รักร้าวๆ ไฟต์บังคับ ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ ขั้ววงษ์สุวรรณ-จันทร์โอชา จับตา บทบาท ‘บิ๊กช้าง’ กับ ‘พลเอก ณ.’ และทีม ฉก. | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

รักร้าวๆ ไฟต์บังคับ ‘บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่’ ขั้ววงษ์สุวรรณ-จันทร์โอชา จับตา บทบาท ‘บิ๊กช้าง’ กับ ‘พลเอก ณ.’ และทีม ฉก.

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นับวาระนายกฯ เริ่มต้นเมื่อเมษายน 2560 และตีความกันว่า จะไปได้ต่อแค่ปี 2568

จนแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต้องเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจนว่าจะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อหรือไม่ โดยเสนอให้สมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.เลย

ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแยกทาง แยกวงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ ไม่อยู่ พปชร.แล้ว แต่จะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค

พร้อมๆ กับกระแสข่าวที่แกนนำ พปชร.หลายคน ที่ได้ชื่อว่า สายจันทร์โอชา จะย้ายไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย โดยเฉพาะเสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ ระยะหลังไม่เข้าบ้านป่ารอยต่อฯ และไม่ได้ร่วมคณะ พล.อ.ประวิตรลงพื้นที่เลย แต่ทว่า ไปกับ พล.อ. ประยุทธ์เช่นเดิม เพราะนายสุชาติมีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่พรรคไหน นายสุชาติก็จะอยู่พรรคนั้น

รวมทั้งนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิตัลฯ ที่ถูกมองว่าเป็นสายจันทร์โอชา แต่ทว่า ก็ยังบาลานซ์ทั้งการลงพื้นที่กับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เพราะปกติพี่น้อง 2 ป.จะลงพื้นที่ไม่ตรงกัน แต่มีบางครั้งที่ตรงกัน นายชัยวุฒิก็ไปส่ง พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเครื่องก่อน จากนั้นก็รีบลงพื้นที่กับ พล.อ.ประวิตร

จากที่ทุกเช้า ที่บ้านป่ารอยต่อฯ เคยมีทั้งนายสุชาติ นายชัยวุฒิ และ รมว.ศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง มาพบปะ ระบประทานอาหารกับ พล.อ.ประวิตรอยู่เนืองๆ แต่ทว่า นายสุชาติกลับหายหน้าไป และดูจะลดบทบาทในการให้สัมภาษณ์สื่อในเรื่องการเมืองลงไปด้วย

รอยร้าวในความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร แม้จะไม่ได้ขาดสะบั้น แต่รอยร้าว ปริแตกยาวขึ้น และลึกลงทุกวัน ก็ส่งผลให้นักการเมืองลำบากใจ ไม่น้อย ที่จะต้องเลือกข้าง หรือบาลานซ์ ให้ความสำคัญทั้ง 2 ฝ่าย และกลายเป็นเรื่องเมาธ์ในหมู่นักการเมือง ที่รอดูวันอวสานของพี่น้อง 3 ป.

เพราะมีความชัดเจนอยู่แล้วว่า ใน 3 ป.นั้น พล.อ.ประยุทธ์มีบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เคียงข้าง เป็นพี่คู่คิด และลงพื้นที่ด้วยกันตลอด แต่จะไม่เห็นลงพื้นที่กับ พล.อ.ประวิตร ช่วงที่เป็นรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

แต่ที่กำลังลำบากใจอีกคนคือ บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ที่จะต้องจัดคิวงานให้บาลานซ์กับทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร

เดิมที พล.อ.ชัยชาญได้ชื่อว่าเป็นสายตรงบิ๊กป้อม เพราะ พล.อ.ประวิตรเมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหมในรัฐบาล คสช. ก็เป็นคนสนับสนุนให้ พล.อ.ชัยชาญเป็นปลัดกลาโหม และเมื่อเกษียณ ก็ให้มาเป็น รมช.กลาโหม

