คุยกับทูต | เยฟกินี โทมิคิน เรื่องเล่าจากรัสเซีย (1)

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน (CHANADDA JINAYODHIN)

[email protected]

 

คุยกับทูต : เยฟกินี โทมิคิน เรื่องเล่าจากรัสเซีย (1)

 

เมื่อไม่นานมานี้ ณ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซีย ตอบคำถาม ‘มติชนสุดสัปดาห์’ เกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครนและรัสเซีย, ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและรัสเซีย รวมทั้งการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022 Thailand) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กับการประชุมสุดยอดเอเปค-2565 (APEC-2022) ที่กรุงเทพฯ

“ก่อนอื่น ในนามของสหพันธรัฐรัสเซีย ผมขออวยพรให้ประเทศไทยและเพื่อนๆ ของเราในประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปคปีนี้ เพราะการได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสเช่นกัน เราตระหนักดีจากประสบการณ์ของเราเองเมื่อครั้งเป็นประธานเอเปค เมื่อปี 2555( APEC-2012)”

“เราได้รับคำเชิญอย่างเป็นทางการจากประเทศไทยแล้ว และจะพิจารณาอย่างดีที่สุด ในการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เมื่อใกล้จะถึงวันประชุม”

นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

ประเด็นที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการประชุมสุดยอดเอเปคปีนี้

“เอเปคมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือมาโดยตลอด ซึ่งเราหวังว่าภายใต้สภาวะในปัจจุบัน เอเปคจะสามารถมีอิทธิพลเหนือกระแสลบทั้งหมด และเราเชื่อว่าการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ จะสามารถช่วยลดความตึงเครียดในประชาคมโลก”

“สหพันธรัฐรัสเซียมีความกระตือรือร้นร่วมมือกับเอเปคด้าน Digitalization การนำข้อมูลดิจิทัลมาช่วยซึ่งจะทำให้การทำงานง่ายขึ้นเพราะเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นรากฐานที่ดีในการยกระดับการเชื่อมต่อในเอเชียแปซิฟิก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง ระเบียงโลจิสติกส์ ซึ่งเราจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับภาคเศรษฐกิจแบบเดิม ฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลภาคสารสนเทศ พัฒนาระบบการสื่อสารและระบบเครือข่าย รวมทั้งการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

“ในเรื่องนี้ การปฏิบัติตามแผนที่นำทางอินเตอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค (AIDER) จึงเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องให้ชุมชนธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมมองของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ซึ่งกล่าวถึงมาโดยตลอด”

“โดยปกติการหารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือในกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค ก็เพื่อแก้ไขความกดดันของโลกและปัญหาในภูมิภาค ซึ่งเราต้องยอมรับในข้อเท็จจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นวาระระดับโลกที่เป็นความท้าทายอย่างร้ายแรงยิ่ง”

“รายการผลิตภัณฑ์ตามความคิดริเริ่มของรัสเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเอเปคเคยให้การรับรองนั้น ได้ มีส่วนช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนสภาเศรษฐกิจยังมีความมุ่งมั่นที่จะให้ข้อกำหนดทางการค้าพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และมีแนวโน้มว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทยในระดับใหม่”

การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวหรือบีซีจี (Bio Circular Green economy)

“อย่างที่คุณทราบดีว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวหรือบีซีจี (Bio Circular Green – BCG Model) เป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญของประเทศไทยในเอเปค ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหพันธรัฐรัสเซียด้วย และเราให้การสนับสนุนประเทศไทยในเรื่องนี้อย่างเต็มที่”

“ประเด็นเร่งด่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เส้นทางปลอดภัย (Safe Passage) ของผู้คนในยุคโควิด มีการตั้งคณะทำงานพิเศษภายในเอเปคเพื่อดูแลเรื่องการเดินทางอย่างปลอดภัยของผู้คน เราหวังว่าข้อตกลงที่ปฏิบัติได้จริงระหว่างผู้เกี่ยวข้องในกลไกนี้จะช่วยให้การเดินทางในเขตเศรษฐกิจเอเปคเป็นไปอย่างเสรีและ เราเชื่อว่าผลการทำงานของคณะทำงานชุดนี้จะช่วยผ่อนคลายการเดินทางของนักท่องเที่ยวให้คล่องตัวเพราะมีพลเมืองรัสเซียเดินทางมาไทยจำนวนมหาศาลในทุกๆ ปี”

นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

ท่านเคยกล่าวว่า ผู้คนทั่วโลกอาจมองรัสเซียอย่างไม่ยุติธรรมเพราะได้รับข้อมูลข่าวสารจากฝั่งตะวันตกเท่านั้น ตอนนี้ท่านคงอยากเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหามากยิ่งขึ้น

“เป็นความจริงที่ชาติตะวันตกพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อโน้มน้าวสื่อมวลชนให้นำเสนอจุดยืน มุมมอง ให้เป็นไปในแนวทางของตน”

“แต่ความจริงเป็นวัตถุประสงค์ หมายถึง ความคิดเห็นใดๆ ที่อ้างว่าเป็นความจริงนั้นต้องมาจากการวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริงที่เป็นธรรม ซึ่งได้มาจากแหล่งข้อมูลที่เปิดกว้าง เชื่อถือได้ และอย่างมืออาชีพ”

“เป็นไปได้อย่างไรที่ ‘พวกชาติตะวันตก’ และพันธมิตรทั้งหลายยังคงปิดกั้นสื่อทางการของรัสเซียทั้งหมด แล้วตัดสินว่าเรื่องของเราเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ”

“ข้อมูลข่าวสารนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อทุกคน ผมจึงขอแนะนำให้ติดตามข่าวสารที่แน่ชัดจากสำนักข่าว TASS ซึ่งเป็นหน่วยงานข้อมูลข่าวสารที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซียมีประวัติเกือบ 120 ปี คณะผู้แทนจากสำนักข่าว TASS ได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้”

อย่างไรก็ตาม จากเว็บไซต์ของสำนักข่าวรัสเซีย (Telegraph Agency of the Soviet Union – TASS) สื่อของทางการรัสเซียนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 1904 TASS นอกจากเป็นสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซียแล้ว ยังเป็นหนึ่งในสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลก TASS ได้รับการจดทะเบียนเป็น The Federal State Unitary Enterprise

“ผมมีความเคารพในความคิดเห็นส่วนตัวของคุณอย่างเต็มที่ เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ และผมก็หวังว่าเพื่อนๆ ของผมและคนอื่นๆ จะเคารพความคิดเห็นส่วนตัวของผมด้วย ไม่เพียงแต่ในฐานะเอกอัครราชทูตรัสเซียที่นี่ แต่ยังรวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ทำงานด้านการทูตด้วย”

“มันไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน ทั้งในมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ และภาพรวมทั้งหมด ผมขอยกตัวอย่างล่าสุดเพื่อให้มองเห็นภาพ”

“คุณต้องเคยได้ยินจากสื่อตะวันตกต่างๆ นานา เกี่ยวกับการลงประชามติที่จัดขึ้นในพื้นที่เสรีของยูเครน ซึ่งสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรต่างกล่าวว่า เป็นโมฆะและไม่ยอมรับผลการลงประชามติ สหพันธรัฐรัสเซียได้รับการยกย่องว่ามีความทะเยอทะยานเป็นจักรวรรดิและกำลังบ่อนทำลายจิตวิญญาณของกฎบัตรสหประชาชาติ”

“แต่สถานการณ์ที่เป็นจริงในภูมิภาคดอนบัส (Donbass) ไม่เคยปรากฏให้เห็นในสื่อตะวันตก นับเป็นเวลาแปดปีอันยาวนาน ที่ผู้คนในดอนบัสได้ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถูกกระสุนปืน และถูกปิดล้อม ในเคอร์สัน (Kherson) และซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ด้วยนโยบายที่สร้างความเกลียดชังต่อประเทศรัสเซีย และทุกสิ่งที่เป็นรัสเซีย ประเทศของเราถูกสร้างภาพให้เป็นปีศาจร้าย”

