‘ศาสนาผี’ หญิงมีสถานะสูงกว่าชาย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ในศาสนาผียกย่องหญิงมีสถานะสูงกว่าชาย หรือหญิงมีอำนาจเป็นใหญ่เหนือชาย เพราะ

(1.) ผู้หญิงเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน (ส่วนผู้ชายเป็นผู้อาศัย)

(2.) ผู้หญิงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผี (ส่วนผู้ชายอยู่นอกพิธีกรรม) และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom)

(3.) พิธีแต่งงาน หญิงเป็นเจ้าสาว แปลว่า ผู้เป็นนาย (ส่วนชายเป็นเจ้าบ่าว แปลว่า ผู้รับใช้)

(4.) สายโคตรตระกูลสืบทางฝ่ายหญิง (ดังนั้น สมัยโบราณการสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามสายแม่ จึงมีระบบวังหลวงกับวังหน้ามักเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน)

(5.) เรื่องเล่าหรือคำบอกเล่าสมัยเริ่มแรกถูกบอกเล่าโดยหญิง และโดยทั่วไปหญิงที่บอกเล่าได้รับยกย่องเป็นร่างทรงของผีฟ้า เมื่อผีฟ้าลงทรงแล้วเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์

(6.) ได้รับยกย่องเป็นมด หรือหมอมด หมายถึงผู้มีพลังอำนาจสูงส่ง (เหนือผู้ชาย) เพราะผู้หญิงมีมด คือช่องคลอดที่บันดาลความมีชีวิตของมนุษย์คือลูก (ซึ่งผู้ชายทำไม่ได้)

หญิงมีสถานะสูงกว่าชายหลายพันปีมาแล้ว ดูจากโครงกระดูกเพศหญิง “เจ้าแม่โคกพนมดี” ราว 3,000 ปีมาแล้ว (พบที่บ้านโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอยราว 120,000 เม็ด แล้วยังมีวัตถุสัญลักษณ์แสดงอำนาจ เช่น แผ่นวงกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ และเครื่องประดับศีรษะ ฯลฯ (ภาพจาก สยามดึกดำบรรพ์ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์ สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542)

ส่วนหมอ หมายถึง ผู้ชำนาญในการใดการหนึ่ง เช่น ชำนาญการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยพิธีกรรมทางศาสนาผี (บางทีถูกเรียกว่าหมอผี) เป็นต้น ดังนั้น หญิงผู้บอกเล่าบางทีถูกเรียกควบรวมว่ามดหมอ หรือหมอมด (ซึ่งยังไม่พบนิยามหรือคำอธิบายตรงไปตรงมามากกว่านี้)

หมอมดบางสถานการณ์ต้องทำหน้าที่หมอขวัญ เพื่อทำขวัญ (หมายถึง สู่ขวัญ, เรียกขวัญ, ส่งขวัญ) คือการสื่อสารกับผีฟ้าช่วยบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ผู้รับทำขวัญ หรือให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันของคนทั้งชุมชนซึ่งร่วมพิธีกรรมนั้น

ร่างทรงแต่งคล้ายหญิง 3 คน เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว นุ่งยาวปล่อยชายสองข้าง มีเครื่องประดับเป็นขนนกและใบไม้สวมหัว ร่วมกันขับลำคำคล้องจองแล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบ [ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพเมืองดงเซิน ริมแม่น้ำซองมา จ.ถั่นหัว เวียดนาม]

เข้าทรง

ศาสนาผีเชื่อว่าผีกับคนติดต่อสื่อสารกันได้ โดยผ่านการเข้าทรงของร่างทรงหรือคนทรง มีความหมายดังนี้

(1.) เข้าทรงหมายถึงขวัญของคนตาย คือผีหรือผีขวัญเข้าสิงสู่ร่างของผู้รับการเข้าสิงซึ่งเป็นหญิง เรียกร่างทรงหรือคนทรง

(2.) ร่างทรงเป็นสื่อหรือตัวกลาง (medium) ซึ่งผีอาศัยชั่วคราวในการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์หรือคนในชุมชน

(3.) หญิงที่เป็นร่างทรงผีฟ้าต้องเป็นบุคคลพิเศษ มีสายตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือชนชั้นนำ ที่รับสืบทอดจากร่างทรงก่อนหน้านั้นจึงรอบรู้คำทำนายทั้งหลาย

ผีฟ้า มีอำนาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า เป็นแหล่งรวมพลังขวัญของคนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ (ต่อมาผีฟ้าถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน ซึ่งได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า)

(4.) การกระทำและข้อความทำนายทายทักของร่างทรง ถูกทำให้เชื่อว่าล้วนเป็นจริงจากผีซึ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ

(5.) คำทำนายเกี่ยวข้องการทำมาหากินและโรคภัยไข้เจ็บที่จะมีหรือไม่มีในข้างหน้า เพื่อชุมชนเตรียมรับมือล่วงหน้า

(6.) การเข้าทรงและมีคำทำนายเป็นพิธีกรรมรวมหมู่เพื่อคลายความตึงเครียดของคนทั้งชุมชนเกษตรกรรม “ยังชีพ” ที่ล้าหลังทางเทคโนโลยี ต้องพึ่งพาน้ำฟ้าน้ำฝนตามฤดูกาลที่ผันแปรตลอดเวลา โดยไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าด้วยตนเอง

ข่วงผีฟ้าของชุมชนลาวบ้านตะขบ ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา (ภาพจาก ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ร้อยเอ็ด)

ร่างทรง

คําทำนายเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ เป็นความทรงจำที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์ตรงหลายชั่วอายุของคนในตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือคนชั้นนำ ซึ่งถ่ายทอดด้วยวิธีบอกเล่าปากต่อปากเป็นที่รับรู้ทั่วไป

ดังนั้น ผู้หญิงที่เป็นร่างทรงผีฟ้าต้องเป็นบุคคลพิเศษที่มีสายตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือคนชั้นนำ จึงเป็นเจ้าพิธีทำขวัญ (หมายถึงสู่ขวัญ, เรียกขวัญ, ส่งขวัญ) เพื่อบอกผีฟ้าบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ผู้รับทำขวัญ หรือให้คนทั้งชุมชนมีความร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

[ประเพณีอีสานเรียกเข้าทรงว่า “เทียม” (หมายถึงไม่แท้) และเรียกร่างทรงว่า “นางเทียม” (หมายถึงไม่ใช่ร่างแท้) หรือ “ล่าม” (หมายถึงตัวกลาง) ส่วนประเพณีล้านนาเรียกร่างทรงว่า “ม้าขี่” (ไม่รู้หมายถึงอะไร?)]

จากร่องรอยความเป็นมาทั้งหมดนั้น ทำให้เชื่อว่าร่างทรงซึ่งเป็นผู้หญิงมีพลังอำนาจติดต่อสื่อสารได้กับผีฟ้าคือหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดีโครงกระดูกเพศหญิงเรียก “เจ้าแม่โคกพนมดี” ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ขุดพบที่บ้านโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) และรูปพิธีเข้าทรงมีขับลำคลอแคนและฟ้อนหลายพันปีมาแล้ว (ลายเส้นบนเครื่องมือสำริดพบที่เมืองดงเซิน เวียดนาม)