โลกของ ‘แอน’ | คนมองหนัง

คนมองหนัง

โลกของ ‘แอน’

 

“แอน” (Faces Of Anne) คือ ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” ซึ่งคราวนี้มี “ราสิเกติ์ สุขกาล” มารับหน้าที่เป็นผู้กำกับฯ ร่วม

“แอน” นับเป็น “หนังคงเดช” ที่ดูสนุกเพลิดเพลิน และมีความอ้อยอิ่งหรืออาการจมดิ่งกับการครุ่นคิด-ใคร่ครวญ น้อยกว่าผลงานเรื่องก่อนๆ

สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะสองผู้กำกับฯ เลือกบอกเล่าเรื่องราวในแนว “ไซโค-ทริลเลอร์” (จิตวิทยาระทึกขวัญ) หนังโดยรวมจึงดูเร็วและกระชับ แม้ภาวะไตร่ตรองสะท้อนคิดของตัวละครในช่วงท้ายๆ จะทำให้ “แอน” กลับไปมีอาการพะว้าพะวัง-ห่วงหน้าพะวงหลัง ตามสไตล์ “หนังคงเดช” อยู่บ้าง

จุดเด่นอีกประการ คือ แม้ “แอน” จะมีสเกลงานสร้างที่ไม่ได้ใหญ่โตอลังการ ตัวละครแทบทั้งหมดเวียนวนอยู่ในโลกเฉพาะใบหนึ่ง แต่การออกแบบงานสร้างของหนังกลับเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง มีมิติ-ความลุ่มลึก ซึ่งกระตุ้นเร้าบรรยากาศระทึกขวัญได้เป็นอย่างดี

นี่ไม่ใช่เรื่องเกินคาด เนื่องจากผู้กำกับฯ อีกรายอย่างราสิเกติ์ ถือเป็น “ผู้กำกับศิลป์ฝีมือดี” ของแวดวงภาพยนตร์ไทยอิสระ

“แอน” เริ่มต้นเรื่องราวด้วยการลืมตาตื่นขึ้นมาในห้องห้องหนึ่งของตัวละครหญิงสาวรายหนึ่ง เธอพบว่าตนเองถูกนำมาจับขังในโรงพยาบาลจิตเวช ถูกหมอและพยาบาลป้อนข้อมูลเข้าหัวว่าเธอชื่อ “แอน” ก่อนจะพบว่าเพื่อนผู้หญิงที่อยู่ในห้องข้างๆ ก็ชื่อ “แอน” เหมือนกัน

มิหนำซ้ำ ใบหน้าของ “แอน” คนหนึ่ง ยังสามารถเปลี่ยนรูปกลายเป็นหน้าของ “แอน” คนอื่นๆ ได้อย่างไม่รู้จบ

แล้วเนื้อหาก็ทวีความเข้มข้นขึ้น เมื่อ “แอน” คนแล้วคนเล่า ล้วนถูกตามล่าโดย “ปีศาจหัวกวาง”

แน่นอนว่า โดยพื้นฐานที่สุดแล้ว หนังไทยเรื่องนี้กำลังพาผู้ชมไปเผชิญหน้ากับปัญหา “วิกฤตอัตลักษณ์” ที่ตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของปัจเจกบุคคลรายหนึ่งหรือหลายๆ คน ผนวกด้วยปริศนาที่ว่าอะไรคือตัวตน (แท้จริง) ของเรากันแน่?

ประเด็นหลักของ “แอน” ถูกเจือปนด้วยบริบทอื่นๆ แบบบางๆ อาทิ การมีเสียงผู้ประกาศข่าวเล่าถึงการชุมนุมของ “กลุ่มนักเรียนเลว” ปรากฏขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งของหนัง หรือการแตะประเด็นเรื่องพฤติกรรม “บูลลี่” ในโลกโซเชียลมีเดีย ในช่วงปลายเรื่อง

คำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ตัวตนของคนคนหนึ่ง (และอีกหลายคน) จึงถูกห้อมล้อมไว้ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่ว่าโลกใบนี้ช่างวิปริตบิดเบี้ยว มีหลายสิ่งที่น่าต่อต้านขัดขืน ทว่า ก็คล้ายจะแล้งไร้ความหวังไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ผมมีคำถามหรือบทสนทนากับหนังเรื่อง “แอน” อยู่พอสมควร

ด้านหนึ่ง แม้หนังจะพยายามสลัดตนเองให้หลุดออกจากกรอบความคิดความเชื่อแบบไทยๆ เช่น พุทธศาสนา และแนวคิดเรื่อง “กรรม” ได้อย่างน่าชื่นชม แล้วหันไปหาโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่า นั่นคือ เงื่อนปมปัญหาทางด้านจิตวิทยา

แต่ที่น่าถกเถียงก็คือ ท้ายสุดแล้ว เหมือนหนังจะพยายามไล่เรียงเรื่องราวไปสู่บทสรุปที่ว่าปัญหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ตัวตนของมนุษย์แต่ละคนนั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาควรค่อยๆ แก้ไข เยียวยา สะสาง และปล่อยวางด้วยตนเอง ในฐานะปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง

ถ้าผลักตรรกะไปให้สุดทาง การใช้ “จิตวิทยา” แบบนี้ จึงอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยแตกต่างจากการใช้แนวคิดเรื่อง “กรรม” มาอธิบายปรากฏการณ์ทุกอย่างบนโลกสักเท่าไหร่

ทำนองว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง หรือหาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข

น่าเสียดายว่าบรรยากาศ/บริบทที่รายล้อมประเด็นหลักของ “แอน” เช่น “ม็อบนักเรียนเลว” ปัญหาในโลกออนไลน์ และความสัมพันธ์ที่ “แอนตัวจริง” มีกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ (ที่เป็นเพียง “อวตารของแอน”) คล้ายจะมีสถานะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของประสบการณ์ ที่ถูกดูดกลืน ปะติดปะต่อ ประมวล และประกอบสร้างขึ้นเป็นเงื่อนปมทางจิตวิทยา-ปัญหาชีวิตของบุคคลผู้ทุกข์ตรมคนหนึ่ง

มากกว่าจะถูกพิจารณาเป็นพลังอันไพศาลที่ซับซ้อนหลากหลาย ซึ่งมีศักยภาพในการผลักดัน-เปลี่ยนแปลงมนุษย์คนหนึ่ง ผู้คนกลุ่มหนึ่ง และสังคมทั้งสังคม ให้เข้มแข็งและเติบโตขึ้นได้ (ในบางกรณี พลังเช่นนี้ก็อาจกดทับ-กร่อนเซาะให้พวกเราอ่อนแอขยับเขยื้อนไปไหนไม่ได้ไกลเช่นกัน)

พูดอีกแบบ คือ ในฐานะภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง “แอน” ก็กำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างการใช้องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยามาสำรวจตรวจสอบสายสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคม และการใช้องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการผลักภาระ-ปัญหาไปให้ปัจเจกชนแต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเอง

แม้หนังจะมีท่าทีบางอย่างที่เหมือนกำลังถลำไปสู่ทางแยกแบบหลัง แต่จริงๆ แล้ว ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ของภาพยนตร์เรื่อง “แอน” ก็ได้แก่ การเสนอว่าท่ามกลางสถานการณ์เดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ หากผู้คนที่ใช้ชีวิตในวังวนข้างต้นตัดสินใจลงมือทำอะไรด้วยวิธีคิดและแนวทางแบบใหม่ พวกเขาก็จะได้พบกับผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนเดิม

การศึกษาบทเรียนจากอดีต แล้วหันมาทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง อาจเป็นแค่กระบวนการกลั่นกรองประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลรายหนึ่งก็ได้ แต่ไม่สามารถปฏิเสธว่า ในโลกความเป็นจริงส่วนใหญ่แล้ว กระบวนการทำนองนี้มักก่อตัวและประสบความสำเร็จจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมและผู้คนอันหลากหลายรุ่นแล้วรุ่นเล่า

“แอน” ที่ผมอยากเห็น จึงเป็น “แอน” ที่พยายามเชื่อมโยงตัวเองกับคนอื่นๆ ทั้งที่ชื่อ “แอน” และไม่ใช่ “แอน” แทนที่จะเป็น “แอน” ที่ย้อนกลับไปครุ่นคำนึงและตรอมตรมกับตนเองในฐานะ “แอน” คนหนึ่งเท่านั้น

อีกประเด็นที่ผู้ชมหลายรายคงตั้งคำถามคล้ายๆ กัน ก็คือ “แอน” เป็นหนังเกี่ยวกับวัยรุ่น (หญิง) ที่ถูกเขียนเรื่องราวโดยผู้กำกับฯ วัยขึ้นต้นด้วยเลข 5 ที่เป็นพ่อคนแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าคนรุ่นพ่อจะพยายามทำความเข้าใจลูกมากแค่ไหน จะห่วงใยลูกมากเพียงใด แต่มุมมองที่เขามีต่อลูก ก็ยังจะเป็นสายตาของ “คนอื่น” อยู่นั่นเอง

ปัญหาท้าทายมีอยู่ว่า ถ้าให้วัยรุ่น (หญิง) ยุคนี้ มาทำหนังบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอเอง พวกเธอจะเล่ามันออกมาอย่างไร?

