มีด – พร้า (1) | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

มีด – พร้า (1)

 

‘มีด’ และ ‘พร้า’ คือเครื่องมือชนิดมีคม ส่วนมากทำด้วยเหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านมีมาแต่โบราณ บางทีเรียกรวมกันว่า ‘มีดพร้า’ ไม่เพียงใช้สอยในชีวิตประจำวัน ยังใช้เป็นอาวุธได้ด้วย

วรรณคดีสมัยสุโขทัย เรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” มีดพร้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือของยมบาล เจ้าพนักงานเมืองนรกใช้ลงทัณฑ์ทรมานคนที่ตกนรก

“ยมพะบาลอันอยู่เวตรณีนรกนั้นเทียรย่อมถือไม้ ค้อน มีดพร้า หอก ดาบ หลาว แหลน เครื่องข้าเครื่องแทง เครื่องยิงเครื่องตีทั้งหลาย ฝูงนั้นเทียรย่อมเหล็กแดง แลมีเปลวพุ่งขึ้นไปดังไฟไหม้ฟ้านั้น ลุกดังนั้นบ่มิวาย ฝูงยมมะบาลจิงถือเครื่องพุ่งเครื่องแทงฝูงนั้นไล่พุ่งไล่แทงไล่ตีฝูงคนนรกด้วยสิ่งดั่งนั้น เขาก็เจ็บปวดเวทนานักหนา อดทนบ่มิได้เลย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘กฎมณเฑียรบาล’ ในหนังสือ “กฎหมายตราสามดวง” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 2 ระบุโทษผู้ทะเลาะวิวาทในพระราชวังถึงขั้นใช้อาวุธทำร้ายกันว่า

“ถ้าจับมีดพร้าจะฆ่าฟันตีรันกันให้ปอกเล็บมือเสีย จึ่งให้ว่าเนื้อความ ถ้าฟันกันมีบาศเจบไซ้ ให้ตัดมือข้างผู้ถือมีดพร้านั้นเสียแล้วให้ไหมโดยบาศเจบ”

ถึงจะใช้คู่กันว่า ‘มีดพร้า’ แต่สองสิ่งนี้ต่างกันที่ขนาดและจุดประสงค์การใช้งาน ‘กาญจนาคพันธุ์’ หรือ ขุนวิจิตรมาตรา อธิบายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า

“มีดเป็นของเล็ก สำหรับใช้งานเบาเล็กๆ น้อยๆ เช่น มีดบาง มีดพับ มีดเจียนหมาก ฯลฯ พร้า เป็นของใหญ่สำหรับใช้งานหนัก เช่น พร้าหวดสำหรับดายหญ้า พร้าโต้สำหรับสับไม้”

 

วรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” แยกคำว่า ‘มีด’ และ ‘พร้า’ ออกจากกัน โดยใช้สำนวนว่า ‘มีดอยู่ในเรือนเหมือนกับพร้า’ ดังตอนที่ขุนช้างคลั่งรักเพ้อหานางพิม แต่ทาสชื่อ อีกริม รีบเข้าไปหา คิดว่านายเรียก

“ขุนช้างนิ่งอึ้งไม่เจรจา มันขะเรอเก้อขะรากระไรนี่

เรียกพิมได้อีกริมมาทันที มันก็ดีครันครันถลันมา

กูเรียกพิมอีกริมมึงรับขาน กำลังพล่านกูไม่ทันได้ดูหน้า

มึงก็มีดอยู่ในเรือนเหมือนกับพร้า เลยไขว่คว้าเคล้าคลึงจนถึงใจ”

ความหมายคือ มีดอยู่ในเรือนใช้แทนพร้าได้ฉันใด ทาสหญิงอยู่ในเรือนก็ใช้แทนเมียได้ฉันนั้น

วรรณคดีเรื่องนี้ใช้คำว่า ‘พร้า’ เป็นสำนวนเปรียบเทียบเป็นระยะๆ เริ่มจากตอนที่นางทองประศรีสู่ขอนางพิมให้พลายแก้วลูกชาย ก็กล่าวเป็นเชิงเปรียบเทียบเลียบๆ เคียงๆ นางศรีประจัน แม่นางพิมว่า

“จะขอพันธุ์ฟักแฟงแตงน้ำเต้า ที่ออเจ้าไปปลูกในไร่ข้า

ทั้งอัตคัดขัดสนจนเงินตรา จะมาขายออแก้วให้ช่วงใช้

อยู่รองเท้านึกเอาว่าเกือกหนัง ไม่เชื่อฟังก็จะหาประกันให้

ได้บากบั่นมาถึงเรือนอย่าเบือนไป จะได้ฤๅไม่ได้ให้ว่ามา”

