เสียงเพรียกจากคธูลู The Call of Cthulhu | การ์ตูนที่รัก

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

เสียงเพรียกจากคธูลู The Call of Cthulhu

 

เรื่อง เสียงเพรียกจากคธูลู ของ เอช พี เลิฟคราฟต์ นี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Weird Tales ปี 1928 คือนิตยสารเจ้าประจำที่ โรเบิร์ต อี โฮเวิร์ด ได้ตีพิมพ์ โคแนน ยอดคนแดนเถื่อน เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นก่อน เงาทมิฬเหนืออินสเมาธ์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1936 นานถึงแปดปี

หากเงาทมิฬเหนืออินสเมาธ์ให้บรรยากาศเหมือนงานของสตีเฟน คิง หรือหนังแดนสนธยาดังที่เขียนถึงในฉบับที่แล้ว นั่นคือเล่าเรื่องราวของเมืองลึกลับ เสียงเพรียกจากคธูลูนี้ก็ชวนให้คิดถึงหนังอย่าง ดิ เอ็กซ์ไฟล์ หรือขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ภาค 4 ที่เล่าเรื่องการตามรอยเทวรูปโบราณไปจนถึงสุดทางอันอลังการและยิ่งใหญ่เกินจินตนาการของมนุษย์ แต่ดังที่ทราบกันว่าเลิฟคราฟต์มาก่อนทุกคน นี่คือเหตุที่เขียนกันว่างานของเขาต่างหากที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนเรื่องลึกลับจำนวนมากในภายหลัง แต่ว่าชะตากรรมของเขาไม่ต่างจากโฮเวิร์ด นั่นคือไม่มีชื่อเสียงขณะมีชีวิตอยู่ ชีวิตรันทดและอายุสั้น

เสียงเพรียกจากคธูลูประกอบด้วยสามภาค เสน่ห์อยู่ที่กลวิธีการเขียนที่ล่อหลอกอย่างจริงจังด้วยข้อมูลสนับสนุนน่าเชื่อถือทั้งที่เป็นเรื่องจริงและเรื่องแต่ง แม้จะเป็นเรื่องสั้นที่มี “น้ำหนัก” ดีมากแต่ก็น่าจะเป็นรองเงาทมิฬเหนืออินสเมาธ์ซึ่งสมบูรณ์แบบอย่างยิ่งทั้งวิธีเขียนและเนื้อเรื่อง วันนี้มีแปลไทยโดย นภ ดารารัตน์ สำนักพิมพ์เวลา

ตัวสะกดในบทความนี้ใช้ตามที่ฉบับแปลไทยใช้ อีกทั้งยกสำนวนแปลบางตอนมาไว้ด้วย

แล้วก็เป็นเช่นเดียวกับเงาทมิฬเหนืออินสเมาธ์อีกเช่นกัน นั่นคือหนังสือกราฟิกโนเวลที่ผมมีเป็นลายเส้นแบบคอมิกส์แท้ๆ มิหนำซ้ำยังลงสีสว่างไสวให้ความรู้สึกเบาๆ ต่างจากงานเขียนต้นฉบับที่จะรู้สึกเหมือนคธูลูกดทับเราอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม น่าจะเหมาะสำหรับผู้ที่ยังรู้สึกว่าบทพรรณนาของเลิฟคราฟต์ยืดยาวจนยอมแพ้ มาอ่านการ์ตูนก่อนก็ง่ายดีครับ

ดัดแปลงและวาดภาพโดย Dave Shepard เป็นหนังสือปกแข็งทำอย่างประณีต มีเรื่อง Dagon ซึ่งเป็นงานเขียนปี 1919 ของเลิฟคราฟต์ที่เอ่ยถึงคธูลูเป็นครั้งแรกรวมอยู่ด้วย ว่ากันว่าเรื่องคธูลูนี้เลิฟคราฟต์ได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันของเขาเองที่เกี่ยวกับเรื่องความเก่าแก่ของงานศิลปะ กับตำนานเรื่อง คราเคน (Kraken) ที่พูดถึงอสูรขนาดมโหฬารใต้ท้องทะเล

กราฟิกโนเวลเล่มนี้เริ่มต้นด้วยความฝันของเฮนรี่ วิลค็อกซ์ ต่างจากหนังสือต้นฉบับที่เริ่มเรื่องด้วยการถึงแก่กรรมของโปรเฟสเซอร์จอร์จ แกมเมล แองเกลล์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านกลุ่มภาษาเซมิติกแห่งมหาวิทยาลัยบราวส์ เมืองโพรวิเดนซ์ มลรัฐโรดไอส์แลนด์

