วัฒนธรรมนิวเคลียร์ที่อาจเปลี่ยน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

วัฒนธรรมนิวเคลียร์ที่อาจเปลี่ยน

 

นักวิเคราะห์ข่าวฝรั่งแสดงความเห็นว่า เมื่อประธานาธิบดีปูตินแถลงว่าพร้อมจะใช้ระเบิดนิวเคลียร์ หากความมั่นคงของรัสเซียถูกคุกคาม โลกได้ก้าวเข้าสู่ความเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงพอๆ กับเมื่อเกิดวิกฤตคิวบาสมัยครูสชอฟและเคนเนดี้เมื่อ 60 ปีมาแล้ว

แต่ผมคิดว่ายังห่างกันไกล เพราะครั้งนั้นฝ่ายหนึ่งชักปืนขึ้นมาแล้ว ด้วยการเอาจรวดและหัวรบนิวเคลียร์ไปวางไว้ปากประตูบ้านของนักเลงอีกฝ่าย ทางเลือกเหลืออยู่แค่จะเอาจรวดและหัวรบออกไป หรือพร้อมจะรบเพื่อปกป้องคิวบาและจรวดของตน พูดอีกอย่างหนึ่งคือจะเก็บปืนเข้าซอง หรือพร้อมจะลั่นไกทันทีที่อีกฝ่ายขยับ

ถ้าไม่อยากดวล ก็เพียงขอให้ได้เก็บปืนเข้าซองได้โดยไม่เสียหน้าเท่านั้น และแน่นอนว่าอีกฝ่ายหนึ่งย่อมพร้อมจะสร้างโอกาสไม่เสียหน้าขึ้นมา เพื่อยุติการท้าดวลลงเสียก่อน

 

พูดกันมาตั้งแต่สงครามเย็นแล้วว่า อาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่มหาอำนาจต้องครอบครอง แต่เมื่อครอบครองแล้วก็อย่าได้ใช้เป็นอันขาด อาวุธนิวเคลียร์มีไว้พัฒนา แต่ไม่ได้มีไว้ใช้จริง ฉะนั้น มหาอำนาจจึงต้องแข่งกันในด้านสมรรถนะของพาหะที่จะนำอาวุธนิวเคลียร์ไประเบิดในบ้านศัตรู เช่น เรือดำน้ำ, จรวดนำวิถี… โค้งบ้าง, ตรงบ้าง, ร่อนบ้าง, …, อันล้วนเป็นอาวุธที่ต้องมีแต่ต้องไม่ใช้ทั้งนั้น

แม้กระนั้น ก็ไม่มีฝ่ายใดเชื่อได้สนิทใจว่าอีกฝ่ายจะไม่ใช้ ดังนั้น ต่างจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะกดปุ่มได้ทุกวินาที โดยไม่มีวิกฤตอะไรเลย โลกเราก็เสี่ยงที่จะถูกทำลายในพริบตาด้วยเหตุที่ไม่มีใครคาดได้อยู่แล้ว เพราะหากต้องกดปุ่มกันแล้ว ทุกฝ่ายย่อมต้องการเป็นผู้กดก่อน ทั้งๆ ที่ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะได้เปรียบสักกี่มากน้อยเพียงไร

ด้วยเหตุของความเปราะบางที่น่าหวาดเสียเช่นนี้ กลายเป็นข้อตกลงโดยไม่ต้องเจรจากันว่า ทุกฝ่ายต้องพยายามหลีกเลี่ยงจะพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ ในทำนองที่อีกฝ่ายอาจเข้าใจได้ว่าข่มขู่ เพราะเขาย่อมตอบโต้ ข่มกันไปข่มกันมา ก็จะนำไปสู่จุดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลือกการกดปุ่มจนได้

ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเตรียมการ เตรียมหลอกๆ เพื่อยืนยันว่ากูไม่ล้อเล่นนะเฟ้ย อีกฝ่ายก็ต้องทำอย่างเดียวกัน จึงเกิดความจำเป็นต้องยกระดับ (escalate) “ไม่ล้อเล่นนะเฟ้ย” ให้ดูน่าเชื่อมากขึ้นไปอีก เดี๋ยวเดียวก็ถึงจุดที่ถอยไม่ได้เสียแล้ว

และถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริงเมื่อไร ก็อย่างที่ใครๆ ก็เดาได้นะครับ อาจเป็นจุดสิ้นสุดของอารยธรรมมนุษย์ หรืออย่างน้อยก็ต้องถอยกลับไปสู่ยุคก่อนอารยธรรมอยู่เป็นศตวรรษทีเดียว

นิวเคลียร์จึงเป็นคำหยาบที่นักเลงจริงเขารู้กันว่า ไม่ต้องงัดขึ้นมาพูดในคราววิวาทกันเป็นอันขาด

 

ดังนั้น คำขู่ของปูติน จึงผิดแบบธรรมเนียมไปมาก จนก่อให้เกิดความหวั่นวิตกไปอย่างกว้างขวาง แม้เชื่อสนิทใจว่ารัสเซียจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (ระเบิดลูกโตๆ ที่ทำลายเมืองทั้งเมือง) แต่ก็เกรงว่ารัสเซียอาจใช้นิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (ระเบิดลูกเล็กหน่อย)

(ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามสมัยใหม่ของอังกฤษคนหนึ่ง ระบุว่า อาวุธนิวเคลียรทางยุทธวิธีก็ไม่มีประโยชน์อะไรแก่รัสเซียในการรบ เพราะแนวรบระหว่างรัสเซียและยูเครนด้านตะวันออกของยูเครนนั้น ยาวเป็นพันไมล์ หากใช้ตลอดแนวรบ จะควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีอย่างไร ไม่ให้ย้อนกลับไปทำร้ายทหารหรือพลเรือนรัสเซีย ถึงใช้เพียงบางส่วนของแนวรบ จะส่งทหารเข้าไปยึดครองพื้นที่นั้นอย่างไร)

นับเป็นโชคดีของมวลมนุษย์นะครับ ที่อาวุธนิวเคลียร์มิได้อยู่ในมือของมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น สงครามเย็นก็จะไม่ “เย็น” มาได้ถึงกว่า 40 ปี (ที่จริงสงครามเย็นนั้นอาจเย็นแก่มหาอำนาจ แต่ร้อนมากแก่ประเทศที่ต้องทำสงครามตัวแทนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ยังไม่พูดถึงสงครามเย็นทำให้เกิดความบิดเบี้ยวของการเมืองภายในในหลายประเทศทั่วโลก เป็นเหตุให้ประชาชนถูกกดขี่บีฑาอย่างไม่มีทางตอบโต้ได้เลย)

แต่ในโชคดี ก็เป็นโชคร้ายไปพร้อมกัน เพราะเมื่อมีคนริสร้างระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นก่อน การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ก็ไม่ยากอีกต่อไป เหลือแต่ความพร้อมในทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคมเท่านั้น ส่วนทางเทคโนโลยีไม่มีปัญหาแก่ประเทศที่ตั้งใจจะสร้างให้ได้

ในปีที่ผมจบการศึกษาในสหรัฐ มีข่าวว่านักเรียนปริญญาโทผู้หนึ่ง ทำวิทยานิพนธ์จบด้วยการทำวิจัยสร้างระเบิดนิวเคลียร์จากข้อมูลในห้องสมุด ประสบความสำเร็จครับ คือทำได้จริงทางฟิสิกส์และวิศวกรรม กรรมการวิทยานิพนธ์ยอมรับทุกคน (แต่แน่นอนออกมาเป็นกระดาษวิทยานิพนธ์นะครับ ไม่ใช่เป็นระเบิดจริงๆ)

มันง่ายอย่างนี้แหละครับ จึงทำให้อาวุธนิวเคลียร์ระบาดจากสองมหาอำนาจไปยังประเทศต่างๆ ในแทบจะทุกทวีป แถมประเทศเหล่านั้นล้วนไม่ใช่ “บริวาร” ของมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีนิวเคลียร์ไม่ใช่เพื่อร่วมกับฝ่ายใดในสงครามเย็น แต่เป็นความขัดแย้งท้องถิ่นหรือในภูมิภาคของตน ฉะนั้น ถ้าจะใช้นิวเคลียร์ก็ใช้ด้วยเหตุส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับมหาอำนาจ

 

แม้กระนั้น ถ้าประเทศเหล่านี้รบกันด้วยนิวเคลียร์ ก็จะเกิดผลกระทบกว้างไกล ทั้งผลของกัมมันตภาพรังสีซึ่งจำกัดขอบเขตไม่ได้ และผลของการเมืองระหว่างประเทศ ที่ทำให้การคุมเกมหลุดจากมือของมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายไปโดยสิ้นเชิง

ปัญหาดังกล่าวสองอย่างนี้ ผมขอเดาว่า (อาจด้วยอคติส่วนตัว) คนผิวขาวย่อมวิตกกังวลมากกว่าคนผิวสีอื่น เพราะถูกสอนอ้อมๆ มาแต่เกิดว่า คนผิวขาวรู้จักความรับผิดชอบดีกว่าคนผิวสี นิวเคลียร์ในมือคนผิวขาวซึ่งมีสมดุลระหว่างคู่ปรปักษ์ จึงเป็นอาวุธที่ไม่มีวันได้ใช้จริง เพราะต่างฝ่ายต่างก็รู้จักรับผิดชอบ

แต่เมื่อนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือของคนผิวสี เช่น จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, อิสเรล, อิหร่าน, เกาหลี และอาจตามมาอีกหลายประเทศผิวสีที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม

โดยผ่านองค์การสหประชาชาติ มหาอำนาจทั้งสองฝ่าย (แม้แต่ในช่วงที่สหภาพโซเวียตยังไม่ล่มสลาย) ก็สามารถชักจูง, โน้มนำ, ล็อกคอ ฯลฯ อีกหลายประเทศทั่วโลกให้ร่วมลงนามในการจำกัดการขยายการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ แม้กระนั้น ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น ไม่เคยลดลงเลย

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สงครามนิวเคลียร์ไม่ทำให้ฝ่ายชนะแตกต่างอะไรจากฝ่ายแพ้ คือพังยับทั้งคู่และอาจจะทั้งโลกด้วย ฉะนั้น นิวเคลียร์จึงได้ไม่คุ้มเสีย ที่พูดถึงความรับผิดชอบในการใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้น เอาเข้าจริงก็คือเมื่อคำนวณแล้ว ได้คุ้มเสียหรือไม่นั่นเอง

แต่ “ได้” คือได้อะไร และ “เสีย” คือเสียอะไร อาจคิดไม่ตรงกันนัก ผมคิดว่า มหาอำนาจนิวเคลียร์ในปัจจุบันคงคิดไม่ต่างกันนัก ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สหรัฐ, จีน, รัสเซีย, อินเดีย, ปากีสถาน, อิสเรล มีอะไรจะสูญเสียในสงครามนิวเคลียร์มากจนไม่คุ้ม แม้จะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม เพราะการโจมตีศัตรูของตนด้วยนิวเคลียร์จะทำให้ไม่สามารถจำกัดผลไว้เพียงศัตรูเสียหายเท่านั้น แต่จะดึงเอามหาอำนาจนิวเคลียร์อื่นเข้ามาเกี่ยวด้วยอย่างแน่นอน เช่น ถ้าอินเดียโจมตีปากีสถานด้วยนิวเคลียร์ จะกันไม่ให้จีนเข้ามาเกี่ยวคงไม่ได้ หรือรัสเซียโจมตียูเครนด้วยนิวเคลียร์ มีหรือที่สหรัฐและนาโตจะยอมอยู่เฉย

อย่างไรก็ตาม ความคิดว่าอะไรคือ “ได้” อะไรคือ “เสีย” นั้น ในบางช่วงอาจไม่ตรงกันเลยก็ได้

 

ศาสตราจารย์จูเลีย โลเวลล์ เล่าไว้ในหนังสือ Maoism, A Global History ของเธอว่า ในการประชุมคอมมิวนิสต์สากลที่มอสโกในปี 1957 ท่ามกลางตัวแทนประเทศต่างๆ เข้าร่วม 64 ประเทศ คำปราศรัยของประธานเหมากระทำขึ้นด้วยเจตนาจะป่วนโซเวียตหรือผู้นำโซเวียต (ครูสชอฟ) โดยแท้ ในขณะที่โซเวียตดำเนินนโยบายการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับฝ่ายทุนนิยม เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ เหมากลับแสดงวาทะว่า

“…เราลองจินตนาการดูเถิด ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ จะมีคนตายสักเท่าไร จากจำนวนพลโลก 2,700 ล้านคน หนึ่งในสามหรืออาจถึงครึ่งหนึ่งคงเสียชีวิตไป สมมุติว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด พลโลกตายไปครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ครึ่งที่เหลือยังรอดชีวิต แต่จักรวรรดินิยมย่อมถูกขูดทิ้งจนติดดินไปเลย และทั้งโลกก็จะกลายเป็นสังคมนิยม จากนั้นอีกไม่สักกี่ปี โลกก็จะกลับมีประชากร 2,700 ล้านคนอีก และต้องมีเพิ่มกว่านั้นด้วยซ้ำอย่างแน่นอน”

ผู้เข้าร่วมประชุมตะลึงจนนิ่งเงียบไปหมด กว่าจะได้สติคืนมา ตัวแทนจากเชโกสโลวะเกียและโปแลนด์ก็ลุกขึ้นท้วงว่า จีนมีประชากรมาก แต่พลเมืองของสองประเทศนี้คงอันตรธานไปหมดเลย และก่อนที่ประธานเหมาจะตอบอะไร ตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีก็ลุกขึ้นท้วงในทำนองเดียวกัน เหมาลุกขึ้นตอบอย่างเรียบๆ ว่า ก็แล้วใครบอกคุณเล่าว่าชาวอิตาเลียนต้องรอด จีนอาจเหลือรอดสัก 300 ล้านคน และนั่นก็พอแล้วที่มนุษยชาติจะสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป

ในขณะนั้น จีนเป็นมหาอำนาจทางนิวเคลียร์แล้ว แม้เป็นขั้นเริ่มต้น แต่ก็ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แม้จะยากจนข้นแค้นแสนสาหัส (ทั้งเพราะขาดการพัฒนาและเพราะนโยบายของผู้นำ) คำแถลงของประธานเหมาก็คือ พร้อมจะทิ้งไพ่หมดหน้าตัก ตราบเท่าที่ไม่มีอะไรในหน้าตักนัก

ผมสรุปเอาเองจากการอ่านงานของศาสตราจารย์โลเวลล์ว่า ลัทธิเหมามีเสน่ห์ดึงดูดใจอย่างแรงแก่บรรดาคนที่มีอะไรบนหน้าตักน้อยหรือไม่มีเลย ทั้งที่เป็นรัฐและเป็นบุคคลนะครับ ถึงจะมีลูกผู้ดีการศึกษาสูงเป็นผู้นำความเคลื่อนไหวตามลัทธิเหมาในหลายสังคม สาวกหรือสมาชิกของกลุ่มเหมาในประเทศต่างๆ ก็ล้วนเป็นคนที่ไม่มีอะไรบนหน้าตักทั้งนั้น

เหตุดังนั้น นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามมาจนทศวรรษ 1980 ตัวเหมาเอง, ลัทธิเหมา และประเทศจีน จึงเป็นที่หวาดระแวงแก่มหาอำนาจอื่น ทั้งสองฝ่ายเสียด้วยนะครับ เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิดสงครามล้างโลกขึ้นมาได้ อันเป็นมหาภัยแก่ทุกฝ่ายที่มีอะไรบนหน้าตักมากๆ

นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบ” ทางนิวเคลียร์เบื้องแรกเลย คือไม่ใช้และไม่เอามาขู่กัน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ “ผีผลัก” ได้ คำแถลงของปูตินจึงหยาบคายมากในสายตาของมหาอำนาจนิวเคลียร์ตะวันตก

 

การแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้รัฐที่ครอบครองนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นจากสองมหาอำนาจคือสหรัฐและโซเวียตเป็นจำนวนหลายประเทศ จากยุโรปตะวันตกซึ่งถูกสมมุติว่ามี “ความรับผิดชอบ” สูง และมีอะไรบนหน้าตักมาก ไปยังประเทศที่ไม่ค่อยมีอะไรบนหน้าตัก และยังไม่ได้พิสูจน์ตัวว่ามี “ความรับผิดชอบ” ทางนิวเคลียร์พอ เช่น อินเดีย, ปากีสถาน, อิสเรล, เกาหลีเหนือ และอาจจะรวมอิหร่านด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หลายประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์ก็พิสูจน์ตนเองให้เป็นที่วางใจได้ รวมทั้งหน้าตักก็มีอะไรมากขึ้นหรือได้พบศักยภาพที่จะมีอะไรมากขึ้นในอนาคตไม่ไกลข้างหน้า เช่น อินเดียและปากีสถาน ในระยะแรกมหาอำนาจผิวขาวห่วงไยว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน แต่กาลก็พิสูจน์แล้วว่า ทั้งสองประเทศรู้จัก “รับผิด-ชอบ” ทางนิวเคลียร์ไม่แพ้มหาอำนาจนิวเคลียร์รุ่นเดิม ในขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศก็มีอะไรบนหน้าตักเพิ่มขึ้นมาก

สมาชิกหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจว่าจะรู้จักรับผิดชอบก็คือเกาหลีเหนือ และอิหร่าน (ซึ่งอาจจะมีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว หรืออีกไม่นานข้างหน้า) ท่าทีแข็งกร้าวและใฝ่สงครามของผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งแสดงออกอย่างสม่ำเสมอมาหลายปีแล้ว และการตีความคำสอนในศาสนาอิสลามไปในเชิงเด็ดขาดอย่างไม่ประนีประนอมเลยแม้แต่กับความเปลี่ยนแปลงของโลกของผู้นำศาสนาในอิหร่าน ยิ่งทำให้มหาอำนาจนิวเคลียร์ทุกฝ่ายต่างหวาดระแวงสองชาตินี้ ว่าจะเป็นเหตุนำไปสู่สงครามล้างโลกได้

อย่างกรณีเกาหลีเหนือนั้น ไม่เฉพาะแต่สหรัฐเท่านั้นที่ไม่พอใจ แม้แต่จีนก็ไม่สบายใจเช่นกัน เพราะอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือตั้งอยู่ปากประตูบ้านของจีนด้วย อีกทั้งท่าทีแข็งกร้าวของผู้นำยังทำให้สหรัฐต้องวางกำลังของตนไว้ในแปซิฟิกตะวันตก หรือเอเชียตะวันออก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง รวมทั้งพันธมิตรญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย จึงเท่ากับดึงเอามหาอำนาจนิวเคลียร์มาจ่ออยู่ปากประตูของจีนเช่นกัน จีนอยากจะปกป้องเกาหลีเหนือด้วยนิวเคลียร์ของจีน มากกว่าที่จะให้เกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์ของตนเอง ที่เป็นอิสระจากการควบคุมของจีน

อาวุธนิวเคลียร์และท่าทีเช่นนี้ย่อมยั่วยุให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นคิดจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เอง ทั้งสองประเทศมีความพร้อมจะมีเมื่อไรก็ได้เสียด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกคนที่อยู่ในเอเชียตะวันออกล้วนนั่งอยู่บนระเบิดถ้วนหน้าเลยทีเดียว แม้แต่ข้อตกลงระหว่างประเทศที่สหประชาชาติจัดให้เวลานี้ ก็อาจไม่เพียงพอจะประกันความปลอดภัยจากนิวเคลียร์ให้ประเทศใดได้ และอย่างว่าแหละครับ ยิ่งเสียว ยิ่งพร้อมจะกดปุ่ม

หลังจากฮิโรชิมาและนางาซากิแล้ว อาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่เคยถูกใช้อีกเลย แต่ประเทศที่ครอบครองกลับเพิ่มขึ้นตลอดมา เกิดวัฒนธรรมของการเมืองระหว่างประเทศที่ประเทศต่างๆ แข่งขันการครอบครองและเพิ่มสมรรถนะของอาวุธนิวเคลียร์ โดยทุกฝ่ายรู้ว่าจะใช้จริงไม่ได้ แม้แต่คุยโตโอ้อวดก็ยังอันตราย ถ้อยแถลงของปูตินในสงครามกับยูเครนครั้งนี้เปลี่ยนเกมของนิวเคลียร์ และทำให้โลกใบนี้ตกอยู่ในอันตรายจริงอย่างที่นักวิเคราะห์ข่าวแสดงความเห็นไว้