“10 ปี การเมืองไทย” ในมุมมอง 4 นักการเมืองต่างรุ่น

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

ราวสองเดือนที่ผ่านมา มติชนทีวีจัดทำซีรีส์บทสัมภาษณ์พิเศษ “10 ปี มติชนทีวี 10 ปี การเมืองไทย” เพื่อเผยแพร่ผ่านทางแพลตฟอร์มยูทูบ

ในโปรเจ็กต์นี้ เราได้สนทนากับ 4 นักการเมือง เริ่มจากกลุ่มผู้เล่นหลักในสนามการเมืองไทยช่วงทศวรรษหลัง คือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีต รมว.ยุติธรรม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย

อดีตนักการเมืองอาวุโสที่กลายมาเป็นผู้สังเกตการณ์วงนอกอย่าง “อุทัย พิมพ์ใจชน” อดีตประธานรัฐสภา

และตัวละครใหม่ที่กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันทบทวนว่า ตลอดสิบปีนี้ เราผ่านอะไรมาบ้าง? และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร?

เริ่มต้นที่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ซึ่งเห็นว่าการเมืองไทยในช่วง 10 ปีมานี้ ถ้าประเมินในแง่ประชาธิปไตย ต้องนับว่าถอยหลังไปหลายก้าว และยังไม่มีภาพชัดเจนว่าจะกลับไปเดินหน้าได้ในรูปแบบใด เร็วแค่ไหน

ส่วนกติกาของรัฐธรรมนูญก็กลับไปใกล้เคียงกับปี 2521 ขณะที่มิติของความขัดแย้งกลับเพิ่มมากขึ้น และคนในสังคมมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าประเทศจะเดินไปอย่างราบรื่นหรือไม่

สำหรับกรณีรัฐประหารที่เกิดขึ้น อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า สิ่งหนึ่งที่พูดแล้วคนอาจจะโต้แย้ง แต่ตนขอยืนยันว่าเราต้องช่วยกันพยายาม “ลดเงื่อนไข” ที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร เช่น ในปี 2557 ถ้าวันนั้นไม่มีเรื่อง “นิรโทษกรรมสุดซอย” คนอยากทำรัฐประหาร เขาจะเอาอะไรมาทำ

“ไม่ได้บอกว่าทำอันนี้แล้วสร้างความชอบธรรม แต่มันเป็นตัวที่เอื้อให้เกิดขึ้น คุณอาจจะมีหลักการยืนยันว่าจะเกิดอะไรขึ้นต้องไม่รัฐประหารก็ถูกต้อง แต่เราไม่ควรมีความรับผิดชอบในการที่จะไม่สร้างเงื่อนไขด้วยหรือ? เพราะเรารู้อยู่แล้วมีคนพร้อมจะอ้างเงื่อนไขบางประการเข้ามา”

ในมุมเดียวกัน ชัยเกษม หนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ในบรรยากาศการยึดอำนาจปี 2557 เห็นต่างว่า ต่อให้รัฐบาลใดทำไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ก็ไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

เขาเห็นว่า ถ้ารัฐบาลไหนไม่ดี มีพฤติกรรมทุทริต ทางออกตามกฎหมายก็มีอยู่แล้ว ถ้าทุจริตถูกศาลลงโทษ และประชาชนก็ไม่เอารัฐบาลนั้นได้อีกจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ

ด้านอดีตประธานรัฐสภาอย่างอุทัยมองว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารและปล่อยให้สังคมการเมืองคลี่คลายไปเอง สุดท้ายทุกอย่างก็จะเข้ารูปเข้ารอย กรณีรัฐประหารปี 2557 เขาเชื่อว่ามีเรื่องที่แฝงอยู่เยอะ มีการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว แต่ “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ในมุมมองนักการเมืองรุ่นเก๋านั้นอยู่ที่การรัฐประหารปี 2549

อุทัยมองว่า การยึดอำนาจคราวนั้น “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผู้นำรัฐประหารอ้างว่ากลัวคนจะมาตีกันและเกิดเหตุนองเลือด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว คะแนนนิยมของอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เคยพุ่งสูง ได้ตกต่ำลงอย่างชัดเจนในปี 2549

ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่มีรัฐประหาร ต่อให้มีประชาชนออกมาปะทะกัน สุดท้ายก็ต้องเลิก หากเกิดเหตุร้ายแรงก็ให้ตำรวจดูแลสถานการณ์ไป หากความขัดแย้งลุกลามห้ามไม่ได้ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ทหารมาช่วยควบคุมได้

แต่ถ้าในขั้นตอนท้ายสุด เราปล่อยให้กระบวนการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ตามปกติ ทักษิณอาจเป็นฝ่ายแพ้ โดยที่ทุกอย่างยังเดินไปตามระบบอันถูกต้อง

ทว่า เมื่อมีการใช้อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมือง ผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตามมาจึงได้แก่ รัฐประหารปี 2557

ฟากนักการเมืองหน้าใหม่ เช่นธนาธรก็ยืนกรานว่า การแก้ปัญหาเรื่องรัฐประหารต้องตั้งต้นจากการปฏิรูปกองทัพ

แม้บางฝ่ายจะมองมุมกลับว่านโยบายปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปด้านอื่นๆ ของพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล อาจกลายเป็นชนวนที่เรียกทหารออกมาทำรัฐประหารเสียเอง แต่ประธานคณะก้าวหน้ายืนยันว่าหน้าที่สำคัญของพรรคการเมืองคือการพูดความจริงกับสังคม

เขาตั้งคำถามว่า เราจะตั้งพรรคการเมืองไปทำไม? ถ้าไม่มีสังคมที่เราปรารถนาอยากเห็นและอยากจะขับเคลื่อนสังคมไปทางนั้น

ขณะเดียวกัน ธนาธรไม่ปฏิเสธว่าการสร้างสังคมแบบที่เขาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ต้องการ จะต้องดำเนินผ่านการจัดสรรอำนาจกันใหม่ ซึ่งย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย

“ก็ต้องพูดกับเขาตรงๆ ว่า (ถ้า) ประเทศไทยเป็นอย่างนี้ เดินหน้าอย่างนี้ต่อไป เราไม่สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิต ไม่สามารถสร้างประเทศไทยที่เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศได้”

 

เมื่อชวนคุยถึงความคาดหวังต่ออนาคตของสังคมการเมืองไทย อภิสิทธิ์เสนอสิ่งที่ควรทำไว้หลายประเด็น อาทิ การตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ให้ได้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป, การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยทำประชามติถามประชาชนไปพร้อมกับการเลือกตั้ง, นิรโทษกรรมคดีความผิดทางการเมือง

และต้องดึงสถาบันหลักของชาติออกจากความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ เพื่อลดเงื่อนไขที่จะกระทบความรู้สึกของคนอีกกลุ่ม

ธนาธรยืนยันเป้าหมายสำคัญของเขา ในการทำให้ทรัพยากรในสังคมได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ซึ่งแน่นอนว่าต้องแตะไปที่โครงสร้างของสังคม

“คำตอบจากการเดินทาง 44 ปีในชีวิตของผม ก็คือ โครงสร้างอำนาจรัฐมันไม่อนุญาตให้เราแก้ไขปัญหาเชิงประเด็นได้ ดังนั้นสำหรับพวกเรา ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาเชิงประเด็นต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน และมันจะแก้ไขได้ จำเป็นจะต้องมีระบบรัฐสภาที่ดี จำเป็นจะต้องมีประชาธิปไตยเพื่อเป็นพื้นที่ให้คนแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน

“ใช้กลไกที่สันติที่สุดที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาได้ ก็คือกลไกรัฐสภา ในการแก้ไขข้อพิพาทความเห็นต่างในสังคม”

อดีตอัยการสูงสุดอย่างชัยเกษมยอมรับว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยคนหมู่มาก ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างรวดเร็วชนิดพลิกฝ่ามือโดยทันที แต่ความเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆ เกิดขึ้น เมื่อประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พิจารณาความเป็นไปได้ของนโยบายและผลงานที่ผ่านมาของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างจริงจัง

ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการรัฐประหารยังไม่ได้ให้อะไรกับบ้านเมืองเท่าที่ควรจะเป็น แต่แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยเมื่อปี 2562 ยังหวังว่า ถ้าต่อไปรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยได้ครองอำนาจ ประชาชนจะมีปากเสียงและมีโอกาสได้เรียกร้องความต้องการของตนเองมากขึ้น

ขณะที่อดีตประธานอุทัยฝากข้อคิดถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า “โลกมีการเปลี่ยนแปลง คนเคยยืนอยู่ที่เดิมต้องขยับ อย่าคิดว่าจะยืนอยู่ตรงนี้ได้ตลอดไป การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นข้างล่างอย่างรวดเร็ว ปัญหาว่าข้างบนพร้อมจะปรับไหม? คนมีอำนาจต้องรู้จักปรับ ข้างล่างเขาคิดเปลี่ยน ข้างบนต้องคิดปรับ ปรับให้มาเจอกับข้างล่างให้ได้ ไม่ใช่ปรับหนี”