วิลค็อกซ์เป็นช่างปั้น เขาฝันร้ายกระสับกระส่ายเห็นสัตว์ประหลาดสีเขียวที่มีหัวมนกลม มีหนวดปลาหมึกแผ่ออกโดยรอบ กับฉากหลังที่เป็นเมืองซึ่งสร้างด้วยบล็อกหินขนาดมหึมา เมื่อตื่นมาเขาปั้นภาพสลักนูนต่ำขึ้นภาพหนึ่งตามความฝันนั้นแล้วนำไปให้โปรเฟสเซอร์แองเกลล์ดู

วิลค็อกซ์บอกกล่าวแก่แองเกลล์ว่า “นี่เป็นของใหม่ครับ ผมเพิ่งทำขึ้นมาเองเมื่อคืน หลังจากฝันเห็นเมืองแปลกๆ ที่ไม่เหมือนกับที่ไหนๆ ในฝันที่เห็นเก่าแก่ยิ่งกว่าไทร์สฟิงซ์ หรือบาบิโลนที่มีสวนกับอุทยานล้อมรอบอีกครับ” สำนวนแปลโดย นภ ดารารัตน์ ข้อความในหนังสือการ์ตูนว่า “…and dreams are older than brooding tyre or the complicated Sphinx or garden-girdled Babylon…” ข้อความตอนนี้จะถูกโคว้ตไปหลายที่เมื่อพูดถึงงานฝีมือใหม่ที่ได้จากความฝันที่เก่าแก่

การ์ตูนมิได้วาดภาพเมือกสีเขียวตามที่บรรยายในหนังสือ แต่จะใช้สีเขียวเมื่อวาดรูปสัตว์น่ากลัวและเมืองหินสูงตระหง่านนี้ หลังจากนั้นวิลค็อกซ์ฝันประหลาดติดต่อกันอีกหลายคืน เขามาเล่าความฝันให้แก่แองเกลล์ซึ่งตั้งอกตั้งใจบันทึกไว้อย่างละเอียดทุกครั้ง แองเกลล์ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระเพราะวิลค็อกซ์ไม่เคยรู้จักหรือเป็นสาวกของลัทธิใดๆ ในความฝันเหล่านี้มีเสียงบางอย่างล่องลอยจากใต้ดินซึ่งฟังไม่ออกเขียนมิได้อย่างชัดเจนเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม มีอยู่สองคำที่น่าจะเขียนออกมาได้ว่า Chthulu และ R’lyeh

แล้ววิลค็อกซ์ก็หายไป เขาอยู่ในอาการโคม่าสิบวันระหว่างวันที่ 23 มีนาคม ถึง 2 เมษายน ปี 1925 และอยู่ใต้การดูแลของนายแพทย์โทบี้ หนังสือการ์ตูนตัดข้ามไปที่เดือนพฤศจิกายนปี 1926 เมื่อแองเกลล์ถูกชายผิวดำลึกลับคนหนึ่งวิ่งชนถึงแก่ชีวิต แพทย์และตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นเพราะหัวใจล้มเหลวแล้วไม่ติดใจอะไร แต่หลานชายติดใจ

หลานชายของแองเกลล์คือโปรเฟสเซอร์เธอร์สตัน เข้ามาช่วยดูแลทรัพย์สินหลังการตายของผู้เป็นลุง เขาค้นพบเอกสารที่บันทึกความฝันของวิลค็อกซ์กับเรื่องราวมากมายที่แองเกลล์บันทึกไว้เกี่ยวกับคธูลู นอกจากนี้เขายังพบข่าวตัดหนังสือพิมพ์จากทั่วโลกที่รายงานเหตุการณ์สยองขวัญหลากหลายรูปแบบระหว่างที่วิลค็อกซ์อยู่ในอาการโคม่า

เธอร์สตันเดินทางไปพบนายแพทย์โทบี้ซึ่งยืนยันว่าสิบวันที่วิลค็อกซ์ไม่รู้สึกตัวนั้นเขามีไข้จริงแม้จะวัดปรอทไม่ขึ้น คุณหมอไม่คิดว่าเขาจะมีอาการทางจิต เธอร์สตันตามไปพบวิลค็อกซ์ซึ่งให้การว่าหลังตื่นจากโคม่าเขาไม่เคยฝันอีกเลย

แต่ความฝันและเสียงเรียกจากเมืองที่น่ากลัวนั้นยังตามหลอกหลอนเขาอยู่

ภาคสอง เธอร์สตันสงสัยการตายของคุณลุง จึงเดินทางไปพบสารวัตรเลอกราสส์ตามบันทึกของคุณลุง ที่แท้สารวัตรเลอกราสส์เคยนำรูปเคารพประหลาดชิ้นหนึ่งมาปรึกษาแองเกลล์และสมาคมนักโบราณคดีที่หลุยส์เซียนาแล้วครั้งหนึ่ง ตามรายงานของเลอกราสส์เขายึดรูปเคารพนี้มาจากพิธีกรรมสยดสยองคล้ายวูดูในหนองลึกลับกลางป่าแห่งหนึ่งทางทิศใต้ของนิวออร์ลีนส์ตั้งแต่ปี 1908

ครั้งนั้นสารวัตรนำกำลังรวมยี่สิบคนบุกจู่โจมลัทธิบูชายัญมนุษย์ในชุมชนยากจนข้นแค้นที่สุดเท่าที่จะมีให้เห็นในสหรัฐ พวกตำรวจพบความบ้าคลั่งและซากศพถูกจับห้อยหัว ตำรวจล้อมจับผู้ต้องหาได้หลายสิบคนพร้อมของกลางน่ากลัวจำนวนหนึ่ง แต่ที่ชั่วร้ายชวนขนลุกมากที่สุดคือรูปเคารพนี้

“คือสัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างคล้ายมนุษย์แต่ส่วนหัวกลับดูคล้ายปลาหมึก แถมหน้าของมันยังเต็มไปด้วยหนวดอีกต่างหาก ร่างของมันก็ดูตันๆ คล้ายกับก้อนยางลบเพียงแต่เต็มไปด้วยเกล็ด อุ้งเท้าทั้งหน้าและหลังมีขนาดใหญ่มาก แถมข้างหลังยังมีปีกยาวๆ งอกออกมาด้วย แม้ว่าความกว้างของปีกอาจจะแคบไปบ้างก็เถอะ เจ้าสิ่งนี้ดูจะมีความชั่วร้ายผิดธรรมชาติอยู่ในตัว…” สำนวนแปล นภ ดารารัตน์ ตอนนี้ยาวประมาณหนึ่งหน้า ยามอ่านไม่เห็นรูปย่อมดีกว่าเมื่ออ่านการ์ตูนแล้วเห็นภาพ โดยสรุปแล้วรูปเคารพนี้ไม่ได้มาจากอารยธรรมใดๆ ที่รู้จักเลย อีกทั้งวัสดุที่ปั้นก็มิใช่แร่ธาตุอะไรที่รู้จักกันด้วย

ในประดาเพื่อนฝูงของแองเกลล์ มีวิลเลียม แชนนิ่ง เว็บ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ล้อมวงดูรูปเคารพนี้อยู่ด้วย เขาจำได้ว่าตนเองเคยพบพิธีกรรมชั่วร้ายสังเวยคนในชนเผ่าเอสกิโมโบราณเผ่าหนึ่งที่กรีนแลนด์เมื่อสี่สิบแปดปีก่อน และพบเห็นรูปสลักคล้ายๆ กันนี้พร้อมข้อความที่ออกเสียงไม่ได้แปลไม่ออก

แต่สารวัตรเลอกราสส์ซึ่งหมกมุ่นกับเหตุการณ์จู่โจมหนองน้ำครั้งนั้นมาตลอดได้สืบเสาะจนแปลออกมาได้แล้ว เสียงเพรียกนั้นมีความว่า “ที่บ้านของท่านในร’ลเยห์ คธูลูที่สิ้นไปแล้วรอคอยความฝัน” นั่นนำไปสู่ภาคที่สาม คือการเดินทางสู่นครลึกลับกับบรรยากาศดิเอ็กซ์ไฟล์อย่างน่าตื่นเต้นในตอนท้าย

คธูลูมาจากไหน อยู่ที่ไหน รอคอยอะไร ในความฝันของใคร

หนังสือของเลิฟคราฟต์ทำเป็นกราฟิกโนเวลมักลดทอนความดำมืดและหนักอึ้งลง แต่ถ้าเขียนเป็นมังงะเมื่อไรล่ะก็ -มีหนาว •

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์