พวกเธอมีปัญหากับประเด็นอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนวุ่นวายหรือสภาวะหลายตัวตนในโลกออนไลน์-ออฟไลน์จริงหรือไม่?

สายสัมพันธ์ระหว่างพวกเธอกับโซเชียลมีเดีย รวมถึงเกมคอมพิวเตอร์ นั้นเป็นอย่างไร? (พวกเธอใช้ประโยชน์จากมันและถูกมันควบคุมกลับอย่างไรบ้าง?)

พวกเธออยากเรียกร้องอะไรจากผู้ใหญ่? อยากตั้งคำถามอะไรใส่พวกเขา? อยากให้ประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปทางไหน?

และสรุปแล้ว พวกเธอยังมีความหวังในชีวิตอยู่หรือไม่? อย่างไร?

เหล่านี้เป็นคำถามนานัปการที่ล่องลอยอยู่เต็มไปหมดในหนังเรื่อง “แอน” ซึ่งถ้าให้คงเดชและราสิเกติ์ตอบ เราก็จะได้คำตอบชุดหนึ่ง

แต่หากให้วัยรุ่น (หญิง) หลายๆ คนได้ลองตอบดูบ้าง เราก็คงได้สัมผัสกับคำตอบที่แตกต่างกันไปอีกมากมายหลายชุด

ยังไม่รวมสิ่งที่หนังมิได้กล่าวถึง เช่น ปัจจุบัน วัยรุ่นหญิงไทยจำนวนมากคือผู้ผลิตและผู้บริโภคที่กระตือรือร้นอย่างสูงในวัฒนธรรมซีรีส์-นิยาย Y

คำถามคือ ปรากฏการณ์เช่นนี้มีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนใน “โลกของแอน”? หรือว่ามันเป็นสิ่งที่ “แอน” ยังคิดไปไม่ถึง?

ประเด็นสุดท้ายที่ต้องติดไว้เล็กน้อย ก็คือ การที่ “แอน” เป็นหนังไทยที่รวบรวม “ดาราหญิงร่วมสมัย” จำนวนมากมาย ให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน

ทั้งคนที่เป็น “นักแสดงรุ่นใหม่เบอร์ต้นๆ” ของอุตสาหกรรมบันเทิงยุคปัจจุบัน คนที่เป็นดาวเด่นของแวดวงต่างๆ เช่น วงการเพลงและวงการไอดอล รวมถึงคนที่น่าจับตาในสายอินดี้และวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ

นักแสดงหญิงเหล่านี้ถูกจัดวางบทบาทและรับหน้าที่ในการแบกเรื่องราวมาก-น้อยผิดแผกกันไป

อย่างไรก็ดี ผู้มารับบทสำคัญในตอนท้ายนั้นได้แก่ “ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง” และ “มินนี่-ภัณฑิรา พิพิธยากร” ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะเครดิตการเป็นนักแสดง ก็ต้องยอมรับว่าทั้งคู่ถือเป็น “เบอร์ใหญ่” กว่า “แอน” คนอื่นๆ

ขณะที่ดาวดังที่เหลือได้กระจายตัวไปสวมบท “แอน” ในช่วงต่างๆ โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่มีการคลี่เผยปมใหม่ๆ ของหนัง

โดยส่วนตัว ผมค่อนข้างประทับใจ “คัทรียา เทพชาตรี” (ดาวรุ่งที่ผ่านงานแสดงมาไม่น้อย แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก)

นอกจากรูปลักษณ์ที่โดดเด่นสะดุดตายามปรากฏบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่แล้ว คัทรียายังสวมบทเป็น “แอน” ที่เริ่มหลุดรอดออกจากห้องพักในโรงพยาบาล “แอน” ที่เริ่มลุกขึ้นตั้งคำถาม “แอน” ที่เริ่มลุกขึ้นสู้

และ “แอน” ที่เริ่มประจักษ์ชัดกับความเปลี่ยนแปลงบางประการในตัวตนของตนเอง ได้อย่างน่าสนใจและมีอะไรให้ชวนค้นหา •

 

คนมองหนัง