‘รู้หรือไม่ หนูถูกปรักปรำมาเกือบร้อยปี’ | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

 

‘รู้หรือไม่ หนูถูกปรักปรำมาเกือบร้อยปี’

 

“จับได้คาหนังคาเขา” กำลังจะขโมยไข่แต่ดันสิ้นใจไปซะก่อน

ในปี 1923 รอย แชปแมน แอนดรูว์ส์ (Roy Chapman Andrews) นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (American Museum of Natural History (AMNH)) ค้นพบที่เกิดเหตุโศกนาฏกรรมดึกดำบรรพ์ในทะเลทรายโกบี ประเทศมองโกเลีย

ตัวอย่างถูกส่งต่อไปให้นักบรรพชีวินวิทยามือฉมัง เฮนรี แฟร์ฟิลด์ ออสบอร์น (Henry Fairfield Osborn) ชันสูตรและจำแนกชนิดของน้อน

เฮนรีคาดว่าซากที่พบจะโดนกลบด้วยพายุทรายจนสิ้นใจ ส่วนหัวของน้อนถูกทับจนแตกเป็นเสี่ยง แต่ส่วนตัวยังอยู่ครบ ฝังแน่นอยู่ในหินทราย กำลังตั้งท่าทำอะไรสักอย่างอยู่บนรังที่เต็มไปด้วยไข่ใบเรียวยาวของโปรโตเซอราทอปส์ (Protoceratops)

“นี่มันหัวขโมยชัดๆ” เฮนรีมั่นใจ แต่แค่โชคร้ายดันมาตายก่อนเสร็จกิจโจรกรรม เฮนรีตัดสินใจตั้งชื่อประจานหัวขโมยดึกดำบรรพ์ว่า Oviraptor philoceratops

จีนัส “โอวิแร็พเตอร์ (oviraptor)” แปลว่า egg robber หรือโจรปล้นไข่ ส่วนสปีชีส์ philoceratops นั้นแปลว่า “หลงรักพวกหน้านอ” (phile แปลว่าหลงรัก และ ceratops แปลว่าหน้านอ (horn face) ซึ่งหมายถึงไดโนเสาร์ที่มีนอ เช่น โปรโตเซอราทอปส์ ไตรเซอราทอปส์ (Triceratops) เป็นต้น)

“โจรกรรมไข่” เฮนรีสรุปปิดคดีสวยๆ ไม่มีใครโต้แย้ง เพราะจำเลยตายจนกลายเป็นฟอสซิลไปแล้ว

ภาพฟอสซิลไดโนเสาร์โอวิแร็พเตอร์กำลังกกไข่ (ภาพโดย Mick Ellison/American Museum of Natural History)

ในหนังสือไดโนเสาร์แทบทุกเล่มที่ผมได้อ่านในตอนเด็ก “โอวิแร็พเตอร์” คือหนึ่งในไดโนเสาร์ที่จำง่ายและมีเอกลักษณ์ที่สุด หน้าตาเหมือนนก แต่ตัวเป็นแร็พเตอร์ และที่สำคัญ ทุกรูปต้องกำลังจกไข่กิน หรือไม่ก็อยู่ข้างๆ รังที่เต็มไปด้วยไข่ ทำหน้ากรุ้มกริ่ม

แม้ไม่ใช่ไดโนเสาร์ที่เท่ที่สุด อย่างไตรเซอราทอปส์ หรืออลังการที่สุด อย่างไดโนนิคัส (Deinonychus) หรือทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) แต่โดดเด่นด้วยความเป็นขี้ขโมย

“นี่คือโฉมหน้าของโจรขโมยไข่” ไม่มีฟัน ลักษณะของปากจะก้ำกึ่งอยู่ระหว่างนกแก้วกับเต่า เฮนรีเชื่อว่า โอวิแร็พเตอร์จะสวาปามไข่แบบดิบๆ โด๊ปแบบทันใจ ไม่ต้องต้ม โพช ดาว ทอดให้ยุ่งยาก สันนิษฐานน่าจะเอาปากเฉาะเปลือกไข่ให้แตกแล้วดูดกินดื้อๆ

แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ปักใจ ปากแบบนี้อาจจะไม่ได้กินแต่ไข่ ขบเปลือกหอยก็ยังไหว ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าโจรขโมยไข่แท้จริงจะเป็นสายซีฟู้ด

ทว่า จากการวิเคราะห์โครงสร้างปากอย่างละเอียดโดยใช้หลักการทางชีวกลศาสตร์ ในปี 1992 เดวิด สมิธ (David K Smith) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง (Brigham Young University) เสนอว่าอาหารจานหลักที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดของโจรขโมยไข่น่าจะเป็นต้นไม้ใบหญ้ามากกว่า

แต่ปริศนายังไม่สิ้นสุด ปี 1995 มาร์ก โนเรลล์ (Mark Norell) นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาและมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ได้เจอซากกิ้งก่าตัวเล็กๆ ในซากฟอสซิลของโอวิแร็พเตอร์ เขาเชื่อว่าไม่ใช่แค่ไข่ หรือพืชผัก แต่จัดหนัก แม้แต่กิ้งก่าก็ไม่เว้น

ทฤษฎีเลยเปลี่ยนจากไข่ เป็นซีฟู้ด เป็นวีแกน กลายเป็นเปิบพิสดาร…อาหารป่า…

ภาพวาดข่านคู่ “โรเมโอและจูเลียต เวอร์ชั่นไดโนเสาร์” (ภาพจาก Scott Persons IV et al. 2014, วาดโดย Sydney Mohr)

กระนั้น โอวิแร็พเตอร์ก็ยังไม่ได้พ้นข้อหาโจรขโมยไข่ แม้จะมีหลักฐานว่านิยมอาหารป่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แอบขโมยจกไข่ตัวอื่นกินเป็นอาหารว่าง

แต่หลังจากที่มีการค้นพบฟอสซิลใหม่ แครอล ซาบาธ (Karol Sabath) จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ โปแลนด์ (Polish Academy of Sciences) และคอนสแตนติน มิเคลอฟ (Konstantine Mikhailov) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ รัสเซีย (Russian Academy of Sciences) ก็เริ่มตั้งข้อสงสัยว่าไข่ที่เจอในรัง ที่น้องโจรกำลังพยายามจะขโมย ก่อนที่จะโดนพายุทรายถล่มใส่นั้น เป็นไข่โปรเซอราทอปส์จริงหรือเปล่า?

คือเฮนรีอาจจะคิดผิด ไข่ขนาดไม่ใหญ่ ราวๆ 6 x 12 เซนติเมตร อาจจะไม่ใช่ไข่ของโปรโตเซอราทอปส์ก็ได้

ไม่นานหลังจากนั้น มาร์กก็ได้ฟอสซิลใหม่มาเพิ่มจากทะเลทรายโกบี เป็นรังที่เต็มไปด้วยไข่ (ราวๆ 20 ฟอง) วางเรียงกันจนเกือบเป็นวงกลม บางฟองก็แตกไปแล้ว บางฟองยังดีอยู่ ส่วนบางฟองก็ดูมีตัวอ่อนนอนขดอยู่ข้างในให้ศึกษา

มาร์กเริ่มวิเคราะห์กะโหลกและกระดูกต่างๆ ของตัวอ่อนและพบว่า “นี่ไม่ใช่ไข่โปรโตเซอราทอปส์”

เจ้าไดโนเสาร์ตัวจิ๋วที่นอนขดอยู่ในไข่หินนั้น มีปากเหมือนนก มีแขนสั้นๆ และสองขาที่งอก่องอขิง “นี่มันไข่ของโอวิแร็พเตอร์”…มาร์กตีพิมพ์เปเปอร์นำเสนอข้อมูลนี้ออกมาในปี 1994 ใน แต่ก็ยังแอบมีอ้อมๆ แอ้มๆ ไม่ได้ฟันธงให้ชัดเจนเรื่องโจรขโมยไข่ เพราะรังนี้ไม่ใช่โปรโตเซอราทอปส์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารักแรกในปี 1923 จะเป็นไข่ของโอวิแร็พเตอร์เหมือนกันกับรังนี้

แต่เป็นไปได้ว่าคดีอาจจะพลิก บางทีน้อนอาจจะถูกปรักปรำ เผลอๆ ที่คิดว่าเป็นจำเลย อาจจะเป็น “ขุ่นแม่” ก็ได้ใครจะรู้

 

ในปี 1995 มาร์กและทีมกลับไปสำรวจมองโกเลียอีกรอบ และเจอไซต์ขุดที่น่าสนใจมีเล็บและขาโผล่ออกมา เขาและจิม คลาร์ก (Jim Clark) หนึ่งในทีมงานอีกคนจำเป็นต้องผละออกมาจากไซต์ก่อนเพื่อเอาฟอสซิลที่เจอไปเก็บ มาร์กขอให้นักบรรพชีวินวิทยาอีกคน หลุยส์ ชิแอปป์ (Luis Chiappe) ช่วยตระเวนหาแหล่งขุดฟอสซิลเพิ่ม แต่หลุยส์ขาเจ็บ เลยไม่ยอมไปหาที่ใหม่ นั่งขุดมันอยู่ที่เดิมนี่แหละ

สองวันผ่านไป หลุยส์บึ่งรถกลับไปที่ศูนย์บัญชาการ เขาบอกกับมาร์กและจิมด้วยความตื่นเต้น “เราเจอบางอย่างที่คุณจะไม่อยากเชื่อ”

หลุยส์เจอซากของโอวิแร็พเตอร์นอนตายกลายเป็นฟอสซิลอยู่ที่รัง หัวกระเด็นหายไปไหนไม่รู้ แต่ตัวยังอยู่ครบ “มันนั่งอยู่ท่าเดียวกับที่นกในปัจจุบันนั่งกกไข่เป๊ะเลย

“นี่ชัดเจนว่ามันกำลังกกไข่อยู่” จิมกล่าว และนี่คือหนึ่งในหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าโจรขโมยไข่ ที่แท้แล้วไม่ใช่ อาจจะแค่ถูกปรักปรำ

“ถ้าหลุยส์ขาไม่เจ็บ ซากฟอสซิลนี้อาจจะยังคงฝังอยู่ในหินก็เป็นได้” มาร์กเผย

พอได้เจอฟอสซิลใหม่ๆ น่าสนใจ ไฟแห่งการวิจัยก็ปะทุและลุกโชน จิม หลุยส์ และมาร์กลุยต่อแบบไม่ยั้ง ไม่นานก็ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ตระกูลโอวิแร็พเตอร์เพิ่มเติมอีกหลายตัวในมองโกเลีย

 

สําหรับผม ฟอสซิลที่มีสตอรี่น่าประทับใจที่สุดก็คือ “ข่าน” (Khaan)

คำว่า “ข่าน” แปลว่า “ผู้นำ” ในภาษามองโกเลีย ข่านเป็นโอวิแร็พเตอร์สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจริงๆ หน้าตาและขนาดก็ไม่ได้ต่างอะไรเท่าไรกับตัวที่เจอก่อนหน้า แต่ข่านโรแมนติกที่สุด เพราะข่านเจอแล้วสามตัว ตัวหนึ่งเจอเดี่ยว ไม่มีอะไร แต่อีกสองนี่สิ เป็นฟอสซิลคู่รักอายุเจ็ดสิบห้าล้านปี เรียกว่าจะอยู่ก็เป็นคู่ตุนาหงัน จะตายก็ตายด้วยกันเป็นคู่เคียง…