“ตอนนี้ก็เช่นกันในระหว่างการลงประชามติ ระบอบการปกครองของเคียฟ ใช้วิธีข่มขู่ครูโรงเรียน, เจ้าหน้าที่หญิงที่ทำงานในคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อต่อต้าน ก็เสียชีวิต เคียฟใช้วิธีกดขี่และข่มขู่ผู้คนนับล้านที่ออกมาแสดงเจตจำนง แต่ชาวดอนบัส, เคอร์สัน และซาปอริซเซีย ไม่ได้หวาดหวั่นอย่างที่กล่าวกัน”

“สื่อตะวันตกจึงวาดภาพคนเหล่านี้ทั้งหมดว่าเป็นอาชญากรและผู้ทรยศต่อยูเครนอันเป็นค่านิยมของยุโรป เพราะคนเหล่านี้ปรารถนาที่จะอยู่กับรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ปกป้อง”

“เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่ว่า การลงประชามติเป็นวิธีที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในการทำความเข้าใจว่าผู้คนต้องการอะไรจริงๆ ตัวอย่างกรณีนี้กับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในปี 2013 เมื่อประชากร 92% โหวตอยู่กับสหราชอาณาจักร แต่ตอนนี้ชาติตะวันตกกำลังกีดกันผู้คนในดอนบัส จากสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง แต่กลับไม่มีใครพูดถึง”

“เราต้องยอมรับว่า ตะวันตกมีปัญหาในการฟังเจตจำนงของประชาชน”

“การรวมประเทศเยอรมนีในปี 1989 มีการลงประชามติหรือไม่ เป็นเหมือนกับการผนวกเยอรมนีตะวันออกโดยเยอรมนีตะวันตก ซึ่งตอนนั้นมีเพียงสหภาพโซเวียตเท่านั้นที่สนับสนุนการรวมชาติของเยอรมนี เราจึงควรทำความเข้าใจว่า ทำไมในสถานการณ์ที่คล้ายกัน ประเทศตะวันตกกลับใช้แนวทางที่แตกต่างกัน”

“ในปี 2008 โคโซโวแยกตัวออกจากเซอร์เบียโดยไม่มีการลงคะแนนเสียงโดยประชาชน”

“มีใครจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาเคยอยู่ในคาบสมุทรไครเมียหลังรวมตัวกับรัสเซียเมื่อปี 2014”

“ไม่เคยมีใครเขียนเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้คนบนคาบสมุทรนี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หรือถามผู้คนเหล่านี้ว่า ยังมีความต้องการกลับไปยูเครนหรือไม่”

นายเยฟกินี โทมิคิน (H.E. Mr. Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

กล่าวกันมากว่า สงครามจะยุติลงเมื่อประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากยูเครน

“ผมไม่สามารถเห็นด้วยกับคุณในเรื่องนี้ สหพันธรัฐรัสเซียไม่ได้เริ่มทำสงครามในยูเครน หากแต่ได้รับการยั่วยุจากประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา”

“เป้าหมายของฝ่ายตะวันตกคือทำให้เกิดความอ่อนแอ แบ่งแยก ทำลายล้างประเทศและประชากรของเราทั้งหมด ตอนนี้มีการพูดกันอย่างเปิดเผยว่า เมื่อปี 1991 พวกเขาสามารถแยกสหภาพโซเวียตออกจากกันได้ และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องทำแบบเดียวกันกับรัสเซีย ซึ่งจะต้องถูกแบ่งออกเป็นหลายภาค และจะทำให้เกิดความบาดหมางต่อกันอย่างรุนแรง”

