หวั่นน้ำท่วม อีสาน-กลาง ผลผลิตข้าวหอมมะลิวูบ กระทบราคาข้าว-ส่งออกปีหน้า | บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

หวั่นน้ำท่วม อีสาน-กลาง

ผลผลิตข้าวหอมมะลิวูบ

กระทบราคาข้าว-ส่งออกปีหน้า

 

ช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูกาลลงนาเกี่ยวข้าว “นาปี” ภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิหัวใจหลักของประเทศ

แต่ในปีนี้หลายฝ่ายยังคง “ไม่สามารถฟันธง” ว่าตัวเลขผลผลิตในปีการผลิต 2565/2566 จะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด หลังจากพายุโนรูเข้ามาถล่ม ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน

ล่าสุดนายประยูร อินสกุล รักษาการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม2565 สรุปความเสียหายจากพายุโนรู ในพื้นที่ 59 จังหวัด ว่า หากแยกเฉพาะพื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วม 4.5 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วม 2.99 ล้านไร่ และได้รับความเสียหายไปแล้ว 556,677 ไร่

ตัวเลขความเสียหาย 556,677 ไร่นี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4.54% พื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 11.2 ล้านไร่

กลุ่มโรงสีภาคตะวันออกเฉียง ซึ่งเป็นผู้ผลิตขั้นกลางน้ำที่ต้องรับซื้อผลผลิตนาปีจากเกษตรกร “วิชัย ศรีนวกุล” นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มองว่าปีนี้สถานการณ์การผลิตมีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องหลายด้าน ทั้งสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังพบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวน้ำท่วมเพิ่มขึ้น เช่น จ.กาฬสินธุ์ รวมกับพื้นที่ที่ท่วมไปก่อนหน้านี้ น้ำยังไม่ลดลง

เช่นเดียวกับ จ.อุบลราชธานี บริเวณริมแม่น้ำมูล และโซนทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิสำคัญอย่าง จ.ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม

ทำให้มีการประเมินว่า หากไม่มีพายุฝนตกลงมาเพิ่ม การระบายน้ำที่สะสมต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน จะไม่กระทบผลผลิต แต่หากมีพายุฝนลงมาเพิ่มอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้

โดยปกติชาวนาอีสาน จะเริ่มเกี่ยวข้าวมะลิ พันธุ์ กข.15 ก่อนช่วงประมาณต้นเดือนตุลาคม แต่ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมทำให้พวกเขาเกี่ยวข้าวช้าลงประมาณ 1 สัปดาห์ หรือมาเริ่มตอนกลางเดือน หลังจากเกี่ยวหมดจะทยอยเก็บเกี่ยวข้าวขาวหอมมะลิ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ต่อ ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ปลูก และจะใช้เวลาเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์ หรือประมาณต้นเดือน 5-6 พฤศจิกายน 2565 ก็จะหมด

เท่ากับว่าจะสามารถนำข้าวไปขายก่อนนำเงินไปใช้ช่วงปีใหม่ หรือนำข้าวไปให้กับลูกหลานที่ไปทำงานกรุงเทพฯ จะเดินทางกลับมาช่วงปีใหม่นำกลับไปรับประทานที่กรุงเทพฯ

ขณะที่โรงสีในพื้นที่ภาคอีสานจะใช้วิธีการซื้อข้าวนาปีจากชาวนา เพื่อ “สต๊อก” ไว้ก่อน และค่อยๆ นำมาทยอยใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้า (เพราะข้าวนาปีปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง)

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปีนี้คือ “สต๊อกโรงสีขณะนี้ลดลงอย่างมาก” เป็นผลจากปริมาณผลผลิตนาปีก่อน (2564/2565) ลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ 9 ล้านตัน แต่เก็บเกี่ยวจริงมีเพียง 7 ล้านตัน ทำให้มีสต๊อกน้อย ประกอบกับมาเจอภาวะข้าวเกี่ยวช้า จึงมีผลให้ทำราคาข้าว “ขยับขึ้น” ช่วงสั้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะขณะนี้ยังไม่ใช่ภาวะตลาดที่แท้จริง เพราะจะต้องรอหลังจากชาวนาเกี่ยวข้าวมาแล้วจึงจะรู้ว่า “มากขึ้นหรือน้อยลง”

ด้วยเหตุที่น้ำท่วมหลายเส้นทาง ทำให้การลงพื้นที่สำรวจข้าวของสมาคมไม่สามารถทำได้เพราะติดปัญหาน้ำท่วมเส้นทาง เขาจึงใช้วิธีสังเกตนาข้าวเบื้องต้นพบลักษณะลำต้นข้าวสูงงอกงามดีกว่าปีก่อนเพราะโดยปกติข้าวพื้นที่นาดอนชอบน้ำ เมื่อมีน้ำมากต้นข้าวจะดี แต่ “คุณภาพเมล็ดข้าว” เมื่อนำมาสีจะให้เปอร์เซ็นต์เมล็ดข้าว (ข้าวต้น) ดีหรือไม่ จะได้คำตอบหลังจากเก็บเกี่ยวเห็นเมล็ดแล้ว

โรงสีตั้งข้อสังเกตว่า ปีนี้ปัญหาเรื่องคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อไร่น่าห่วงมาก เพราะการที่ต้นทุนปุ๋ยราคาสูงขึ้นจากเดิมกระสอบละ 600 ถึง 700 บาท ปัจจุบันอยู่ที่กระสอบละ 1,300 บาท ทำให้ชาวนาใส่ปุ๋ยน้อยลง เห็นได้ชัดว่าผลผลิตนาปรังที่ออกมาก่อนหน้านี้ประสบปัญหาผลผลิตต่อไร่ลดลง และคุณภาพต่ำ

