คำ ผกา | จนแล้วอย่าทำตัวเป็นภาระ

คำ ผกา

ผลสะเทือนจากการลอยน้ำข้ามโขงของโตโน่ นอกจากจะได้เงินบริจาคเพื่อซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้แล้ว

ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งที่ฉันคิดว่ามีประโยชน์มากคือ เราเริ่มเห็นบุคลากรทางการแพทย์ออกมาวิจารณ์ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น

เช่น การออกมาวิจารณ์ว่า การระดมเงินบริจาคแบบที่โตโน่ทำไม่ได้ช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขไทยดีขึ้น ไม่ได้ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ดีขึ้น ตราบเท่าที่ปัญหาอันหมักหมมในกระทรวงไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจุกตัวของทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ ปัญหาโครงการทางการเมือง ปัญหาการกระจายอำนาจ ฯลฯ

และที่น่าสนใจมากกว่านั้นอีก มันนำมาซึ่งข้อถกเถียงว่า ปัญหาระบบสาธารณสุขตอนนี้ แพทย์ โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ในต่างจังหวัดรับภาระงานหนักมาก ค่าตอบแทนอาจพูดได้ว่าเมื่อเทียบกับภาระงานแล้วไม่ได้สัดส่วนกัน ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิตของหมอ และประโยคที่กลายมาเป็นดีเบตร้อนในโลกโซเชียลมีเดียคือ

“นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีกับคนไทยในบางมุม แต่ข้อเสียคือการเข้าถึงการรักษาที่ง่ายขึ้นทำให้คนไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ ทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ได้ค่าแรงเท่าเดิม”

ประโยคนี้ปัญหาในหลายประเด็น และเพื่อไม่สับสน ฉันคิดว่า เราต้องแกะมันออกมาอภิปรายทีละเรื่อง

ไม่เอาไปปนกัน

หนึ่ง ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถถกเถียงกันในรายละเอียดได้ว่า จะให้ประชาชนจ่ายบ้าง เช่น “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” เพื่อไม่ให้เป็นการ “ให้ทาน สงเคราะห์” และเพื่อให้ประชาชนมีศักดิ์ศรี

หรือจะใช้ระบบ Co-Pay แบบญี่ปุ่น คือ จ่ายค่าประกันสุขภาพตามสัดส่วนของรายได้ ถูกเรียกเก็บทุกเดือน เวลาไปหาหมอ ไปได้ทุกที่ ทุกคลินิก ไม่ต้องมีเอกสารยืนยันตัวตนอะไรทั้งนั้น และจ่ายค่ารักษา 30% ของค่ารักษาพยาบาลตามจริง รวมทั้งค่ายาด้วย หรือจะเป็นศูนย์บาทไปเลย ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์เปลี่ยนจากสามสิบบาทมาเป็น 0 บาท

ถ้าเราเถียงกันเรื่องนี้แปลว่า เราทั้งหมดมีฉันทามติร่วมกันว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างยิ่งยวด เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ แต่มีปัญหาในรายละเอียด มีปัญหาในการบริหารจัดการ อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างการบริหารโครงการนี้ใหม่ ต้องรื้อ ต้องแก้ไข

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มีคนเสนอว่า ยกเลิกสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแล้วประชาชนทุกคนอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ

สอง หรือคนที่เขียนข้อความนี้ต้องการสื่อว่า ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแม้จะช่วย “คนจน” ได้ (จริงๆ แล้ว นโยบายนี้ไม่ใช่แค่ช่วยคนจน คำว่าถ้วนหน้าต้องการลบล้างแนวคิดว่าคนจนต้องการการ “สงเคราะห์” หรือช่วยเหลือแบบให้ทานเสียด้วยซ้ำ) แต่เป็นนโยบายที่ทำให้หมอต้องทำงานหนัก เพราะคนเห็นว่ารักษาฟรีเลยพากันดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จนป่วยไข้ ทำให้คนไข้ล้นโรงพยาบาล หมอทำงานหนัก

ถ้าใช้ตรรกะนี้ก็ต้องถามกลับว่า ถ้าอย่างนั้นคนที่ทำประกันชีวิตประเภทประกันโรคร้ายแรงไว้ยี่สิบล้าน พวกเขาจะพากันดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ดื่มชานมไข่มุกอย่างไม่บันยะบันยัง เพราะถือว่ามีประกันจะป่วยแค่ไหนก็ได้?

หรือข้าราชการที่มีสิทธิรักษาฟรี หากใช้ตรรกะนี้ก็จะบอกไหมว่า เพราะข้าราชการรักษาฟรีเลยไม่มีใครดูแลสุขภาพเลย?