“พวกเขาวางแผนเหล่านี้กันมานานแล้ว ทั้งยังสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศในคอเคซัส (Caucasus) โยกย้ายโครงสร้างพื้นฐานเชิงรุกของ NATO มาอยู่ใกล้พรมแดนของเรา ใช้ โรคกลัวรัสเซีย (Russophobia) เป็นอาวุธ รวมทั้งทำให้เกิดความเกลียดชังต่อรัสเซียมานานหลายทศวรรษ โดยเริ่มที่ยูเครน ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นฐานที่มั่นหลักในการต่อต้านรัสเซีย และทำให้ชาวยูเครนซึ่งได้รับการปลดปล่อย เมื่อปี 2014 เป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้ในการทำสงครามและผลักพวกเขาให้เข้าสู่สงครามต่อสู้กับรัสเซีย ให้กองทัพต่อสู้กับพลเรือนและจัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปิดล้อม และสร้างความหวาดกลัวต่อผู้ที่ไม่ยอมรับรัฐบาลซึ่งจัดตั้งขึ้นในยูเครนอันเป็นผลจากรัฐประหาร”

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องทำความเข้าใจว่า รัฐบาลยูเครนได้รับประกันความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในสี่ภูมิภาคนี้หรือไม่?”

สี่ภูมิภาคประกอบไปด้วยโดเนตสค์ (Donetsk) ลูฮานสค์ (Luhansk) เคอร์ซอน (Kherson) และซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia)

“หลังระบอบการปกครองของเคียฟปฏิเสธที่จะยุติปัญหาของดอนบัส (Donbas) อย่างสันติและแสดงความปรารถนาจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าการรุกครั้งใหม่ในดอนบัส เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และย่อมตามมาด้วยการโจมตีไครเมีย (Crimea) ของรัสเซีย”

“ในการนี้ การตัดสินใจที่จะเริ่มปฏิบัติการทางทหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นทางเลือกเดียว โดยเป้าหมายหลัก คือการทำให้ดอนบัสเป็นอิสระนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง”

“สาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์ ได้รับการปลดปล่อยจากนีโอนาซีเกือบทั้งหมด ส่วนการต่อสู้ในสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ ยังคงดำเนินต่อไป ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา ระบอบการยึดครองของเคียฟได้สร้างแนวป้องกันถาวรขึ้นอย่างลึกล้ำหลายระดับ การโจมตีโดยตรงต่อพวกเขาจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างหนัก ซึ่งเป็นเหตุให้หน่วยของเรา รวมทั้งกองกำลังของสาธารณรัฐดอนบัส ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยใช้อุปกรณ์ทางทหารและอุปกรณ์ช่วยชีวิต เคลื่อนไปทีละขั้นตอนเพื่อปลดปล่อยดอนบัส กวาดล้างเมืองนีโอนาซี ช่วยเหลือผู้คนที่เป็นตัวประกันและเป็นโล่มนุษย์ของเคียฟ”

“สื่อตะวันตกซึ่งพวกเขาควบคุมและไม่ได้พูดถึงก็คือ พวกเขาไม่เพียงแค่ต่อต้านรัสเซียเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังต่อต้านยุโรปด้วย เพราะเมื่อหลายปีก่อน วอชิงตันตัดสินใจว่าการพัฒนาที่มีผลเลวร้ายที่สุดต่อสหรัฐ และสหราชอาณาจักร น่าจะเป็นกรณีรัสเซียและเยอรมนี เพราะหากทั้งสองประเทศนี้รวมศักยภาพทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน นั่นคือพลังงานของรัสเซีย รวมกับอุตสาหกรรมของเยอรมนี สหรัฐอเมริกาจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันการรวมกันนี้ และในกรณียูเครน พวกเขาก็ต้อง ‘จุดไฟให้คุกรุ่นอยู่เสมอ’ และให้นานที่สุด”

“และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เกิดการรั่วของท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมจากรัสเซียมายังยุโรปในทะเลบอลติก สาเหตุจากการระเบิดใต้ทะเล สหรัฐคือตัวการที่อยู่เบื้องหลัง แต่สื่อตะวันตกเกือบทั้งหมดต่างรายงานว่าเป็นการตอบโต้จากรัสเซีย เนื่องจากสะพานเชื่อมไครเมีย-รัสเซีย ถล่มลงมาบางส่วนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา”

เอกอัครราชทูต เยฟกินี โทมิคิน ถามว่า

“มีใครในยุโรปเข้าใจเรื่องนี้ไหม แล้วถ้าเข้าใจ มีใครกล้าที่จะพูดเรื่องนี้ไหม” •