โศกนาฏกรรมตากใบ : ยังตามหลอกหลอนนักการเมืองไทยทุกคน | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

โศกนาฏกรรมตากใบ

: ยังตามหลอกหลอนนักการเมืองไทยทุกคน

 

โศกนาฏกรรมตากใบแม้จะผ่านมา 18 ปีแต่ยังคงตามหลอกหลอนนักการเมืองไทยทุกคน และจะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่ชายแดนภาคใต้และผู้ที่รักความยุติธรรม นักสิทธิมนุษยชน ที่จะตัดสินใจการลงคะแนนอย่างเแน่นอน

อย่างน้อยสองคนที่ได้รับผลกระทบคือ นายทักษิณ ชิณวัตร ผู้มีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทยทางพฤตินัย

อีกคนคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 1 ใน 3 ป.และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ ‘ทักษิณ’ ได้ขอโทษชาวมุสลิม 18 ปีตากใบ และชงถาม ‘บิ๊กป้อม’ ในฐานะ ผบ.ทบ. จะชดเชยยังไง

ส่วน ‘บิ๊กป้อม’ ปัดตอบปม ’18 ปีตากใบ’ และย้อนให้ไปถาม ‘ทักษิณ’

นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ สะท้อนต่อกรณีนี้ว่า

“เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รอยบาดแผลแห่งความอยุติธรรมนี้คงไม่มีวันเลือนหาย หรือถึงแม้หากผู้กระทำผิดจะถูกนำตัวมาลงโทษก็ตาม มันคงไม่สามารถลบล้างความอดสู และความไม่เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความละเอียดอ่อนในเชิงสังคมและการเมืองได้”

“แต่ที่เลวร้ายกว่า กลับพบว่า 18 ปีที่ผ่านมา รัฐไทยยังไม่ได้เรียนรู้จากบทเรียนและความละเอียดอ่อนในบริบทพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แต่อย่างใด ผมเดินทางรอบโลกและกลับมาทำงานอีกครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (แต่คนละบริบท) ผมยังเห็นว่ารัฐไทยยังย่ำอยู่กับการใช้รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและความละเอียดอ่อนของพื้นที่”

“รัฐไทยยังไม่สามารถถอดบทเรียนในการสร้างสันติภาพที่ควรใช้ Smart Power ให้ได้อย่างถูกบริบทกับพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย”

“ผมยังเห็นการขยายตัวและการสร้างอาณาจักรของหน่วยความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทั้งในรูปกำลังพล งบประมาณ และโครงสร้างที่ซ้ำซ้อนและยุ่งเหยิงของทางการไทย มันสะอึกจนไม่รู้จะพูดอย่างไรกับภาครัฐของไทย หากยังไม่เปลี่ยน อย่าหวังว่าสันติภาพที่อ้างว่าอยากเห็นจะบังเกิด”

“จากเหตุการณ์หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ผมขอรำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดและญาติของทุกคนที่ควรจะต้องได้รับการเคารพจากรัฐไทย และต้องเป็นวันที่เราต้องร่วมกันรำลึกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก”

“เหตุการณ์ตากใบจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกต่อไป หากเรามีสันติภาพที่แท้จริงในพื้นที่ และสันติภาพนี้ต้องเป็นสันติภาพที่กินได้ และมนุษยธรรมต้องนำการทหารและการเมืองด้วยครับ”

สําหรับทางออกที่ยั่งยืน นายกัณวีร์ สืบแสง บอกว่า

“จากการลงพื้นที่เพื่อเป็นการฟังเสียงศักดิ์สิทธิ์ (ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน) ควรทำสามอย่าง ‘เปลี่ยน สร้าง สู้’ เช่น การเปลี่ยนความมั่นคงทหาร ให้เป็นความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาความมั่นคงมายาวนาน รัฐทุ่มงบประมาณมาหลายแสนล้านบาท แต่กลับกลายเป็นว่า 18 ปีที่ผ่านมาประชาชนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ยังไม่ได้รับความยุติธรรม”

“การทหารต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทหารต้องทันสมัย ลด กระชับ และต้องเป็นสากล ยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนไม่ใช่อริราชศัตรู ที่ทหารต้องมีหน้าที่มาปราบปรามประชาชน ที่อาจจะมีการคิดต่าง หรือกลุ่มที่ต้องจับอาวุธเพื่อต่อสู้ตามอุดมการณ์ การแก้ไขปัญหาจึงต้องเข้าใจที่ประวัติศาสตร์ เข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธุ์ การมีตัวตนและอัตลักษณ์ ที่เราพยายามจะสร้างความเข้าใจตรงนี้ และเปลี่ยนให้ทหารมีความเข้าใจความเป็นมนุษย์ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในพื้นที่ด้วย”

“ควรผลักดันนโยบายจังหวัดจัดการตนเอง ที่ต้องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง การบริหารจัดการที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาสิทธิชุมชนและการบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ที่มีทั้งอำนาจการปกครองส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาจัดการกับกระบวนการพัฒนาที่ไม่ได้เอาประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง”

“ประเด็นเรื่อง สิทธิชุมชนให้เป็นวาระแห่งชาติให้ได้ คือ เปลี่ยน ให้ชุมชนกำหนดอนาคตพัฒนา แทนทุนใหญ่ และเปลี่ยน เสียงประชาชนเป็นนโยบายนำไปสู่การร่างกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วม ที่กำหนดเรื่องเปลี่ยนดังกล่าว เพื่อจะนำมาซึ่งการสู้เพื่อให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของชาติ และสู้เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพ”

 

ส่วนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเสนอ ต้องไม่ปล่อยวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล พ.ร.บ.ซ้อมทรมานที่ต่อสู้มาจะเป็นอีกหนึ่งทางออก ส่วนการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสู่กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ทั่วโลกยอมรับ

สำหรับผู้เขียนแล้ว มีทัศนะต่อความสำคัญของความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและสิทธิมนุษยชน ส่วนหนึ่งว่า

“ในช่วงที่ประเทศไทย ต้องตกอยู่ในวังวน ความขัดแย้งทั้งส่วนกลางและชายแดนใต้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย …กรอบความคิดเรื่องความเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการจัดทำและนำยุทธศาสตร์ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพกับประวัติศาสตร์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกว้างขวางซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้าน”

“คือ การค้นหาความจริง การนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ การช่วยซ่อมสร้างชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้เสียหาย (การชดใช้เยียวยา) และการสร้างหลักประกันว่าการละเมิดสิทธิ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก (การปฏิรูปเชิงสถาบัน)”