มีด-พร้า (2) | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

มีด-พร้า (2)

 

‘พร้า’ คือ มีดขนาดใหญ่มีหลายแบบหลายชื่อ ส่วนประกอบของพร้าเป็นดังที่อาจารย์จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ บันทึกไว้ในหนังสือ “วัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อ” (จุฬาบริการชุมชน ลำดับที่ 9) ว่า

“ใบพร้ามีลักษณะแบนยาว ด้านหนึ่งบางเป็นข้างคม อีกด้านหนึ่งหนาเป็นข้างสัน โคนพร้ามีแกนเป็นกั่น (คือส่วนที่ถัดจากโคนอาวุธ) สวมติดกับด้ามทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้จริง รูปร่างเป็นท่อนกลมยาวพอจับถนัดมือ ส่วนปลายของพร้าตีเป็นรูปต่างๆ กันตามหน้าที่ใช้งาน”

พร้าจึงมีหลายแบบหลายชื่อใช้งานต่างๆ กันไป ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรรณ ให้รายละเอียดไว้ใน “พจนานุกรมหัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน” ดังนี้

“รูปร่างเพรียวยาวสำหรับถือ เรียก พร้ากราย หรือ มีดกราย ปักษ์ใต้เรียก พร้าโอ หรือ มีดโอ, ถ้าปลายเป็นขอสำหรับตัดหรือเกี่ยวเรียก พร้าขอ หรือ มีดขอ, ถ้าสันโค้ง หนา ด้ามสั้น เรียก พร้าโต้ มีดโต้ หรือ อีโต้, รูปร่างเพรียวยาว ปลายงอน เรียก พร้าหวด, ถ้าปลายตัดโค้งนิดๆ เรียก พร้าถาง”

 

วรรณคดีไทยเล่าถึง ‘พร้าโต้’ ไว้หลายที่ บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ในรัชกาลที่ 2 นางรจนาลักรูปเงาะของพระสวามีไปทำลายโดยใช้พร้าโต้และเผาไฟ

“ครั้นเห็นหิ้วหัวมาครัวไฟ ฉวยพร้าโต้ใหญ่เข้าเสี่ยงสับ

ฟันซ้ำร่ำไปมิได้นับ รูปเงาะไม่ยับยิ่งขัดใจ

เหน็ดเหนื่อยเมื่อยแขนสิ้นแรงเรี่ยว ทุดช่างหนังเหนียวน่าหมั่นไส้

นางโกรธาหาฟืนมาก่อไฟ เอารูปเงาะเข้าใส่ในอัคคี

แล้วฉวยเอาพร้ามาสับซ้ำ นางทำร้อยอย่างร้อยสี

อ้ายเงาะสัปดนทนสิ้นที เผาจี่เท่าไรไม่ไหม้มัน”

‘พร้าโต้’ มีด้ามตรง ใช้สำหรับสับฟัน อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ อธิบายไว้ใน “วัฒนธรรมพื้นบ้าน : คติความเชื่อ” ว่า

“พร้าโต้ ใบพร้าเป็นรูปโค้งขึ้นทางด้านสันทางตอนปลายพร้า ส่วนด้านคมนั้นริมเป็นเส้นตรง พร้าโต้มักทำสันให้หนากว่าพร้าชนิดอื่นๆ ส่วนด้ามทำเป็นท่อนกลมขนาดพอมือจับได้ถนัด พร้าชนิดนี้ใช้สำหรับผ่าไม้สับไม้กระบอกทำเป็นพื้นฟาก โดยเฉพาะใช้ส่วนที่เป็นสันหนาทุบลำไม้กระบอกให้แตกเป็นริ้วๆ ได้เป็นอย่างดีเพราะมีน้ำหนัก”

ทั้งยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในบทความเรื่อง ‘หัตถกรรมพื้นบ้าน’ จากหนังสือ “ร้อยคำร้อยความ” (สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2543)

“มีดโต้ มีดชนิดนี้มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ใบมีดรูปร่างคล้ายลูกน้ำเต้าผ่าเสี้ยว หัวโต สันหนา คมบาง โคนมีดแคบ ส่วนด้ามมักทำเป็นบ้องต่อออกไปแต่ตัวมีด ชนิดที่ทำด้ามเป็นกั่นสอดติดกับด้ามไม้ก็มี ขนาดสั้นพอมือจับกำได้ มีดโต้ขนาดใหญ่และขนาดกลางใช้ตัด ฟัน หรือผ่าไม้ทั่วไป ส่วนมีดโต้ขนาดเล็กมักใช้สำหรับกรีดหรือผ่าทุเรียน เป็นต้น

