ล้านนา-คำเมือง : “ข่าม”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ข่าม”

“ข่าม” ตามพจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง รวบรวมโดย ศ.ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี แปลว่า ทนทาน อดทน คงกระพันชาตรี เช่น

ข่ามก๋าน หรือ ข่ามการ แปลว่า ทำงานอย่างทรหดอดทน

ข่ามใช้ แปลว่า ทนรับใช้ผู้อื่น

ข่ามด่า แปลว่า อดทนต่อคำด่า

ข่ามหอก แปลว่า ใช้หอกแทงไม่ระคายผิว

ข่าม ในความหมายนี้จึงแปลว่าอยู่ยงคงกระพัน

โดยทั่วไป ถ้าพูดว่า “ข่าม” หรือบางที่ใช้ “ข่ามคง” คนล้านนาส่วนใหญ่จะนึกถึง ความคงทนต่ออาวุธ ทำนอง ยิง ฟัน แทงไม่เข้า ทั้งนี้ความ “คงกระพัน” เกิดจากคนผู้นั้นมี “คาถา” คู่กาย ที่ได้รับมาจากครูอาจารย์ ซึ่งอาจารย์อาจจะเสกคาถา สักยันต์ หรือมอบของวิเศษให้กับคนผู้นั้น

ดังนั้น คนโบราณบางคน จะมีการสักยันต์ หรืออาจจะมีของขลังติดตัว ที่เรียกว่า “ของขนัน” ที่ได้มาจากธรรมชาติ เช่น เหล็กไหล แก้วแสงหรือคด โป่งข่าม หรือ มีตะกรุดลงคาถา หรือฝังตะกรุดเข้าใต้ผิวหนัง แต่ทั้งนี้ บุคคลที่รับเอาคาถา หรือของขลังดังกล่าวมาจะต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้ความ “ข่าม” เสื่อมมนตราลง เช่น ห้ามไม่ให้กินแกงหยวก ห้ามกินน้ำเต้า ห้ามลอดราวผ้า ห้ามกินอาหารในงานศพ หรืออาจจะมีข้อห้ามเฉพาะ ซึ่งแล้วแต่อาจารย์จะสั่งกำชับมา

เหตุที่ต้อง “ข่าม” เพราะว่า จะได้มีคาถาและของขลังเพื่อคุ้มครองตัวเอง เช่น

ใช้คาถา หนังพันผืน คาถา มหาก่า ปกป้องตัวเองให้พ้นภัย

สัก คาถา เป็นยันต์ที่แผ่นหลังหรือแผ่นอก เพื่อป้องกันอาวุธ

สัก ยันต์คีม ที่ข้อเท้า เพื่อป้องกันงู หรือไม่ให้สัตว์เลื้อยคลานทำร้าย

ฯลฯ

คนโบราณล้านนายังใช้ ยันต์ “ข่าม” ป้องกันยักษ์ ป้องกันผีร้ายไม่ให้ทำอันตรายได้ด้วย และสามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง มีเรื่องเล่ากันว่า

ในสมัยที่คนล้านนายังนิยมการเคี้ยวหมาก มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซนมาก ขณะที่ขึ้นดอยไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพฯ เห็นท้าวโลกบาลที่เฝ้าองค์พระธาตุอยู่ แม่หนูเกิดอยากให้ยักษ์ได้เคี้ยวหมากบ้าง จึงเอาชานหมากไปยัดใส่ปากยักษ์

ผู้ใหญ่เล่าว่า ทันใดนั้น เกิดอาเพศ ฟ้าฝนคะนอง ครั่นครืน ลมพายุพัดรุนแรง ทั้งๆ ที่ไม่มีเค้ามาก่อน

จนผู้ใหญ่ต้องเอาเด็กผู้หญิงคนนั้นไปสักยันต์กลางกระหม่อมเพื่อคุ้มครองความซนของตนเอง