ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | อาชญากรรม |
เผยแพร่ |
อาชญากรรม | อาชญา ข่าวสด
ผ่าปม ‘ครรชิต’ พ้นคุก
จบคดีรัวฆ่า ‘นายกตุ่น’
ต้องโทษ 7 ปี 10 เดือน
เหตุนักโทษชั้นดีเยี่ยม
กลายเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง สำหรับกรณีของนายครรชิต ทับสุวรรณ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีภาพและคลิปวิดีโอปรากฏอยู่ในงานเลี้ยงแห่งหนึ่ง
เพราะเจ้าตัวได้ตกเป็นจำเลยในคดีฆ่านายกตุ่น ด้วยการรัวยิงถึง 9 นัดคาปั๊มน้ำมันกลางวันแสกๆ เหตุเกิดเมื่อปี 2554
หลังจากเกิดเหตุ นายครรชิตให้การปฏิเสธ พร้อมสู้คดีถึงชั้นฎีกา ก่อนจะได้ข้อสรุป เมื่อคำพิพากษาศาลฎีการะบุให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับครอบครัวผู้สูญเสียเป็นเงิน 13,300,000 บาท
แล้วจู่ๆ คนที่ถูกจำคุกตลอดชีวิต ทำไมถึงออกมาใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ภายนอกได้
เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี!!
แต่แล้วก็ถึงบางอ้อ เมื่อราชทัณฑ์ชี้แจงว่านายครรชิตเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม ได้รับพระราชทานอภัยโทษ-ลดโทษ รวม 5 ครั้ง สุดท้ายเหลือจำคุก 7 ปี 10 เดือน 25 วัน
เป็นระยะเวลาที่จำคุกจริง จากข้อหาฆ่าคนตาย และถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต!!

ปล่อยตัวครรชิต ทับสุวรรณ
เหตุการณ์นี้ปรากฏเป็นที่สนใจของสังคมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เมื่อในโลกออนไลน์มีการส่งต่อคลิปวิดีโอที่มีภาพนายครรชิต ทับสุวรรณ อายุ 52 ปี อดีต ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ต้องขังในคดีฆาตกรรมนายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาคร ภายในปั๊มน้ำมัน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554
หลังจากนั้น นายครรชิตได้มอบตัวพร้อมทนายความ ให้การปฏิเสธทั้งหมดและสู้ในชั้นศาล จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต
ทั้งนี้ คลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการกล่าวบนเวทีงานเลี้ยงของนายครรชิตขอบคุณเพื่อนฝูงที่ไปเยี่ยมในเรือนจำ จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดบุคคลที่ถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จากคดีฆ่าคนตาย ถึงออกมาอยู่โลกภายนอกได้แล้ว
โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าวว่า ข่าวจากสื่อมวลชนยืนยันว่า นักการเมืองที่ต้องโทษคดีร้ายแรง ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต ขณะที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังการรับโทษได้เพียง 7 ปี
เบื้องต้นตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีข้อบกพร่องที่สมควรเสนอต่อนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยด่วน เพราะสังคมตั้งข้อสงสัยว่ามีขบวนการใดดำเนินการเลื่อนชั้นไปรอรับอภัยโทษต่อเนื่อง จริงหรือไม่
“คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ศาลฎีกายืนตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ราชทัณฑ์ใช้อำนาจแค่เรือนจำ เลื่อนชั้นเลื่อนเกรดเป็นชั้นดีชั้นเยี่ยม ราชทัณฑ์ทำหน้าที่พิพากษาตัดสินโทษใหม่แทนศาลได้หรือ
จึงลดโทษไป 43 ปี เหลือติดจริงแค่ 7 ปี
งานนี้นายกฯ ควรสั่งตรวจสอบหากพบทุจริตต้องเอาผิดคนดำเนินการชง เลื่อนชั้น ในกระบวนการเพื่อปล่อยนักโทษ เข้าคุกแทน เพราะฟังคำชี้แจงจากหน่วยงาน ฟังไม่ขึ้น”
นายสมชายตั้งคำถามถึงกระบวนการเลื่อนชั้นระดับการเป็นนักโทษ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากที่กระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ควรชี้แจงให้กระจ่าง
ขณะที่รายงานจากกรมราชทัณฑ์ชี้แจงเพียงว่า การนับโทษของนายครรชิต เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งระหว่างต้องโทษ นายครรชิตได้รับการเลื่อนชั้นนักโทษ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม รวมถึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษรวม 5 ครั้ง
โทษสุดท้ายเหลือจำคุก 7 ปี 10 เดือน 25 วัน กำหนดพ้นโทษเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เรือนจำกลางบางขวางจึงปล่อยตัวในกรณีจำคุกครบตามกำหนดโทษในหมายสุดท้าย
เป็นโทษที่ลดจากการจำคุกตลอดชีวิต!!!

ย้อนนาทีรัวดับนายกตุ่น
สําหรับคดีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 เป็นเหตุการณ์ขณะที่นายอุดร หรือนายกตุ่น เดินสายร่วมเปิดงานต่างๆ ในฐานะนายก อบจ.สมุทรสาคร ก่อนแวะห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน ปตท.
ระหว่างนั้น รถกระบะวีโก้ สีบรอนซ์ทอง ขับเข้ามาจอดข้างๆ ชายรูปร่างสูงใหญ่ใส่ชุดซาฟารีสีเข้มลงจากรถ และเข้าไปพูดคุยกับนายกตุ่นที่หน้าห้องน้ำ แล้วชักปืนพกขนาด .40 ออกมารัวยิงนายกตุ่นถึง 9 นัดซ้อน เสียชีวิตคาที่ ต่อหน้าต่อหน้าคนขับรถและชาวบ้านที่แวะเข้ามาใช้บริการภายในปั๊ม
ส่วนคนร้ายกระโดดขึ้นรถและเร่งเครื่องหลบหนีไป
ทั้งนี้ พยานที่เป็นคนขับรถของนายกตุ่น จำได้ชัดเจนว่า คนลงมือก่อเหตุคือนายครรชิต เนื่องจากเป็น ส.ส.ในพื้นที่ และเคยเจอหน้าตามงานหลายครั้ง และทุกครั้งก็จะยกมือไหว้
พร้อมระบุอีกว่า หลังเกิดเหตุเมื่อวิ่งเข้าไปดูศพผู้เป็นนาย ยังถูกนายครรชิตใช้ปืนจ่อที่หน้าผาก แล้วพูดว่า “เดี๋ยวมึง” จนพยานตกใจยกมือไหว้ขอโทษแล้ววิ่งหลบไปทางอื่น จากนั้นนายครรชิตก็ออกจากที่เกิดเหตุไป
หลังจากเกิดเหตุสะเทือนขวัญเพียง 2 วัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส นำทีมกฎหมายและทนายความ พานายครรชิตเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ โดยนายครรชิตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
สำหรับหลักฐานที่มัดแน่นจนนายครรชิตดิ้นไม่หลุด นอกจากคำให้การของพยาน ยังมีปมเรื่องอาวุธสังหาร ซึ่งก็คือปืนกล็อก ขนาด .40 ที่มีไว้ครอบครอง ซึ่งในพื้นที่สมุทรสาคร พบมีเพียง 8 กระบอก 1 ในนั้นมีนายครรชิตครอบครองอยู่ด้วย
เมื่อตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ ก็พบว่าปลอกกระสุนปืนที่ตกอยู่ในจุดเกิดเหตุ มีดีเอ็นเอของนายครรชิตติดอยู่ จึงเป็นอีกหลักฐานสำคัญที่มัดแน่นยากจะดิ้นหลุด
สำหรับชนวนเหตุในการสังหารโหดเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง แต่จากการสอบสวนเชิงลึกพบเป็นเรื่องเกี่ยวกับศักดิ์ศรี
โดยนายกตุ่นเคยมีเลขาฯ สาวคู่ใจที่ทำงานด้วยกันหลายปีและสนิทสนมกันมาก ต่อมาเลขาฯ คนดังกล่าวลาออกไปทำงานที่อื่น กระทั่งได้รู้จักกับนายครรชิต
ต่อมานายครรชิตไม่พอใจที่นายกตุ่นชอบพาดพิงถึงหญิงสาวคนดังกล่าว และเกือบมีเรื่องกันหลายครั้ง
เป็นเรื่องของศักดิ์ศรี นำมาซึ่งการลงมือฆ่า!!!

เปิดคำพิพากษา 3 ศาล
ขณะที่คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาในชั้นต้น เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 โดยพิเคราะห์หลักฐานของการสืบสวนสอบสวนพยานบุคคล และประจักษ์พยาน เชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ ตัดสินให้ประหารชีวิตนายครรชิต ในความผิดตามมาตรา 289(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มาตรา 390 ข่มขู่ผู้อื่นให้เกิดความกลัว มาตรา 392 ยิงปืนโดยไม่มีเหตุอันควรในที่สาธารณะฯ และมาตรา 371 พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะหรือหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควรฯ
หลังจากฟังคำพิพากษา นายครรชิตยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 1.4 ล้านบาท ต่อมาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และคุมตัวเข้าเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร
จากนั้นญาติยื่นประกันอีกครั้งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยศาลพิจารณาเห็นว่า ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี หากปล่อยชั่วคราวเกรงจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ขณะที่การต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ ในเดือนตุลาคม 2558 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษ จากประหารชีวิต มาเป็นจำคุกตลอดชีวิต โดยเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นเหตุที่พบกันซึ่งหน้าแล้วจึงบันดาลโทสะ
ขณะในชั้นศาลฎีกาที่ทั้ง 2 ฝ่ายสู้คดีนั้น โดยวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิจารณาประเด็นที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ลงมือ ซึ่งจากการรับฟังพยานบุคคลที่ให้การตรงกัน รวมทั้งการที่จำเลยเป็น ส.ส.ในพื้นที่ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของ จ.สมุทรสาคร รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้าย
ประเด็นฎีกาต่อมาคือการสอบสวนกระทำโดยมิชอบ เพราะจำเลยเป็น ส.ส. ขณะเกิดเหตุอยู่ในสมัยประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ.2554 ระหว่างประชุมห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียก ส.ส.ไปสอบสวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่เป็นสมาชิก หรือจับขณะที่กระทำความผิด ถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ สอบสวนโดยมิชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยสมัครใจไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และแถลงขอสละสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ก็แถลงว่าจำเลยไม่ขอใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.จึงฟังเป็นข้อยุติว่าจำเลยสมัครใจไม่ใช้เอกสิทธิ์
ประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เห็นว่า มีข้อน่าระแวงสงสัยเพราะจำเลยอาจไปพบผู้ตายโดยบังเอิญ แล้วตัดสินใจยิงผู้ตายในทันทีก็ได้
พฤติการณ์แห่งคดียังไม่พอรับฟังได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้นชอบแล้ว
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว และให้ชดใช้ค่าสินไหมแก่ภรรยา และบุตรของผู้เสียชีวิต จำนวน 13,300,000 บาท
ก่อนจำคุกจริง 7 ปี 10 เดือน 25 วัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022