดเส้นใต้ไฮไลต์ ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนของ ผบ.ตร. ในการขับเคลื่อนทัพตำรวจยุคนี้ พร้อมประกาศเกาะติด กำกับการขับเคลื่อน นั่งหัวโต๊ะประชุมศูนย์งานปราปปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีด้วยตนเอง โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือศูนย์ PCT
ที่มานโยบายร้อนของ ผบ.ตร. เหตุเพราะ “บิ๊กเด่น” เห็นปัญหามิจฉาชีพ ที่ย้ายทำเลก่อการตามยุคสมัย กระโจนไปก่อเหตุในโลกออนไลน์ โลกเสมือน มากขึ้นทุกวัน ยาเสพติด อาวุธปืน ของผิดกฎหมายซื้อขายกันโจ๋งครึ่มในโลกออนไลน์ ตำรวจไล่ตามจับได้ถี่ พอๆ กับแก๊งหลอกลวงสารพัดกลอุบาย
โดยข้อมูลการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดรับแจ้งคดีได้ไม่ถึงปียอดรวมการรับแจ้งความร่วมแสนคดี พบว่าการหลอกขายของออนไลน์ ซื้อของแล้วไม่ได้ของ สินค้าไม่ตรงปก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากที่สุด หลอกทำงาน หลอกให้กู้เงิน หลอกลงทุน แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน ฯลฯ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างแสนสาหัส มูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท
ผลงาน “บิ๊กเด่น” สมัยเป็นรอง ผบ.ตร. สวมหมวก ผอ.ศูนย์ PCT โดดเด่นสมชื่อ บริหารคน บริหารทีม บริหารงาน ปราบปรามเชิงรุกโดดเด่น ขยายผลบุกรังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามประเทศ สร้างคอนเน็กชั่นประสานงานตำรวจกัมพูชา จนได้รับความร่วมมือ 2 ชาติผนึกกำลังปราบปรามเข้มข้น หยุดยั้งโจรออนไลน์ได้ระดับหนึ่ง ทว่า มิจฉาชีพก็ไม่ละความพยายาม ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์อยู่กับงานคุมศูนย์ PCT จนเข้าใจ มีทีมงานชุด PCT ที่เข้มแข็ง และแม้มีต้นทางดี มีช่องทางรับแจ้งเหตุ บรรเทาทุกข์ประชาชนผ่านการรับแจ้งความออนไลน์แล้ว แต่หากระหว่างทาง ปลายทางไม่ไหลลื่น มีปัญหา งานก็ไม่บรรลุผลอย่างแท้จริง
ต้องยอมรับว่างานอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมามีปัญหาอยู่บ้าง การรับคดี การสืบสวนสอบสวนคดีของตำรวจไม่ชัดเจน ไม่มีเจ้าภาพชัดเจน บางหน่วยเกี่ยงกันทำ บางโรงพักโยนไปกองบัญชาการเฉพาะทาง งานก็ไม่เดิน ประชาชนได้รับผลกระทบ ทุกข์ร้อนของประชาชนก็ไม่ได้รับการแก้ไข
ล่าสุด “บิ๊กเด่น” คิด ทำ บริหารอย่างผู้นำ ออกคำสั่งเรื่องการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และการมอบหมายอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบให้ พล.ต.อ.รอย เซ็ตระบบการทำงานใหม่ ให้เหตุผลเนื่องจากปัจจุบันคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกระทำความผิดที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการรับแจ้งความและการบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงออกคำสั่งให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
คำสั่ง “บิ๊กเด่น” กำหนดชัด ขั้นตอนการปฏิบัติกรณีผู้แจ้ง แจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ การกำหนดลักษณะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ “สถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9” รับผิดชอบการสอบสวนคดี 4 ประเภท
1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า ซื้อขายบริการ
2. คดีข่มขู่หรือคุกคามทางเพศ
3. คดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือข่มขู่คุกคาม
4. คดีหลอกลวงให้โอนเงินที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ
ส่วน “ตำรวจไซเบอร์” หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนในสังกัดตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) รับผิดชอบ 14 ประเภทคดี
1. คดีหลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน
2. คดีหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน
3. คดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน
4. คดีข่าวปลอม
5. คดีที่กระทำต่อระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยผิดกฎหมาย
6. คดีเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์
7. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม
8. คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ
9. คดีหลอกลวงให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน
10. คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
11. คดีหลอกลวงให้ลงทุนที่ไม่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน
12. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือสิทธิประโยชน์
13. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า บริการ
14. ข่มขู่คุกคาม หลอกโอนเงินที่เป็นขบวนการ หรือมีผู้เสียหายจำนวนมากหลายพื้นที่
ส่วน “ตำรวจสอบสวนกลาง” รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีหลอกลวงให้ลงทุนที่เข้าลักษณะฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ คดีกู้เงินออนไลน์ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คดีหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ หรือค้ามนุษย์ที่มีลักษณะเป็นขบวนการ
“บิ๊กเด่น” มอบหมายให้ ศปอส.ตร.เป็นหน่วยรับแจ้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ และทำการรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบวิเคราะห์ความเชื่อมโยงและลักษณะคดี ควบคุมระบบรับแจ้งความออนไลน์ ส่งเรื่องไปยังสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามระเบียบและทำการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ผบ.ตร.เน้นย้ำ การทำงานเชิงรุกด้านปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปราบโจรออนไลน์ ทุกหน่วยปฏิบัติ บูรณาการการทำงานร่วมกัน เสมือนว่าเป็น “สถานีตำรวจประเทศไทย” สามารถประสานการปฏิบัติกันได้โดยตรง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน คลี่คลายคดี บรรเทาทุกข์ให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว
พร้อมย้ำกรณีผู้เสียหายวอล์กอิน ให้พนักงานสอบสวนแนะนำและช่วยเหลือให้ผู้เสียหายลงในระบบรับแจ้งความออนไลน์ทุกราย
ถ้าหัวส่าย หางก็กระดิก
สูตรปราบปรามเชิงรุกของ “บิ๊กเด่น” กำชับหัวหน้าหน่วย ผู้บัญชาการ ผู้บังคับการต้องนั่งหัวโต๊ะประชุมเอง เพื่อรับทราบปัญหาข้อขัดข้องหน่วยปฏิบัติเกิดปัญหาระหว่างการปฏิบัติงาน สามารถเสนอปัญหา รวมทั้งข้อเสนอแนะมายัง ศปอส.ตร.แล้วนำมาแก้ไข หากได้ตลอดเวลา
ผบ.ตร.เดินหน้าเชิงรุก พูดจริง ทำจริง ประกาศรบแล้วต้องนำทัพ อย่างนี้ต้องติดตามผลงานตำรวจยุค “บิ๊กเด่น” อย่างใกล้ชิด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022