อนึ่ง มีดโต้นี้ชาวบ้านเรียกว่า ‘พร้าโต้’ หรือ ‘อีโต้’ ก็มี”

 

ตัวละครที่มี ‘พร้าโต้ใหญ่’ เป็นอาวุธคู่มือคือ ‘นางแก้วหน้าม้า’ นางมีสามคนในร่างเดียว หญิงหน้าเหมือนม้า สาวงาม และหนุ่มน้อย แปลงร่างโดยใช้ ‘พร้าโต้ใหญ่’ เป็นของวิเศษที่ได้จากพระฤๅษี

“ตรัสพลางทางหยิบพร้าโต้ใหญ่ ยื่นให้แก่นางโฉมศรี

มีฤทธิ์หนักหนาพร้าเล่มนี้ แม้นจะมีประสงค์สิ่งใด

ฤๅจะเปลี่ยนแปลงกายา ได้ดังจินดาพิสมัย”

นางแปลงกายเป็นหนุ่มน้อยไปช่วยพระพิณทอง สวามี แต่อีกฝ่ายกลัวจนหัวหด เข้าใจว่าเป็นศัตรู ดังที่บทละครนอกเรื่อง “แก้วหน้าม้า” บรรยายภาพพระเอกสติแตกไว้ว่า

“เมื่อนั้น หน่อกษัตริย์อกสั่นหวั่นไหว

สะดุ้งวับกลับตื่นตกใจ แล้วลุกไปแหวกช่องมองดู

แลเห็นเป็นรูปมาณพน้อย ถือพร้าโต้คอยขยับอยู่

ยักษ์แสร้งแปลงมาจะฆ่ากู เห็นจะอยู่แล้วกระมังครั้งนี้”

ความรักตัวกลัวตายทำให้ ‘ทรงธรรม์คลานไพล่เข้าใต้เตียง’

หนุ่มน้อยรอให้เปิดประตูอยู่นาน ‘จวนยักษ์จักมาไม่ช้าได้’ เกรงอันตรายจะมาถึงตัวพระสวามีก็รวมพลังกับพี่เลี้ยงทั้งสี่ของพระพิณทอง ‘ช่วยกันกึกกักผลักทวาร’ จน ‘ลิ่มหักผลักเผยเข้าไปได้’ มองหาทั่วห้องไม่เจอ เจอซ่อนอยู่ใต้เตียง ก็ร้องบอกว่า ‘มาช่วยให้พ้นภัยยักษ์ ไปอยู่ตรงนั้นทำไม รีบออกมาเดี๋ยวนี้’ พระพิณทองตั้งสติได้ร้องตอบเสียงสั่นระรัวว่า

“ยักษ์ฤๅมิใช่ได้เมตตา

จะออกไปไหว้กราบไม่หยาบคาย กลัวนายจะทำโทษา

พร้าโต้นั้นโตเต็มประดา วางเสียก่อนข้าจึงจะไป”

เพื่อให้พระพิณทองคลายความกลัว หนุ่มน้อยจึงยอมตาม

“ยิ้มพลางวางพร้าแล้วว่าไป เชิญเถิดมิใช่อสุรี”

พร้าโต้นั้นมีฤทธิ์สามารถเรียกอาวุธอื่นๆ และพาหนะมาเป็นตัวช่วยรบ

“ว่าพลางชูพร้าอาจารย์ นึกเอาบริวารศรพระขรรค์

พาชีมีเดชดังไฟกัลป์ ก็บังเกิดมาพลันทันใด”

หนุ่มน้อยใช้ทั้งม้าและธนูสู้พระยายักษ์ ก่อนเผด็จศึกด้วยพร้าโต้

“บัดนั้น อาชากล้าหาญชาญชัยศรี

เผ่นผกหกหันผันอินทรีย์ ชกกัดอสุรีพัลวัน

หันเหียนเวียนวนคำรนร้อง เคล่าคล่องเร็วแรงแข็งขัน

หางฟัดปากกัดกุมภัณฑ์ เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นเป็นโกลาฯ

เมื่อนั้น มาณพเหนื่อยพักหนักหนา

จึ่งก่งศรพาดสายหมายตา มิช้าก็ผาดแผลงไปฯ

ศรทรงต้ององค์อสุรินทร์ ตกต้องปัถพินหวั่นไหว

แล้วขว้างพร้าอาจารย์ชาญชัย ตัดเศียรยักษ์ใหญ่ทันทีฯ”

อิทธิฤทธิ์พร้าโต้ เบาเสียเมื่อไหร่ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร