เมื่อ ‘เสียงหัวเราะ’ ถูกเปลี่ยนเป็น ‘ความรุนแรง’ | ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

เมื่อ ‘เสียงหัวเราะ’ ถูกเปลี่ยนเป็น ‘ความรุนแรง’

 

เดิมที อารมณ์ขันล้อเลียนผู้นำรัฐบาลของ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” ในการแสดง “เดี่ยว 13” อาจทำหน้าที่เป็นเพียง “รูระบาย” ความอึดอัดคับข้องใจหรือความไม่พอใจ ซึ่งผู้คนจำนวนมากมีต่อผู้มีอำนาจ

นั่นคือกลไกปกติของสังคมการเมือง โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตย

แต่พอ “นักร้องขาประจำ” พยายามลากมุขการเมืองของโน้สเข้าไปหากระบวนการยุติธรรมไทย ที่ถูกคนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามใส่ เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าบ้านนี้เมืองนี้มี “ความเป็นธรรม (ทางการเมือง)” ดำรงอยู่จริงๆ

เลยเกิดเหตุการณ์ “ตลกไม่ออก” เมื่อมีคนบุกไปฟาดหมัด-ประเคนแข้งเข้าใส่ “นักร้อง” เสียอย่างนั้น

เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นบ่งบอกถึงอาการป่วยซ้ำป่วยซ้อนของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

ทั้งๆ ที่เรื่องตลกเสียดสีนั้นไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง

ทว่า ก็ยังอุตส่าห์มี “นักร้อง” ไปบอกว่ามันเป็นปัญหา และจงใจจะทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ครั้นพอมีคนแสดงความไม่เห็นด้วย แล้วเลือกใช้ “ความรุนแรง” เข้าไปสกัดกั้นการไร้อารมณ์ขันข้างต้น

ข้อถกเถียงใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นตามมา กล่าวคือ การต่อย-เตะใส่ “นักร้องคนดัง” นั้นถือเป็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงแน่ๆ

แต่ก็มีหลายฝ่ายที่เริ่มตั้งคำถามว่า เราจำเป็นจะต้องปฏิเสธหรือต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกกรณีหรือไม่?

เมื่อในโลกทัศน์ของคนจำนวนไม่น้อย ผู้ถูกกระทำในกรณีนี้มักแสดงตนเป็นส่วนหนึ่งของระบบ-ระบอบที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมและกดขี่บีบคั้นผู้ไร้อำนาจด้วยข้อกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นี่แสดงให้เห็นว่าพอระบบต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย มิได้ดำเนินไปตามครรลองที่ถูกที่ควร แต่มีความบิดเบี้ยว ออกนอกลู่นอกทาง และการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เกิดขึ้นเป็นประจำ

จึงเป็นธรรมดาที่อาการบาดเจ็บซ้อนป่วยไข้ หรือการก่อปัญหาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาเก่า จะอุบัติสำแดงออกมา

 

อย่างไรก็ดี แม้จะพอเข้าใจได้ว่า การใช้ความรุนแรงต่อ “นักร้อง” คือผลพวงจากการถูกกดบีบเชิงโครงสร้างมานานหลายปี

แต่ก็มีประเด็นน่าเป็นห่วง ที่สมควรจะต้องบอกกล่าวสื่อสารไปยังผู้ที่เลือกใช้ความรุนแรง และกองเชียร์ที่สนับสนุนแนวทางของเขา

ประการแรก เราต้องพร้อมแบกรับความเสี่ยงว่า ถ้า “ฝ่ายประชาธิปไตย” สามารถบุกเข้าไปต่อย-เตะอีกฝ่ายได้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็มีโอกาสจะ “ถูกทำร้าย” คืนเหมือนกัน

และเอาเข้าจริง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แทบทุกคนต่างก็ตระหนักกันดีว่า เวลาฝ่ายถือครองอำนาจรัฐ กลุ่มอิทธิพลอำนาจมืด หรือตัวแทนอำนาจเร้นลับพันลึก ลงมือใช้ความรุนแรง

อาวุธ-เครื่องมือที่พวกเขาเลือกใช้ มักจะมีประสิทธิภาพทำลายล้างสูงกว่า “มือ” และ “ตีน” อันเปลือยเปล่าของมนุษย์คนหนึ่งเสมอ (ตั้งแต่การระดมมวลชน การใช้สรรพาวุธ ทั้งกระสุนจริง แก๊สน้ำตา หรือการฉีดน้ำ ไปจนถึงการทำรัฐประหาร)

ประการที่สอง การลงมือต่อย-เตะคนอื่น แล้วมาแสวงหาเสียงสนับสนุนหรือความชอบธรรมผ่านการรับบริจาคนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็ดูเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างแปลกพิลึก

ด้วยรูปการณ์เช่นนี้ การลงมือลงเท้าเพื่อปลดปล่อยอารมณ์โกรธชั่ววูบ จึงอาจมีโอกาสบิดผันกลายเป็นอาการผิดรูปผิดรอยอย่างต่อเนื่อง ที่เตลิดเปิดเปิงไปไกล

จากการต่อสู้ต่อต้านที่พอเข้าใจได้ ก็จะเป๋กลายเป็นความขัดแย้งชุดใหม่ว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ที่เข้าใจไม่ตรงกัน (และ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ในบ้านเรา ดันชอบผิดใจกันด้วยเรื่องราวทำนองนี้เสียด้วย)

ประการที่สาม ถ้าการทำร้ายร่างกาย “นักร้อง” คือพฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้ ก็จะไม่มีใครรับประกันได้ว่า หากเกิดวิวาทะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเปราะบางอ่อนไหวอื่นๆ (ซึ่งอาจไม่ใช่ความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมือง) เช่น เรื่องศาสนาหรือเรื่องเพศ ขึ้นในอนาคตข้างหน้า

วิวาทะเหล่านั้นจะถูกตัดจบด้วยการใช้ความรุนแรง (ไม่ว่าโดยฝ่ายใดก็ตาม) หรือไม่?

 

หากมองในภาพใหญ่กว่านั้น ก็น่าตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “นักร้องชื่อดัง” ได้ให้บทเรียนอะไรแก่บรรดาคนมีอำนาจ (ซึ่งดูจะลอยตัวอยู่เหนือการใช้ความรุนแรงรอบนี้) บ้าง?

ถ้านิทานที่เพิ่งจบลงสอนให้รู้ว่า เราควรปล่อยให้ผู้คนขำขันกับตลกการเมืองไปอย่างเป็นปกติ และไม่ควรเข้าไปขวางกระแสอย่างไร้อารมณ์ขัน จนถูกโห่ไล่ต่อย-เตะ

ฉันใดก็ฉันนั้น เราควรปล่อยให้กระบวนการทางการเมืองอันเป็นปกติอื่นๆ ได้ดำเนินไปตามครรลองด้วย

เช่น เมื่อถึงเวลาที่ควรจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง เราก็ไม่ควรเฉไฉหรือถ่วงเวลาออกไป

หรือเมื่อความอึดอัดคับข้องใจในหมู่ประชาชนได้ถูกสั่งสมมาจนล้นปรี่ (กระทั่งต้องไประบายใส่ “นักร้อง”) นั่นก็หมายความว่าอาจถึงเวลาสมควรแล้ว ที่เราจะต้องมาไล่สะสางบ่อเกิด-มูลเหตุของอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น ไปทีละจุดๆ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน