มองทวนสวนกระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก : วิเวก ชิบเบอร์ (2) | เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก

: วิเวก ชิบเบอร์ (2)

 

วิเวก ชิบเบอร์ ศาสตราจารย์ทฤษฎีสังคมและสังคมวิทยาแนวมาร์กซิสต์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้วิพากษ์วิจารณ์ท้าทายแนวคิดแนวคิดทฤษฎีหลังอาณานิคม/การศึกษาผู้ถูกกดทับ (postcolonial theory/subaltern studies) อย่างลือลั่นไม่ไว้หน้าอินทร์หน้าพรหมมาแล้ว ได้หันมาตรวจสอบสะสางลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก (Western Marxism) ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาชื่อ The Class Matrix : Social Theory after the Cultural Turn (Harvard University Press) หรือ “เบ้าชนชั้น : ทฤษฎีสังคมหลังหันเหไปทางวัฒนธรรม”

โดยวิเคราะห์วิจารณ์การที่ลัทธิมาร์กซ์ตะวันตกหันไปเน้นโครงสร้างส่วนบนทางอุดมการณ์/วัฒนธรรมอย่างหลงทิศผิดทาง และเสนอให้หวนกลับสู่มุมมองแบบวัตถุนิยมที่เน้นโครงสร้างชนชั้นอีกครั้ง

ผมใคร่สรุปสาระสังเขปของหนังสือเล่มนี้ของชิบเบอร์แก่ท่านผู้อ่านต่อดังนี้ :

อุดมการณ์/วัฒนธรรมคือคำตอบที่ผิด

ดังนั้น ปริศนาจึงกลายเป็นว่าเป็นไปได้ไหมว่าอาจมีปัจจัยที่เข้ามาแทรกแซงตรงกลางระหว่างโครงสร้างชนชั้นของสังคมทุนนิยม กับ จิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมืองของกรรมกร ซึ่งก่อความปั่นป่วนจนกระแสความเป็นเหตุเป็นผลที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดสืบเนื่องจากโครงสร้างต่อปฏิบัติการนั้นมีอันสะดุดเสียกระบวนไป?

คำตอบที่พวกลัทธิมาร์กซ์ตะวันตกให้เฉพาะหน้าโดยทันทีก็คือมันต้องเป็นอุดมการณ์/วัฒนธรรมแน่ๆ เริ่มตั้งแต่พวกนักลัทธิมาร์กซ์ชาวเยอรมันในสำนักแฟรงก์เฟิร์ต (The Frankfurt School สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คนเด่นดังก็เช่น Walter Benjamin, Theodor Adorno, Max Horkheimer, Herbert Marcuse เป็นต้น) มาจนถึงพวกแกรมเชียนในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 (หมายถึงผู้นิยมนับถือแนวคิดของ Antonio Gramsci ปัญญาชนนักทฤษฎีการเมืองวัฒนธรรมและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี เจ้าของแนวคิดทฤษฎีอำนาจนำหรือ hegemony เขาเสียชีวิตในคุกของรัฐบาลฟาสซิสต์มุสโสลินีในปี 1937)

คนเหล่านี้มีจุดร่วมที่คิดเห็นตรงกันว่าพวกมาร์กซิสต์รุ่นก่อนมองข้ามบทบาทความสำคัญของปัจจัยอุดมการณ์/วัฒนธรรมซึ่งทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมสื่อมวลชนแล้วไปส่งผลกระทบจิตสำนึกของกรรมกรอีกทีหนึ่ง

เมื่อมองกว้างออกไปในเชิงทฤษฎี มันจึงกลายเป็นปัญหาว่าลัทธิมาร์กซ์ดั้งเดิมมองข้ามบทบาทความสำคัญของโครงสร้างส่วนบน (the superstructure หมายถึงองค์รวมทั้งหมดของความสัมพันธ์ทางอุดมการณ์และทรรศนะ อาทิ การเมือง กฎหมาย ศีลธรรม ศาสนา ปรัชญา ศิลปะ ฯลฯ รวมทั้งองค์การจัดตั้งและสถาบันที่สอดรับกับมัน อาทิ รัฐ พรรคการเมือง ศาสนจักร ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานเศรษฐกิจของสังคม)

ดังนั้น ถ้าเรามองดูประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของพวกซ้ายใหม่จำนวนมากก็จะพบว่าศูนย์รวมความสนใจสำคัญที่สุดหนึ่งเดียวของพวกเขาพุ่งตรงไปที่วัฒนธรรมหรือสิ่งต่างๆ ในโครงสร้างส่วนบน พวกเขายังถือว่าการรวมศูนย์สนใจวัฒนธรรมและโครงสร้างส่วนบนนั้นเป็นความก้าวหน้าทางทฤษฎีด้วยเพราะนี่คือหลุมดำช่องโหว่ในทฤษฎีของมาร์กซ์

ชิบเบอร์ชี้ว่านี่แหละเป็นข้อบกพร่องอย่างลึกซึ้งของพวกซ้ายใหม่ ทั้งนี้เพราะพวกซ้ายใหม่ยึดติดกับทรรศนะอันอิหลักอิเหลื่อที่ด้านหนึ่งยอมรับคำบรรยายของมาร์กซ์ว่าในระบบทุนนิยม กรรมกรถูกนายจ้างครอบงำและขูดรีด สูญเสียความเป็นอิสระ ถูกกดค่าแรง ทำงานในสภาพเงื่อนไขย่ำแย่ กำกับควบคุมชีวิตตัวเองไม่ได้แม้อยู่นอกที่ทำงานก็ตาม ฯลฯ

ทว่า ฉะนี้แล้ว ไฉนทำไมสภาพย่ำแย่เลวร้ายใต้ทุนนิยมที่กรรมกรประสบทุกเมื่อเชื่อวันจึงไม่กลายเป็นจิตสำนึกทางการเมืองที่ปฏิวัติเล่า?

จากนี้พวกซ้ายใหม่จึงเสนอคำตอบด้านกลับว่ามันเป็นเพราะโดยแก่นสารแล้ว กรรมกรถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาทางสังคมโดยอุดมการณ์ให้ยอมรับฐานะเบี้ยล่างของตนดังที่เป็นอยู่

คำตอบของพวกซ้ายใหม่ข้างต้นมีปัญหายุ่งยากอยู่ กล่าวคือ กะอีแค่ลำพังพลังของอุดมการณ์หรือการหล่อหลอมกล่อมเกลาทางสังคม มันเป็นไปได้อย่างไรที่คนซึ่งผ่านพบประสบการณ์เลวร้ายย่ำแย่ถึงปานนี้จะถูกอบรมบ่มสอนหรือโน้มน้าวจูงใจให้มองข้ามการขูดรีดและครอบงำที่ตนทนรับอยู่และยอมรับที่ทางของตนในระบบเชื่องๆ อย่างนั้น?

Perry Anderson แห่งกองบรรณาธิการวารสาร New Left Review น้องชายครู Benedict Anderson & ปกหนังสือ Considerations on Western Marxism (1976) ของเขา แสดงภาพตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย Max Horkheimer, Jean-Paul Sartre, Louis Althusser, Walter Benjamin

ที่กรรมกรไม่ลุกขึ้นปฏิวัตินั้นมีเหตุผล

เบื้องลึกเบื้องล่างคำอธิบายของพวกซ้ายใหม่ว่าที่กรรมกรไม่ปฏิวัติโค่นทุนนิยมเพราะอุดมการณ์/วัฒนธรรมนั้นคือทรรศนะแอบจิตที่ว่ากรรมกรหน้าโง่หลงเชื่อคำหลอกลวงง่ายๆ หรือมิฉะนั้นก็เป็นว่ากรรมกรไม่มีเหตุมีผลหรือล้มเหลวด้านการรับรู้เรียนรู้

เหล่านี้คือปมปัญหาหยั่งลึกในกรอบคำอธิบายและวิธีคิดของพวกซ้ายใหม่ ที่ด้านหนึ่งยอมรับคำบรรยายเรื่องโครงสร้างชนชั้นใต้ทุนนิยมของมาร์กซ์ แต่กระนั้นกลับปัดปฏิเสธ ไม่ยอมพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่ากรรมกรอาจมีเหตุผลที่ดีที่จะไม่จัดตั้งกันขึ้น-ไม่รวมตัวกัน-ไม่ก่อกบฏ แล้วดันทึกทักโดยตรงหรือโดยอ้อมว่ากรรมกรบกพร่องทางการเรียนรู้รับรู้ในบางลักษณะแทน

สิ่งที่ชิบเบอร์ทำในหนังสือเล่มนี้คือเสนอให้ลองตั้งสมมุติฐานทวนกระแสขึ้นมาดูก่อนว่าเอาเข้าจริงกรรมกรมีเหตุผล พวกเขาเข้าใจสภาพแวดล้อมของตัวดีพอควร ไม่ใช่มืดบอดงมงายเพราะอุดมการณ์ ถ้าฉะนี้แล้ว มีเหตุผลอันสมควรใดหรือไม่ที่พวกเขาจะไม่ลุกขึ้นก่อกบฏบนสมมุติฐานใหม่นี้?

คำตอบที่ชิบเบอร์เสนอก็คือกรรมกรมีเหตุผลที่ไม่ลุกขึ้นกบฏต่อทุนนิยม ทั้งนี้เพราะโครงสร้างชนชั้นดังที่เป็นอยู่ในระบบทุนนิยมไม่เพียงก่อความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างกรรมกรกับนายทุนเท่านั้น หากมันยังชักนำความขัดแย้งดังกล่าวไปในทิศทางที่ฝ่ายทุนเข้าจัดการมันได้อีกด้วย นี่คือเหตุผลแท้จริงที่ทุนนิยมมั่นคงยงยืนมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หาใช่เพราะกรรมกรถูกอุดมการณ์ล่อลวงไม่!

กล่าวในแง่นี้ นักลัทธิมาร์กซ์รุ่นก่อนอย่างมาร์กซ์ เลนินและโรซา ลุคเซมเบิร์ก ก็ถูกต้องแล้วที่ชี้ว่าโครงสร้างชนชั้นตั้งอยู่บนการขูดรีดและก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับทุน ข้อบกพร่องหายหกตกหล่นของพวกเขาอยู่ตรงไม่ได้รวบยอดความคิดทฤษฎีออกมาอย่างเพียงพอว่ามีโอกาสความเป็นไปได้ที่ความขัดแย้งดังกล่าวนั้นไม่จำต้องปรากฏในรูปแบบปฏิบัติการรวมหมู่ (collective action) พวกเขาสันนิษฐานผิดว่าความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับทุนจะออกมาในรูปกรรมกรรวมตัวจัดตั้งกันลุกฮือก่อกบฏเท่านั้น

เนื่องจากสิ่งที่โครงสร้างชนชั้นทำเพิ่มเติมอีกประการก็คือมันทำให้ปฏิบัติการรวมหมู่ในลักษณะจัดตั้งสหภาพแรงงานยากเย็นแสนเข็ญ ต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงและสุ่มเสี่ยงภยันตรายเสียจนกระทั่งกรรมกรทั้งหลายใคร่ครวญไตร่ตรองแล้วคิดว่ามันรอบคอบและสมเหตุผลกว่าที่จะต่อต้านแบบปัจเจกบุคคลเป็นรายๆ ไปแทนที่จะเสี่ยงรวมตัวจัดตั้งกันขึ้น

การที่กรรมกรจะรวมตัวจัดตั้งกันขึ้นเป็นสหภาพแรงงานหรือพรรคการเมืองจึงไม่ใช่ผลลัพธ์สืบเนื่องโดยธรรมชาติจากการถูกครอบงำและขูดรีด ตรงกันข้าม มันคือผลลัพธ์ที่เป็นข้อยกเว้นต่างหากและจะพึงบังเกิดขึ้นได้แต่ในสภาพเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะพิเศษผ่านการทำงานที่เฉพาะเจาะจงยิ่ง

ความเป็นจริงขั้นพื้นฐานของทุนนิยมจึงเป็นว่ากรรมกรต่อต้านการถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายทุนโดยผ่านวิถีทางแบบปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ผ่านวิถีทางรวมหมู่ และแน่นอน เมื่อกรรมกรต่อต้านผ่านวิถีทางแบบปัจเจกบุคคลด้วยเหตุผลความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น พวกเขาก็จะประสบความพ่ายแพ้เพราะนายจ้างย่อมเข้มแข็งกว่ามากเป็นธรรมดา

ความลับแห่งความมั่นคงยงยืนของทุนนิยมจึงไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์/วัฒนธรรมอย่างที่ซ้ายใหม่คิด หากอยู่ที่ขณะมันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกรรมกรกับทุน มันก็ค้ำประกันรับรองความมั่นคงของตัวเองโดยชักนำความขัดแย้งนั้นไปในช่องทางและจุดจบที่มันจัดการได้ด้วย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)