ความรักของ “ข่านคู่” ทำให้มาร์กและทีมย้อนกลับไปนึกถึงวรรณคดีอมตะของเช็กสเปียร์ “โรเมโอ” กับ “จูเลียต” พวกเขาก็เลยตั้งชื่อเล่นข่านคู่ว่า “โรเมโอ” และ “จูเลียต”

จากการวิเคราะห์กระดูก ข่านตัวผู้น่าจะมีหางที่ยาวกว่าข่านตัวเมีย แสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์ตัวผู้และตัวเมียนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน (sexual dimorphism) ในขณะที่หางตัวเมียอาจจะแค่สั้นๆ กุดๆ ตัวผู้อาจมีหางยาว สีสันสดใส รำแพนได้งดงามวิไล ไม่ต่างไก่ฟ้า หรือนกยูงตัวผู้ แสดงว่าอยู่เป็นคู่ แต่จะเป็นเจ้าของไข่มั้ยนั่นอีกเรื่อง

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990s ในประเทศจีน คนงานก่อสร้างขุดเจอเอาซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่ไซต์ก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ในเจียงซี (Jiangxi province)

ซากถูกส่งไปตรวจสอบและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในเหอเป่ย (Hebei province) ในตอนนั้น นักวิจัยชิง ซู (Xing Xu) ผู้เชี่ยวชาญด้านโอวิแร็พเตอร์ กำลังวุ่นวายกับหลากหลายโปรเจ็กต์ ก็เลยต้องหาคนช่วย

และเขาก็ได้พบกับชุนตง ไป่ (Shundong Bi) (ในเวลานั้น ยังเป็นนักศึกษาอยู่) ปวารณาตัวขอมาช่วยงาน

“ผมอยากจะท่องเที่ยว แต่ตอนเรียนในมหาวิทยาลัย ผมจ่ายไม่ไหว แล้วก็ตระหนักว่าบรรพชีวินวิทยา ต้องออกภาคสนาม และนั่นจะทำให้ผมได้เที่ยว และทำให้ผมตัดสินใจได้ว่าจะเรียนต่อสายไหนดี” ชุนตงซึ่งในเวลานี้เป็นศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนาที่เพนซิลเวเนีย (Indiana University of Pennsylvania) และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติคาร์เนกี้ (Carnegie Museum of Natural History) กล่าว

“ถ้ามีคนสนใจด้านบรรพชีวินวิทยา ผมอยากเป็นกำลังใจให้ทำตามใจตัวเอง แน่นอนว่าเราต้องหาเงินเลี้ยงชีพ แต่มันจะดีไม่น้อยถ้าคุณได้ทำอะไรที่คุณรัก และตอบแทนสังคมไปด้วยในคราวเดียวกัน ผมหวังเหลือเกินว่างานวิจัยของผม จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ”

ปรากฏว่าตัวอย่างฟอสซิลจากเจียงซี ที่จับพลัดจับผลูมาถึงมือชุนตง เป็นฟอสซิลที่อลังการมากๆ เพราะนอกจากจะได้ซากหม่าม้าโอวิแร็พเตอร์นั่งกกไข่แล้ว ยังมีไข่ที่กำลังจะฟักออกมาเป็นตัวจิ๋วอีกด้วย เรียกว่าจบได้สวย ปิดคดีแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

กลายเป็นว่า ที่แท้โอวิแร็พเตอร์ไม่ใช่จอมโจรขโมยไข่ แต่เป็นป่าป๊า หม่าม้า เจ้าของไข่ซะงั้น

คดีพลิก…น้อนนนน…ถูกปรักปรำมาเกือบร้อยปี และจะถูกปรักปรำต่อไปจนกว่าชื่อจะเปลี่ยน!

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่ายึดมั่นถือมั่น เพราะทฤษฎีที่เชื่อกันมานานนับร้อยปี ก็แป็กได้ ถ้ามีหลักฐานใหม่ๆ มาหักล้าง!