นางทองประศรีจะขอลูกสาวที่เปรียบดังพืชผลของนางศรีประจันไปปลูกในไร่ หมายถึงไปร่วมวงศ์สกุลสืบไป แม้มีเงินเพียงพอสู่ขอก็มิได้โอ้อวด แต่ถ่อมตัวว่าไม่มีเงิน ขอขายลูกชายไว้ให้ใช้สอยแทน ถึงขั้นนี้ถ้ายังไม่เชื่อใจก็จะทำประกันไว้ให้ ไหนๆ ได้มาถึงเรือนแล้ว จะตกลงหรือไม่

นางศรีประจันได้ยินดังนั้นก็เอ่ยยิ้มๆ ว่า ‘จะอ้อมค้อมทำไม เราเป็นเพื่อนบ้านกันมานาน’

“ลูกข้าข้าจะหวงไว้ทำไม

ถึงยากจนอย่างไรก็ไม่ว่า แต่พร้าขัดหลังมาจะยกให้

อุตส่าห์ทำมาหากินไป รู้ทำรู้ได้ด้วยง่ายดาย”

‘พร้าขัดหลังมา’ เป็นสำนวนโบราณ ‘กาญจนาคพันธุ์’ อธิบายความหมายว่า

“ถ้าเป็นคนดีขยันขันแข็ง ไม่จำเป็นต้องมีเงินมีทองอะไรเลย มีเพียงพร้าติดตัวเล่มเดียว ก็สามารถตั้งตัวเป็นหลักฐานได้ เป็นสำนวนโบราณแสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่ของเราแต่ก่อนไม่ได้ถือฐานะความมั่งมีเป็นใหญ่ แต่ถือความดี ความขยันขันแข็ง รู้จักทำมาหากินเป็นสำคัญ”

ต่อมานางศรีประจันเชื่อคำขุนช้างว่า พลายแก้วตายในสงคราม นางจึงยกลูกสาวให้แต่งงานอีกครั้งกับเขยคนใหม่ เมื่อลูกไม่ยินยอมเข้าหอ นางก็ ‘มัดมือยื้อโยงขึ้นหลังคา เอาไม้มาตีกลมระดมไป’ นางสายทองพี่เลี้ยงน้ำตาพรู ‘วิ่งมาชิงไม้มิให้ตี’ ร้องเตือนนางศรีประจันว่า

“แม่อย่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า ตกนักงานข้าอย่าจู้จี้

ฉันจะช่วยปลอบหล่อนให้อ่อนดี ทำไมที่จะเข้าหออย่าท้อใจ”

‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า (หัวเข่า)’ เป็นสำนวนที่มีความหมายว่า หักโหมเอาด้วยกำลัง หรือใช้อำนาจบังคับอย่างรุนแรงเพื่อให้ทำตามต้องการ

 

มาถึงรุ่นลูกสะใภ้ของนางวันทอง กวีใช้สำนวน ‘พร้าคัดปากไม่ออก’ ตอนที่พระพิจิตรและนางบุษบาเตือนลูกเขยว่า การมีเมียสอง หนีสงครามหึงหวงช่วงชิงรักไม่พ้น เมื่อเป็นผัวก็ต้องเดือดร้อนไกล่เกลี่ย ขอให้พระไวยสงสารนางศรีมาลา มักตกที่นั่งลำบากเนื่องจาก

“ลูกข้าพร้าคัดปากไม่พูดออก อยู่บ้านนอกไม่ทะเลาะกับใครได้

เพื่อนฝูงเขาด่าว่ากระไร ก็เอาแต่ร้องไห้ไม่เถียงเป็น”

‘กาญจนาคพันธุ์’ ให้ความกระจ่างสำนวน ‘พร้าคัดปากไม่ออก’ หรือ ‘พร้างัดปากไม่ออก’ มีความหมายว่า “นิ่ง ไม่ค่อยพูด เป็นคนเฉยๆ เงียบๆ ไม่ช่างพูด ไม่เถียงทะเลาะเบาะแว้งกับใคร เป็นสำนวนสืบเนื่องมาจากหอย หอยธรรมดาปิดปากอยู่เสมอ เช่น หอยแครงเมื่อจะให้เปิดปากต้องเอามีดงัดกันจึงเปิดออกได้ คนที่นิ่งสงบเสงี่ยม ไม่อยากพูดจาว่าอะไรใคร จึงได้ว่า พร้างัดปากไม่ออก”

ฉบับนี้เกริ่นเรื่อง ‘พร้า’ ฉบับหน้ามีพร้าอะไรบ้าง •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร