นักชกทางการเมือง | ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก | วงค์ ตาวัน

 

นักชกทางการเมือง

 

สังคมไทยไม่ได้ผิดเพี้ยนอะไรหรอก ในกรณีลุงศักดิ์นักชกŽ ซึ่งไม่ได้โดนเสียงป่าวประณามฐานใช้กำลังเตะต่อยนักร้องคนดังอย่างมากมายอะไรนัก กลับมีเสียงสนับสนุนทั้งกำลังใจและกำลังเงินมากมายกว้างขวางมากกว่า แน่นอนว่าคนจำนวนมากในสังคม ไม่ได้เชียร์ให้เที่ยวไปเตะไล่ต่อยใคร ไม่ใช่การเชียร์มวยอย่างแน่นอน

แต่สนับสนุนเพราะมองว่าเป็นการแสดงออกเชิงประท้วงต่อความอึดอัดคับข้องใจต่อเหล่านักร้องและกระบวนการใช้กฎหมาย ที่เรียกกันว่า 2 มาตรฐาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายผู้มีอำนาจปัจจุบัน สามารถใช้กฎหมายเพื่อเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายตนเองอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ

ดังคำกล่าวที่คุ้นกันทั่วว่า ฝ่ายหนึ่งไม่เคยผิด อีกฝ่ายผิดตลอด

อย่าง 8 ปีก็ไม่ผิด กลายเป็นแค่ 5 ปี อะไรเหล่านี้

คำกล่าวของลุงศักดิ์นักชกเอง หลังก่อเหตุบู๊ใส่นักร้องเจ้าประจำ ขณะกำลังไปยื่นเอาผิดการแสดงทอล์กโชว์เดี่ยว 13 ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความคับข้องใจต่อกระบวนการใช้กฎหมายเล่นงานผู้ชุมนุมประท้วงทางการเมือง โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ ลูกหลานของประชาชน

จึงกล่าวได้ว่า เป็นการระเบิดอารมณ์ต่อปมปัญหาที่สร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมมายาวนานกว่า 10 ปีมานี้

ปัญหายุติธรรม 2 มาตรฐาน

ปัญหาที่แม้แต่คณะรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ยอมรับ ผ่านคำสั่งของ คสช.เรื่องการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม ซึ่งระบุว่า ปัญหา 2 มาตรฐานความยุติธรรม เป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะเข้ายึดอำนาจ

แต่เอาเข้าจริงๆ คณะรัฐประหาร คสช. ไม่ได้แก้ปัญหานี้แต่อย่างใด กลับโดดลงมาร่วมสร้าง 2 มาตรฐานทางกฎหมายในหลายๆ เรื่อง

ข้อสำคัญ ข้ออ้างของคณะ คสช.ในการยึดอำนาจ คือ หยุดปัญหาความแตกแยกในสังคม หยุดปัญหาที่จะพัฒนาไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างสี เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย กลับยืนอยู่อีกฝ่ายอีกสี เพื่อกดอีกฝ่ายให้หยุดนิ่ง ห้ามเคลื่อนไหว

เหล่านี้แหละคือแรงกดดันแรงคับแค้นใจของคนอีกฟากฝ่ายมายาวนาน

การระเบิดอารมณ์ของลุงศักดิ์นักชก จึงทำให้คนจำนวนมากไม่ได้มองที่ประเด็นการชกต่อย แต่มองที่สาระของการแสดงออก เพื่อต่อต้านการใช้กฎหมายอย่างไม่เที่ยงธรรมนั่นเอง

แถมเอาเข้าจริงๆ การแสดงออกของลุงศักดิ์ แม้จะเป็นการใช้กำลัง แต่ก็คือใช้กำลังกายด้วยมือและเท้า ไม่ได้ใช้อาวุธร้ายแรงอื่นใด ไม่ได้ใช้ไม้ มีด ปืน ทั้งไม่ใช่การยกพวกมารุมทำร้ายคนคนเดียว อย่างป่าเถื่อนเอาเปรียบ แต่เป็นการชกต่อยระหว่างคนสองคน

หลายคนจึงมองว่า นี่จะเรียกว่าใช้ความรุนแรงได้หรือ ในทางคดีก็ยังเป็นแค่ข้อหาทำร้ายร่างกายทั่วไปเท่านั้น

เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของกลุ่มคนฝ่ายสนับสนุนรัฐเอง ที่มักเข้ารุมทำร้ายคนคิดต่าง กลุ่มชายฉกรรจ์ยกพวกรุมทำร้ายเด็กรุ่นใหม่ รุมทำร้ายนักศึกษาที่รามคำแหง และอีกหลายๆ ที่

ไปจนถึงเหตุการณ์ระดับประวัติศาสตร์ ที่ฝ่ายรัฐใช้อาวุธสงคราม ใช้มวลชนจัดตั้งทำร้ายนักศึกษาประชาชนมาอย่างยาวนานหลายครั้งหลายหน

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่อย่างโหดอำมหิต เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

การล้อมฆ่าคนเสื้อแดง ด้วยกองกำลังทหารพร้อมอาวุธเต็มอัตราศึก ใช้กระทั่งหน่วยสไนเปอร์ ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 จนตายไปถึง 99 ศพ ใจกลางเมืองหลวง

รวมทั้งกรณีชายฉกรรจ์รุมตี นายเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมการเมือง หลายครั้งหลายหน บาดเจ็บเสียเลือดเนื้อมาหลายครั้ง ไปจนถึงการรุมตี จ่านิว นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ จนบาดเจ็บสาหัส

นี่คือความรุนแรงจากฝ่ายรัฐ ที่กระทำต่อนักศึกษาประชาชน ที่เรียกหาความถูกต้องเป็นธรรมและประชาธิปไตย

ฝ่ายต่อต้านรัฐและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั่นเอง ที่ถูกอีกฝ่ายใช้ความรุนแรงมาตลอด จนล้มตาย บาดเจ็บ สูญเสียมานักต่อนัก

ในยุคของคณะทหาร คสช. ที่เข้าสู่อำนาจตั้งแต่การล้มประชาธิปไตยด้วยรถถัง เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ใช้กระบวนการกฎหมายเล่นงานนักเคลื่อนไหว คนรุ่นใหม่ อย่างโจ่งแจ้ง จนติดคุกติดตะรางกันระนาว

ทั้งผ่านกระบวนการยุติธรรม ผ่านกระบวนการนักร้อง

ว่างๆ ก็ออกมาข่มขู่ ว่าอย่าได้ลงถนน เจอแจ้งจับแน่ อะไรทำนองนี้

เหล่านี้เองที่สั่งสมเป็นอารมณ์คับแค้นของคนอีกฝ่าย ถูกกระทำโดยตลอด จนมีคดีติดตัวกันมากมาย เจ็บเนื้อเจ็บตัวกันมากมาย

ถูกลงโทษทางกฎหมาย ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ร้ายก่ออาชญากรรมปล้นฆ่า แต่เป็นคนคิดต่างคนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเจริญก้าวหน้า

จึงมาถึงจุดที่เกิดลุงศักดิ์นักชก แสดงออกเพื่อต่อต้านเพื่อประท้วงปมปัญหาทางกฎหมายของสังคมไทย

ในประวัติศาสตร์การเมืองทั่วโลก เมื่อฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพประชาธิปไตย เมื่อกระทำหนักๆ เข้ากระทำมากๆ เข้า ใช้อำนาจอย่างไม่ปรานีปราศรัย มักจะทำให้ฝ่ายต่อต้านมาถึงจุดที่ไม่อาจต่อสู้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและสันติวิธีได้อีกต่อไป

จึงเกิดเป็นขบวนการใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ เป็นขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธ ก่อการร้ายในเมือง อะไรเหล่านี้

ในบ้านเราเอง ผลพวงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป่าเถื่อนและทารุณ ทำให้นักศึกษาปัญญาชนจำนวนหลายพันคนต้องแห่เข้าป่า ไปจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท ร่วมในสงครามประชาชนสู้รบกับทหารรัฐบาล

ทั้งเพื่อแก้แค้นให้เพื่อน ทั้งเป็นการเดินเข้าสู่แนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนเพื่อเอาชนะรัฐบาล เพราะการต่อสู้อย่างสันติถูกปิดตาย

ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เกิดขบวนการก่อความไม่สงบ คือการตอบโต้รัฐด้วยการก่อการร้าย จากปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านเชื้อชาติศาสนา

เป็นความรุนแรงด้วยปืนด้วยระเบิด ยังยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้ ยังมองไม่เห็นหนทางจะดับไฟใต้ได้

ขณะเดียวกัน นับจากสิ้นสุดสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ปัญญาชนไทยกลับมาเดินแนวทางสันติ ต่อสู้ทางกลไกรัฐสภา แต่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ก็ต้องพบอุปสรรค ทั้งจากรัฐธรรมนูญเอารัดเอาเปรียบ ทั้งการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ อย่างน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้คนไทยเริ่มสิ้นหวัง

ฝ่ายผู้มีอำนาจควรทบทวนบทเรียน อย่าผลักให้ประชาชนหมดหนทาง

ยิ่งกดจะยิ่งมีแรงต้าน

กรณีลุงศักดิ์ ถือว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่ได้รุนแรงขนาดใช้อาวุธอะไรเลย และควรเป็นบทเรียนให้ฝ่ายผู้มีอำนาจได้ทบทวนตัวเอง

ย้อนถามตัวเองว่า ใช้อำนาจเสียจนทำให้เกิดนักชกทางการเมืองขึ้นมาใช่หรือไม่!?

ถ้าไม่อยากให้มีนักชกทางการเมืองเกิดขึ้นอีก ถ้าไม่อยากให้เกิดการใช้กำลังชกต่อยกันอีก ก็อย่าได้ทำให้เกิดกรณี 2 มาตรฐานทางกฎหมาย อย่าใช้มือไม้ออกมาเคลื่อนไหวเอาข้อกฎหมายมาปิดปากคนคิดต่างอีก

ที่สำคัญชนวนเหตุของเรื่องนี้ มาจากรายการทอล์กโชว์ตลกเสียดสีทางการเมืองแท้ๆ

ทำเรื่องเฮฮาสนุกสนานให้บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่กันเอง!!