อย่างไรก็ตาม การตั้งราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิช่วงต้นฤดู ปีนี้ “ยังสูง” ราคาตันละ 15,000 บาท (ข้าวแห้ง) เทียบเท่ากับปีก่อน สถานการณ์ราคาค่อนข้างจะดี เพราะไม่เพียงสต๊อกโรงสีลดลงจนต้องแย่งซื้อ แต่ยังมีปัจจัย “เรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่า” ลงไป 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐเข้ามาช่วยหนุนทำให้การส่งออกไปได้ดี

แตกต่างจากปีก่อนที่เปิดมาต้นฤดูราคาตันละ 15,000 บาท แต่เมื่อผลผลิตออกราคาข้าวค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือ 11,000 บาท รัฐบาลต้องชดเชยต่อตันสูงมาก ทั้งนี้ หากคำนวณราคาข้าวเปลือก 15,000 บาท ไปเป็นข้าวสารส่งออก เฉลี่ยที่ตันละ 700-800 เหรียญสหรัฐ

ถึงแม้ว่า “แนวโน้มราคาข้าว” ยังทรงตัวสูง แต่โรงสียังอดห่วงไม่ได้ว่าหากถึงช่วงปลายปีชาวนาจะรีบเกี่ยวข้าวออกมาขายในตลาดพร้อมๆ กันเพื่อนำเงินไปใช้ช่วงปีใหม่ หรือชำระหนี้ นั่นจะเป็น “แรงกดดัน” ทำให้ราคาข้าวลดลง

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เป็นความต้องการของโรงสีคือ อยากให้รัฐบาลประกาศความชัดเจนของโครงการประกันรายได้ ปี 4 รอบใหม่ พร้อมทั้งประกาศมาตรการคู่ขนานอย่างการรับฝากเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉางเกษตรกร และการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เข้าไปรับซื้อ เพื่อให้มี “กันชน” มารองรับผลผลิตที่อาจจะทะลักออกมานับล้านตันทุบราคาตลาด

ขณะที่สถานการณ์ข้าวภาคกลางซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวเจ้าสำหรับไปผลิตเป็นข้าวขาว แตกต่างจากภาคอีสาน “มานัส กิจประเสริฐ” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เจ้าของโรงสีกิจประเสริฐ จ.นครปฐม เปรียบเทียบว่าปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางรุนแรงมากกว่าปี 2564 แต่น้อยกว่าปี 2554 และไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวภาคกลาง เพราะเกิดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังไปแล้ว

จึงประเมินว่าน้ำท่วมขณะนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตลดลง รวมถึงไม่กระทบต่อราคาข้าวสารในประเทศ ดังนั้น ราคาข้าวสารจึงไม่น่าแพงขึ้นจากปีก่อน

แต่หลังจากนี้ หากการระบายน้ำใน ‘ทุ่งรับน้ำ’ ต่างๆ ไม่สามารถระบายให้ลดลงภายในสิ้นเดือนนี้ อาจส่งผลให้การเริ่มปลูกข้าวนาปรังรอบ 1 ปี 2566 “ล่าช้ากว่าปกติ” ทำให้การเก็บเกี่ยวรอบต่อไปล่าช้าได้

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด มองว่าภาพรวมการส่งออกข้าวไทยน่าจะทำได้ถึง 8 ล้านตัน โดยในไตรมาส 4 ยังคงเหลือออเดอร์ส่งมอบตลาดต่างๆ หลายตลาดโดยเฉพาะตลาดอิรักซึ่งทางบริษัทมีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้ายาวไปถึงเดือนพฤศจิกายน

ส่วนแนวโน้มปี 2566 ยังต้องรอประเมินหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายในสิ้นเดือนนี้ น้ำลดและจะเริ่มปลูกข้าวใหม่จากนั้นอีก 3 เดือน ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าความล่าช้ายังไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก

แหล่งข่าวสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมเตรียมจัดคณะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี ประจำปี 2565/2566 ระหว่าง 3-5 พฤศจิกายน 2565 เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

แต่จากการประเมินล่าสุด น้ำท่วมในพื้นที่ปลูกข้าวจังหวัดทางภาคอีสาน เช่น จ.ศรีสะเกษ ท่วมเสียหายประมาณ 3-4 ตำบล และ จ.อุบลราชธานี ประสบปัญหาท่วมหนัก เฉพาะบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ แต่ภาพรวมผลผลิตข้าวนาปี ส่วนใหญ่เป็นนาดอนจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เว้นเสียแต่ว่าจะมี “พายุลูกใหม่” มาเพิ่ม และต้องรอดูคุณภาพหลังเก็บเกี่ยว

สําหรับสถานการณ์การส่งออกข้าว ผ่านมา 8 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 4.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 46.8%

คาดว่าปี 2565 นี้ไทยจะสามารถส่งออกได้ถึง 8 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนที่ส่งออกได้เพียง 6.25 ล้านตัน จากปัจจัย “ค่าบาทอ่อน” มาสนับสนุนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น

แต่ยังคงต้องมาลุ้นกันต่อว่าภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมที่หนักกว่าปีที่ผ่านมาจะกระทบผลผลิตข้าวมากน้อยเพียงใด