แม้ว่าเมื่อ พล.อ.ประวิตรไม่ได้เป็น รมว.กลาโหมแล้ว แต่ก็ยังมี พล.อ.ชัยชาญเป็นหูเป็นตา เป็นมือไม้ในเรื่องกลาโหมและกองทัพ เพราะ พล.อ.ประวิตรก็ยังคุมความมั่นคง

และเป็นคนที่ช่วยค้ำเก้าอี้ให้ พล.อ.ชัยชาญ เพราะเคยมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เล็งหา รมช.กลาโหมคนใหม่ เมื่อครั้งที่บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯ สมช. น้องรัก เกษียณราชการ แต่ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ให้เป็นที่ปรึกษานายกฯ เท่านั้น

บิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล

ด้วย พล.อ.ประยุทธ์เป็น รมว.กลาโหม จึงทำให้ พล.อ.ชัยชาญต้องประสานงาน รายงาน รับคำสั่งโดยตรง และมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

เพราะช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ควบ รมว.กลาโหมนั้น มอบหมายงานต่างๆ ให้ พล.อ.ชัยชาญดูแลให้ แถมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เข้ามานั่งทำงานที่กระทรวงกลาโหมเลย จะมาแค่วันประชุมสภากลาโหม เดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ยิ่งช่วงโควิด 2 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้การประชุมออนไลน์ ก็ไม่ได้มาที่กลาโหมเลย

พล.อ.ชัยชาญจึงเป็นเสมือนสนามไชย 1 แถมนั่งกลาโหมมานาน ตั้งแต่พฤศจิกายน 2560 รวมจะ 5 ปีแล้ว

อีกทั้งเป็น รมช.กลาโหม ที่เก็บความลับได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ให้สัมภาษณ์ ไม่คุยกับสื่อ ถามอะไรก็ไม่ตอบ ยิ้มอย่างเดียว แต่คุมความลับสำคัญด้านความมั่นคง และขยันมาทำงานตั้งแต่เช้ามืด และกลับในช่วงใกล้ค่ำ

และกลายเป็นศูนย์รวมของ ผบ.เหล่าทัพ ที่มีอะไรก็จะคุยตรงกับ พล.อ.ชัยชาญ ที่น้องๆ เรียก “พี่ช้าง” ตท.16 เพราะรุ่นใกล้กับ ผบ.เหล่าทัพ มากกว่า พล.อ.ประวิตร ตท.6 และ พล.อ.ประยุทธ์ ตท.12 จากนั้น พล.อ.ชัยชาญก็จะคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ให้อีกที

โดยเฉพาะในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ 38 วัน แล้วไปนั่งทำงานที่กระทรวงกลาโหมทุกวันนั้น ก็คุยกับ พล.อ.ชัยชาญทุกวัน และใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงจัดทำโผโยกย้ายทหาร รวมทั้งเป็นเพื่อนร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับ พล.อ.ประยุทธ์เกือบทุกวัน

จนในการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงเหลือเก้าอี้ รมว.กลาโหมเก้าอี้เดียว ก็มี พล.อ.ชัยชาญลงพื้นที่ด้วยทุกครั้ง จนบางงานของ พล.อ.ประวิตร มีชื่อ พล.อ.ชัยชาญมา แต่ตัวต้องไปงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ก็มี

และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ต่อ จึงทำให้การลงพื้นที่ทุกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมี พล.อ.ชัยชาญไปด้วยทุกครั้ง

ยิ่งเมื่อเปลี่ยนปลัดกลาโหมมาเป็นบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ก็ยิ่งทำให้ พล.อ.ชัยชาญคล่องตัวมากขึ้น เพราะงานความมั่นคง การทหาร ในส่วนของกลาโหม ที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร ก็จะมอบหมายให้ พล.อ.สนิธชนกไปแทน เพราะเป็นที่รู้กันว่า เป็นสายตรงบิ๊กป้อม

จนมีข่าวสะพัดว่า ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์มานั่งทำงานที่กลาโหมนั้น มีทั้ง รมต. และทหารรุ่นน้อง รวมทั้งเพื่อน ตท.12 เข้ามาเยี่ยมมาหา และร่วมโต๊ะกลม รับประทานข้าวด้วยกัน ก็จะมี พล.อ.ชัยชาญร่วมวงข้าววงสนทนาด้วย ไม่ว่าบทสนทนาบนโต๊ะจะเป็นเรื่องอะไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไว้ใจ พล.อ.ชัยชาญ

แม้แต่เรื่องอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ในเวลานั้นก็รู้แนวทางแล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร โดย พล.อ.ประยุทธ์ก็แสดงความเชื่อมั่นว่าจะไปต่อบนถนนการเมืองนี้ได้ ไม่ว่าจะไปได้แค่อีก 2 ปี ในสมัยหน้าก็ตาม

จึงทำให้ พล.อ.ชัยชาญ ที่แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้อยู่ พปชร. แต่ก็ถูกจัดให้เป็น รมต.ในสายจันทร์โอชาอีกคน

 

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตรจะแตกร้าว แต่ก็ไม่ถึงขั้นแตกสะบั้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่เคยบอกกับพี่ใหญ่ว่าจะย้ายพรรค และคาดว่าจะยังอยู่กับ พปชร.ต่อไป แบบที่เรียกว่า อยู่กันแบบร้าวๆ หลวมๆ

ประเด็นนี้จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องเปลี่ยนแผน จากที่อยากจะกลับมา พปชร. เพราะคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ไปต่อ หรือแยกพรรคไป ก็ต้องเลือกที่จะไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยแทน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ถึงเวลาเปิดตัว แต่การลาออกจากหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และไม่อยู่ในกรรมการบริหารพรรค ก็เป็นสัญญาณว่า พร้อมย้ายพรรค

โดยที่วงใน ร.อ.ธรรมนัสให้เหตุผลกับคนใกล้ชิดว่า ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อ และจะอยู่ พปชร. ตนเองก็เลยอยู่ไม่ได้ สงสาร พล.อ.ประวิตรที่เป็นคนกลาง

ด้วยเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นน้องรักที่คบหากันมายาวนาน ส่วน ร.อ.ธรรมนัสก็น้องเลิฟที่ พล.อ.ประวิตรใช้งานอยู่

อีกทั้งกระแสข่าวจากตึกไทยคู่ฟ้าว่า พล.อ.ประยุทธ์พร้อมจะไปต่อบนถนนการเมือง และจะไม่ไปไหน จะอยู่กับ พล.อ.ประวิตร เพื่อรักษาภาพลักษณ์ และแผงอำนาจ 3 ป.เอาไว้ แม้จะมีปัญหาในใจกันอยู่บ้าง หรือในหมู่คนใกล้ชิดรอบข้างบ้างก็ตาม และก็ไม่มีปัญหา หากจะมีทั้งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค เพราะในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อได้แค่ปี 2568 เท่านั้น

แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ยังไม่ยอมตอบคำถาม หรือพูดให้ชัดเจน ก็เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามต้องปรับแผนในการรับมือ รับเกมพี่น้อง 3 ป. เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์แยกทางเดินออกไป ก็ยากที่จะนำพรรครวมไทยสร้างชาติชนะเลือกตั้ง หรือแม้แต่มาเป็นพรรคอันดับ 2

อีกทั้งหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่เล่นการเมืองต่อ หรือปล่อย พล.อ.ประวิตรไป ก็จะทำให้คนรอบข้างชักนำไปในทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการ โดยเฉพาะการจับมือกับพรรคเพื่อไทยตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องอุบท่าทีทางการเมืองเอาไว้ก่อน

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ และความสัมพันธ์ที่แตกร้าวของพี่น้อง 3 ป. ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง ช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง

เมื่อหันไปดูสถานการณ์ในกองทัพ ก็น่าเป็นห่วง เพราะกำลังจะเข้าสู่การผลัดใบ ที่จะเป็นการชิงเก้าอี้ ผบ.เหล่าทัพกันอย่างเข้มข้น ทั้งในบรรดาทหารคอแดงด้วยกันเอง ทั้งสายวงศ์เทวัญคอแดง และบูรพาพยัคฆ์คอแดง รวมทั้งปัญหาระหว่างทหารคอแดง และทหารคอเขียว ที่อาจทำให้การเมืองยิ่งระอุ

ตอนนี้กองทัพยังไม่ถึงขั้นผลัดใบ แม้มีการเปลี่ยน 3 ผบ.เหล่าทัพ คือ ปลัดกลาโหม ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. เพราะยังมีบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ต่อเป็นปีที่ 3 และถือเป็นผู้นำกองทัพ ทั้งตำแหน่งและรุ่น เพราะเป็นเตรียมทหาร 21 พี่ใหญ่สุด ผบ.เหล่าทัพ จึงเรียกว่า “พี่แก้ว”

และยังมีบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ (ตท.22) นั่งเป็น ผบ.ทบ.ต่อเป็นปีที่ 3 และจะเกษียณพร้อมกัน 30 กันยายน 2566

เพราะตามธรรมเนียมแล้ว ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ. ยังคงเป็นหลักของ ผบ.เหล่าทัพ เพราะ ผบ.ทหารสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญขาโดยตรงของ ผบ.เหล่าทัพ ส่วน ผบ.ทบ. ก็คุมกำลัง ทบ.เหล่าทัพ ที่ใหญ่ที่สุด และมีบทบาทแฝงทางการเมืองมาทุกยุคสมัย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

ขณะที่ ผบ.ทร.คนใหม่ บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ และบิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ.คนใหม่ ที่ต่างเหลืออายุราชการแค่ปีเดียว ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.22 ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ทั้งสิ้น

จึงทำให้สมการรุ่นของ ผบ.เหล่าทัพ ยังคงมีพี่แก้วเป็นพี่ใหญ่ ตท.21 และ ผบ.เหล่าทัพที่เป็น ตท.22 ด้วยกันทั้งแผง ไม่นับรวมบิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.คนใหม่ ที่ก็เป็น ตท.22 และมีอายุราชการปีเดียว

นั่นหมายถึงว่า ตุลาคม 2566 กองทัพจะผลัดใบจริงๆ เพราะจะมีการเปลี่ยนทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. หรือแม้แต่ ผบ.ตร.เลยทีเดียว

แต่ทว่า ก่อนที่จะเกษียณราชการในอีก 11 เดือนที่เหลืออยู่นี้ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้กำลังถูกจับตามองว่า จะรับมือสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งในกลางปี 2566 อย่างไร ไม่ว่าฝ่ายใดได้เป็นรัฐบาล ก็คาดว่าจะมีการปลุกม็อบตามมา

แถมทั้งจะเป็นช่วงการโยกย้ายใหญ่ครั้งหน้า ราวสิงหาคม-กันยายน 2566 กองทัพจะเข้มข้นจากการชิงเก้าอี้ โดยเฉพาะเก้าอี้ ผบ.ทบ.อีกด้วย

 

แม้ พล.อ.เฉลิมพลจะแสดงทีท่าและจุดยืนต่อการเมือง ที่จะไม่รัฐประหาร แต่ก็ไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากนัก เพียงแค่คาดหวังที่จะเห็นพัฒนาการการเมืองของประเทศเราเป็นไปในรูปแบบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทหารก็ทำหน้าที่ของทหารเท่านั้นเอง

คนที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ทบ.1 ที่นั่งในอำนาจมา 2 ปี สู่ปีที่ 3 มีอำนาจที่แข็งแกร่งมากขึ้น แถมเป็นอำนาจที่ฝ่ายการเมืองแทรกแซงได้ยาก เพราะไม่ได้เป็นแค่ ผบ.ทบ. แต่เป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คุมทหารคอแดงอีกด้วย

แม้จุดยืน พล.อ.ณรงค์พันธ์จะชัดเจนและแตกต่าง ตั้งแต่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ต่อจากบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในการเว้นระยะห่างกับฝ่ายการเมือง แม้แต่กับนายกรัฐมนตรี แต่เน้นย้ำการเป็นทหารพระราชา และทหารของประชาชน ใช้ม็อตโต้ “พิทักษ์ราชัน ปกป้องประชา รักษาแผ่นดิน”

ทั้งการประกาศในที่ประชุม ผบ.หน่วยขึ้นตรง ทบ. และการแสดงออก ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว และการยืนยันว่าในหัวมีแต่ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ส่วนการรัฐประหารมีโอกาสเป็นศูนย์ หรือติดลบด้วยซ้ำไป และไม่แฮปปี้เมื่อนักข่าวถามเรื่องรัฐประหารก็ตาม

แต่ทว่า สถานการณ์ในวันข้างหน้า ไม่มีใครอาจหยั่งรู้ได้

เป็นที่รู้กันดีใน ทบ. ถึง “พลเอก ณ.” คือ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เพราะเวลาลงนาม หรือลายเซ็น จะเขียนว่า “พลเอก ณ.” และมักมีข้อเสนอแนะ เน้นย้ำเพิ่มเติม เขียนด้วยลายมือ ท้ายลายเซ็นเสมอๆ สะท้อนถึงการอ่าน และใส่ใจในทุกเรื่องที่ลงนาม

และยังคงยึดถือคติประจำใจว่า “บี้อดทน” ที่ยึดถือมายาวนาน เพราะเป็นทหารต้องอดทนอยู่แล้ว แถมยิ่งเติบโตมาจาก ร.31 รอ. หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว หรือหน่วย RDF หน่วยหมวกแดงของ พล.1 รอ. ก็ยิ่งต้องทั้งอดทน และแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ

แต่ที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ถูกจับตาและอ่านใจมากที่สุดคือ การเลือก ผบ.ทบ.คนใหม่ ระหว่างบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. ทหารเสือฯ คอแดง สายตรงนายกฯ ที่เคยมีข่าวระหองระแหงกันอยู่บ้าง เมื่อครั้งที่เก้าอี้ ผบ.ทบ.ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ไม่มั่นคง

กับบิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. บูรพาพยัคฆ์คอแดง น้องรัก พล.อ.ประวิตร และก็ถือเป็นน้องเลิฟ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ที่สำคัญ อยู่ “ทีมเดียวกัน” กับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ใน ฉก.ทม.รอ.904 อีกทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ยังเคารพนับถือ พล.อ.อภิรัชต์อยู่

ทั้ง พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์ เป็นเพื่อน ตท.23 และเติบโตมาในสาย 3 ป. เพราะก็ถือเป็นบูรพาพยัคฆ์ด้วยกัน และมีอายุราชการแค่กันยายน 2567 เท่ากัน จึงจะมีแค่คนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่จะได้เป็น ผบ.ทบ. แต่ พล.อ.เจริญชัยอาวุโสกว่า เพราะติดยศพลเอกก่อน และรอง ผบ.ทบ. เป็นอัตราพลเอกพิเศษ

รวมทั้งการชิงเก้าอี้ ผบ.ทหารสูงสุด ระหว่างบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทหารสูงสุด สายวงศ์เทวัญคอแดง กับบิ๊กจ่อย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง เสธ.ทหาร สายคอเขียว ที่คาดกันว่า ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไป ก็จะเป็นทหารคอแดงเช่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมพล

อีกทั้ง พล.อ.ทรงวิทย์เป็นทีมเดียวกันกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในสาย ฉก.ทม.รอ.904

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะชนะเลือกตั้ง หรือได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยหนึ่ง หรือไม่ก็ตาม เกมการชิงอำนาจ ในกองทัพจะยิ่งเข้มข้น