ยกตัวอย่างแค่นี้ก็จะเห็นว่ามันไม่เป็นเหตุเป็นผล เขียนออกมาได้เพ้อเจ้ออย่างที่สุด

ตรงกันข้าม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นมาก ไม่ใช่คนแห่กันไปโรงพยาบาลเพราะเห็นว่าฟรี หรือปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้เจ็บป่วย แต่คือการไม่มีค่ารถค่าเดินทางไปโรงพยาบาล

หรือแม้แต่การไม่สามารถหยุดงานไปโรงพยาบาลได้ เพราะการหยุดงานหมายถึงการขาดรายได้ การเดินทางไปโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่าย

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สาม สาเหตุแห่งความเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพของคนไทยเกิดจากอะไรกันแน่?

ปัญหา pm 2.5 ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ทำให้คนเป็นโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน รถติด ขาดแคลนสวนสาธารณะ ปัญหาผังเมืองไม่เอื้อให้คนเดิน หรือใช้จักรยาน เหล่านี้มีส่วนให้ออกกำลังกาย เป็นสาเหตุของโรคอ้วน ปัญหาการเข้าไปถึงอาหารสด คุณภาพดี ชีวิตวนเวียนกับอาหารแช่แข็งในร้านสะดวกซื้อ ทำให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป ทำให้เกิดโรคตามมาหลายโรค

การเข้าไปถึงทันตแพทย์ ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร กระเพาะ ลำไส้

ปัญหาความเครียดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากป่วยทางใจ แล้วก็ทำให้เกิดโรคทางกายได้อีกหลายอย่าง หรือแม้กระทั่งการนำไปสู่ภาวะใช้สารเสพติด

คนที่เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี อย่างน้อยควรมีความสามารถเชื่อมโยงปัญหาของปัจเจกบุคคลกับปัญหาเชิงโครงสร้างได้

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

สี่ทัศนะข้างต้น สะท้อนอุดมการณ์ของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาในสังคมไทยกลุ่มหนึ่งที่ถูกสอนมาว่า คนจน คือเหตุแห่งปัญหาทุกอย่างในสังคม

คนจนเพราะขี้เกียจ คนจนเพราะไม่มีวินัย คนจนเพราะไม่รักดี คนจนแล้วไม่เจียม

จากนั้นบนความได้เปรียบทางสังคม หรือทุนทางสังคมที่สูงกว่าคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการศึกษา มีโอกาสเป็นหมอ เป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นบุคคลตัวอย่างของสังคม พวกเขาก็จะเทศนาว่า ดูฉันสิ ฉันขยัน ทำงานหนัก ฉันจึงประสบความสำเร็จ

ส่วนอ้าย อีคนจนนั้น จนแล้วยังสำมะเลเทเมา ทำตัวอีลุ่ยฉุยแฉกมาให้คนดี คนทำงานหนักอย่างเราตามเช็ดตามล้าง ตามดูแลรักษา – พวกมึงคือภาระ!

ฉันไม่ได้บอกว่าคนจนคือ “คนดี” ไร้เดียงสา ถูกกระทำ น่าสงสาร

แต่ประเทศชาติ คือหน่วยสังคมการเมืองที่ประกอบไปด้วยผู้คนอันหลากหลาย มีคนจนที่ขี้เกียจ มีคนจนหัวหมอขี้โกง มีคนจนที่ปราศจากความทะเยอทะยานในชีวิต มีคนจนที่เป็นสิบแปดมงกุฎหลอกลวงสารพัด

ขณะเดียวกันก็มีคนที่ขยัน หรือถูกกดทับในรูปแบบต่างๆ

ทว่า กลไกทางอุดมการณ์ที่ทำงานในสังคมไทยมายาวนานเพื่อไม่ให้เราเข้าใจเรื่อง “คนเท่ากัน” มีแนวโน้มจะหล่อเลี้ยง “เรื่องเล่า” ว่าด้วย ถ้าคนรวยดื่มเหล้า เป็นการดื่มด้วยสติและรสนิยม ส่วนคนจนดื่มเหล้าเพราะโง่และไม่เจียมตัว

เรื่องเล่าเช่นนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบบอภิสิทธิ์ชนของสังคมไทย อธิบายว่าสังคมมันเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ไม่ใช่เพราะปัญหาเรื่องอำนาจทางการเมือง แต่เพราะ “มึงทำตัวเอง”

จากนั้นในสังคมไทยของเราก็เนืองนองไปด้วยเรื่องเล่าของคุณหมอที่มาจากครอบครัวแสนธรรมดาในต่างจังหวัด แต่มุมานะบากบั่นจนกลายเป็นนักเรียนแพทย์ เรื่องอะไรๆ ทำนองนี้ที่คนไทยชอบฟัง

ส่วนพวกมึงที่ยังยากจนและลำบากอยู่ก็เพราะมึงมันไม่ได้เรื่อง อีพวกโง่ จน เจ็บ ทั้งหลายเอ๋ย มึงมันตัวภาระแท้ๆ